xs
xsm
sm
md
lg

แค่รอกฤษฎีกา ปูลั่นไม่ยื้อ!ทูลเกล้ากสทช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “ยิ่งลักษณ์” ลั่นไม่ยื้อทูลเกล้าฯ กสทช. แต่รอความเห็น “กฤษฎีกา” เพื่อความถูกต้องของ กม. เลขาฯกฤษฎีกาเร่งเสนอความเห็นสัปดาห์หน้า ชี้หาก "นายกฯปู" ยึกยักไม่ทูลเกล้าฯ เป็นดุลยพินิจส่วนตัว “เหลิม” ลั่นไม่คิดล้ม 11 กสทช. ระบุนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ แม้ถูกดีเอสไอสอบสวน

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคัดเลือก 11 รายชื่อ ว่าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ฝ่ายายค้าน ออกมาระบุ ว่ามีการเมืองเข้ามาแทรกแซง เพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนว่า ในส่วนของ กสทช. ฝ่ายบริหารมีหน้าที่นำส่งรายชื่อทูลเกล้าฯ แต่ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติมีประเด็นเรื่องข้อร้องเรียน ก็คงจะต้องส่งให้กฤษฎีกาหารือ เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ซึ่งในส่วนของฝ่ายบริหารไม่มีสิทธิที่จะมาทวงติงอะไร หากไม่มีประเด็นอะไร ก็ต้องส่งลงนามทูลเกล้าฯ อยู่แล้ว ตนยืนยันไม่มีการแทรกแซง

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีการสรรหา กสทช.เป็นคดีพิเศษนั้น มีการสั่งการหรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะเท่าที่ทราบเป็นเรื่องที่ถูกร้องเรียน ทางดีเอสไอ ก็นำมาพิจารณา ซึ่งการทำงานนั้นแยกกันระหว่างนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ส่วนของดีเอสไอ ก็ว่าไปตามกระบวนการ ส่วนของฝ่ายบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

เมื่อถามว่า การที่จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องรอความเห็นจากกฤษฎีกา และจะยึดความเห็นของกฤษฎีกาหรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ปกติถ้าไม่มีเรื่องอะไรก็นำเรื่องทูลเกล้าฯได้เลย แต่พอมีประเด็นตรงนี้ ก็จะให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีหารือกับกฤษฎีกา ซึ่งความเห็นของกฤษฎีกา เป็นรายละเอียดที่จะปฏิบัติในขั้นตอนของกฎหมาย

เมื่อถามว่าตามข้อกฎหมาย นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการชะลอหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีค่ะ ต้องนำส่งอย่างเดียว และไม่ยุ่งเกี่ยวอยู่แล้ว ทั้งนี้หากได้รับรายชื่อแล้วก็จะดำเนินการทันที ไม่ให้ล่าช้า ซึ่งตอนนี้เรายังไม่ได้รับรายชื่อเลย

เมื่อถามว่า หากนายกรัฐมนตรีไม่คิดจะยื้อ แล้วทำไมต้องถามกฤษฎีกา นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ฟังจากข่าว เพราะมีข้อทวงติง ซึ่งในส่วนของฝ่ายบริหารก็ทำเรื่องส่งอยู่แล้ว จะปรึกษากฤษฎีกาในเชิงข้อคิดเห็น และข้อแนะนำให้ทุกต้องตามข้อกฎหมาย ในฐานะนายกรัฐมนตรี หากมีคนทวงติงมา ถ้าไม่สนใจแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็คงไม่ถูกต้อง ก็หารือตามขั้นตอนการทำงานให้ถูกหลักอยู่แล้ว

ด้านนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา กล่าวถึงกรณีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ส่งเรื่องขอความเห็นกรณีการดำเนินการเสนอรายชื่อกสทช. ที่ได้รับการลงมติคัดเลือกจากวุฒิสภาแล้วว่า คณะกรรมการกฤษฏีกาได้รับเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เย็นวันที่ 8 ก.ย. โดยประเด็นที่ขอความเห็นคือ กรณีที่ดีเอสไอ รับเรื่องร้องเรียนความไม่ชอบด้วยกฎหมายของกรรมการสรรหาบางคนเป็นคดีพิเศษ จะส่งผลต่อการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ตามกฎหมาย กสทช.เพียงใด

ทั้งนี้ กฤษฏีกาฯ จะเร่งดำเนินการโดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ทันกับที่วุฒิสภาส่งเรื่องมายังสำนักนายกรัฐมนตรี

