xs
xsm
sm
md
lg

รื้อบิ๊กแบ็กคปอ.ให้ทอ.เจรจาเพิ่ม8ชุมชนเฝ้าระวัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตือน 8 ชุมชน เขตหัวหมาก เขตบางกะปิ เฝ้าระวัง "สุขุมพันธุ์" ระบุชาวบ้านรื้อบิ๊กแบ็กแยกคปอ.เป็นหน้าที่ของทอ.ต้องดูแล กทม.รอศปภ.แจ้งให้ทราบ หวังใช้เหตุผลเจรจา เผยหากนักการเมืองในพื้นที่เอี่ยว นำมวลชนก่อม็อบ แนะให้ทำตามกม. "บัน คี มูน"แสดงความเสียใจ วิกฤตอุทกภัยไทยครั้งใหญ่

**เตือนหัวหมาก บางกะปิ เฝ้าระวัง

วานนี้ (16 พ.ย.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่บางส่วนของแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ เนื่องจากในขณะนี้น้ำเหนือได้ไหลบ่าเข้ามาในพื้นที่เขตบางกะปิอย่างต่อเนื่อง ถึงคลองแสนแสบ และคลองย่อยต่างๆ ได้แก่ คลองบ้านม้า 2 คลองหัวหมากน้อย และคลองลำสาลี ซึ่งมีแนวโน้มจะเข้าพื้นที่หลายชุมชน กทม.ได้ประเมินสถานการณ์จากตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องโดยรอบแล้ว กรณีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ จำนวน 8 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนวังใหญ่ ชุมชนวังโสม ชุมชนสามัคคีพัฒนา ชุมชนลำสาลี ชุมชนลำสาลีพัฒนา ชุมชนหมู่บ้านอยู่สบาย ชุมชนมัจฉา และชุมชนประชาร่วมใจ

ทั้งขอให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวขนย้ายสิ่งของ ทรัพย์สินมีค่า รถยนต์ ปลั๊กไฟฟ้าขึ้นที่สูง และให้ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวเคลื่อนย้ายไปอยู่ศูนย์พักพิงที่กทม.ได้จัดเตรียมไว้ให้เพื่อความปลอดภัย โดยให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วย เด็ก คนชรา และสตรีมีครรภ์ ทั้งนี้ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์จาก กทม.อย่างใกล้ชิด

**น้ำท่วมกทม.ภาพรวมดีขึ้น

นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกทม. เปิดเผยถึงผลการประชุมสถานการณ์น้ำและการแก้ไขปัญหากรุงเทพฯ ว่า ภาพรวมสถานการณ์น้ำโดยรวมในพื้นที่กรุงเทพฯ ดีขึ้น ทั้งด้านกรุงเทพฯ เหนือและตะวันออก ระดับน้ำลดลงต่อเนื่อง อีกทั้งหลายพื้นที่ทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเริ่มลดระดับลงแต่ยังคงมีระดับสูง เช่น เขตดอนเมือง จตุจักร ระดับน้ำลดลงแต่ยังล้นตลิ่ง คลองเปรมประชากรช่วงในเมืองระดับน้ำลดลง ด้านสายไหม คลองลาดพร้าวด้านบนยังคงล้นตลิ่ง ด้านซอยเสนานิคม วัดลาดพร้าว ซ.ลาดพร้าว 56 ระดับน้ำในคลองล้นตลิ่งแต่ระดับน้ำเริ่มลดลงเรื่อยๆ

**ชาวบ้าวรื้อบิ๊กแบ็กที่ คปอ.

กรณีชาวบ้านกว่า 200 คน รื้อแนวคันบิ๊กแบ็กบริเวณ ถ.พหลโยธิน แยกกรมควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ (คปอ.) เป็นแนวยาวประมาณ 4 เมตร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า มีการรื้อเฉพาะชั้นบนของแนว พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ(ทอ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับชาวบ้าน ส่วนผลการเจรจาต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่ง กทม.หวังว่า จะได้ข้อสรุปที่ดีเช่นเดียวกับปัญหาที่ ถ.วิภาวดี-รังสิต

ทั้งนี้ จากการประชุมหารือระหว่าง ศปภ.และกทม. ซึ่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา มีการข้อตกลงร่วมกันว่าให้มีการเปิดทางน้ำบางส่วนให้เป็นฝายน้ำล้น ซึ่งระบุ เพียง ถ.วิภาวดี เพียงจุดเดียว อย่างไรก็ตาม รอผลการเจรจาของกองทัพอากาศที่จะรายงานมาถึง ศปภ. และแจ้งให้ กทม.ทราบ ซึ่งตนคิดว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือ ให้ทุกฝ่ายใช้เหตุผล เพราะเหตุผล คือ วิธีป้องกันคันกันน้ำได้ดีที่สุด

