ผ่าประเด็นร้อน
เชื่อว่านาทีนี้หลายคนคงจะขบกรามกรอดๆ รู้สึกโกรธกับตรรกะพิลึกพิลั่นเอาแต่ได้ แบบเห็นแก่ตัวของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ยกแต่ข้อกฏหมายสารพัดที่เป็นคุณแก่ตัว ทำทุกทางเพื่อให้ “นายคนใหม่” ของตัวเอง คือ ทักษิณ ชินวัตร ได้พ้นผิด และกลับเข้ามามีอำนาจในทางการเมืองโดยเร็วที่สุดเท่านั้น
ทำทุกทางเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็วที่สุด หากสังเกตให้ดีนี่คือภารกิจสำคัญประการที่สองที่ ร.ต.อ.เฉลิม ได้รับมอบหมาย หรือ “อาสา” รับมาดำเนินการ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ผลักดัน พล.ต.อ.เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ และเชื่อว่าภารกิจล่าสุดคือเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษให้ ทักษิณ น่าจะสำคัญและเร่งด่วนที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง
การออกมาอ้างอิงกฏหมายแบบยก “ตัดตอน” เอาเฉพาะประเด็นที่ตัวเองได้ประโยชน์ขึ้นมาอ้างอิง ขณะเดียวกันก็ออกคำสั่งห้ามไม่ให้สังคมได้วิพากวิจารณ์ หรือถ้าพูดให้ตรงไปตรงมาคือให้ทุกคน “หุบปาก” อ้างว่าเป็น “พระราชอำนาจ”
อย่างไรก็ดีสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิม ได้ดำเนินการกลับสวนทางกันก็คือ ได้แจกจ่ายเอกสารอ้างอิงข้อกฏหมาย ที่ตัดตอนมาเฉพาะส่วน เพื่อชี้ให้เห็นโดยเน้นประเด็นว่า “คนที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษไม่จำเป็นต้องติดคุกก่อน” ซึ่งก็หมายถึง ทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังหลบหนีคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งจำคุก 2 ปีในคดีใช้อำนาจมิชอบกรณีซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก นั่นแหละ
ขณะเดียวกันสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิม พยายามยกมาก็คือกรณีนี้ถือว่า “เป็นพระราชอำนาจโดยแท้จริง” ห้ามไปวิพากษ์วิจารณ์
สำหรับแง่มุมทางกฏหมายที่ เขานำมาอ้างอิงใช้ประโยชน์มีดังนี้
1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 191 “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ”
2.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259-267 สำหรับผู้ที่ทูลเกล้าฯ และถวายเรื่องราวหรือผู้ถวายฎีกา 1. ผู้ต้องโทษคำพิพากษา (ม.259) 2. ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องฯ (259) 3. คณะรัฐมนตรี (ม.261 ทวิ)
สำหรับผู้ที่หลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา และศาลได้อ่านคำพิพากษาลับหลังให้ลงโทษจำคุก มีสิทธิ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่
1. ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใด ตัดสิทธิ์ห้ามผู้หลบหนีตามคำพิพากษาศาล จะยื่นถวายฎีกา
2.ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใด กำหนดเงื่อนไขว่า จะต้องถูกจำคุกจริงๆ นานเท่าใดจึงจะถวายฎีกาได้
3.การพระราชทานอภัยโทษ เป็นพระราชอำนาจเฉพาะพระองค์ ไม่มีกฎหมายบัญญัติกรอบอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะอภัยโทษในกรณีใดบ้าง คดีประเภทใดอภัยโทษได้ คดีประเภทใดอภัยโทษไม่ได้ หรือการอภัยโทษจะต้องมีเงื่อนไขใดบ้าง ต้องจำคุกมาแล้วนานเท่าใด
4.เมื่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอภัยโทษมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น การแปลความหมายว่า "ผู้หลบหนี จะต้องมามอบตัว และรับโทษจำคุกเสียก่อนจึงขออภัยโทษได้" นั้น เป็นการแปลกฏหมายตามความคิดเห็นส่วนตัว หรือเป็นการเข้าใจเอาเอง ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้
