xs
xsm
sm
md
lg

“ประชา” ปัดเอี่ยว “ถุงยังชีพ” รอง อธ.ปภ.ปูด “ปู-ยงยุทธ” เซ็นอนุมัติซื้อไม่จำกัดวงเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก
“ประชา” แจง กมธ.งบลอยตัวไม่มีเอี่ยว “เงินบริจาค-ถุงยังชีพ” โยน “ยงยุทธ” คุมงาน พร้อมอ้างแค่สู้กับน้ำก็ยุ่งพอแล้ว ดูแลทุกเรื่องไม่ได้ ด้านรองอธิบดี ปภ.ปูด “ยิ่งลักษณ์-ยงยุทธ” เซ็นอนุมัติซื้อถุงยังชีพไม่จำกัดวงเงิน ส่วนที่สั่งซื้อราคาต่างกัน เหตุเกรง ปชช.ได้ของไม่พอ ส่วนถุงแพงสุด 800 บาท มีแต่ของพร้อมกิน

วันนี้ (23 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตามงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นางธนิตพล ไชยนันท์ ส.ส.ตาก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน มีวาระพิจารณาติดตามการบริหารงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 ของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และจังหวัดที่ประสบอุทกภัย โดยได้เชิญ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปภ.นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการบริหารจัดการถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย นายฉัตรป้อง ฉัตรภูมิ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย และ น.ส.ปภัสมน อัมราลิขิต ผู้อำนวยการกองคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี มาชี้แจง

โดยก่อนที่ กมธ.จะได้เรียก พล.ต.อ.ประชา เข้าชี้แจง ได้มีการซักถามฝ่ายข้าราชการประจำเกี่ยวกับระเบียบและหลักเกณฑ์การใช้เงินที่ได้รับบริจาคของประชาชน ที่นำไปจัดซื้อถุงยังชีพและอุปกรณ์อื่นที่มีความจำเป็นต่อผู้ประสบภัย รวมทั้งประเด็นราคาจัดซื้อต่อถุง ซึ่ง น.ส.ปภัสมน ชี้แจงว่า บัญชีเงินบริจาคดังกล่าวนั้น เป็นบัญชีที่สำนักนายกฯ ได้เปิดมาตั้งแต่ปี 2538 ดังนั้น จึงมียอดยกมาจากยอดที่ค้างเดิม 66 ล้านบาท และเมื่อ ศปภ.เปิดรับบริจาคตั้งแต่เดือน ส.ค.54 ทำให้มียอดเงินบริจาคจำนวน 932 ล้านบาท รวมยอดสุทธิจะมีทั้งสิ้น 998 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดบริจาคที่ได้จากในประเทศทั้งหมด โดยที่การใช้จ่ายเงินส่วนดังกล่าวนั้น ต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกฯ ซึ่งมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และมีตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ อีก 13 คน เป็นกรรมการ

ด้าน นายฉัตรป้อง ชี้แจงเกี่ยวกับการจัดซื้อถุงยังชีพที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงมีราคาไม่เท่ากัน 3 ราคา ว่า โดยปกติแล้วหากจัดซื้อโดยที่เป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน โดยระเบียบของกระทรวงการคลัง จะให้จัดซื้อไม่เกินถุงละ 500 บาท แต่ส่วนถุงยังชีพที่จัดซื้อราคาถุงละ 800 บาทนั้น ได้ใช้ระเบียบของสำนักนายกฯ และตามมติของคณะกรรมการกองทุนฯ ส่วนเหตุที่ต้องจัดซื้อถุงยังชีพราคา 800 บาทนั้น เพราะทางคณะกรมการกองทุนฯ เห็นว่า ภัยที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรง หากจัดซื้อถุงยังชีพราคา 500 บาทอาจจะไม่เพียงพอต่อการยังชีพของประชาชน อีกทั้งสิ่งของในถุงยังชีพที่ราคา 800 บาทนั้น เป็นสินค้าที่สามารถเปิดทานได้ทันที เป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ทั้งนี้การใช้งบประมาณในส่วนของเงินบริจาคนั้น ผู้ที่มีอำนาจอนุมัติใช้จ่าย คือ นายยงยุทธ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ โดยไม่จำกัดวงเงิน

