xs
xsm
sm
md
lg

เอาให้ได้!นิรโทษ"แม้ว"ทุกคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ด็อกเตอร์ "เหลิม" บอกไม่ได้ถอยเรื่องพ.ร.ฎ.อภัยโทษ "แม้ว" แค่สับขาหลอก หยั่งเสียงคนค้าน แถมคุยโวจะเดินหน้าพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหวังล้มทั้งกระดานปลดล็อกคดีให้นายใหญ่ทีเดียวจบ ยอมรับพากลับบ้านไม่ทันปลายปี หากมาหวั่นโดนล็อกตัวออกพเนจรไม่ได้อีก "ยิ่งลักษณ์" ยันอภัยโทษรอบนี้ ไม่มีชื่อพี่ชาย "ประชา"เผยทูลเกล้าฯ พ.ร.ฎ.แล้ว ส่วน"มาร์ค" ลั่นคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ "นช.แม้ว" สุดลิ่ม

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความชัดเจนเรื่องการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 ว่า ตนได้ย้ำมาแต่ต้นแล้วว่าต้องไม่ผิดกฎหมายหลักนิติธรรม หรือเป็นประโยชน์กับคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านก็ตั้งข้อสังเกต ตนก็อธิบายให้ฟังแล้วในสภาฯ ส่วนกลุ่มที่ออกมาคัดค้าน พวกนี้ยังไม่ทันรู้เรื่องราวอะไร ก็มีแต่คนหน้าเดิมๆ ออกมา โดยเฉพาะพวกที่คิดว่าเราจะแพ้เลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบเรียบร้อยร้อย ก็ไม่จำเป็นต้องนำกลับมาพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีร (ครม.) อีก เว้นแต่เห็นว่าไม่เรียบร้อย หรือเห็นไม่ตรงกัน ก็อาจต้องนำกลับมาเข้าครม. แต่ตนเห็นว่าเรียบร้อยแล้วไม่ต้องนำกลับมาเข้าครม.ซ้ำอีก

*** ยันเดินหน้าพา"แม้ว"กลับบ้าน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลยอมถอย จากที่โยนหินถามทางแล้วสังคมไม่เอาด้วย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่มีเหตุที่ต้องถอย เพราะก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้เดินหน้า เพียงแต่ยืนเฉยๆ รัฐบาลก็คิดเป็น เพราะถ้าไปออกพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ท่านทักษิณ ก็พ้นแค่คดีเดียว ยังเหลืออีก 4 คดี ซึ่งไม่มีใครเขาคิด เรื่องนี้อย่ามาโทษ หรือไปแอบซุบซิบบนเวทีว่า ร.ต.อ.เฉลิมแอบไปวางแผนเรื่องนี้มานาน อันนี้ไม่ใช่ เพราะเปิดเผย นับตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งซ่อมเมื่อปี 2552 ที่ จ.สกลนคร ศรีสะเกษ และ มหาสารคาม ก็ชนะขาดด้วยนโยบายที่จะนำพ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน บอกประชาชนมาตลอด ไม่ใช่เพิ่งคิด