ส่วนแนวทางการพิจารณา จะพิจารณาตามประเด็นที่ขอหาความเห็นมา โดยจะดูจากข้อเท็จจริงว่าประเด็นที่ต้องการทราบ คืออะไร ทั้งนี้กฤษฏีกาฯจะพิจารณาเฉพาะข้อกฎหมาย โดยไม่มีการตรวจสอบลงลึกถึงกระบวนการสรรหา

นายอัชพร กล่าวอีกว่า สำหรับความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว ตนไม่สามารถให้ความเห็นได้ เพราะขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการ ส่วนจะมอบหมายให้กรรมการคณะใดเป็นผู้วินิจฉัย จะต้องตรวจสอบประเด็นแท้จริงว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้าง จากนั้นจะมอบหมายคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญ

ทั้งนี้กรณีดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะแต่กฎหมายของกสทช. แต่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของ ดีเอสไอ และรวมถึงกระบวนและวิธีปฏิบัติในการนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ส่วนการตัดสินใจนำรายชื่อว่าที่ กสทช.ขึ้นทูลเกล้าฯ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่าโดยวิธีปฏิบัติ ตามปกติเมื่อมีเรื่องที่ผ่านกระบวนการลงมติของวุฒิสภามาแล้ว นายกรัฐมนตรีสามารถชะลอการนำขึ้นทูลเกล้าฯได้หรือไม่ นายอัชพร กล่าวว่า ตามปกติจะไม่มีการดำเนินการในลักษณะนั้น กรณีนี้คงต้องมีการเชิญสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาให้ข้อมูลด้วยว่าเคยมีกรณีเช่นนี้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ตามปกติเรื่องใดที่ผ่านกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ควรจะถือไปตามนั้น

เมื่อถามว่าหากผลการตรวจสอบของดีเอสไอ พบว่ากระบวนการสรรหา กสทช.ผิดปกติ จะกระทบต่อการทำหน้าที่ของวุฒิสภาหรือไม่ นายอัชพร กล่าวว่า ทั้งหมดต้องดูว่าผลการสอบของดีเอสไอ มีผลอย่างไร

เมื่อถามต่อว่าหากเสนอความเห็นให้นายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีตัดสินใจชะลอการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ จะมีผลถือว่านายกรัฐมนตรี ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายอัชพร กล่าวว่า ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเหตุผลในการดำเนินการ ถ้ามีเหตุผลในการอ้างที่สามารถอ้างได้ตามกฎหมายโดยมีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ คงจะถือว่าละเว้นการทำหน้าที่คงไม่ได้

เมื่อถามว่าหากมองถึงประเด็นความเหมาะสมในการชะลอการดำเนินการ นายอัชพร กล่าวว่า ความเหมาะสมเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจ กฤษฏีกาฯตอบไม่ได้ ทุกอย่างต้องดูเหตุผลรองรับว่า มีเหตุอะไร ตามกฎหมายไม่มีกำหนดเวลาว่าต้องนำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯเมื่อใด การตัดสินใจจึงต้องดูว่า เหตุผลที่ยังไม่ดำเนินการต่อ มาจากอะไร

นายอัชพร กล่าวว่า กฤษฏีกาฯ มีหน้าที่เสนอความเห็นตามกฎหมายตามที่นายกรัฐมนตรีขอความเห็น ส่วนประเด็นนอกจากนั้น จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ส่วนตัวไม่รู้สึกหนักใจเพราะเป็นเรื่องปกติเวลารัฐบาลมีความสงสัยในการดำเนินการเรื่องต่างๆ จะขอความเห็นมาที่กฤษฏีกา โดยกฤษฏีกาจะเสนอความเห็นตามที่ขอมา สุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร

***"มาร์ค" ชี้ "ปู" ต้องรับผิดชอบหากถูกฟ้อง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่ามีขบวนการชะลอการทูลเกล้าฯ รายชื่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า ขณะนี้วุฒิสภาได้สรรหากสทช.เสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนี้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องประชุมเลือกประธาน และรองประธานและแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมาย เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ

ส่วนกรณีที่มีการร้องเรียนจนทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับเป็นคดีพิเศษ ถือเป็นเรื่องที่นายกฯต้องพิจารณาว่า จะเป็นเหตุที่จะทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ เพราะขณะนี้ยังเป็นเพียงการรับเป็นคดีพิเศษเท่านั้น ยังไม่มีข้อสรุป เว้นแต่ว่านายกฯมีข้อมูลเป็นอื่น นายกฯก็ต้องรับผิดชอบเพราะผู้ที่ได้รับคัดเลือก หากเสียสิทธิ์เขาก็มีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องได้เช่นกัน

