xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กแป๊ะ” แถไม่ต้องติดคุกขออภัยโทษได้-ปัดเร่งช่วย “แม้ว” กลับบ้านเร็ว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายถิรชัย วุฒิธรรม เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
เลขาฯ รมว.ยุติธรรม อ้างมาตรา 259 ระบุไม่เคยติดคุกก็สามารถยื่นพระราชทานอภัยโทษได้ ซัด “ถาวร” เปิดเผยไม่ชัดเจน โดยไม่กล่าวถึง ม.259 ส่วนคนนอกครอบครัวยื่นขอแทนได้หรือไม่ กฎหมายระบุไว้กว้างครอบคลุมถึงบุคคลอื่นก็สามารถยื่นถวายฎีกาได้เช่นกัน ยันไม่อยากให้สังคมวิจารณ์จนทำให้สับสน อาจทำให้พาดพิงเบื้องสูงได้ จึงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวสอบข้อเท็จจริง ปัดไม่ใช่เร่งทำเพื่อให้นายใหญ่ได้กลับบ้านเร็ว

วันนี้ (8 ก.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น.ที่กระทรวงยุติธรรม นายถิรชัย วุฒิธรรม เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณี นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ จะทำได้เฉพาะกรณีผู้ต้องคำพิพากษาต้องได้รับโทษในเรือนจำเท่านั้น หลังจากกรมราชทัณฑ์เสนอความเห็นกรณีกลุ่มคนเสื้อแดง รวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้พิจารณาชี้ขาดว่า สมควรทูลเกล้าฯขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ตามกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ยืนยันตามมาตรา 256 ให้สิทธิผู้ต้องโทษไม่เคยติดคุกขอพระราชทานอภัยโทษได้ นั้น

เลขานุการ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ตามที่ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์แถลงข่าว กล่าวถึงกฎหมายเพียงบางมาตรา อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในบทบัญญัติกฎหมาย และมองว่า รัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม กำลังดำเนินการในสิ่งไม่ถูกต้อง จึงขอชี้แจงเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษ ในหลักการขอพระราชทานอภัยโทษ ดังนี้ 1.หลักแห่งความเมตตาและกรุณา อันมาจากอธิปัตย์หรือประมุขแห่งรัฐ เพื่อให้มีโอกาสกลับตนเป็นคนดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยความจงรักภักดี
2.หลักการแห่งความยุติธรรมโดยสมบูรณ์ตามหลักนิติธรรม เพื่อแก้ไขความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม และผ่อนคลายความเคร่งครัดของการบังคับใช้กฎหมาย
3.หลักอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยา
4.หลักแห่งการบริหารในกิจการราชทัณฑ์
5.หลักแห่งความมั่นคงของประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อย ความเป็นธรรมในสังคม ให้ทุกคนมีความสำนึกสมัครสมานสามัคคี และสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ โดยมีรูปแบบของการพระราชทานอภัยโทษ 3 รูปแบบ คือ 1.การพระราชทานอภัยโทษในรูปแบบพระบรมราชวินิจฉัยในอรรถคดีต่างๆ 2.พระราชทานอภัยโทษต่อผู้ที่ต้องโทษซึ่งทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 3.การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป

นายถิรชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 191 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ การพระราชทานอภัยโทษ เป็นพระราชอำนาจเฉพาะ ซึ่งผู้หนึ่งผู้ใดจะล่วงละเมิด หรือวิพากษ์วิจารณ์หาได้ไม่ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 มาตรา 242 โดยมีกระบวนการทูลเกล้าถวายฎีกา ตามกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) 2 กรณี ดังนี้ 1.กฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 259 บัญญัติว่า “ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ขอรับพระราชทานอภัยโทษจะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ได้” ซึ่งผู้ต้องคำพิพากษาอาจอยู่หรือไม่อยู่ในความควบคุมของเรือนจำ กฎหมายกำหนดให้ผู้ต้องคำพิพากษาเองหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องจะยื่นฎีกาต่อ รมว.ยุติธรรม ก็ได้

เลขานุการ รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า กรณีที่ 2 กฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 260 บัญญัติว่า “ผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยัง รมว.ยุติธรรม” คือ ผู้ที่ถูกจำคุกอยู่เรือนจำเป็นผู้ยื่น และกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 261 วรรคหนึ่ง ยังบัญญัติอีกว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรอภัยโทษหรือไม่” และ วรรคสอง “ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้” คือ ผู้ต้องคำพิพากษา ทั้งที่รับโทษและยังไม่ได้รับโทษ

