“ธาริต” เผยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องกับขั้นตอนกระบวนการสรรหา กสทช.มาสอบสวน เพื่อตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ ย้ำดีเอสไอทำเฉพาะการดำเนินคดี ยันการสอบสวนไม่เกี่ยวกับขั้นตอนการนำรายชื่อ กสทช.ขึ้นทูลเกล้าฯ ขณะที่เลขานุการ รมว.ยุติธรรม เผยพร้อมรับข้อเสนอ คอป.ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงมาพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน
วันนี้ (21 ก.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินการต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพวก จากกรณีที่ศาลได้ตัดสินให้ยึดทรัพย์คดีซุกหุ้นชินคอร์ป แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการกล่าวโทษกับผู้ที่อ้างถือหุ้นแทน ซึ่งรวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ว่าดีเอสไออยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีการกล่าวอ้างผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ทราบว่า พ.ต.ท.พะเยาว์ ทองเสน รักษาการ ผบ.สำนักคดีอาญา 3 ในฐานะพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบและเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้ไปสืบค้นข้อมูลจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพิ่มเติม ดังนั้นเมื่อรวบรวมพยานหลักฐานจากฝ่ายผู้ร้องเสร็จแล้วก็จะได้ดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตามดีเอสไอยังไม่ได้เชิญนายกรัฐมนตรีมาชี้แจง เพราะขั้นตอนยังอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบปากคำฝ่ายผู้ร้อง
ผู้สื่อข่าวถามเรื่อง การสอบสวนกรณีสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไม่โปร่งใส ที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ว่าจะเชิญใครมาสอบปากคำบ้าง นายธาริตกล่าวว่า จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนกระบวนการสรรหา กสทช. แต่ไม่ใช่ 11 ท่านที่ได้รับเลือกเป็น กสทช.มาสอบสวน เพื่อตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดหรือไม่ ส่วนข้อมูลอื่นๆ นั้น ดีเอสไอมีรายละเอียดจากการสอบสวนอยู่พอสมควรแล้ว ซึ่งดีเอสไอทำเฉพาะเรื่องการดำเนินคดีในกรณีที่มีผู้กระทำความผิดเท่านั้น ยืนยันว่าการสอบสวนของดีเอสไอไม่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการนำรายชื่อ กสทช.ขึ้นทูลเกล้าฯ ที่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบุคคลที่เข้าข่ายถูกออกหมายเรียกเข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้แก่ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการวุฒิสภา พร้อมผู้อำนวยการสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหา กสทช. โดยประเด็นที่ต้องการสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริง ประกอบด้วย ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร กสทช. เป็นอย่างไร เหตุใดผู้สมัครบางรายจึงยื่นสมัครหลายสาขาวิชาชีพ โดยคณะกรรมการสรรหาเคยมีมติให้ตัดสิทธิผู้สมัครหลายด้าน แต่เลขาธิการวุฒิสภายกข้อกฎหมายมาโต้แย้งว่าไม่มีข้อห้ามเรื่องการสมัครหลายด้าน ทำให้คณะกรรมการสรรหาต้องประชุมยกเลิกมติตัดสิทธิผู้สมัครหลายด้าน การจดทะเบียนนิติบุคคลขององค์กรวิชาชีพต่างๆ ว่าเป็นการจดทะเบียนถูกต้องจริงหรือไม่ และการทำลายเอกสารบัตรลงคะแนนเลือก กสทช.ว่ากระบวนการเป็นอย่างไร และใช้อำนาจใดในการทำลายเอกสารราชการ และกรณีการปกปิดคุณสมบัติผู้สมัคร กสทช.ที่ยังลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ไม่ครบ 1 ปี และปกปิดคุณสมบัติที่ผู้สมัครรายดังกล่าวได้รับเลือกเป็นบอร์ด อสมท ก่อนที่จะมีการลงคะแนนสรรหา กสทช.เพียง 3 วัน
นายถิรชัย วุฒิธรรม เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ ครม.รับข้อเสนอ 7 ข้อ ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน และให้ชดเชยเยียวยาผู้ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองว่า ครม.ให้รองนายกรัฐมนตรีและนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย รับผิดชอบ จากนั้นคาดว่าคงจะมีการประสานมายังรมว.ยุติธรรม ทั้งนี้ข้อเสนอของคอป.มีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม ก็จะมอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมที่รับผิดชอบนำไปปฏิบัติ โดยจะมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด
“เมื่อทาง รมว.มหาดไทย ประสานมาว่าการตั้งคณะกรรมการเยียวยาเป็นอย่างไร มีกรมไหนเข้าไปเกี่ยวข้อง เราก็จะแต่งตั้งไปให้ครบถ้วน แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดเรื่องตัวบุคคลที่ชัดเจน เพราะเพิ่งจะมีมติ ครม. ถ้านโยบายของ รมว.มหาดไทย ชัดเจนแล้ว ก็จะนำมาสู่การพิจารณาคุณสมบัติของคณะกรรมการเยียวยาในส่วนของกระทรวงยุติธรรมต่อไป ส่วนจะจ่ายเงินชดเชยเท่าไหร่คงอยู่ในกรอบของคณะกรรมการเยียวยา”
เมื่อถามว่ากระทรวงยุติธรรมเตรียมของบประมาณในการเยียวยาผู้เสียหายจำนวน 8,000 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลหรือยัง
นายถิรชัยกล่าวว่า เป็นตัวเลขที่ยกขึ้นมาเฉยๆ ว่าเป็นภารกิจของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ที่จะต้องมีเรื่องเยียวยาเยอะ จึงได้ตั้งกรอบเอาไว้ จะได้หรือไม่ได้ จะเป็นงบที่ได้จากงบประจำปีหรืองบประมาณกลางก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง