ศปภ.เรียกผู้บริหารสื่อให้ข้อมูลทุจริตถุงยังชีพ อ้างเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูล เผย คกก.ตรวจสอบ เตรียมชำแหละการจัดซื้อถุงยังชีพ หลังพบจัดซื้อในราคาถุงละ 300 บาท แต่นำมาอ้างเป็นราคา 800 บาท พร้อมเรียก ผู้ตรวจสำนักนายกฯ แจงราคาสิ่งของตรงกับที่อนุมัติหรือไม่ ขณะเดียวกัน จะสอบถามหลักเกณฑ์การช่วยเหลือจุดไหนควรได้ถุงยังชีพราคาเท่าไหร่
แหล่งข่าวจากศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวหามีการทุจริตการจัดซื้อถุงยังชีพ ว่า นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้เชิญ นายสกลธี ภัททิยกุล ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลมาให้ข้อมูล แต่ นายสกลธี อ้างว่า ติดธุระ จึงไม่สะดวกเข้าให้ข้อมูล คณะกรรมการจึงเชิญบรรณาธิการข่าวของหนังสือพิมพ์แนวหน้า และ เอเอสทีวีผู้จัดการ เข้าให้ข้อมูล เนื่องจากเป็นสื่อมวลชนที่นำเสนอข้อมูลข่าวดังกล่าว ซึ่งมีเพียงผู้แทนหนังสือพิมพ์แนวหน้า ที่เข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการ
ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย นายยรรยง ร่วมกับ นายวีระยุทธ สุขเจริญ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้วางแนวทางการตรวจสอบและชำแหละการจัดซื้อถุงยังชีพ โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีการขออนุมัติงบประมาณในการจัดซื้อถุงยังชีพหลายครั้ง โดยแต่ละครั้งราคาแตกต่างกัน ตั้งแต่ 300-800 บาท ซึ่งถุงยังชีพที่ ศปภ.นำไปแจกล็อตแรกนั้น สิ่งของภายในมาจากการบริจาคของประชาชน แต่เมื่อจำนวนของบริจาคลดลง จึงมีการขออนุมัติจัดซื้อ โดยสิ่งของในถุงยังชีพที่ถูกหยิบมาเป็นประเด็นข่าวอยู่ในขณะนี้ จัดซื้อในราคาถุงละ 300 บาท โดยซื้อในลักษณะบิ๊กล็อตโดยกระทรวงพาณิชย์ แต่ถูกนำมาอ้างให้เป็นถุงยังชีพในราคา 800 บาท
ในช่วงบ่ายวันนี้ (8 พ.ย.) คณะกรรมการจะเชิญ นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าให้ข้อมูลเกี่ยวกับการอนุมัติจัดซื้อ เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าภายในถุงยังชีพแต่ละราคา ภายในมีราคาตรงตามที่อนุมัติจัดซื้อหรือไม่ รวมทั้งได้มีการเบิกจ่ายถุงยังชีพไปช่วยเหลือในจุดใดบ้าง และเกณฑ์ชี้วัดความเดือดร้อนว่าสาหัสอย่างไรจึงสมควรได้รับถุงยังชีพราคา 800 บาท และในจุดใดที่ได้รับถุงยังชีพในราคา 400 บาท และ 300 บาท
สำหรับประเด็นการจัดซื้อเรือไฟเบอร์กลาส เต็นท์ และสุขากระดาษที่มีราคาแตกต่างกัน จนกลายเป็นอีกประเด็นที่ถูกจับตา ว่า มีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นั้น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผอ.ศปภ.ยังไม่มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบ