xs
xsm
sm
md
lg

“อุทกภัยพิบัติ” (สังคมการเมือง) เราได้รับบทเรียนอะไร

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

พาดหัวข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์หลายสำนัก รวมทั้ง ASTV ผู้จัดการรายวัน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 ว่า เฉลิม “แนะเพื่อไทย” ถ้าไม่ไหว ให้ มท. ใช้อำนาจปลด ผู้ว่าฯ กทม.

ผู้เขียนอ่านข่าวพร้อมทั้งข้อตอบโต้ของผู้อ่านข่าวดังกล่าวหลายทัศนะ ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ มีกระทู้ความเห็นแตกต่างกันไป สะท้อนความคิดเห็นว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และไม่พึงพอใจ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความคิดเห็น และความทุกข์ทนของคนกรุง และคนส่วนใหญ่ที่รู้สึกเบื่อหน่าย “น้ำลาย” นักการเมือง ที่ใช้ปากทำงานมากกว่าใช้ฝีมือทำงาน ซึ่งแทนที่จะสร้างความรู้สึกร่วมทุกข์แก้ปัญหาและร่วมสุข ลดความเครียดของประชาชน แต่กลับสร้างชนวนทางความแตกแยกทางความคิดเห็นและความรู้สึกแทน

สถานการณ์น้ำท่วม นอกจากสร้างความตึงเครียดให้หลายฝ่าย รัฐบาล นักการเมือง (โดยเฉพาะ ส.ส.ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่แล้ว) ยังมีประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหนัก ผู้เขียนเห็นว่า “น้ำท่วม” เป็นระบบตรวจสอบสังคมไทยได้ดีอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะว่าน้ำท่วมได้สะท้อนธาตุแท้ และตัวตนของ “คน” ได้ดี มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับคำว่า “ผลประโยชน์” กล่าวได้ว่า น้ำท่วมครั้งใหญ่ สะท้อนให้เห็นความเป็นไปหลายประการ เช่น

ประการที่ 1 น้ำท่วม ทำให้คนไทยรู้ว่า ใครอ่านแผนที่ เป็นหรือไม่เป็น และคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องแผนที่มาก่อน ก็จะได้รู้จักประโยชน์ของแผนที่มากขึ้น

ประการที่ 2 น้ำท่วม ทำให้คนไทยรู้ว่า การต่อสู้กับน้ำ สิ่งที่เป็นปฐมธาตุของโลก ตามทัศนะของธาเลส นักปรัชญาคนแรกของโลก เป็นสิ่งที่คาดเดาและทำได้ยาก

ประการที่ 3 น้ำท่วมทำให้คนไทยรู้ว่า ความมีน้ำใจกับความเห็นแก่ตัวห่างกันเพียงพนังกั้นน้ำ และแนวป้องกันน้ำท่วม (รวมทั้ง Big Bag)

ประการที่ 4 น้ำท่วมทำให้คนไทยรู้ว่า การบริหารกับการจัดการ “น้ำ” แตกต่างกันตรงที่การใช้อำนาจเพื่อแก้ปัญหา กับการใช้หัวใจที่มีสติปัญญาในการทำงาน เป็นอย่างไร

ประการที่ 5 น้ำท่วมทำให้คนไทยรู้ว่า น้ำใจของคนไทย ที่ว่าเลือนหายไป แท้จริงยังมีอยู่

ประการที่ 6 น้ำท่วมทำให้คนไทยรู้ว่า ผู้แทน (ส.ส.) ของท่าน ทำงานเพื่อท่านจริงหรือไม่

ประการที่ 7 น้ำท่วมทำให้คนไทยรู้ว่า วินัยในการทิ้งขยะแบบไม่คัดแยกก่อนทิ้ง

ประการที่ 8 น้ำท่วมทำให้คนไทยรู้ว่า นักบริหารบ้านเมือง ผู้ทำงานเพื่อประชาชนกับผู้ทำงานเพื่อเอาตัวรอด แตกต่างกันอย่างไร

