xs
xsm
sm
md
lg

ไอ้เก่งหัก"ปู-ประชา นำทีมรื้อบิ๊กแบ็ก ผวาท่วมดินแดง-กทม.เร่งสูบน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- “บิ๊กแบ็ก” พ่นพิษ "ไอ้เก่ง" ปล่อยชาวดอนเมืองรื้อกว่า 20 เมตร เมินคำสั่ง “ยิ่งลักษณ์-ประชา” แม้ ศปภ.วอนให้รับข้อเสนอเยียวยาคนนอกคันเช่นเดียวกับ กทม. ด้าน ส.ส.จอมถีบปัดอยู่เบื้องหลังสั่งรื้อ ทีมกรุ๊ปวิตก! ท่วมถึงดินแดง ด้าน กทม.เร่งสูบน้ำ ส่วนหน้าบ้านนายกฯ ยกป้อม ตร.หนีน้ำ “ปชป.”เล็งซักฟอก “ประชา” บริหาร ศปภ.เหลว

วานนี้ (13 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้สถานการณ์น้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล บางพื้นที่จะมีปริมาณน้ำที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่บริเวณพื้นที่ กทม.ฝั่งเหนือกับมีปัญหาและอุปสรรค เกิดขึนอิย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหา จาก “บิ๊กแบ็ค” หรือแนวกระสอบทรายยักษ์ ที่ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ได้นำมาปิดกั้นมวลน้ำบนถนนวิภาวดีรังสิต ฝั่งเขตดอนเมือง

ปัญหาเริ่มจาก ชาวบ้านแขวงสนามบินดอนเมือง กว่า 20 ชุมชน ได้ทำหนังสือเรียกร้องรัฐบาลเปิดแนว “บิ๊กแบ็ก” ถนนวิภาวดีรังสิตขาออก ผ่านนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย โดยนายการุณ ได้เข้ามาพูดคุยกับชาวบ้าน และรับข้อเสนอชาวบ้านที่เรียกร้องให้เปิด “แนวบิ๊กแบ็ค” เป็นเวลา 1 เดือน หากระดับน้ำในพื้นที่ยังไม่ลดลงยินดีให้รัฐบาลปิดแนวบิ๊กแบ็กเช่นเดิม ขณะเดียวกันระดับน้ำนอกแนวบิ๊กแบ็คยังสูงขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ 1.70 เมตร

ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านขีดเส้นกรอบเวลาให้รัฐบาลพิจารณาข้อเรียกร้องภายในบ่ายวันที่ 13 พ.ย.

ขณะเดียวกัน ชาวบ้านต้องการให้เปิดแนวบิ๊กแบ็กบนถนนวิภาวดีรังสิต โดยระดับน้ำต้องสูง 80 เซนติเมตร กว้าง 10 เมตร หรือเปิดให้เรือผ่าน 2 ช่องทาง ทั้งขาเข้าและขาออก โดยก่อนหน้านั้นมีการขู่ว่า หากไม่รับข้อเสนอจะปิดทางด่วนโทลย์เวย์ทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐผล ผู้กำกับการ สน.ดอนเมือง ได้เข้ามาเจรจากับประชาชนกว่า 100 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่เหนือคันบิ๊กแบ็ก รวมกลุ่มกันบริเวณด้านหน้า สน.ดอนเมือง โดยมีแนวโน้มว่าจะรื้อแนวกระสอบทรายบิ๊กแบ็ก โดยข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ยังขอให้มีการลดระดับแนวบิ๊กแบ็กลง ให้ระดับน้ำไหลลงมาบริเวณด้านล่างบ้าง

แม้เจ้าหน้าที่จะเข้ามาเจรจากับกลุ่มชาวบ้าน รวมถึงยังไม่มีเหตุรุนแรงแต่อย่างใด อีกทั้งระดับน้ำบริเวณดังกล่าว เหนือ คันบิ๊กแบ็กอยู่ที่ความสูงประมาณเกือบ 1.30 เมตร ส่วนบริเวณด้านล่างระดับน้ำมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 50-60 เซนติเมตร

**ลือ ศปภ.ให้รื้อสุดท้ายโอละพ่อ!

รายงานข่าวแจ้งว่า จากนั้นช่วงเช้ามีกระแสข่าวจาก ศปภ. ว่าจะมีมติให้รื้อแนว บิ๊กแบ็ก ถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาออก เป็นระยะทาง 30 เมตร ซึ่งที่เปิดอยู่แล้ว 6 เมตร โดยจะทำการรื้อให้เสร็จภายในเวลา 18.00 น.ของวันที่ 14 พ.ย.