จากนั้น กมธ.ได้เชิญ พล.ต.อ.ประชา เข้าชี้แจง โดยได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องในส่วนของการจัดซื้อถุงยังชีพ เพราะงานส่วนดังกล่าวนั้นเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ที่มี นายยงยุทธ เป็นประธาน ทั้งนี้ นายยงยุทธ ได้ลงนามตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อให้รับผิดชอบอีกคณะหนึ่ง โดยมี นายจำเริญ เป็นผู้ที่ดูแลอยู่ อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนต่อกรณีทุจริตจัดซื้อถุงยังชีพนั้น ตนจึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยมอบหมายให้นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เบื้องต้นทราบว่าได้มีการแบ่งตรวจสอบถุงยังชีพเป็น 2 ส่วน คือ การจัดซื้อโดยรัฐบาล และถูงที่ผู้มีจิตอาสาช่วยบรรจุของบริจาค

ส่วนข้อสังเกตของ นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน กมธ.คนที่ 1 ที่ว่ามีรายงานข่าวว่ามีการอนุมัติงบประมาณจำนวน 80 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อถุงยังชีพ 1 แสนชุดๆ ละ 800 บาท ถึง 2 ครั้ง สรุปแล้วในการจัดซื้อถุงยังชีพได้ใช้งบประมาณไป 160 ล้านบาท โดยที่ไม่ใช้ระเบียบการจัดซื้อของกระทรวงการคลัง และได้มีการแจกจ่ายถุงยังชีพดังกล่าวไปยังพื้นที่ใดบ้าง พล.ต.อ.ประชา ปฏิเสธความเกี่ยวข้องในกรณีนี้เช่นกัน โดยอ้างว่า กรณีดังกล่าวมีบุคคลอื่นรับผิดชอบโดยเฉพาะอยู่ อีกทั้งยังมีการบูรณาการ 12 กระทรวงเข้ามาทำงาน ขณะเดียวกัน งานในความรับผิดชอบของตนเอง มีทั้งเรื่องบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาน้ำ การวางแผนอพยพประชาชน จึงไม่สามารถรับทราบ หรือติดตามงานได้ทั้งหมด โดยส่วนงานการจัดหาถุงยังชีพนั้น ผู้ที่ดูแล คือ นายจำเริญ อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ

“ยอมรับว่า ในส่วนของการตั้งบุคคลเพื่อดูแลของบริจาคนั้น ผมเคยลงนามคำสั่งแต่งตั้งให้นักการเมืองเข้ามีส่วนในการบริหารจัดการเรื่องของบริจาค แต่เพราะความไม่รู้และไม่ได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย แต่เมื่อได้รับคำปรึกษาจากฝ่ายกฎหมาย ก็ได้มีคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งนักการเมืองดังกล่าว ทั้งนี้อยากชี้แจงว่าผมไม่มีเจตนา เมื่อพบว่าผิดจึงแก้ไข” พล.ต.อ.ประชา กล่าว

ขณะที่ นายจำเริญ ได้ขอใช้สิทธิ์ชี้แจงว่า ในส่วนงานต่างๆ นั้น มีนายกฯเป็นผู้ที่ดูแล ศปภ. และกองทุนเงินบริจาคฯ โดยในส่วนของงานดูแลเรื่องสิ่งของบริจาคนั้น ตนได้รับมอบหมายภายหลังจากที่ ศปภ.ได้ย้ายศูนย์รับบริจาคมาอยู่ที่สนามศุภชลาศัย โดยในรายละเอียดของงานนั้นมีคณะอนุกรรมการอีก 4 คณะ เข้ามาร่วมดูแล รวมไปถึง 13 หน่วยงานที่เข้ามาช่วยดูแล
กำลังโหลดความคิดเห็น