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งความเคลื่อนไหวของมวลชนมีผู้แทนในพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ตนในฐานะอดีต ส.ส. อยากเรียกร้องให้ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยส.ส.ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งทำหน้าที่ออกกฎหมาย จำเป็นต้องเคารพข้อกฎหมายด้วยเช่นกัน โดยสิ่งที่ดีที่สุด คือ ควรชักชวนประชาชนให้เคารพกฎหมายด้วย

**เร่งระบายน้ำต่อเนื่อง

ขณะที่ ปัญหาขยะที่ตกค้างในพื้นที่น้ำท่วม กทม.พยายามเร่งเก็บทุกพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งสถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย กทม.สามารถจัดเก็บขยะได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละกว่า 7 พันตัน จากปกติที่สามารถจัดเก็บได้ประมาณวันละ 8,700 ตัน โดยภาพรวมขยะมีปริมาณลดลงด้วย เนื่องจากสถานที่ทำงาน สถานศึกษาต่าง ๆ มีการปิดทำการ ส่วนการระบายน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ยังไม่สามารถระบายได้เท่าที่ควรมีสาเหตุมาจากน้ำไม่สามารถไหลจากที่ต่ำไปสู่ที่สูงได้ จึงต้องเร่งระบายน้ำจากถนนที่สูงลงสู่ที่ต่ำก่อน ทั้งนี้ ขออภัยประชาชนที่อาศัยในซอยต่างๆที่ยังต้องได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังอยู่ กทม. จะเร่งระบายน้ำต่อไป

โดยชาวบ้านย่านลำลูกกาประมาณ 200 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างแนวคันกั้นน้ำบิ๊กแบ็กบน ถ.พหลโยธิน ช่วงกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ หรือ แยกคปอ. ที่กั้นน้ำจากแยกลำลูกกา ไม่ให้เข้ามายังฐานทัพอากาศ ออกมาชุมนุมประท้วง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เปิดแนวกันกั้นซึ่งทำให้น้ำทะลักมายังถ.พหลโยธินทั้งขาเข้าและขาออก โดยระดับน้ำ 2 ฝั่งใกล้เคียงกันแล้ว

ทั้งนี้จุดที่มีการรื้อแนวบิ๊กแบ็กเป็นจุดตัดของ ถ.พหลโยธินและ ถ.จันทรุเบกษา ซึ่งเชื่อมต่อกับซอยเลียบคลองสอง และ ถ.สายไหม

***กู้ทางหลวง 340 เสร็จแล้ว

สถานการณ์น้ำท่วมใน อ. บางบัวทอง จ.นนทบุรี ระดับน้ำลดลง 2-3 เซนติเมตร โดยระดับน้ำโดยรวมสูง 1.20 เมตร บางพื้นที่ยังคงมีระดับน้ำสูงกว่า 1.50 เมตร ขณะที่ประชาชนที่อพยพออกจากพื้นที่เริ่มเดินทางกลับเข้าบ้านเรือนของตนเองแล้ว

การกู้ถนนทางหลวงสาย 340 และถนนทางหลวงสาย 9 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยนายชนินทร ชูขวัญ ผู้อำนวยการ สำนักงานบำรุงทาง จ.นนทบุรี เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้กู้ถนนหมายเลข 340 ตั้งแต่สี่แยกนพวงศ์จนถึงถนนทางหลวงสาย 9 ตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี บริเวณกิโลเมตรที่ 39 บางใหญ่และกิโลเมตรที่ 18 บนถนนทางหลวงสาย 302 รัตนาธิเบศร์ โดยถนน 340 ได้ทำการกู้เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยใช้รถแบคโฮจำนวน 26 คัน ทำคันดินกั้นน้ำเป็นระยะทางยาว 12 กิโลเมตร และสูบน้ำออกไปยังลำคลองและถนนด้านข้าง ส่วนบริเวณถนนทางหลวงสาย 9 กำลังดำเนินการกู้