ซึ่งหากพิจารณาในแต่ละข้อก็ถือว่าไม่ได้โต้แย้งในหลักการแต่อย่างใด แต่ เป็นการหยิบยกเอามาบิดเบือนมาใช้ประโยชน์ต่างหาก เช่น ยกรัฐธรรมนูญมาตรา 191 ที่กำหนดว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” ก็ถูกต้อง
ขณะที่ข้ออื่นๆระบุว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259-267 สำหรับผู้ที่ทูลเกล้าฯ และถวายเรื่องราวหรือผู้ถวายฎีกา คือ 1. ผู้ต้องโทษคำพิพากษา (ม.259) 2. ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องฯ (259) และคณะรัฐมนตรี (ม.261 ทวิ)
ในประเด็นนี้ต้องมาพิจารณาเปรียบเทียบพิจารณาในประเด็นสำหรับผู้ที่ทูลเกล้าฯและถวายเรื่องราวหรือผู้ถวายกฎีกานั้นก็มีข้อกำหนดเอาไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า ต้องเป็นผู้ต้องโทษคำพิพากษา ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง และคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากเป็นกรณีของ ทักษิณ ชินวัตร แล้ว ที่ผ่านมาเจ้าตัวได้ยื่นเรื่อง “ถวายเรื่องราว” หรือ “ถวายฎีกา” เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษด้วยตัวเอง(ผู้ต้องโทษคำพิพากษา) หรือ ให้ญาติพี่น้อง ลูกเมีย(ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง) แล้วหรือยัง เพราะที่ผ่านมามีแต่การล่าชื่อคนเสื้อแดงนับล้านคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องทางเครือญาติแล้วยื่นถวายฎีกา ซึ่งดูแล้วไม่เข้าเกณฑ์แต่อย่างใด
หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้ก็คงเหลือเพียงกรณีเดียวก็คือ ให้คณะรัฐมนตรี(ม.261 ทวิ) เป็นผู้ทูลเกล้าฯและถวายเรื่องราวและถวายฎีกา ใช่หรือไม่ เพราะเวลานี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก กำลังสั่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนหลังจากผ่านขั้นตอนในการพิจารณารายชื่อคนเสื้อแดงที่เข้าชื่อกันถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ ทำให้มีความเป็นได้เหมือนกันว่าจะใช้วิธีนี้ในการเสนอทูลเกล้าฯ
สำหรับประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องการนำเสนอก็คือ “ไม่ต้องติดคุกก่อนก็ขอพระราชทานอภัยโทษได้” เพราะเวลานี้ ทักษิณ กำลังหนีคดี ไม่ยอมรับผิด มิหนำซ้ำเลวร้ายไปกว่านั้นก็คือยังกล่าวหากระบวนยุติธรรมของไทย ศาลไทย ที่ดำเนินการภายใต้พระปรมาภิไธยว่าเป็น “กระบวนการยุติความเป็นธรรม” แต่กลายเป็นว่าวันดีคืนดีก็จะอาศัยช่องทางเท่าที่มีทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองพ้นจากความผิด โดยเอาเปรียบคนอื่น ทำตัวไม่ต่างจาก “อภิสิทธิ์ชน” เหมือนกับที่เคยกล่าวหาคนอื่นมาตลอด
ดังนั้นหากพิจารณาจากอาการของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่อ้างว่าได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มารับหน้ากรณีการขอพระราชทานอภัยโทษให้ ทักษิณ ชินวัตร แล้ว รูปการณ์คงน่าจะออกมาในแบบการถวายฎีกาในนามของ คณะรัฐมนตรี โดยอ้างอิงรายชื่อของคนเสื้อแดงนับล้านคนสนับสนุน ซึ่งนั่นก็ไม่ต่างจากการใช้วิธีการ “กดดันบีบคั้นให้ใช้พระราชอำนาจ” อย่างไรก็ดีหวังว่าจะไม่เกิดขึ้นจริง เพราะนั่นมันเป็นวิธีการที่เอาเปรียบคนอื่น เป็นการก้าวล่วงและกดดัน และเชื่อว่าสังคมไทยก็รับไม่ได้แน่นอน !!