อย่างไรก้ตามเวลา 13.00 น. พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ โฆษกศปภ. ออกมายืนยันว่า ไม่มีการสั่งการให้มีการรื้อแนวบิ๊กแบ็กระยะทาง 30 เมตร ที่สนามบินดอนเมือง ตามที่เป็นข่าว โดยระบุว่า ในขณะนี้ ทาง ศปภ. เพิ่งจะประชุมเสร็จ และไม่ได้มีคำสั่งใดๆ ทั้งสิ้น แนวบิ๊กแบ็กที่กั้นไว้นั้น เป็นแนวป้องกันเพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้า กทม. ส่วนถ้าจะมีการรื้อถอนนั้น จะต้องมีการหารือร่วมกันกับประชาชนในพื้นที่ด้วย

**“ยิ่งลักษณ์” ยันไม่มีมติรื้อบิ๊กแบ็ก

เวลา 14.50น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้คุยกับมวลชนแล้วตกลงกันได้ ซึ่งจะมีการเร่งสูบน้ำ ยันยันว่าการกั้นบิ๊กแบ๊กน้ำไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นแค่แนวคันกั้น แต่ประชาชนอาจรู้สึกว่าอีกฝั่งมีน้ำแต่อีกฝั่งน้ำลด โดยเราประสานกับกทม.ในการเร่งระบายน้ำเหนือบิ๊กแบ็กให้เร็วขึ้นใน1-2วันนี้ คิดว่าประชาชนโดยรวมน่าจะโอเค

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะรื้อตามที่มีข้อเสนอหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มีเสนอที่ประชุม ซึ่งมวลชนขอภายในวัน14 พ.ย.นี้ขอให้เปิด ซึ่งที่ประชุมก็เห็นว่าเร่งระบายน้ำส่วนนั้น ถ้าเปิดก็คงจะไม่ติดผลกระทบอะไรมากก็เลยรับตรงนั้นไป

เมื่อถามว่าเห็นว่ามีคำสั่งศปภ.ให้เปิดบิ๊กแบ๊กที่ดอนเมืองจริงหรือไม่ นายกฯยืนยันไม่มีคำสั่ง เป็นการหารือในที่ประชุมเท่านั้น ทั้งหมดยังคงทำอยู่

“วันนี้ยังไม่มีการรื้อ ระหว่างที่มวลชนรอก็คงเร่งสูบน้ำออกไป ถ้าเร่งสูบน้ำออกในส่วนของมวลชนก็จะลดลงก็จะบรรเทาทุเลาลงไป ทั้งนี้จะมีการบรรเทาคนที่อยู่นอกบิ๊กแบ๊ก ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยและผู้ว่ากทม. ช่วยกัน”นายกฯ กล่าวและว่า ซึ่งโดยหลักผู้ว่าทุกจังหวัดที่มวลชนมีผลกระทบจะเข้าไปดูแลเยียวยา อาทิ ตั้งโรงครัว การเสริมจุดเรือ การดูแลเยียวยาก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ว่า

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตนขอทำความเข้าใจว่าระดับน้ำเหนือบิ๊กแบ็ก สูงกว่าข้างในบิ๊กแบ็กจริง แต่ที่สูงกว่าไม่ใช่เพราะเราสูบน้ำออกแต่อย่างใด การที่เราวางบิ๊กแบ็กไม่ใช่เป็นการกั้นน้ำไม่ให้เข้ากทม.แต่อย่างใด เป็นเพียงแค่การชะลอน้ำเท่านั้น เพราะทุกวันนี้น้ำยังไหลเข้ามายังกทม.อยู่ตลอดเวลา เพราะแนวบิ๊กแบ็กมีความยาว ซึ่งหากไม่มีรอยรั้วคงเป็นไปไม่ได้ แต่ทั้งนี้ระบบสูบน้ำทางกทม.มีการสูบได้ดีขึ้น สูบได้มากขึ้น จึงทำให้น้ำข้างในบิ๊กแบ๊กลดลงเร็ว ส่วนน้ำข้างนอกก็ลดลงบ้าง ดังนั้นเราจึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้น้ำจากข้างนอกบิ๊กแบ๊กสูงขึ้น

