ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ณ วันนี้ สถานการณ์น้ำท่วมที่ถล่มเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร(กทม.) ยังคงเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสและไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลงไปด้วยวิธีใด เมื่อไหร่และประชาชนจะกลับมาใช้ชีวิตอันเป็นปกติได้อย่างไร
ยิ่งเมื่อได้รับฟังข้อเท็จจริงอันน่าตกใจที่ออกมาจากปากของ “นายธีระ วงศ์สมุทร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ข้อมูลชัดๆ ว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าน้ำจะหยุดท่วมเมื่อใด เนื่องเพราะยังมีปริมาณน้ำเหนือกรุงเทพมหานครทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกอยู่ราว 9,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ก็ยิ่งน่าตกใจและยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แต่อย่างใด
เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) ที่นายสัญญา ชีนิมิต ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำที่ยอมรับว่า ขณะนี้ยังประเมินสถานการณ์ยากว่าจะสามารถระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เมื่อไหร่
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในฝั่งตะวันตกนั้นยังมีน้ำจากทุ่งผักไห่ลงมาเติมทุ่งเจ้าเจ็ดอย่างต่อเนื่องและมีน้ำล้นคันอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าที่ระบายออก โดยขณะนี้สถานการณ์ได้ลามไปถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักในการสัญจรและขนส่งสินค้าเข้าออกลงสู่ภาคใต้
ส่วนฝั่งตะวันออกก็ประเมินยากว่าจบลงเมื่อไหร่ เพราะยังมีน้ำที่คลองข้าวเม่าไหลเข้ามาเติมอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์น้ำบนถนนเสรีไทยที่ผ่ากลางนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ปริมาณน้ำเพิ่มน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางชันทุกแห่ง ต้องเพิ่มแนวกระสอบทรายด้านหน้าโรงงานเพิ่มกันจ้าละหวั่น และมีโรงงานต้องหยุดการผลิตไปแล้ว 20 แห่งด้วยกัน
ขณะเดียวกันที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคงไม่พ้นพื้นที่ชั้นในหรือพื้นที่ไข่แดงของกรุงเทพมหานคร ที่กำลังถูกกองทัพน้ำทยอยเข้าเจาะคืนคลานอย่างต่อเนื่องวันละเขตสองเขต เรียกว่าทุกทิศทุกทางของกทม.ได้ถูกน้ำล้อมไว้หมดเป็นที่เรียบร้อยแล้วไม่ว่าจะเป็นถนนฝั่งพหลโยธิน และถนนวิภาวดีรังสิต
ฝันร้ายที่คนกรุงต้องประสบอยู่ขณะนี้คือกองทัพน้ำได้ยาตราเข้าถึงกรุงเทพฯชั้นในอย่างสะดวกโยธิน โดยได้เข้ายึดห้าแยกลาดพร้าวเป็นจุดรวมพล และได้ไหลไปตามถนนวิภาวดีฯผ่านสำนักงาน นสพ.ไทยรัฐ สำนักงานใหญ่การบินไทย สโมสรกองทัพบก กรมประชาสัมพันธ์ไปจอดป้ายที่ดินแดง สุทธิสาร ส่วนทางพหลโยธินก็ได้ผ่านทีวีช่อง 7 สี ผ่านสถานีบีทีเอสหมอชิต ไปจอดป้ายที่สะพานควาย ซึ่งตอนนี้น้ำได้กองอยู่ที่คลองบางซื่อจำนวนมากและอีกไม่นานนักก็จะถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จุดศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ที่จะส่งผลทำให้การเดินทางของคนกทม.เป็นไปด้วยความยากลำบากกว่าเดิมอีกหลายเท่าทันที
