xs
xsm
sm
md
lg

“พีระพันธุ์” งง 2 ล้านชื่อ ขออภัยโทษ “ทักษิณ” แต่ไร้ชื่อลูก-เมีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
“พีระพันธุ์” อดีต รมว.ยุติธรรม เผยการขออภัยโทษ ต้องรับโทษก่อน และผู้มีสิทธิยื่นได้ต้องเป็นญาติใกล้ชิด แต่กรณี “ทักษิณ” ลูก-เมียไม่ได้ร่วมลงชื่อยื่นขออภัยโทษด้วย และจาก 3 ล้านรายชื่อตรวจสอบแล้วมีตัวตนจริง 2 ล้านรายชื่อ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้เผยแพร่บทความผ่านเฟซบุ๊ก Pirapan Salirathavibhaga เรื่อง “การขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” โดยระบุว่า การขออภัยโทษต้องมารับโทษติดคุกก่อน ไม่ใช่หนีคดีแล้วมาขออภัยโทษ ส่วนผู้ยื่นขออภัยโทษได้ต้องเป็นลูก เมียหรือญาติใกล้ชิด แต่กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีผู้ลงนามถึง 3 ล้านคน ตรวจแล้วมีตัวตนจริง 2 ล้านคน โดยไม่ปรากฏชื่อ ภรรยา หรือบุตรร่วมลงนามด้วย โดยต้องจับตาการดำเนินการของพล.ต.องประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมมนตรี ว่าจะดำเนินการเข้าข่ายช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ โดยมีรายละเอียดของบทความดังนี้

“การขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
by Pirapan Salirathavibhaga on Sunday, September 4, 2011 at 6:24pm

การขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

เราต้องมาทำความเข้าใจกรณีของการขอพระราชทานอภัยโทษที่เป็นหลักการและหลักปฏิบัติทั่วไป ก่อนที่จะไปพิจารณาการขอพระราชทานอภัยโทษของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

๑. การขอพระราชทานอภัยโทษ หมายถึงการขอรับพระราชทานอภัยโทษในความผิดที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินแล้ว มิใช่หมายความรวมถึงการกระทำความผิดอื่นๆ ที่ยังมิได้มีการฟ้องร้องหรือที่ศาลยังมิได้ตัดสินคดี ซึ่งในกรณีปกติ จำเลยจะต้องมาฟังคำพิพากษาเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการถูกควบคุมตัวมาในกรณีที่ถูกคุมขังหรือมาศาลเองในกรณีที่มีการประกันตัว ดังนั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจำเลยผู้นั้นจะถูกควบคุมตัวไปจำคุกในความผิดนั้นทันที และเมื่อถูกจำคุกในความผิดนั้นอยู่จำเลยหรือนักโทษนั้นก็อาจทำเรื่องทูลเกล้าฯ ขอรับพระราชทานอภัยโทษได้

แปลว่าขั้นที่หนึ่งต้องถูกพิพากษาให้ติดคุก และต้องติดคุกก่อนแล้วจึงทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ใช่หนีไปแล้วขอพระราชทานอภัยโทษ

๒. ขั้นต่อมา เมื่อถูกคุมขังแล้ว ผู้ต้องขังนั้นมีความประสงค์จะขอพระราชทานอภัยโทษก็ให้ทำได้ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๕๙ กำหนดไว้ว่าให้ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว (แปลว่าคดีสิ้นสุดไม่มีอุทธรณ์หรือฎีกาอีกแล้ว) ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้

คำถามคือ ใครที่จะเป็นผู้ทำเรื่องทูลเกล้าฯ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษได้ และทำอย่างไร

คำถามแรก ใครเป็นผู้ที่มีสิทธิขอพระราชทานอภัยโทษได้บ้าง
คำตอบ ผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและผู้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง
คำถาม ใครคือผู้มีผู้ประโยชน์เกี่ยวข้อง
คำตอบ หลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ คือ คู่สมรสหรือญาติชั้นใกล้ชิด ได้แก่ สามี ภรรยา บุตร บิดา มารดา หากเป็นญาติลำดับชั้นถัดไปก็อาจพิจารณาตามข้อเท็จจริงแต่จะจำกัดไว้ที่พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือญาติสนิทชั้นใกล้ชิดจริงๆ เท่านั้น