เมื่อถามว่าจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านบริเวณนั้นหรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เราได้คุยกันหลายครั้งแล้ว แต่เป็นหน้าที่ของอีกฝ่าย ไม่ใช่หน้าที่ตน เพราะตนมีหน้าที่สร้างไม่ได้มีหน้าที่เจรจาแต่อย่างใด

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า ไม่ว่าศปภ.จะสั่งเปิดหรือปิด ขอให้แจ้งกทม.รับทราบด้วยเพื่อที่จะได้วางแผนและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น

**ชาวบ้านลงมือรื้อ! “เก่ง”ได้แต่ยืนดู

รายงานข่าวแจ้งว่า อย่างไรก็ตามแม้ ศปภ.จะมีมติไม่ให้รื้อ แต่เวลา 15.00 น. พบว่าชาวบ้านเข้าไปรื้อบิ๊กแบ็กที่ดอนเมืองขนาดความยาว 20 เมตร จากเดิมความยาว 6 เมตรแล้วโดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนายการุณอยู่ในเหตุการณ์ได้แค่ยืนดูเท่านั้น

**ปัดข่าวเบื้องหลังสั่งรื้อบิ๊กแบ๊ก

นายการุณกล่าวว่า ไม่ทราบกรณีที่มีคำสั่งจากศปภ. ถึงกรณีดังกล่าว ตามที่มีประชาชนร้องขอเข้ามายังศปภ. และในขณะนี้ ส่วนตัวมีเพียงการพูดคุยกับชาวบ้าน ที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะรื้อแนวกั้นเดิมเท่านั้น ไม่ได้มีการสั่งรื้อแต่อย่างใด ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้ยืนยันเช่นกันว่า ทางศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ไม่ได้มีคำสั่งให้รื้อบิ๊กแบ็คตามที่มีกระแสข่าว

**แนะเพิ่มเงินเยียวยาคนดอนเมือง

นายสกลธี ภัทธิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเข้าไปดูแลเยียวยาและเพิ่มเงินช่วยเหลือให้ชัดเจนเพราะประชาชนแถบนี้เป็นประชาที่ได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่เสียสละรับน้ำเพื่อช่วยให้น้ำเข้ากรุงเทพฯน้อยที่สุด รัฐบาลควรพิจารณาการให้เงินช่วยเหลือและอย่าปล่อยให้มวลชนของตนเข้าไปปลุกปั่นประชานให้ข้อมูลที่ผิดพลาดเพื่อให้เข้าผิดกรุงเทพฯและทหารนายกฯควรออกมาตักเตือนกลุ่มคนของตนเองด้วย

**กทม.ค้านรื้อบิ๊กแบ็ก-เร่งสูบน้ำ

ขณะที่นายธีรชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. ฐานะคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงได้ลงนามในหนังสือ เพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่หลังคันบิ๊กแบ๊กต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ฐานะประธานคณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง โดยมีสาระสำคัญของหนังสือ คือ ไม่จำเป็นต้องรื้อคันบิ๊กแบ็กตามที่ประชาชนร้องขอ เพราะอาจส่งผลกระทบภาพรวมของประเทศ เป็นมูลค่ากว่าล้านล้านบาท ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา แต่ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับประชาชนรับทราบ และให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนนอกแนวคันเป็นกรณีพิเศษ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่เสียสละ อาทิ ส่งข้าวและน้ำ รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่าให้ขาด ทั้งนี้ กทม.จะเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด หากสามารถระบายน้ำในพื้นที่กทม.ได้แล้วจะเร่งระบายน้ำพื้นที่นอกคันให้ได้อย่างช้าภายใน 1สัปดาห์ หลังระดับน้ำในกทม.ลดระดับ