เมื่อถามว่าจะเริ่มคืนความเป็นธรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษปี 2554 หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า คงเป็นคนละเรื่องกัน เพราะถ้าจะทำจริงต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ให้ผ่านสภาฯ ตอนนี้กำลังรอดูวันเวลาอยู่ เพราะถ้าไม่เดินหน้า ต่อไปก็เดินภาคเหนือ กับภาคอีสานไม่ได้ เนื่องจากไปปราศรัยหาเสียงไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่าในร่าง พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษฯ มีการตัดมาตรา 4 ที่ให้นักโทษเด็ดขาด ติดคุกก่อน ถึงจะได้รับการอภัยโทษได้ ออกหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่มี และไม่มีเหตุผลที่ต้องทำเช่นนนั้น เพราะหากทำเช่นนั้นไป อีก 4 คดี ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังไม่จบ เมื่อกลับมาอาจไม่ได้รับประกันตัว หรือประกันแล้วถูกอายัดไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ ถ้าเป็นอย่างนี้คงไม่ไม่ทำ
“ผมจบด๊อกเตอร์ออฟลอว์นะ แต่จะสับขาหลอก เพื่อเช็คเขาว่า ถ้าทำเฉยๆ จะมีอะไรมั่ง ไม่ได้เช็คกระแสก่อนออก พ.ร.บ.นิรโทษฯ เพราะกระแสสังคมเขาเอาอยู่แล้วว่าให้กลับ แต่จะเช็คพฤติกรรมคนพวกนี้ว่าเป็นอย่างไร จะออกมาแบบไหน แล้วจะเช็คว่ามีเพิ่มไหม มีแต่ลดลง ถ้าออกมาเป็น พ.ร.บ. ทำโดยรัฐสภาใครจะขวางได้ พวกรัฐประหาร ติดคุก ก็ยังมีพ.ร.ก.นิรโทษกรรม ดังนั้นควรใจเย็นๆ ไว้" ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าภายในสิ้นปี 2554 พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้กลับมาเมืองไทยหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่ไม่กลับมา เพราะเปรียบ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเหมือนพญาหงส์ ที่ไม่ลงหนองน้ำเล็ก ไม่เหมือนพวกที่ยังไม่เห็นข้อเท็จจริงก็ออกมาโห่ร้องแล้ว ซึ่งรัฐบาลชุดนี้สับขาหลอกเป็น พอถูกสับขาหลอกไป ก็เต้นเป็นเจ้าเข้าเลย

เมื่อถามว่าหากมีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจริง พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้เงิน 4.6 หมื่นล้านบาท ที่ถูกยึดคืนหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม ปฏิเสธที่จะตอบ โดบบอกว่า เป็นคนละเรื่อง พวกคนที่ออกมาประท้วงก็เอาตรงนี้เป็นตัวตั้ง อยากให้แยกคดีอาญากับการยึดทรัพย์ออกจากกัน

**หนุนพ.ร.บ.ปรองดองฉบับ"บิ๊กบัง"

เมื่อถามว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธานเสนอไว้ว่า ถ้าจะปรองดองต้องทำให้ทุกฝ่าย ทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง และเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวแสดงความเห็นด้วย พร้อมยืนยันว่า เป็นแนวคิดที่ตนพูดมาตลอดว่า หากจะทำต้องทำทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะคนใดคนหนึ่ง ทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง ทหาร และตำรวจ หรือแม้แต่ใครที่เป็นจำเลยในคดียึดสนามบิน รวมกับคดีอื่นๆ หลังรัฐประหาร ต้องทำให้จบทั้งหมด โดยตนจะขอเป็นเจ้าของโครงการปรองดอง เหมือนที่พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกฯ เคยทำมาแล้ว

เมื่อถามว่า ถ้ามีคนบางกลุ่มบอกว่าแม้คนทุกฝ่ายได้ประโยชน์แล้ว แต่ถ้ามี พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยจะไม่เข้าร่วมด้วย จะทำอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ก็สมน้ำหน้าไปสิ ไม่เอาก็สละสิทธิไป ใครไม่เอาก็สมน้ำหน้า คนส่วนใหญ่เขาเอาด้วย นี่ยังไม่รู้ตัวเองอีกหรือว่าบ้านเมืองไปถึงไหนกันแล้ว เขาอยากเห็นความปรองดอง มาทะเลาะกันไม่มีประโยชน์ แต่ต้องได้ทุกภาคส่วน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเริ่มผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเมื่อใด ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ต้องดูจังหวะเวลา ยังบอกไม่ได้ว่าเมื่อไรถึงเหมาะสม แต่ยืนยันว่าจะทำแบบเปิดเผย ใครตั้งม็อบด่า ก็จะด่ากลับ เพราะถือเป็นแนวคิดมานานแล้ว โดยก่อนที่จะเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคงต้องไปดูว่า คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ว่าอย่างไร แล้วมารวบรวมความคิด ซึ่งกันและกัน แต่ยืนยันว่าจะทำให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ จะไม่ให้มีใครประท้วงเลย