คำถาม ดำเนินการอย่างไร
คำตอบ ผ่านการทูลเกล้าฯ เสนอของรัฐมนตรียุติธรรม และอื่นๆ

มาตรา ๒๖๑ วรรคหนึ่งของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระบุไว้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่กรมราชทัณฑ์ก็จะทำความเห็นเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมถึงพฤติกรรมและความประพฤติของนักโทษผู้นั้นรวมถึงระยะเวลาการที่ได้รับโทษตามคำพิพากษาว่าผู้นั้นสมควรที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ แต่หากจำเลยหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ก็เท่ากับไม่มีตัวตนของจำเลยหรือนักโทษผู้นั้นให้เจ้าหน้าที่สามารถรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้พิจารณาพฤติกรรมและความประพฤติรวมถึงระยะเวลาที่ผู้นั้นได้รับโทษตามคำพิพากษาว่ามีเหตุผลสมควรที่จะได้รับการพระราชทานอภัยโทษแล้วหรือไม่

ข้อควรทราบคือ แม้ในอดีตที่ผ่านมาจะเคยมีจำเลยที่หลบหนีการจำคุกหลายรายได้ยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษ แต่กรมราชทัณฑ์ไม่เคยทำความเห็นเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ถวายความเห็นควรให้พระราชทานอภัยโทษจำเลยเหล่านั้นเลย และไม่เคยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมท่านใดที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นนี้ของกรมราชทัณฑ์

นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีท่านใด รวมทั้งนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี อีกเช่นกันที่เห็นว่าควรจะถวายความเห็นให้ทรงพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้หลบหนีการคุมขังตามคำพิพากษา เรื่องนี้มีเอกสารหลักฐานชัดเจนทุกยุคทุกสมัย

สำหรับกรณีผู้ที่จะทำเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษนั้น กฎหมายกำหนดไว้ ๒ กรณี คือ ๑. ผู้ที่ต้องคำพิพากษานั้นเอง และ ๒. ผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง สำหรับกรณีผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องนั้น กรมราชทัณฑ์ถือปฏิบัติตลอดมาว่าจะต้องเป็นคู่สมรสหรือญาติชั้นใกล้ชิด ได้แก่ สามี ภรรยา บุตร บิดา มารดา หากเป็นญาติลำดับชั้นถัดไปก็อาจพิจารณาตามข้อเท็จจริง แต่จะจำกัดไว้ที่พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือญาติสนิทชั้นใกล้ชิดจริงๆ เท่านั้น การจะทำเรื่องทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษโดยผู้อื่น จริงๆ แล้วจึงไม่จำเป็นต้องใช้ผู้คนจำนวนมากเพียงเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องตามที่กล่าวมาแล้วนั้นเพียงคนเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้กรมราชทัณฑ์สามารถดำเนินการทำเรื่องราวเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมตามกฎหมายได้แล้ว

กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ในกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีผู้จัดทำเป็นขบวนการใหญ่โต มีผู้ร่วมลงนามในหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายขอรับพระราชทานอภัยโทษถึงกว่าสามล้านคน จึงเป็นจุคเริ่มต้นของความล่าช้าในการดำเนินการ เพราะกรมราชทัณฑ์ต้องตรวจสอบรายชื่อทั้งหมดว่าบุคคลดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่ และมีบุคคลใดบ้างหรือที่เข้าลักษณะเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ที่จะสามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ตามกฎหมาย กรมราชทัณฑ์ไม่เคยประสบกรณีเช่นนี้จึงต้องเกณฑ์เจ้าหน้าที่ และจัดจ้างลูกจ้าง รวมทั้งจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมอย่างมากมายเพื่อมาดำเนินการ ซึ่งนอกจากจะหมดเงินงบประมาณไปจำนวนมากแล้ว ยังทำให้ต้องใช้เวลาดำเนินการเป็นปี ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าหากผู้ดำเนินการต้องการเพียงให้มีการดำเนินการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างจริงจังและรวดเร็วแล้ว เหตุใดจึงไม่ดำเนินการเพียงให้ภรรยา หรือบุตร หรือ ญาติชั้นใกล้ชิด เช่น พี่น้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ลงนามในหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอรับพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเพียงบุคคลดังกล่าวคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวก็ดำเนินการได้และจะไม่มีปัญหาใดๆ ที่ต้องพิจารณาว่าผู้ที่ร่วมลงนามมีตัวตนจริง และเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือไม่ด้วย ซึ่งในกรณีนี้เช่นนี้ กรมราชทัณฑ์สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ได้ไม่น่าจะเกินหกเดือน