**ทีมกรุ๊ป วิตก!ท่วมถึงดินแดง

นายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำ บริษัททีมกรุ๊ป กล่าวว่า ถ้ามีการรื้อบิ๊กแบ็คออกจะส่งกระทบให้น้ำเดินทางมาเร็ว และหลายพื้นที่จะประสบปัญหาน้ำท่วม เพราะคลองบางซื่อ จะระบายน้ำไม่ทัน จุดที่ต้องระวังคือ สุทธิสาร ซอยภาวนา เลขคู่ จากนั้นก็จะมาถึงห้วยขวาง และดินแดงในที่สุด ปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้น 5 เท่าทันที เป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวล เพราะก่อนหน้านี้ หลังการวางบิ๊กแบ็ค การแบ่งน้ำไปในส่วนต่างๆ มีความสมดุล มีการเฉลี่ยน้ำกันไปพอสมควร และปริมาณน้ำหน้าแนวบิ๊กแบ็คกับหลังแนวบิ๊กแบ็คก็สูงแค่ 1 ศอกเท่านั้น แนวบิ๊กแบ็คทำให้เกิดการแผ่กระจายน้ำไปทั่ว แต่หากมีการรื้อบิ๊กแบ็กจะเป็นสิ่งที่น่าวิตก

**กทม.สั่งอพยพ3ชุมชนแขวงแสมดำ

วันเดียวกันม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ได้ลงนาม ในประกาศ กทม. เรื่องสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน โดยขอให้ประชาชนใน 3 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนการเคหะแห่งชาติ โครงการ 1, ชุมชนทรัพย์สินพัฒนา และ ชุมชนเชื่อมสัมพันธ์ ถนนพระรามที่2 ซอย 88 ขนย้ายสิ่งของ ทรัพย์สินมีค่า รถยนต์ ปลั๊กไฟฟ้าขึ้นที่สูง และให้ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว อพยพไปอยู่สถานที่ปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงที่ กทม. เตรียมไว้ให้ และขอให้ย้ายผู้ป่วย สตรีมีครรภ์ และคนชราก่อนอันดับแรก ทั้งนี้ประชาชนสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือ ได้ที่สำนักงานเขต หรือศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม. หมายเลขโทรศัพท์ 1555 หรือ 02-2211212 ตลอด 24 ชั่วโมง

**ศปภ.ชี้มวลน้ำเริ่มทรงตัว เร่งระบายน้ำทุ่ง

ขณะที่ ศปภ. ออกแถลงภาพรวมสถานการณ์น้ำล่าสุด ว่าเริ่มดีขึ้น ปริมาณน้ำลดลง ขณะที่บางพื้นที่น้ำที่ท่วมขังอยู่เดิมจะแผ่กระจายไปในวงกว้าง แต่ระดับน้ำไม่สูงขึ้น ขณะที่ปริมาณน้ำราว 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรท่วมอยู่บริเวณที่ราบเจ้าพระยา น้ำส่วนใหญ่ 3,000-4,000 ล้านลูกบาศก์เมตรจะถูกเก็บไว้ในทุ่งเพื่อใช้ในการเกษตร น้ำอีกส่วนประมาณ 1 ใน 3 จะไหลลงสู่ลำน้ำและทะเล โดยภาครัฐจะต้องเร่งระบายในส่วนนี้ และยังมีน้ำหลากทุ่งที่เป็นปัญหาอีกประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะถูกระบายผ่านฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกต่อไป

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงานพื้นที่ประสบอุทกภัยล่าสุดว่า มี 22 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงกรุงเทพมหานคร ส่วนที่คลี่คลายไปแล้วอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 42 จังหวัด มีประชาชนเดือดร้อนเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านคน 1.9 ล้านครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 536 คน สูญหาย 2 คน

**กยน.เสนอ 3 ยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ

ด้าน นายปราโมทย์ ไม้กลัด กรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรณ์น้ำ (กยน.) เปิดเผยถึงการเสนอ 3 ยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำ ในการประชุมนัดแรกของ กยน. ประกอบไปด้วย การสู้ภัย การปรับตัว และการหนีภัย โดยหลักของการสู้ภัยจะเป็นการกำหนดพื้นที่ที่สมควรจะต้องปกป้อง เช่น เขตเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องของการปรับตัว คือการทำความเข้าใจให้กับประชาชนให้อยู่สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น เริ่มทำนาหลังจากที่น้ำลด ส่วนการหนีภัยคือ การให้ประชาชนย้ายที่อยู่ให้ห่างจากลำธาร ลำห้วย รางน้ำ ส่วนพื้นที่ลุ่มจัดเป็นพื้นที่การเกษตรที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