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ศปภ.รัฐบาลและกทม.จะรับมือกับมวลน้ำเหล่านี้ และเร่งระบายออกจากพื้นที่ได้อย่างไร
เพราะทำไปทำมา “กระสอบทรายยักษ์” หรือ “บิ๊กแบ็ก(Bigbag)” ที่รัฐบาลคุยโวโอ้อวดสรรพคุณนักหนาก็มีอิทธิฤทธิ์เพียงแค่การขวางกั้นมวลน้ำทางตอนเหนือของกทม.เพื่อชะลอน้ำที่จะไหลเข้าสู่แนวถนนพหลโยธินและกรุงเทพฯ ชั้นใน พร้อมกับระดมสูบน้ำที่อยู่ตอนในของแนวบิ๊กแบ็กลงสู่คลองเปรมประชากร เพื่อพยายามลดระดับน้ำในถนนวิภาวดีรังสิตเท่านั้น
ดังที่ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ให้ความจริงเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “บิ๊กแบ๊กช่วยได้แต่เพียงชะลอน้ำให้ กทม.มีเวลาสูบน้ำที่เข้ามาแล้วออกไปเท่านั้น ถึงกั้นไว้น้ำก็จะไม่ไหลลงเจ้าพระยาเพราะตอนนี้น้ำในเจ้าพระยายังสูง การวางบิ๊กแบ็กจะช่วยยื้อเวลาเท่านั้น ระดับเหนือบิ๊กแบ็กกับใต้บิ๊กแบ็กต่างกันแค่30ซม.เท่านั้น ประเด็นคือมันเป็นการยื้อเวลาเฉยๆ เพราะมวลน้ำมันไม่ได้หายไปไหน หมายความว่าเมื่อน้ำมาปะทะบิ๊กแบ็กน้ำก็ชะลอไว้ เพราะฉะนั้นขณะนี้น้ำเหนือบิ๊กแบ็กมันสูงขึ้นกว่าน้ำใต้บิ๊กแบ็ก30ซม. ไม่ได้หมายความว่าน้ำใต้บิ๊กแบ็กลดลง แต่น้ำเหนือบิ๊กแบกคมันเพิ่มขึ้น น้ำใต้บิ๊กแบ็กก็เท่ากับน้ำที่ลดที่รังสิตประมาณ10-15ซม. ก็คือมันเท่ากัน เพราะฉะนั้นบิ๊กแบ็กทำให้น้ำเหนือบิ๊กแบ็กมันสูงขึ้น ดังนั้น จึงเชื่อว่า ในที่สุดน้ำจะล้นข้ามบิ๊กแบ๊กมาและน้ำจะไหลไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและเขตราชเทวี”
กระทั่งนายกฯ ยิ่งลักษณ์เองยังจำนนต่อหลักฐานโดยกล่าวยอมรับในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า “ต้องขอทำความเข้าใจว่า บิ๊กแบ็กที่นำมาใช้นั้นไม่ได้หยุดน้ำ แต่เพียงแค่ชะลอน้ำเอาไว้เท่านั้น เราต้องเร่งระบายน้ำออกไปทางทิศตะวันออกให้มากขึ้น เพราะมีคูคลองที่เอื้อต่อการระบาย แต่ฝั่งตะวันตกค่อนข้างเป็นพื้นที่ราบต่ำ สถานการณ์น้ำยังจะหนักต่อไป มาตรการต่างๆ ที่เราทำกันก็ทำได้ดีที่สุดได้แค่นี้ เพราะบิ๊กแบ็กได้แค่ชะลอน้ำ ไม่ใช่กั้นน้ำ และน้ำก็ยังจะไหลมาอีก”
จริงอยู่แม้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะ ผอ.ศปภ. รวมถึง พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม จะยืนยันว่า หลังจากที่ได้มีการดำเนินการวางบิ๊กแบ็คส่วนแรกไปแล้วนั้น ระดับน้ำได้ลดลงในหลายจุด ทำให้น้ำเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานครน้อยลง แต่ต้องไม่ลืมว่า บิ๊กแบ๊กมีสรรพคุณเพียงแค่การชะลอการไหลของน้ำ ไม่ใช่การระบายน้ำ ดังนั้น มวลน้ำจำนวนมหาศาลจึงยังไม่ได้หายไปไหน
ยิ่งเมื่อเห็นตัวเลขที่ยังค้างอยู่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ จำนวน 9,600 ล้านลูกบาศก์ด้วยแล้ว ยิ่งน่าขนหัวลุกเข้าไปอีก