** แนะลงใต้ใช้ถ.พระราม 2

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม กล่าวถึงการเดินทางไปภาคใต้ ว่า ถนนพระราม 2 น้ำคงไม่ท่วมแล้ว และถนนเส้น 340 ตนได้ไปกู้เองเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าช่วงเย็นวันที่ 16 พ.ย. จะแล้วเสร็จ จึงขอแนะนำว่า ถ้าจะเดินทางไปภาคใต้ ควรใช้ถนนพระราม 2 จะดีกว่า เพราะเส้นทาง 340 มี 4 เลน แต่กู้เพียง 2 เลน จะทำให้ถนนแคบ และมีรถจอดบริเวณถนนสูง สัญจรลำบาก อาจใช้ได้เลนเดียว นอกจากนี้ยังมีโคลนที่ยังเลอะเทอะอยู่ ไม่แนะนำให้ไป หรือจะไป ต้องใช้ปิ๊กอัพ แต่เห็นว่าไม่ควรไป ให้ชาวบ้านแถบนั้นใช้ถนนเส้นนั้นดีกว่า

***บางบัวทองปิดถนนหลายเส้น

วานนี้ (16 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณทางเข้าอำเภอบางบัวทองยังคงมีปริมาณน้ำสูงอยู่ โดยมีกลุ่มเรือรับจ้างนำเรือมาจอดคอยบริการสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าไปในตัวอำเภอบางบัวทอง เพราะไม่สามารถสัญจรด้วยรถได้ เนื่องจากกรมทางหลวงแจ้งปิดเส้นทางในอำเภอบางบัวทอง ได้แก่

1.ทางหลวงหมายเลข 9 ตลิ่งชัน-บางบัวทอง-ลาดหลุมแก้ว (หน้าหมู่บ้านสมบัติบุรี-คลองมหาสวัสดิ์) ท้องที่อำเภอบางบัวทอง มีน้ำท่วมสูงที่กม. 30-58 เป็นแห่งๆ ให้ใช้ทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์-รังสิต
2.ทางหลวงหมายเลข 340 บางบัวทอง-ลาดบัวหลวง ท้องที่อำเภอบางบัวทอง มีน้ำท่วมสูงที่กม.25-55 เป็นแห่งๆ ให้ใช้ทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์-รังสิต-อยุธยา
3.ทางหลวงหมายเลข 345 สะพานนนทบุรี-บางบัวทอง ท้องที่อำเภอบางบัวทอง มีน้ำท่วมสูงที่กม.0-10 เป็นแห่งๆ ใช้ทางของเทศบาล
4.ทางหลวงหมายเลข 3215 บางกรวย-ราษฎร์นิยม ท้องที่อำเภอบางบัวทอง มีน้ำท่วมสูงที่กม.0-35 เป็นแห่งๆ ไม่มีเส้นทางทดแทน
5.ทางหลวงหมายเลข 3901 คลองบางไผ่-ลาดหลุมแก้ว (ทางคู่ขนานวงแหวนตะวันตก) ขาออก ท้องที่อำเภอบางบัวทอง มีน้ำท่วมสูงที่ กม.30-58 เป็นแห่งๆ ไม่มีเส้นทางทดแทน
6.ทางหลวงหมายเลข 3902 คลองบางไผ่-ลาดหลุมแก้ว (ทางคู่ขนานวงแหวนตะวันตก) ขาเข้า ท้องที่อำเภอบางบัวทอง มีน้ำท่วมสูงที่ กม.30-58 เป็นแห่งๆ ไม่มีเส้นทางทดแทน

** "บันคีมูน" แสดงความเสียใจ

เมื่อเวลา 9.20 น. วานนี้ (16 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ โดยมี นายวีระพงษ์ รามางกูร และ นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รวมถึงนายสุเมธ ตันติเวชกุล ทีมผู้เชี่ยวชาญน้ำของไทย เข้าร่วมประชุมด้วย

ทั้งนี้ นายกฯกล่าวว่า ขณะนี้ต่างประเทศให้ความสนใจและยินดีให้ความช่วยเหลือไทยในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งเนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา จึงอยากให้คณะกรรมการทั้ง 2 ชุด เร่งรัดการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ

ต่อมาเวลา 13.05 น. วานนี้ (16 พ.ย.) นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ และคณะ ได้เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล โดยมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รอให้การต้อนรับ ก่อนลงนามในสมุดเยี่ยม บริเวณโถงหน้าห้องสีงาช้าง จากนั้น นายกรัฐมนตรี และนายบัน คี มูน ร่วมหารือข้อราชการ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า