เป็นที่น่าประหลาดใจว่า หลังจากที่กรมราชทัณฑ์ต้องใช้เวลาเป็นปีเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อ และความสัมพันธ์ของบุคคลที่ลงนามในหนังสือทูลเกล้าฯ แล้ว นอกจากพบว่าผู้ลงชื่อมีตัวตนถูกต้องเพียงประมาณสองล้านชื่อ (ไม่ปรากฏบุคคลตามรายชื่อประมาณกว่าหนึ่งล้านชื่อ)

กลับปรากฏว่า ไม่มีรายชื่อของภรรยาและบุตรของ พ.ต.ท.ทักษิณ ร่วมลงนามขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เลย

แต่ปรากฏรายชื่อบุคคลสามคนที่ใช้นามสกุลเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ คือ “ชินวัตร” แต่กลับกลายเป็นว่าทั้งสามคนนั้นมีเพียงชื่อแต่มิได้ลงนามมาด้วย หนึ่งในนั้น คือ นายพายัพ ชินวัตร ซึ่งหากนายพายัพ ลงนามมาเรื่องก็จบสามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะนายพายัพเป็นน้องชายของ พ.ต.ท.ทักษิณ พอจะถือได้ว่านายพายัพเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย กรมราชทัณฑ์จึงทำหนังสือสอบถามไปยังบุคคลทั้งสามว่าการที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อมานั้น บุคคลทั้งสามทราบเรื่องและมีเจตนาที่จะทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ หากมีความประสงค์จริงก็จะได้จัดให้มาลงนามให้ถูกต้องต่อไป ผลปรากฏว่ามีผู้ตอบกลับกรมราชทัณฑ์เพียงรายเดียวว่าประสงค์จะทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ในขณะนั้นไม่ปรากฎความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเข้าลักษณะเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายหรือไม่ ส่วนนายพายัพ ชินวัตร และอีกบุคคลหนึ่งไม่ตอบกลับมายังกรมราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์จึงรายงานเรื่องดังกล่าวมายังผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ผมจึงสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ติดต่อสอบถามไปยังนายพายัพ และอีกบุคคลหนึ่งอีกครั้ง เพราะเห็นว่าหากนายพายัพตอบกลับมาและมาลงนามให้ถูกต้องเรื่องก็จะได้เข้าสู่กระบวนอื่นต่อไปเสียที แต่จนที่ผมพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกรมราชทัณฑ์ก็ยังมิได้รายงานผลการดำเนินการตามที่สั่งการดังกล่าวมาแต่อย่างใด

ดังนั้น เมื่อปรากฏข่าวว่ากรมราชทัณฑ์ได้ส่งเรื่องการทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปยัง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมปัจจุบันแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่จะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนว่าบุคคลที่ใช้นามสกุล “ชินวัตร” ทั้งสามรายรวมทั้งนายพายัพ ชินวัตร ได้มาลงชื่อในหนังสือขอทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกต้องแล้วหรือไม่ และทั้งสามคนมีความสัมพันธ์เข้าลักษณะของการเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายแล้วหรือไม่อย่างไร และกรมราชทัณฑ์ได้เสนอความเห็นต่อ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า ไม่สมควรถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ ว่าควรพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเป็นผู้หลบหนีการคุมขังเช่นที่กรมราชทัณฑ์เคยถือปฏิบัติในกรณีอื่นๆ และตามที่เคยรายงานผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาก่อนหรือไม่

หากกรมราชทัณฑ์ดำเนินการเช่นที่ผ่านมา พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า มีความเห็นเช่นเดียวกับกรมราชทัณฑ์เช่นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทุกท่านในอดีตถือปฏิบัติมาหรือไม่ สำหรับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าตนจะถวายความเห็นตามขั้นตอนต่อพระมหากษัตริย์ว่าไม่ควรพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะเป็นผู้หลบหนีการคุมขังและไม่เคยได้รับโทษตามคำพิพากษาของศาลมาก่อนเลยหรือไม่

ส่วนเหตุใดภรรยา และบุตรของ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่ร่วมลงนามในหนังสือทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยนั้น ก็เป็นเรื่องที่ภรรยา และบุตรของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะต้องอธิบายเหตุผลเอง

สำหรับการดำเนินการของบุคคลใดในกรณีนี้จะเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานเป็นการช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘๔ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ หรือไม่เพียงใด ก็เป็นเรื่องที่คงต้องว่ากันอีกยาว เพราะมีอายุความของคดีนี้ยาวนาน ๑๐-๑๕ ปี

กำลังโหลดความคิดเห็น