**เผยข้อเสนอ 3 ยุทธศาสตร์ “ปราโมทย์”

แนวทางที่ 1 จะกำหนดบริเวณใดที่จะใช้ยุทธศาสตร์"สู้ภัย" ไม่ให้น้ำไปทำอันตรายในพื้นที่ปกป้อง เช่นเขตเศรษฐกิจ หรือศาลากลาง ก็มาคิดว่าสมควรจะปกป้องหรือไม่ ซึ่งอาจจะมีคันกั้นน้ำปกป้องพื้นที่ มีการสูบน้ำ ให้ชัดเจน ไม่ใช่สู้กันแบบกระสอบทราย ซึ่งต้องกำหนด อาจจะเป็นหมู่บ้านก็ได้ ซึ่งเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ของพื้นที่ โดยการกำหนดยุทธศาสตร์สู้ภัยก็จะเป็นหลักคิด โดยการคิดของนักเทคนิค นักการเมืองไม่ควรยุ่งเกี่ยว การสู้ภัยนั้นก็ต้องมีทางน้ำให้น้ำมีทางไป การตั้งป้อมสู้อย่างเดียวนั้น สู้ไม่ไหว

ขณะเดียวกันฝั่งธนบุรีนั้นไม่มีทางไหลของน้ำ รวมทั้งคลองแนวดิ่ง ก็ไม่มี แต่กลับกันมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ รวมทั้งคลองต่างๆ ที่เป็นคลองชลประทาน ก็เป็นคลองแนวขวาง ซึ่งหากเข้าใจธรรมชาติและจะสู้กับน้ำก็ต้องหาทางให้น้ำไป โดยพื้นที่น้ำท่วมก็ควรซื้อกลับ หรือเวนคืน เพื่อให้เป็นทางของน้ำ ซึ่งเป็นหลักคิดว่าจะเอาอย่างไร และการเตือนภัยก็ไม่ต้องเตือน แต่หากยังเป็นอยู่อย่างนี้ น้ำก็จะยังท่วมกรุงเทพมหานคร ซึ่งการสู้ภัยก็ต้องกำหนดเขตให้ชัดเจน ซึ่งหากพื้นที่ใดไม่สู้ ก็ต้องใช้ยุทธศาสตร์ปรับตัวให้อยู่ได้กับสภาพที่เป็นอยู่ จะท่วมมากหรือท่วมน้อยก็อยู่ได้ โดยเฉพาะบรรดาทุ่งต่างๆ ในภาคกลาง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การ"ปรับตัว" ให้สอดคล้องอยู่กับธรรมชาติ ก็ต้องทำความเข้าใจกันก่อน โดยเฉพาะเรื่องการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน อย่าอยู่กันแบบตามใจชอบอีก ควรพัฒนาจัดการให้อยู่ได้อย่างมีความสุข พยายามให้องค์ความรู้กับประชาชน โดยยุทธศาสตร์การปรับตัว เช่น ให้เริ่มทำนาหลังน้ำลด โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตชลประทาน ซึ่งบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางเกือบทั้งหมดอยู่ในเขตชลประทานอยู่แล้ว ซึ่งจะมีน้ำสนับสนุนอย่างแน่นอนและมีระยะเวลาทำ 10 เดือน ปลูกข้าวได้ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นประชาชนอยู่ในเขตชลประทาน และหากน้ำมาก็จะอยู่ได้ โดยเริ่มทำตัวอย่างโซนหรือ 2 โซน โดยมีหน่วยงานรัฐเป็นแม่งาน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 "หนีภัย" โดยให้ประชาชนย้ายที่อยู่ให้ห่างจากลำธาร ลำห้วย รางน้ำ ด้วย เพราะมีบ้านประชาชนปลูกบ้านระเกะระกะ ที่สูงบ้าง ที่ลุ่มบ้าง การย้ายไปอยู่ที่สูงก็เพื่อป้องกันน้ำหลาก ยกตัวอย่างที่บ้านน้ำปาด อันนี้สู้ก็ไม่ได้ ปรับตัวก็ไม่ได้ ต้องหนี คือหนีไปจากที่อยู่เดิมซึ่งเป็นที่ต่ำ เขยิบออกไปให้ห่างขึ้นจากแนวทางน้ำที่ไหลจากเขาลงมา แล้วก็จัดระเบียบให้เรียบร้อย จะให้ปลูกระเกะระกะแบบเดิมไม่ได้ ส่วนพื้นที่ลุ่มก็จัดเป็นพื้นที่การเกษตรที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