นายถิรชัย กล่าวถึงหลักกฎหมายการยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ อีกว่า กฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 261 ทวิ วรรคหนึ่ง ยังบัญญัติอีกว่า “ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษก็ได้” ซึ่งกรณีที่ 2 นี้ เป็นกรณีผู้ยื่นเรื่องต้องโทษอยู่ในเรือนจำ ยื่นตามลำดับชั้นถึง รมว.ยุติธรรม และเป็นกรณีที่พรรคฝ่ายค้านได้นำมาเป็นข้อมูลให้ข่าวต่อสื่อมวลชน เฉพาะข้อกฎหมายในมาตรา 260 ที่มีหลักให้ผู้ต้องคดีต้องรับโทษในคดีในเรือนจำมาก่อน แต่ นายถาวร ไม่ได้กล่าวถึงกรณีที่ 1 ตามมาตรา 295 ซึ่งผู้ต้องคำพิพากษาอาจอยู่หรือไม่อยู่ในการควบคุมของเรือนจำก็ได้ นอกจากนี้ตามกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 265 ยังบัญญัติอีกว่า “ในกรณีที่มีการอภัยโทษเด็ดขาดโดยไม่มีเงื่อนไข ห้ามมิให้บังคับโทษนั้น ถ้าบังคับโทษไปบ้างแล้วให้หยุดทันที” ซึ่งเจตนารมณ์ตามมาตรานี้เป็นการตอกย้ำให้เห็นวัตถุประสงค์ของกฎหมายกำหนดไว้โดยชัดเจนว่า มีทั้งกรณีก่อนการบังคับโทษ และบังคับโทษไปแล้วบางส่วน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การขอพระราชทานอภัยโทษ ให้กับผู้ที่ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนก็ได้เช่นกัน ใช่หรือไม่ นายถิรชัย กล่าวว่า ถ้ายึด ตาม ม.259 ก็จะชัดเจนตามนั้น

เมื่อถามว่า ผู้ที่สามารถยื่นถวายฎีกาได้ หมายถึงเฉพาะ ภรรยา ลูก หรือ ญาติ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช่หรือไม่ นายถิรชัย กล่าวว่า ต้องดูกฎหมายอื่นๆ ประกอบด้วย เข้าใจว่ากฎหมายระบุไว้อย่างกว้าง ครอบคลุมไปถึงบุคคลอื่นๆ ก็สามารถยื่นถวายฎีกาได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหลักการนิติธรรม ได้เขียนไว้และให้สิทธิ์บุคคลอื่นด้วย เพราะถ้าให้สิทธิ์เฉพาะญาติ นั้นกฎหมายไม่จำเป็นต้องใช้คำว่าบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ระบุเพียงว่า บุพการี บุตร ผู้สืบสันดานหรือญาติไว้ก็พอ

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา เคยมีใครยื่นถวายฎีกาตามมาตรา 259 ที่อ้างถึงหรือไม่ นายถิรชัย กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะต้องไปดู ว่า เคยมีการดำเนินการยื่นถวายฎีกาตามประเด็นนี้หรือไม่ อย่างไร แต่อดีตเคยมีตัวอย่าง คือ นายโกเมน ภัทรภิรมย์ อดีตอธิบดีกรมอัยการ ที่ต้องโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ต่อมาได้รับการอภัยโทษ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่คณะกรรมการต้องไปพิจารณา และทุกคดีมีความสำคัญ เพียงแต่ว่าคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งรีบดำเนินการ แต่ความจริงเรื่องนี้ล่าช้ามาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน 2 ปีแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการเร่งรัดดำเนินการแต่อย่างใด

เมื่อถามว่า รัฐบาลแถลงว่าการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล แต่การที่กระทรวงยุติธรรมเร่งตั้งคณะกรรมการ ขึ้นมาพิจารณา จะอธิบายสังคมว่าอย่างไร

นายถิรชัย กล่าวว่า เพราะไม่อยากให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้ต่อไป หากพูดกันไปเรื่อยๆ อาจเกิดความสับสนและไปพาดพิงพระราชอำนาจได้ จึงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้รอผลสรุปคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน

เมื่อถามว่า การเร่งดำเนินการเรื่องนี้ จะกลายเป็นการกดดันสถาบันฯ หรือไม่นายถิรชัย กล่าวว่า ตนขอไม่ตอบ เพราะเป็นคนละประเด็นกัน ตนมาชี้แจงอธิบายเฉพาะข้อกฎหมาย เพื่อให้เกิดความชัดเจน เข้าใจตรงกันเท่านั้น
หยุดเอาเปรียบ-หยุดก้าวล่วง-หยุดกดดันพระราชอำนาจ !!
หยุดเอาเปรียบ-หยุดก้าวล่วง-หยุดกดดันพระราชอำนาจ !!
หากพิจารณาจากอาการของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่อ้างว่าได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มารับหน้ากรณีการขอพระราชทานอภัยโทษให้ ทักษิณ ชินวัตร แล้ว รูปการณ์คงน่าจะออกมาในแบบการถวายฎีกาในนามของ คณะรัฐมนตรี โดยอ้างอิงรายชื่อของคนเสื้อแดงนับล้านคนสนับสนุน ซึ่งนั่นก็ไม่ต่างจากการใช้วิธีการ “กดดันบีบคั้นให้ใช้พระราชอำนาจ” อย่างไรก็ดีหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นจริง เพราะนั่นมันเป็นวิธีการที่เอาเปรียบคนอื่น เป็นการก้าวล่วงและกดดัน และเชื่อว่าสังคมไทยก็รับไม่ได้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น