xs
xsm
sm
md
lg

ล้นเส้นวิภาฯตีคู่รัชดา 5แยกจมน้ำ เซ็นทรัลปิด-จตุจักรอพยพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ถึงกลางเมือง! น้ำท่วมแยกลาดพร้าว จตุจัตรสั่งอพยพ สถานีต่อไปแยกดินแดง เส้นรัชดาไม่น้อยหน้ากำลังไหลเข้ากลางเมือง เซ็นทรัลปิดห้างฯ บขส.หมอชิตยังปักหลัก ด้านฝั่งธนฯ ทะลักสี่แยกท่าพระ เผยการวางแนว “บิ๊กแบ็ก” ทำให้ฝั่งตะวันตกอ่วม ส่วน “ศปภ.” ยันไม่ย้าย แต่ข่าวรั่วจอง “ศูนย์สิริกิตติ์” แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (4 พ.ย.) สถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพมหานครรุนแรงหนักและเพิ่มขึ้นทุกด้าน โดยมวลน้ำที่มาจากฝั่งเหนือ กทม. ท่วมผ่านไปถึงห้าแยกลาดพร้าว มุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่ “สวนจตุจัตร” และ “แยกดินแดง” ขณะเดียวกันอีกเส้นทางหลัก น้ำได้ท่วมเลยแยกรัชโยธินมุ่งหน้าแยกรัชดา-ลาดพร้าว กำลังเข้าสู่กลางเมืองแล้ว

ส่วนบริเวณชุมชนริมคลองลาดพร้าว ซึ่งมีอยู่หลายชุมชนด้วยกัน อาทิ ชุนชมหลังวิทยาลัยครูจันทรเกษม ชุมชนหลังโรงเจ และชุมชนเสือใหญ่อุทิศ น้ำได้เอ่อจากคลองเข้าท่วมบ้านเรือนสูง 50 - 60 เซนติเมตร ห้างสรรพสินค้าโลตัส สาขาวังหิน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับชุมชนหลังวิทยาลัยครูจันทรเกษม น้ำจากคลองลาดพร้าว ได้เริ่มซึมผ่านแนวกระสอบทรายที่ได้กั้นไว้เข้าท่วมบริเวณลานจอดรถด้านหลังห้างฯ ภายในซอยเสือใหญ่อุทิศ และซอยอาภาภิรมย์ ระดับน้ำก็ได้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซอยลาดพร้าว 41 หรือซอยภาวนา น้ำเริ่มเอ่อจากท่อระบายน้ำเข้าท่วมถนน และซอยย่อยต่างๆ เริ่มมีน้ำท่วมเช่นกัน

ทั้งนี้ ห้าแยกลาดพร้าวระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำจากถนนพหลโยธินไหลไปบรรจบกับน้ำที่มาจาก ถ.วิภาวดีรังสิต ทำให้ทั้งหน้าห้างยูเนียน มอลล์ และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว มีน้ำท่วมขังกว่า 60 ซม. ทำให้ทั้ง 2 ห้างประกาศปิดบริการเป็นการชั่วคราว ส่วนโรงแรมโซฟีเทล ยังคงเปิดให้บริการอยู่

**บขส.ไม่ย้ายหมอชิต 2 เชื่อบิ๊กแบ็ก

พ.ต.ท.ธนกฤต คุ้มครอง สว.จร.สน.บางซื่อ เปิดเผยว่า เวลา 18.00น.(4พ.ย.)มวลน้ำได้เข้าเอ่อมท่วมถนนด้านหลังหมอชิต 2 บริเวณ ก.ม.11 แล้ว โดยน้ำได้เอ่อท่วมเป็นระยะๆ สูงประมาณ 20 ซ.ม. แต่อย่างไรก็ตาม น้ำที่เอ่อมท่วมนี้ อยู่ห่างจากหมอชิต 2 ประมาณ 1 ก.ม. เท่านั้น ซึ่งบริเวณหมอชิต 2 ก็มีการทำคันกั้นน้ำไว้แล้ว