**ยกป้อม ตร.หน้าบ้าน“ปู”ขึ้นจากพื้น

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณหน้าบ้านเลขที่ 38/9 ซึ่งเป็นบ้านพักของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ภายในซอยโยธินพัฒนา 3 เขตบึงกุ่ม น้ำได้ผุดจากท่อระบายน้ำขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ระดับน้ำได้เริ่มเอ่อสูงขึ้น กระทั่งท่วมบริเวณลานจอดรถข้างบ้านนายกรัฐมนตรี จนเกือบเต็มทั้งพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้ทำการยกป้อมตำรวจให้สูงขึ้นด้วยถังน้ำมัน 200 ลิตรแล้ว

ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ลงพื้นที่ติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำพื้นที่เขตบางแค ถนนเพชรเกษม โดยได้เปิดครัวรัฐบาล โดยลงมือตำ “ส้มตำ”พร้อมทำอาหารแจกประชาชนผู้ประสบภัย ย่านบางแค

**กทม.เครียดสูง 192เสี่ยงฆ่าตัวตาย

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่าได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดบริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการในพื้นที่ ทั้งรูปแบบหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประจำจุดและเคลื่อนที่เชิงรุก โดยพาหนะยกสูงและเรือไปตามชุมชนและบ้านเรือนประชาชนที่น้ำท่วมสูง โดยให้บริการวันละ 8-12 เส้นทางเส้นทาง 20-70 ทีม บุคลากร 150-160 คนต่อวัน โดยใช้เจ้าหน้าที่ แพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิชาการสาธารณสุข รวมทั้งยาเวชภัณฑ์ จากโรงพยาบาลในสังกัด 53 จังหวัด

ผลการดำเนินการในเขตกทม.ตั้งแต่ 27 ต.ค.-ปัจจุบัน มีผู้มารับบริการตรวจโรคทั่วไป 15,975 ราย ส่งรักษาต่อโรงพยาบาล 20 ราย โรคที่พบมากได้แก่ น้ำกัดเท้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง ตรวจ คัดกรองสุขภาพจิต 3,017 ราย พบเครียดสูง 192 ราย ซึมเศร้า 116 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 2 ราย ให้คำปรึกษา 1,649 ราย ให้ยา 2,458 ราย ส่งต่อ 5 ราย และต้องติดตามเป็นพิเศษ 13 ราย

**ซัด "ยรรยง" ด่วนสรุปผลสอบโกง

อีกด้านความคืบหน้าการสอบสวน “การทุจริตถุงยังชีพ” นายสกลธี ภัททิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนยินดีที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ประกาศกลางสภาว่าจะเอาจริงกับขบวนการเหลือบสังคมที่มีส่วนงาบถุงยังชีพที่ประชาชนนำมาบริจาค

แต่ทางปฏิบัติเหมือนสวนทาง เพราะมีการรีบสรุปผลว่าไม่พบว่ามีอะไรผิดและจบลงไปเมื่อ2-3วันที่ผ่านมา อ้างว่าข้อมูลตรวจสอบไม่เพียงพอ เพราะตนไม่ได้ไปชี้แจงตามคำเชิญ ทั้งที่ข้อมูลต่างๆที่ตนแถลงไป หรือทางส.ส.พรรคได้เสนอในสภา ทุกอย่างล้วนเป็นเอกสารที่มาจากศปภ.ทั้งสิ้น การจัดซื้อ สรุปยอดการใช้จ่าย อยู่ในอำนาจที่คณะกรรมการสามารถเรียกมาได้ทั้งสิ้น

“แปลกใจว่า การที่ผมไม่ไปชี้แจงเป็นผลสำคัญที่ คกก.ไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้เลยหรือ ที่ผ่านมาล้วนชัดเจน ว่าจุดไหนที่มีแนวโน้มทุจริต จะอ้างว่าไม่เพียงพอไม่ได้ จึงตั้งข้อสังเกตว่าไม่ได้ตั้งมาเพื่อค้นหาคนผิด แค่ตั้งส่งๆไปอย่างนั้นตามที่เราเรียกร้อง สงสัยว่านายกฯและ ศปภ.มีเจตนาค้นหาความจริงแค่ไหน ยิ่งดูอารมณ์พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ในสภาด้วยแล้ว เข้าใจว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ควรจะลงมาดูแลอย่างจริงจัง เอกสารทั้งหมดก็อยู่ในมือแล้ว เอามาตรวจให้ประชาชนพอใจว่าทุกอย่างใช้ไปเพื่อช่วยผู้ประสบภัยอย่างแท้จริง”