ต่อมาเวลา 14.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วย นายบัน คี มูน ได้แถลงผลการหารือร่วมกัน โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวขอบคุณ ที่ทางเลขาธิการฯ ได้ให้ความสนใจ และห่วงใยต่อสถานการณ์อุทกภัยในประเทศไทย และได้ย้ำว่า รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการช่วยประชาชนที่ประสบอุทกภัย ซึ่งขณะนี้รัฐบาลจัดทำแผนนโยบายระยะยาว สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งตอนนี้ทางรัฐบาลได้รับสิ่งของจากหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ จะรีบไปแจกจ่ายให้ประชาชนโดยเร็ว

นายบัน คี มูน กล่าวว่า ตนมาเยือนประเทศไทย ในช่วงที่ทุกคนกำลังเผชิญกับเหตุการณ์อุทกภัยที่เลวร้ายที่สุด และรู้สึกตกตลึงกับภาพที่ได้เห็นทางโทรทัศน์ สหประชาชาติกำลังจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กับการบริหารจัดการภัยพิบัติ และพร้อมที่จะช่วยในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ฝ่ายไทยสามารรตอบสนอง และฟื้นฟูหลังเหตุการณ์อุทกภัยได้ อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

นายบัน คี มูน ยังได้แสดงความเสียใจกับประเทศไทย ต่อคนที่ได้รับผลกระทบ หรือเสียชีวิต และทรัพย์สินในเหตุการณ์ครั้งนี้ และมั่นใจว่า ภาวการณ์เป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวิกฤตนี้ จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคได้ ในช่วงบ่าย ตนจะไปสำรวจความเสียหายด้วยตนเอง และจะเยือนสำนักงานสหประชาชาติ ที่ตั้งอยู่ในเมืองไทย โดยจะมีการหารือโต๊ะกลมกับบุคคลต่างๆ ในเรื่องของการประกันสุขภาพทั่วหน้าของไทยด้วย

นายบัคคีมูน กล่าว่า วิกฤติการณ์ในครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนที่เกิดจากภัยธรรมชาติ แต่สิ่งสำคัญคือ ทางรัฐบาลต้องมีความพร้อมกับการรับมือจากความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่จะทำให้ประชาชนเสียชีวิต หากรัฐบาลมีความพร้อม ย่อมจะสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้กล่าวย้ำมาโดยตลอด โดยเฉพาะเหตุการณ์ระเบิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ของจังหวัดฟูกูชิม่า ที่ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นรัฐบาลท้องถิ่น และระดับชาติต้องร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหา

**“มาร์ค” เสนอ 4 ข้อแก้ปัญหา

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (16พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้หารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ นายอภิสิทธิ์ ได้เสนอ 4 ประเด็นที่รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหา คือ

1. การดูแลโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้รับความเสียหายไม่แตกต่างจากนิคมอุสาหกรรม
2. การพิจารณาด้านภาษี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
3. การดูแลแรงงานที่ว่างงานจากปัญหาน้ำท่วม จะต้องมีความชัดเจน เช่นใช้เงินจากกองทุนว่างงานเข้ามาดูแล และจัดหางานให้ทันเพื่อให้มีรายได้
4. ควรปรับสถาบันการศึกษาเช่น อาชีวะ ให้เป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือเรื่องการฟื้นฟู โดยกระทรวงศึกษาธิการ ต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้

ทั้งนี้จะมีการทำงานร่วมกับทางภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วย โดยในสัปดาห์หน้า จะหารือกับสภาหอการค้า ก่อนที่จะไปแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว และในวันศุกร์ที่ 18 พ.ย. จะลงพื้นที่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อเยี่ยมประชาชน และตรวจสอบสถานการณ์ ซึ่งจะนำไปสู่การสะท้อนปัญหาของประชาชน และแนวทางความร่วมมือที่จะช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งจะสรุปแนวทางทั้งหมดเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

นายอภิสิทธิ์ ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ มาฟื้นฟูประเทศในขณะที่ยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้เงิน และแผนการระดมทรัพยากรเพื่อมาฟื้นฟูประเทศในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า พร้อมกับแสดงความเป็นห่วงว่า ภาระด้านงบประมาณจะปรากฏชัดในปีงบประมาณ 2556 ในขณะที่รัฐบาลมีแต่แผนใช้เงิน ซึ่งจะกระทบต่อหนี้สาธารณะ จึงอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องเหล่านี้ โดยไม่ควรนำประเทศไปเสี่ยง
กำลังโหลดความคิดเห็น