ศปภ.แจ้งผู้ที่จอดรถบริเวณทางขึ้น-ลง หรือซ้อนคันบนทางด่วน รีบย้ายภายใน 15 พ.ย. มิฉะนั้นจะย้ายไปที่อื่น เผยมีน้ำอีก 3,000-4,000 ล้าน ลบ.ม. ที่จะลงมายังพื้นที่ กทม.ตะวันตก-ออก ส่วนการระบายลงแสนแสบจะส่งผลให้ “มีนบุรี สะพานสูง บึงกุ่ม บางกะปิ” ท่วมสูงประมาณ 20-30 ซม.
วันนี้ (12 พ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกพิเศษศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) แถลงว่า ขอให้ผู้ที่นำยานพาหนะไปจอดบนบริเวณทางขึ้น-ลงทางด่วน หรือจอดรถซ้อนคันบนทางด่วน รีบเคลื่อนย้ายยานพาหนะของตนเองภายในวันที่ 15 พ.ย.นี้ มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการขนย้ายยานพาหนะเหล่านั้นไปยังที่อื่น
นายธงทองกล่าวอีกว่า มวลน้ำทั้งหมดที่ยังคงค้างอยู่เหนือพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีอยู่ประมาณ 11,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
ทั้งนี้จะมีการจัดการออก 3 ส่วน คือ จำนวน 1 ใน 3 ประมาณ 3,000-4,000 ล้าน ลบ.ม. จะถูกระบายไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำท่าจีน ส่วนอีก 1 ใน 3 ก็จะเป็นน้ำที่ใช้ในประโยชน์ทางการเกษตรกรรม และอีก 1 ใน 3 จะถูกระบายลงมายังพื้นที่ของ กทม.ฝั่งตะวันตก และตะวันออก
“ส่วนการจัดการน้ำในขณะนี้ได้ถูกระบายลงมายังคลองแสนแสบ คลองประเวศบุรีรมย์ และคลองสาขาต่างๆ ของ กทม. อาจจะทำให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่อาศัยตลอดแนวริมคลองดังกล่าวนั้น ได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งจะสอดคล้องกับ กทม.ที่มีการประกาศพื้นที่บางแขวงของเขตประเวศ เขตสะพานสูง ให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ขณะที่จะมีมวลน้ำบางส่วนซึมเข้ามาในพื้นที่เขตมีนบุรี สะพานสูง บึงกุ่ม บางกะปิ จะมีน้ำท่วมสูงประมาณ 20-30 ซม.” นายธงทองกล่าว
นายธงทองยังกล่าวถึงการระบายน้ำของ กทม.ในพื้นที่เขตหลักสี่ ลาดพร้าว จตุจักร ดอนเมือง และสายไหม ว่า หลังจากที่มีการวางแนวชะลอน้ำกระสอบทรายยักษ์ หรือบิ๊กแบ็ก ทำให้ปริมาณน้ำลดลง ซึ่งมีการผันน้ำลงในคลองบางซื่อได้ผลเป็นอย่างดี โดยเฉพาะบน ถ.พหลโยธิน วิภาวดีรังสิต และรัชดาภิเษก ถ้าไม่มีเหตุการณ์อื่นแทรกซ้อนคาดว่าประมาณ 1-2 สัปดาห์ น้ำในพื้นที่ดังกล่าวจะลดลงได้ และพื้นที่ชั้นในของ กทม.น่าจะปลอดภัย