อีกทั้งประเด็นที่มีการร้องไปที่ดีเอสไอ ก็ลักษณะเดียวกับเคยร้องไปที่ศาลปกครองแล้ว และมีการวินิจฉัยไปแล้ว ดังนั้นฝ่ายค้านจะติดตามต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่มีผลประโยชน์สูง และกสทช. มีความสำคัญจึงอยากให้เร่งดำเนินการ

*** “เหลิม” ลั่น รบ.ไม่คิดล้ม 11 กสทช.

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตามความคิดของตนนั้น เขาได้มีการสอบก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา ซึ่งดีเอสไอ สอบสวนมาตั้งแต่เมื่อไร ตนก็ไม่ได้ไปซัก เพราะสำนวนสอบสวนเป็นความลับของทางราชการ และเมื่อมีการสอบสวนเสร็จลำดับหนึ่ง เขามีเหตุมีผล แต่จะสอบสวนต่อไม่ได้ เพราะดีเอสไอ จะทำคดีสำคัญๆต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมาการ ซึ่งตนทำหน้าที่เป็นประธาน จากการประชุมเมื่อสองวันที่ผ่านมา ก็ได้มีการรายงานเรียบร้อย มีเอกสารขึ้นชาร์ตโชว์ ก็มีเหตุผลที่จะอนุมัติให้เขาไปทำคดี เมื่ออนุมัติแล้ว คดีนี้เมื่อถึงที่สุด ก็อาจไม่ผิด ตามความเห็นของดีเอสไอ ก็ได้

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เมื่อเราอนุมัติให้เขาไปทำเป็นคดีพิเศษ ประกอบกับเรื่องอาจจะต้องมาถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตนจึงกราบเรียนนายกฯว่า กรณีนี้เพื่อความปลอดภัยของท่าน และกฤษฎีกานั้นเป็นมันสมองทางกฎหมายของรัฐบาล เราได้ถามกฤษฎีกาว่า ในลักษณะอย่างนี้ควรจะปฏิบัติอย่างไร ก็เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาลชุดนี้เลย ที่ว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ทำอย่างนู้นอย่างนี้ มันไม่ใช่ จากการประชุมกรรมการ 17 คน ใน 16 คน เห็นชอบควรรับเป็นคดีพิเศษ และใน 16 คน มีตนกับพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ที่เป็นนักการเมือง นอกจากนั้นเป็นนักปราชญ์ ราชบัณฑิต อดีตประธานศาลฎีกา อดีตอัยการสูงสุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าทางกฤษฎีกาตีความเป็นอย่างไร รัฐบาลก็จะยืนตามนั้น ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ในความเห็นตนคนเรียนกฎหมาย ดีเอสไอ รับสอบยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะไม่นำความกราบบังคมทูล แต่เมื่อนำความกราบบังคมทูลแล้ว ก็อยู่ที่พระบรมราชวินิจฉัย และเขาไม่ได้สอบ กสทช.แต่เขาสอบคนเลือก

เมื่อถามว่า แสดงว่าปัญหาอยู่ที่คนเลือก อยู่ที่วุฒิสภาใช่หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า อยู่ที่คณะกรรมการที่เลือก ไม่ใช่ที่วุฒิฯ เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่ารัฐบาลชุดนี้อยากล้ม กสทช. รองนายกฯ กล่าวว่า จะล้มได้ยังไง ไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย ก็พวกช่างพูดต้องเอาหนังสติ๊กยิงตาตุ่ม แล้วอย่างนี้ไม่ให้ตนชี้แจงงานในหน้าที่อย่างไร

เมื่อถามว่าความเห็นส่วนตัวท่าน ตัวคณะกรรมการที่เป็นต้นทางไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปลายทางตัว กสทช. 11 คน เป็นอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าเขาผิดหรือไม่ เพียงแต่เขาเห็นว่า ควรมีการสอบสวน ซึ่งการสอบต่อไปอาจไม่ผิดก็ได้ และมีไม่รู้กี่คดีที่จับมาแล้วสั่งไม่ฟ้อง

เมื่อถามว่า เห็นทางว่าที่ กสทช. กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งท่าว่า ดูถ้านายกฯไม่ยื่นทูลเกล้าฯ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ฝ่ายค้านไม่มีงานทำ ก็ต้องทำหน้าที่ แต่บังเอิญตนร่วมรัฐบาลแบบไม่มีตำหนิเลย ตนก็ไม่ได้ใส่ใจ เมื่อสวนมาก็สวนกลับ ก็เท่านั้น สังคมจะได้รับรู้ ไม่งั้นมันก็อึมครึม.
กำลังโหลดความคิดเห็น