เพราะจะว่าไปตามธรรมชาติแล้วน้ำทั้งหลายก็ย่อมจะต้องหาที่อยู่ของมันวันยังค่ำ สมมุติว่าไปกั้นทางซ้ายมวลน้ำก็อาจจะโอบมาตีจากด้านข้าง และน้ำที่สะสมเอาไว้เหนือบิ๊กแบ็กเพิ่มจำนวนมากขึ้น สุดท้ายบิ๊กแบ๊กก็จะไม่ต่างอะไรจากเขื่อนที่รอวันแตกและกรีฑาทัพเข้าถล่มเมืองในทันที
ส่วนกรณีที่ศปภ.บอกว่าเมื่อกั้นบิ๊กแบ็กแล้วจะดันน้ำออกไปทางฝั่งตะวันออก ไปทางคลองหกวา ไปสูบออกทางคลอง 13 นั้น รวมถึงระบายน้ำลงเจ้าพระยาอีกทางหนึ่งนั้น ดร.เสรีมีความเห็นว่า “ถ้าดูจากภาพเฉยๆ ก็ไปได้ แต่ในข้อเท็จจริงจากคลองหกวามารังสิตทางมันสโลป ความชันมันลงมา จากการวัดดูน้ำไม่ไป มันจะไปฝืนธรรมชาติไม่ได้ มันไหลลงมาวิภาวดีหมดเลย เพราะระดับมันต่างกันถึง1เมตร ต้องยกระดับน้ำสูงถึง 1 เมตรถึงจะไปได้ ส่วนจะให้ลงเจ้าพระยาได้น้ำในเจ้าพระยาจะต้องลดลง แต่ขณะนี้น้ำในเจ้าพระยาก็สูงกว่าในประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ คลองรังสิตก็เปิดไม่ได้อีก มันก็ไปไม่ได้ ถ้าจะให้ไปได้ต้องใช้เครื่องสูบน้ำอย่างเดียว ตอนนี้กทม.อาจจะสูบได้ซึ่งเขาก็ระดมสูบได้อย่างเต็มที่ ซึ่งคลองบางซื่อเขาสูบได้80ลบ.ม./วินาที ก็น่าชมเชย แต่หลังจากนี้มันจะระดมมาเป็นหน้าด่าน ปัญหาที่ผมห่วงคือคุณสู้ไม่ได้หรอก น้ำจะมากว่า 100 ลบ.ม.ขึ้นไป เพราะเมื่อน้ำล้นบิ๊กแบ็กแล้วมันจะมาเร็วกว่าน้ำที่มาตอนนี้”
ไม่เว้นแม้แต่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ก็ยังออกมายอมรับว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำเต็มคลองแล้ว จะหวังพึ่งให้ช่วยระบายน้ำไม่ได้ น้ำจึงจะยังคงขยายไปเรื่อยๆ ถึงดินแดงและอนุสาวรีย์ชัยฯ ทั้งนี้ น้ำคงจะถึงอนุสาวรีย์ชัย สมรภูมิ แต่อาจใช้เวลาเป็นวันๆ กว่ามวลน้ำจะเดินทางไปถึง
มาถึงตรงนี้แล้วหากน้ำทะลุเข้าไปถึงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและดินแดง มวลน้ำก็น้ำคงหาทางไปลงคลองแสนแสบ แต่ที่สิ่งคนกรุงต้องเตรียมหวั่นวิตกต่อไปก็คือถ้าคลองแสนแสบรับน้ำไม่ไหว น้ำก็จะอาจจะรุกคืบไปยังสี่แยกราชประสงค์ สวนลุมพินี สีลม เพื่อไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับพื้นที่ข้างต้นถือว่าเป็นพื้นที่ไข่แดงเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของกทม.ก็กำลังสุ่มเสี่ยงจะถูกมวลน้ำรุกคืบเกือบทั้งหมดเลยทีเดียว
หรือนั่นหมายความว่า คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงต้องเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมขังต่อไป และไม่ใช่แค่ 1-2 สัปดาห์ตามที่นายกฯยิ่งลักษณ์คุยโวโอ้อวดไว้ หากแต่น่าจะมีสิทธิล่วงเข้าไปให้เคาน์ดาวน์กันในปลายเดือนธันวาคมเลยทีเดียว
คิดกันง่ายๆ เอาแค่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่อยุธยา ยังต้องใช้เวลาถึง 1 เดือนหรือกระทั่งถึงวันที่ 16 ธันวาคม เครื่องสูบน้ำ 247 เครื่องถึงจะสูบน้ำออกหมด แล้วกรุงเทพฯ ที่พื้นที่ใหญ่กว่าหลายเท่า จะสามารถระบายน้ำที่ขังอยู่ออกไปหมดได้เมื่อไหร่