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า ขณะนี้ บขส. ยังไม่ตัดสินใจย้ายสถานีขนส่ง หมอชิต 2 เนื่องจากมั่นใจว่าหากรัฐบาลสมารถวางบิ๊กแบ็กเสร็จจะช่วยสกัดน้ำที่จะเข้าสถานีขนส่งได้ แต่ทั้งนี้ จะได้ซักซ้อมแผนหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เชื่อว่าจะสามารถย้ายผู้โดยสารออกได้ภายใน 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ บขส.จะประสานกับ ขสมก. เพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีที่ต้องอพยพประชาชน ขณะนี้ บขส. ได้จัดหาสถานีขนส่งสำรองสองแห่งคือ บริเวณประตูน้ำพระอินทร์ หรือบริเวณสถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่สามารถรองรับได้เป็นจำนวนมาก

**ท่วมรามอินทราตัดนวมินทร์

ขณะที่ฝั่งตะวันออก น้ำจากสายไหมยังคงไหลเข้าท่วมบริเวณ กม.8 ถนนรามอินทรา เข้าสู่ถนนนวมินทร์ต่อเนื่อง น้ำที่เสมอขอบฟุตบาธ รถประจำทางต้องจอดรับส่งผู้โดยสารชิดขวาถนน โดยน้ำได้ไหลเข้าท่วมซอยย่อยต่างๆ อาทิ ซอยนวมินทร์ 163 ซึ่งเชื่อมผ่านไปยังซอยนวลจันทร์ด้วย
บริเวณถนนนวมินทร์ตัดเกษตรนวมินทร์ หรือถนนประเสริฐมนูกิจ เริ่มมีน้ำท่วมขัง มุ่งหน้า กม.8 รถเล็กผ่านไม่ได้แล้วเจ้าหน้าที่จะปัดเข้าซอยนวมินทร์ 94 เพื่อไปเข้ารามอินทรา 58

ส่วนซอยคู้บอน รามอินทรา กม.8 ระดับน้ำท่วมขังสูงบริเวณปากซอยคู้บอน ขณะที่บริเวณตลาดสายเนตร ปากซอยคู้บอน มีการวางแนวกระสอบทรายไว้โดยรอบ แนวถนนรามอินทรา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ของตลาด

**ยกประตูคลองแสนแสบสูง 1.70 ม.

ขณะที่ฝั่งตะวันออก ต่อเนื่องจากประตูน้ำคลองสามวา กทม.ได้เปิดประตูระบายน้ำคลองแสนแสบตอนบางชัน อยู่เหนือระดับผิวน้ำถึง 1.70 เมตร ขณะเดียวกัน ศปภ.ยังนำเรือ 6 ลำ ผลักน้ำลงคลองแสนแสบ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลทะลักเข้านิคมอุตสาหกรรมบางชัน

นายสมบุญ พีชนะสุข นายก อบต.บึงทองหลาง กล่าวว่า ประชาชนที่มาชุมนุมได้แยกย้ายไปแล้ว เพราะมีการตกลงว่า หากมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มที่คลอง 13 อีก 10 ตัว เป็น 27 ตัว ก็จะไม่เรียกร้องให้ปิดประตูระบายน้ำที่คลอง 8 , 9 และ 10 เพราะระดับน้ำขึ้นทุกวัน โดยจะสูบไปที่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งหากปิดประตูน้ำคลอง 9 อีก ก็จะระบายไม่ทัน

**ฝั่งธนฯ วิกฤต ทะลักสี่แยกท่าพระ

ขณะที่มวลน้ำทางฝั่งตะวันตก ฝั่งธนบุรี ยังวิกฤตหนัก และรุนแรงมากขึ้น เมื่อน้ำไหลทะลักออกจากท่อระบายน้ำ เอ่อท่วมถนนเพชรเกษมหลายกิโลเมตร ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางแค โดยมีทิศทางที่มุ่งหน้าไปมหาวิทยาลัยสยาม และสี่แยกท่าพระ ขณะที่น้ำบางส่วนไหลลงคลองภาษีเจริญตอนเหนือ