ประการที่ 9 น้ำท่วมทำให้คนไทยรู้ว่า การไว้วางใจรัฐมากเกินไป เป็นภัยต่อตนเอง

ประการที่ 10 น้ำท่วมทำให้คนไทยรู้ว่า การพึ่งตนเองสำคัญมากกว่าการรอฟัง และรอคอย

แม้มุมมองที่มี 10 ประการ มิได้สะท้อนและตรวจสอบสิ่งที่อยู่ในใจของผู้ประสบภัยทั้งหมด และแม้สถานการณ์น้ำในเมืองกรุง จะยังวิกฤตและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด ความตึงเครียด ก่อความหวาดหวั่นสะพรั่นพรึง ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การลงทุนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอื่นๆ ที่จะรุมเร้าให้รัฐ ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหาและจะต้องเดินหน้าต่อไป

สิ่งที่เป็นบทเรียน (ที่รัฐได้รับ) จากการบริหารและการจัดการประเทศ แบบไม่บูรณาการแผน การทำงานร่วมกัน โดยไม่ใช้ภาษาไทยสื่อสารกันด้วยมิตรไมตรี เพราะรู้ว่าภาษาไทยเป็นมรดกของชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารสำหรับการทำงานร่วมกันในชาติ ผู้เขียนมองว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล มิใช่รัฐบาล นักการเมือง นักบริหารและนักปกครองที่ดี หากพูดจากันด้วยภาษาไทยไม่ได้ จำเป็นจะต้องใช้ตัวหนังสือ ลายลักษณ์อักษร บังคับบัญชาสั่งการ (เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันโดยจำใจ) สิ่งนี้น่าจะสะท้อนให้เห็นสังคมการเมืองไทยที่น่าห่วงใยยิ่ง เพราะผลกระทบมากที่สุดต่อการพูดจากันไม่ได้แล้ว นอกจากความทุกข์ระทมในจิตใจแต่ละฝ่าย ประชาชนผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่กลับพลอยเดือดร้อนในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้ร่วมคิด ไม่ได้ร่วมแก้ปัญหา เพราะผลการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพในการประสานบริหารงาน บริหารคนและบริหารแผนงานอย่างบูรณาการ

บทเรียนน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ อาจจะเป็นวิธีการการตรวจสอบแบบชลวิธีวิทยาการ (การตรวจสอบสังคมการเมืองไทยโดยใช้น้ำเป็นเครื่องมือ) ว่าแท้จริงแล้ว มิได้มีอำนาจใด ยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติ และหากจะใช้อำนาจ ควรใช้ตามธรรมชาติหน้าที่อันเหมาะสม และมีความเป็นธรรมกำกับไว้ด้วย...

สิ่งที่อยากจะให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยพิบัติ คือ ภาวนาให้สถานการณ์น้ำเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และให้ดูแลสุขภาพอนามัย เพราะชีวิตซึ่งเป็นทรัพย์สินมีค่าที่สุด และสำหรับคนไทย ที่มีอุปนิสัยแห่งความเป็นคนลืมง่าย ให้อภัยคนได้ง่าย แม้ว่าผู้ใดเคยทำชั่วหรือสิ่งเลวร้ายบอบช้ำต่อประเทศเพียงใด กลับลำทำตัวดีขึ้นนิดหน่อย คนไทยก็พร้อมจะให้อภัย หากจะสะกิดต่อมสามัญสำนึกของผู้ที่ได้รับโอกาสดังกล่าว หวนควรตระหนักและสำนึกให้หนักว่า ควรทำอะไรให้ตนมีคุณค่าขึ้นกับโอกาสที่ได้รับ มากกว่าจะกลับมาทำงานการเมืองด้วยปาก แทนที่อยากจะทำงานอย่างมืออาชีพ
กำลังโหลดความคิดเห็น