นายสกลธีกล่าวว่า ตนมีรายละเอียดที่ไปตรวจสอบมาจากเอกสารกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของศปภ. มีการสั่งซื้อเรือไฟเบอร์กราส 30 ลำๆละ 2.5 แสน ราคาทั้งหมด 7.5ล. เรือขนาดเล็ก ที่นั่ง2 คน ราคากลาง 2.5 หมื่น ขนาดที่นั่ง 5-6 คน 3หมื่นบาท ขนาดที่นั่ง 10-12 คน ราคา 5หมื่นบาท ขนาดที่นั่ง 15คนราคา9 หมื่นบาท จึงสงสัยว่ารัฐบาลไปซื้อที่ไหนถึงมีราคาแพง หรือซื้อเรือยอร์ทมา อยากให้เอาของจริงมาพิสูจน์ เช่นเดียวกับส้วม และถุงยังชีพ รวมถึงเงินบริจาคที่เอาไปให้มูลนิธิเช่นมูลนิธิกระจกเงา หรือ ลายจุด พวกนี้ทำอะไรถึงต้องให้เงิน ต้องชี้แจงทุกอย่างให้ประชาชนทราบจะได้รู้ว่าเหมาะสม โปร่งใสเพียงใด

**ซักฟอก“ประชา”บริหาร ศปภ.เหลว

รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ แจ้งว่า ในการประชุมส.ส.ที่จะมีขึ้นในวันอังคารนี้มีส.ส.หลายคนเตรียมที่จะเสนอต่อที่ประชุมให้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจและยื่นถอดถอน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ผอ.ศปภ. ออกจากตำแหน่งหลังจากมีหลักฐานว่า พล.ต.อ.ประชาได้ลงนามในคำสั่งศปภ ที่ 23/2554 ให้นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย และนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ เป็นกรรมการของบริจาค ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ ผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 266 ที่ห้ามไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และยังปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต เลือกปฏิบัติ จนประชาชนที่เดือดร้อนไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง อีกทั้งการบริหารงานใน ศปภ.ก็เต็มไปด้วยความผิดพลาดจนทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างมหาศาล ซึ่งหากที่ประชุมพรรคเห็นด้วย ก็จะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อประธานสภาทันทีเพื่อให้บรรจุญัตติก่อนที่จะปิดสมัยประชุม

นอกจากนี้จะเสนอให้ยื่นถอดถอน นายการุณ นายวรชัย ออกจากการเป็น ส.ส.ด้วย ส่วน น.อ.อนุดิษฐ์ นาครธรรพ รมว.ไอซีที ซึ่งมีคลิปวีดีโอปรากฏชัดเจนว่า ใช้ตำรวจนครบาล 5 ขนถุงยังชีพของสำนักนายกรัฐมนตรีไปไว้ในสำนักงานตัวเองนั้นก็อยู่ในข่ายที่จะถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วย เนื่องจากมีการนำถุงยังชีพของราชการมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว

**ท้าเปิดคลิปตอนแจกประชาชน

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีและการสื่อสาร แถลงข่าวถึงกรณีที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลาในฐานะหัวหน้ากฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ระบุว่าตนได้นำของบริจาคของ ศปภ.ไปเก็บไว้สำนักงานของตัวเองและกำลังดำเนินการให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคไปรวบรวมหลักฐานทั้งในส่วนที่เป็นคำสั่งและพยานแวดล้อมเพื่อนำมาใช้ประกอบในการเขียนคำฟ้องในการยื่นถอดถอน ว่า แม้ว่าเป็นสิทธิ์ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารแต่การตรวจสอบควรชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนและถูกต้อง ในกรณีนี้ตนได้รับความเสียหายเพราะการให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนที่มีการนำเสนอบางประการเป็นเท็จ เพราะตามข้อเท็จจริงแล้วถุงยังชีพที่ปรากฏอยู่ตามคลิปวิดีโอเป็นถุงยังชีพที่จัดหามาบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มอบให้กับรัฐมนตรีที่ถูกมอบหมายให้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตนเองได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามหนังสือที่ นร0405 (ลน.3)/026 ลงวันที่ 26 ก.ย.2554 เรื่องมอบหมายรัฐมนตรีรับผิดชอบเร่งรัด กำกับ ติดตามการกู้วิกฤตจากภัยธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเร่งด่วน