***ยกเรื่อง91 ศพ กลบข่าวพ.ร.ฎ.ฉาว
 

ส่วนคดีผู้เสียชีวิต 91 ศพ จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 จะอยู่ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วยหรือไม่นั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ตนยังไม่พูด แต่มีแนวคิดว่าถ้าทำก็ต้องทำให้ทุกภาคส่วน บ้านเมืองถึงจะไปได้ อย่างไรก็ดีต้องมาดูพฤติการณ์แห่งคดีอีกครั้ง เพราะอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ 4-5 คดี มาจากการัฐประหาร ส่วนคดี 91 ศพ เกิดนั้นก็เกิดมาจากความฮึกเหิม ที่เมื่อประชาชนมาขอหีบบัตรเลือกตั้ง แต่กลับให้หีบศพกับเขา จึงเป็นมันคนละเรื่องกัน โดยเบื้องต้นทหาร และตำรวจ อาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง

“เมื่อวานนี้ (21 พ.ย.) ผมได้ฟังตำรวจสรุปคดี 91 ศพแล้ว ก็นอนไม่หลับ เพราะเหนื่อยแทนคนที่ทำผิด ที่วันนี้ปากกล้า แต่ขาสั่น แนะนำให้ไปหาหลวงพ่อวัดไหนที่เฮี้ยนๆ ก็แล้วกัน และบทสรุปของคดี 91 ศพ ก็ใกล้ตัวเข้าไปแล้วนะ เดี๋ยวก็ครางฮือๆ เหมือนนกกระทุม" ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

ต่อข้อถามที่ว่า คำให้การของพยานในคดี 91 ศพ เริ่มเปลี่ยนไป เพราะรัฐบาลชุดนี้เข้าไปกดดันหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เป็นเพราะความจริงเริ่มปรากฏ รัฐบาลชุดที่แล้วสวมบทสมภารเฉย การดำเนินการจึงเฉยๆ ไปเรื่อย แต่รัฐบาลชุดนี้มาขอให้สร้างความถูกต้อง เจ้าหน้าที่ก็กล้า เมื่อได้พิจารณาโครงสร้างคดีแล้ว ยอมรับว่าเหนื่อย เพราะพอได้สำนวนมา แล้วนำไปไต่สวนเพื่อชันสูตรพลิกศพ จนไปถึงชั้นศาล ญาติผู้ตายก็ตั้งทนายได้ จนสามารถซักประเด็นข้อสงสัยได้ว่า ใครเป็นผู้สั่ง สั่งเมื่อไร และมีขอบเขตยังไง จนตอนนี้คดีแรกก็ส่งอัยการไปแล้ว จากนี้จะเร่งรัดคดีช่างภาพญี่ปุ่น และอิตาลี ด้วย

** "ปู"ยันไม่มีชื่อ"แม้ว"ในการขออภัยโทษ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังการประชุมครม. ถึงจุดยืนของรัฐบาลในการออกพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ว่า เรื่องนี้ เป็นไปตามมติครม. โดยจุดยืนทุกอย่าง ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และตามขั้นตอนธรรมเนียมปฏิบัติ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลถูกมองว่ามีความพยายามช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้กลับบ้าน จะยืนยันได้หรือไม่ว่า ในช่วงรัฐบาลนี้จะไม่มีความพยายามเรื่องนี้เด็ดขาด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนได้ชี้แจงกับพี่น้องประชาชนว่า เรามาทำงานเพื่อส่วนรวม และทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย แม้ตนเองจะปฏิบัติอะไรต่างๆ ก็ต้องคำนึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ

เมื่อถามว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ยืนยันก่อนเข้าร่วมประชุมครม. ว่า จะพยายามพาพ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านให้ได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียง แต่วันนี้เรามาทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์โดยรวมของประชาชน ทุกอย่างต้องทำอยู่บนหลักการ และเป็นไปตามหลักของกฎหมาย ตามหลักนิติธรรม ที่สำคัญต้องคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวม และมีความเสมอภาคกับทุกคน ไม่เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้ยืนยันว่า การขอพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ ไม่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมอยู่ด้วย พร้อมระบุอีกว่า ในรายละเอียด การพิจารณารายชื่อ ยังมีอีกหลายขั้นตอน วันนี้เป็นเพียงขั้นตอนการผ่านครม. ซึ่งถือเป็นความลับที่เราไม่สามารถพูดได้ แต่ดิฉันเองไม่มีการที่จะเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว ขอยืนยัน

**"ยิ่งลักษณ์"โวยรัฐมนตรีปากพล่อย

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมครม. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ขอความร่วมมือคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลการประชุม โดยเฉพาะในส่วนของวาระการประชุมลับ หลังจากที่เรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ พระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเป็นวาระจรลับ ตกเป็นข่าวครึกโครม หลังการประชุมครม.เมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และมีการเคลื่อนไหวกดดันจากมวลชนหลายกลุ่ม โดยภายหลังจากที่นายกฯ กล่าวจบ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม และนายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ ที่มีชื่อเป็น 2 ใน 4 รัฐมนตรี ที่เปิดเผยข้อมูลกับนักข่าว ได้ยกมือขอชี้แจงต่อที่ประชุมทันที โดยทั้งคู่ได้กล่าวปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นคนให้ข้อมูลกับสื่อตามที่ปรากฏเป็นข่าว
ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ในระหว่างการพูดคุยเรื่องนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุมครม.ครั้งก่อน ไม่ได้อยู่ในห้องประชุม ขณะที่พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง ไม่ได้แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด

**กฤษฎีกาแจงพ.ร.ฎ.ไม่เอื้อทักษิณ

นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ว่าได้พิจารณาตามที่ครม.เสนอมา โดยยึดตามหลักกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติ โดยอาจมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำบ้าง แต่ยืนยันว่าสาระสำคัญยังคงเหมือนพ.ร.ฎ. ฉบับที่ผ่านมา และไม่มีการเอื้อประโยชน์ต่อผู้หนึ่งผู้ใด อีกทั้งไม่มีถ้อยคำที่สามารถตีความเอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการตัดบัญชีแนบท้าย ในคดีการทุจริต คอร์รัปชัน และคดียาเสพติดออก ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนการดำเนินการ อยู่ที่สำนักงานเลขาธิการครม.เพื่อรอนำขึ้นกราบบังคมทูลต่อไป

ทั้งนี้ มีรายชื่อผู้ได้รับประโยชน์จากพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ประมาณ 2 หมื่นคน แต่ต้องตรวจสอบอีกครั้ง

** ทูลเกล้าฯพ.ร.ฎ.อภัยโทษ

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม กล่าวภายหลังรับหนังสือคัดค้านการออกพ.ร.ฎ. อภัยโทษ หรือนิรโทษกรรมเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พร้อมรายชื่อคัดค้าน 32,948 ราย จากเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน นำโดยนพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ และร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ว่า เรื่องที่ห่วงใยกันนี้ ขอตอบอย่างจริงใจ เราไม่ทำนอกเหนือจากกรอบกฎหมาย หรือจารีตที่ทำมา ยืนยันไม่มีการตัดทอน เพิ่มเติมส่วนใดที่จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด รวมทั้งไม่มีการตัดมาตรา 4 ออก เรื่องความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การทุจริต ก็ยังคงมีอยู่ทุกประการ ร่าง พ.ร.ฎ.นี้ จะเป็นการผนวกกันระหว่างของพ.ศ. 2553 กับ 2547 ฉะนั้นไม่มีส่วนใดที่เสียหาย หรือเอื้อประโยชน์ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง
"ถ้าผมพอมีเกียรติและมีศักดิ์ศรีที่พอเชื่อถือได้ ก็ขอให้เอาเกียรติศักดิ์ศรีและตำแหน่งเป็นประกัน ไม่ได้ทำให้เสียหาย ขอให้สบายใจ เราทุกคนอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ผมเองขณะนี้ยังเป็นราชองครักษ์พิเศษอยู่ ยังไม่พ้นตำแหน่งแต่อย่างใด ฉะนั้นความจงรักภักดีของผมนั้นมีเช่นเดียวกับพี่น้องชาวไทยทุกคน"

