“อภิสิทธิ์” ควง ผอ.เขตมีนบุรี ตรวจน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ชมระบายน้ำได้ดี ถ้าไม่มีปัจจัยแทรกซ้อน มั่นใจรักษานิคมฯไว้ได้ ก่อนยกกรณีการรื้อบิ๊กแบ็กสอนรัฐบาล เป็นเพราะทำความเข้าใจกับ ปชช.ไม่ชัดเจน ว่าจะมีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างไร แนะนายกฯใช้อำนาจตัวเองตาม พ.ร.บ.ป้องกันฯให้เต็มที่ จึงแก้ปัญหาได้
วันนี้ (14 พ.ย.) เมื่อเวลา 14.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปดูการระบายน้ำของประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ ด้านคลองบางชัน ที่อยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน รวมถึงการระบายน้ำที่คลองบางชัน ที่มีการนำเรือดันน้ำจากกองทัพเรือมาทำการดันน้ำ ทำให้น้ำไหลไปยังคลองแสนแสบในปริมาณที่แรงและเร็ว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากการไหลของน้ำเป็นไปในลักษณะเช่นนี้ น้ำที่ท่วมขังอยู่ก็น่าจะระบายได้เร็ว ขณะที่นายอรุณ พ่วงสมบัติ ผอ.เขตมีนบุรี ได้นำคณะไปดูสภาพน้ำท่วม ที่บริเวณถนน หม่อมเจ้าสง่างาม สุประดิษฐ์ ที่เชื่อมไปยังถนนรามอินทรา ที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ ปริมาณเริ่มลดลงบางแล้ว
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า สถานการณ์ของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางชันที่ได้รับรายงานในขณะนี้น้ำทรงตัว สามารถเร่งน้ำออกไปได้ แต่ทุกคนก็ไม่ประมาทและมุ่งมั่นที่จะหาทางผลักดันน้ำให้ลงทางอุโมงค์ปลายคลองแสนแสบให้เร็วที่สุด ซึ่งการเร่งผลักดันน้ำออกไปอยู่ในระดับที่น่าพอใจ หากไม่มีปัจจัยอื่นน้ำก็จะทรงตัวอยู่เช่นนี้ แต่ต้องรอดูว่าน้ำทางเหนือจะเข้ามามากน้อยแค่ไหน แต่คิดว่าในขณะนี้ที่ช่วยบรรเทาปัญหาคือ น้ำที่ลงมาจากเหนือเบาลง ขณะที่บริเวณถนนหน้านิคมฯบางชันคล้ายกับที่คลองบางซื่อ ซึ่งทางกทม.เร่งสูบออกและได้ผล ถ้าควบคุมไม่ให้เกิดปัจจัยแทรกซ้อนได้ก็จะทำให้การระบายน้ำได้อย่างต่อเนื่องและจะลดระดับลง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กรณีปัญหามวลชนรัฐบาลต้องทำให้ชัดว่าแนวทางเป็นอย่างไร รวมทั้งแนวทางแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เพราะขณะนี้เส้นทางยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่มีการเคลื่อนไหวค่อนข้างชัดว่า จะมีการปิดถนน ส่วนการกู้ถนนสาย 340 แล้วจะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ ต้องถามรัฐบาลก่อนว่านโยบายคืออะไร เรื่องถนนพระราม 2 ต้องการที่จะให้เป็นอย่างไร ผลกระทบคืออะไร ถ้าพระราม 2 ถูกปิดไป คำถามคือ รัฐบาลรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการเดินทางไปภาคใต้แค่ไหน และขณะนี้ถนนเส้นพระราม 2 ก็ยังไม่วิกฤต การกู้ถนนสาย 340 ก็จะทำให้ประชาชนที่อยู่ขนานกับถนนได้รับผลกระทบ ดังนั้นรัฐบาลต้องมีการส่งสัญญาณให้ชัดว่าจะจัดการด้วยวิธีไหน ต้องบอกว่าจะปกป้องตรงนี้และจะช่วยเหลือชดเชย เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร และต้องทำความเข้าใจและดำเนินการให้ชัดว่าจะทำอย่างที่พูด ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.)และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บัญชาสูงสุด
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ดอนเมืองที่มีการไปพังคันกันน้ำบิ๊กแบ๊กก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เพราะไม่เข้าใจกันในที่สุดก็จะเป็นปัญหาและจะกระทบต่อยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลเอง และต้องติดตามผลกระทบที่เกิดจากการพังบิ๊กแบ๊ก แต่ก็ไม่ใช่วิธีการจัดการปัญหาที่ถูกต้อง รัฐบาลไม่มีความชัดเจนในเรื่องของสายบังคับบัญชาหรือการเข้าไปดูแลปัญหา”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือเป็นการปัดความรับผิดชอบหรือไม่เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นทางศปภ.ไม่เข้ามาแก้ปัญหากลับโยนเรื่องมาให้กทม. นายอภิสิทธิ์กล่าวว่ากทม.ไม่ได้มีเครื่องมือหรือกำลังคนเข้าไปดูแล ภารกิจเรื่องมวลชน ซึ่งคงต้องกลับไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ดี ซึ่งศปภ.สามารถที่จะดำเนินการโดยตรงได้เลยที่สำคัญต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา มวลชนที่มีปัญหาล้วนแล้วแต่มีนักการเมืองในซีกรัฐบาลเป็นผู้ดูแลพื้นที่อยู่ตรงนั้น ความจริงแล้วต้องทำความเข้าใจกับคนของตัวเองให้มาก
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าหลายคนสับสนและคงไม่มีอะไรดีกว่าติดตามสถานการณ์จริงที่จะเป็นตัวบอกเองว่าอะไรเป็นอะไรและพื้นที่ที่ควรจะปกป้องก็ต้องปกป้อง เพียงแต่ว่าที่ดำเนินการกันมาก็ต้องให้ความจริงกับประชาชน เพราะหลายคนคงแปลกใจว่าพอถึงเวลามีการรื้อบิ๊กแบ๊กทางศปภ.กลับอกมาบอกว่าจะไม่มีผลกระทบอะไร ก็ยิ่งทำให้สับสนว่าทำบิ๊กแบ๊กทำไม แต่ก็ต้องยอมรับว่า บิ๊กแบ๊กสามารถช่วยชะลอน้ำแต่ได้มากได้น้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คงต้องติดตามดูว่าถ้าเกิดมีการรื้อบิ๊กแบ๊กน้ำจะไปทางไหน ที่สำคัญปัญหาระบบการบริหารจัดการ ไม่ควรปล่อยให้เป็นอย่างนี้ และวันนี้พล.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ.ก็ออกมายอมรับว่าเสียมารยาท ทั้งที่เรื่องแบบนี้ไม่น่าจะเกิด
“นายกฯสามารถใช้อำนาจสั่งการได้อยู่แล้วตามพ.ร.บ.ป้องกันฯ แต่ที่ผ่านมาเห็นอยู่แล้วว่ามามีหลายกรณีไม่เป็นไปตามแผนที่รัฐบาลวางไว้ ดังนั้นรัฐบาลต้องทำให้เข้มข้น เพราะจะทำให้ผู้ปฎิบัติมีความชัดเจน”
เมื่อถามว่า วันนี้ดูเหมือนการเมืองเป็นแรงกดดันทำให้การบริหารน้ำไม่มีประสิทธิ์ภาพ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถูกต้องเพราะเห็นได้ชัดเจนว่าบทบาทการเมืองเข้าไปแทรกแซงในเรื่องต่างๆคือ อุปสรรคของการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของบริจาคถุงยังชีพก็เป็นเรื่องของการเมือง