เรื่องดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจที่ได้รับมอบโดยไม่ได้มีสิ่งใดแอบแฝง การดำเนินการกระทำอย่างเปิดเผย มีเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งตำรวจ ทหาร ตลอดจนอาสาสมัครภาคประชาชนช่วยกันนำถุงยังชีพลงพักในที่แห้งก่อนที่จะนำไปส่งมอบให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชนต่างๆต่อ อย่างไรก็ตามหากผู้ตรวจสอบบริสุทธิ์ใจและไม่มีเจตนาทำลายชื่อเสียงทางการเมืองของตนก็ควรจะนำภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอการปฏิบัติภารกิจการแจกสิ่งของบรรเทาทุกข์ของตนและรัฐบาลให้กับประชาชนได้เห็นไปพร้อมกันด้วย ไม่ใช่นำเรื่องมาเสนอแบบไม่ครบถ้วนและให้ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญอย่างไม่ถูกต้อง

"คงไม่มีการฟ้อง แต่ขอเรียกร้องให้ใครก็แล้วแต่ที่เล่นการเมืองในยามที่ประชาชนทุกข์ยากอย่างนี้ ขอให้หยุดเล่นการเมืองและหันมาร่วมมือร่วมใจกันในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบภัยจะดีกว่า เพราะการกระทำแบบนี้ถือว่าเป็นการตีกินทางการเมืองและทำให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับเสียหาย" น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการแต่งตั้งส.ส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นายการุณ และนายวรชัย เป็นกรรมการรับของบริจาคถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของรัฐตามม. 265 และ 266 หรือไม่ น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า เรื่องผิดถูกอยู่ที่การวินิจฉัยของศาลและอยู่ที่ผู้กล่าวหาว่าใช้ช่องทางใดในการกล่าวหา หากมีการฟ้องร้องตามมาตราดังกล่าวผิดถูกก็อยู่ที่ศาล

เมื่อถามถึงหลักฐานที่ระบุว่าบริษัทเอกชนที่ขายถุงชีพให้ ศปภ.ผ่าน ปภ.ขาดทุนต่อเนื่อง 5 ปี น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ระบุชัดแล้วว่ารัฐบาลพร้อมที่จะตั้งกรรมการสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงซึ่งหากพบการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้องก็พร้อมที่จะลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง

**ชี้อ.จุฬาฯเตรียมฟ้องหวังผลการเมือง

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงกรณีนายณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอความร่วมมือสภาทนายความ เตรียมฟ้องร้องนส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างผิดพลาดก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาลว่า กรณีนี้น่าจะเป็นการหวังผลทางการเมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือรัฐบาล การฟ้องร้องเป็นสิ่งทำได้แต่เชื่อว่ามูลเหตุไม่เพียงพอ เพราะรัฐบาลทำงานอย่างเต็มที่แล้ว คนที่เป็นอาจารย์ควรเสนอความเห็นตามหลักวิชาการและหาแนวทางแก้ไขปัญหาช่วยรัฐบาลมากกว่า ไม่ใช่จะออกมาฟ้องร้อง นายณรงค์และสภาทนายความควรได้ทบทวนบทบาทตัวเองว่าได้ทำหน้าที่อย่างเหมาะสมแล้วหรือไม่

ทั้งนี้ขอถามว่าสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้และมีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ทำไมนายณรงค์ ไม่ออกมาฟ้องร้อง แต่มากระเหี้ยนกระหือรือจะฟ้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถือเป็นความไม่ปกติ ก่อนหน้าสมาชิกประชาธิปัตย์บางคนออกมาจุดพลุก่อน ต่อมาก็มีกลุ่มคนที่จะฟ้องร้องรัฐบาล จึงสงสัยว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกเดียวกันหรือไม่

นอกจากนี้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาวอยู่แล้ว เห็นได้จากการตั้งคณะกรรมการ2ชุด คือ กยอ. และกยน. ถือเป็นการวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตให้ประเทศ ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แสดงวุฒิภาวะออกมา หวังเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เหมือนที่ผลสำรวจจากโพล์ ประชาชนอยากเห็นการร่วมมือของนักการเมืองเพื่อเข้ามาแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมมากกว่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น