พล.ต.อ.ประชากล่าวอีกว่า ขณะนี้ขั้นตอนจะดำเนินสู่การนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ทุกอย่างถือว่าจบแล้ว พ.ร.ฎ.จะได้ทันในวันที่ 5 ธ.ค.นี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยเนื้อหาได้ ถือว่ายังอยู่ในชั้นความลับ โดยเนื้อหาไม่มีอะไรผิดสังเกต หรือทำให้แตกแยกกัน ส่วนรายชื่อและรายละเอียดที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ เพราะต้องรอให้มีพระราชวินิจฉัยลงพระปรมาภิไธยลงมาก่อน จึงจะสามารถเปิดเผยได้ โดยยืนยันไม่มีรายชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และไม่มีการตัดเนื้อหาสำคัญอย่างที่หลายฝ่ายกังวลแน่นอน

** "มาร์ค"ค้านพ.ร.บ.นิรโทษฯสุดลิ่ม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลยกเลิกการออกพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ที่จะเอื้อประโยชน์ให้พ.ต.ท.ทักษิณ แต่จะมีการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นผิดแทนว่า การที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ออกมาเดินหน้าเรื่องนี้ ทำให้ตนแปลกใจว่าเหตุใดคนที่เป็นรองนายกฯ กลับมาพูดเรื่องนี้เหมือนเรื่องสนุก ใช้คำพูดว่าสับขาหลอก ทั้งที่เป็นความเสียหายกับบ้านเมือง ซึ่งพรรคก็ทราบดีว่าความพยายามที่จะช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกกำหนดไว้หลายทางเลือก และจะมีความพยายามต่อไป

"การที่รัฐบาลยังนำเอาปัญหาของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาผูกเป็นปัญหาของประเทศ จะทำให้บ้านเมืองเสียโอกาสไปเรื่อยๆ บรรยากาศของสังคมจะเกิดความตรึงเครียด และขัดแย้งเป็นระยะ ทั้งที่เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะเดินหน้าแก้ปัญหาประชาชน โดยเฉพาะวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้มีงานใหญ่รออยู่อีกมากที่ต้องการการมีส่วนร่วมของทุกส่วน จึงต้องพักเรื่องความขัดแย้งเอาไว้ก่อน ผมย้ำจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า หากมีการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภา พรรคจะไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน"

** ขู่ฟ้อง"ไทยโพสต์"หมิ่นประมาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.30 น.วันนี้ (23 พ.ย.) พ.ต.อ.บรรจบ สุดใจ ประธานชมรมข้าราชการตำรวจบำนาญ จะเดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฐานหมิ่นประมาท กรณีพาดหัวข่าวว่า "ทักษิณบังคับในหลวง" ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ พ.ต.อ.บรรจบ ระบุว่าการพาดหัวข่าวดังกล่าวถือเป็นการใส่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดคิดว่าพ.ต.ท.ทักษิณ อาจกระทำการอันไม่เหมาะสม ทั้งที่พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดใดกับทั้งกรณี การออกพ.ร.ฎ.อภัยโทษ รวมทั้งกรณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯเลย การกระทำของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ จึงเข้าข่ายผิดกฎหมาย อย่างชัดเจน

**"สยามสามัคคี"ล่าชื่อไล่ครม.ทั้งคณะ

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ในฐานะแกนนำภาคีเครือข่ายสยามสามัคคี ได้อ่านแถลงการณ์ ภายหลังการหารือของ 32 องค์กรเครือข่าย ในประเด็นการออกพ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ของรัฐบาล โดยมีเนื้อหาสรุปว่า การออก พ.ร.ฎ.ดังกล่าว มีประเด็นขัดต่อกฎหมายหลายประเด็น มีความุ่งหมายเชื่อได้ว่า มีผลทำลายกระบวนการยุติธรรม ใช้โอกาสอันเป็นมงคล แก่ประชาชนและพสกนิกร กระทำการอย่างบังอาจ ไม่บังควรอย่างที่สุด ซึ่งทางภาคีเครือข่าย และประชาชน จะร่วมขับเคลื่อนการตรวจสอบ และรวบรวมรายชื่อประชาชน เพื่อยื่นถอดถอนรัฐบาล เพราะการกระทำของรัฐบาลนั้นถือว่า เป็นการกระทำที่มีความผิดสำเร็จแล้ว โดยขอให้ประชาชนมาลงรายชื่อได้ในวันที่ 25 พ.ย.2554 เวลา 16.00 น. ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี และในวันดังกล่าวจะมีเวทีเสวนา เรื่อง “รู้ทันเพทุบายทักษิณฯ ด้วย

" ทางภาคีเครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการกระทำใดๆ ที่มีผลช่วยให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องรับโทษตามคำพิพากษา และหลุดพ้นจากคดีทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการออกพ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ร.ก.นิรโทษกรรม หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม" พล.อ.สมเจตน์กล่าว

** ถกกมธ.ปรองดองฯหวิดวงแตก

วานนี้ (22 พ.ย.) ที่ประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน ได้มีมติให้เชิญตัวแทนจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป ) มาชี้แจง ถึงกรอบการทำงานที่ผ่านมา และแนวทางการสร้างความปรองดอง มาที่ประชุมกมธ.ในวันที่ 29 พ.ย.นี้

พล.อ.สนธิกล่าวว่า ที่ประชุมกมธ. ต้องการเชิญ คอป. มาให้ข้อมูลเป็นหน่วยงานแรก เพราะถือว่าเป็นภาคส่วนสำคัญที่สุดต่อการสร้างความปรองดอง ในฐานะที่ทำงานสนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด ดังนั้น คอป.ควรจะมาให้ความรู้ และปัญหาอุปสรรคของการทำงานที่ผ่านมา เพื่อที่ช่วยให้การทำงานของกมธ. มีแนวทางที่ชัดเจนต่อไปในการเดินหน้าสร้างความปรองดอง

นอกจากนี้ กมธ. จะนำประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาพิจารณาด้วย โดยจะพิจารณาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เช่น พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และที่ประชุมมีความเห็น จะเสนอเรื่องให้สภาฯ ขยายเวลาการทำงานเพิ่มเติมออกไปอีก 90 วันจากกำหนดเดิมที่จะหมดวาระในวันที่ 17 ธ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม กมธ.ครั้งนี้ เป็นไปอย่างดุเดือดเมื่อ กมธ.ในซีกของพรรคเพื่อไทยหลายคน ต้องการผลักดันให้ กมธ.เร่งพิจารณาหาแนวทางให้ความช่วยเหลือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช ) ซึ่งถูกคุมขังในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะที่ กมธ.ซีกพรรคประชาธิปัตย์ แย้งว่า ถ้าดำเนินการเฉพาะส่วนนี้ จะเท่ากับว่าเป็นการละเลยส่วนอื่นที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาเดียวกัน

ทั้งนี้ เมื่อการประชุมเริ่มมีการโต้เถียงกันระหว่าง 2 พรรคการเมืองมากขึ้น ทำให้พล.อ.สนธิ ต้องตัดบทการประชุมหลายครั้ง ด้วยการกล่าวต่อที่ประชุม กมธ. จะต้องพิจารณาในภาพรวม และอุปสรรคของการสร้างความปรองดองทั้งหมด โดยจะเริ่มจากการเชิญ คอป. มาร่วมประชุม ซึ่งทำให้ กมธ.ของทั้ง 2 พรรค เกิดความพอใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น