ที่ถ.เพชรเกษม 66/1 หน้าโลตัสบางแค น้ำสูงกว่า 1 เมตร ต้องปิดการจราจรทั้งขาเข้าและขาออก ตั้งแต่แยกพุทธมณฑล สาย 1 สาย 4 แต่เส้นทางระหว่างแยกท่าพระ ถึงหน้าโลตัสบางแค

**ปิดถนน กทม.รวม 29 เส้นทาง

ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล ประกาศเส้นทางที่ปิดการจราจร และเส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยง โดยขณะนี้มีเส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยงจากน้ำท่วมสูง 10 เส้นทาง แยกเป็น ดังนี้
ด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ควรหลีกเลี่ยงเส้นทาง ถนนสายไหม ขาเข้า-ขาออก น้ำท่วมขังตลอดสาย ถนนประเสริฐมนูญกิจ ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกเกษตร ถึงแยกลาดปลาเค้า ถนนเสนานิคม 1 ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกเสนานิคม ถึงแยกวังหิน ถนนนวมินทร์ ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่ซอยนวมินทร์ 163 ถึงแยกรามอินทรา กิโลเมตรที่ 8 ถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกรัชโยธิน ถึงทางต่างระดับรัชวิภา บริเวณแยกวัดเสมียนนารี

ขณะที่ด้านทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ควรหลีกเลี่ยงเส้นทาง ถนนสุวินทวงศ์ ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกไปรษณีย์มีนบุรี ถึงตัดถนนร่มเกล้า ซึ่งหากจะเดินทางไปจังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถเลี่ยงใช้ถนนรามคำแหงเชื่อม ถนนร่มเกล้า ถนนมอเตอร์เวย์ ถนนบางนา-ตราด และทางยกระดับบูรพาวิถี ถนนราษฎร์อุทิศ ถนนประชาร่วมใจ มีน้ำท่วมขังเป็นระยะตลอดสาย ถนนหทัยราษฎร์ตัดสุวินทวงศ์ (แยกพาณิชยการมีนบุรี)

ส่วนเส้นทางที่ต้องปิดการจราจรมีทั้งสิ้น 29 เส้นทางแล้ว แยกเป็นด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร ถนนสายหลัก ปิดการจราจร 5 สาย ได้แก่ ถนนวิภาวดี-รังสิต ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่ซอยวิภาวดี 46 ถนนพหลโยธิน ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกอนุสรณ์สถาน ถึงแยกเสนานิคม ถนนแจ้งวัฒนะ ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่วงเวียนบางเขน ถึงแยกคลองประปา ถนนรามอินทรา ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกวงเวียนบางเขน ถึง กิโลเมตรที่ 4 (ซอยรามอินทรา 39) ถนนงามวงศ์วาน ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกพงษ์เพชร ถึงแยกเกษตร

ขณะที่ ถนนสายรอง ปิดการจราจร 12 สาย ได้แก่ ถนนกำแพงเพชร 6 (ถนนโลคัลโรด) ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่หน้าหมู่บ้านเมืองเอก ถึงหน้าสถานีทุ่งสองห้อง ถนนสรงประภา ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกศรีสมานถึงแยก กสบ. ถนนเชิดวุฒากาศ ถนนโกสุมร่วมใจ ถนนเดชะตุงคะ ถนนเวฬุวนาราม( วัดไผ่เขียว) ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 14 ถนนเพิ่มสิน (พหลโยธิน 54/1- ถ.สุขาภิบาล 5) ถนนสุขาภิบาล 5 ปิดการจราจรตลอดสาย ถนนเลียบคลองสอง ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกพลาธิการกองทัพอากาศ ถึงแยกสะพานปูน ถนนจันทรุเบกษา ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยก โรงเรียนนายเรืออากาศ (คปอ.) ถึงแยกจันทรุเบกษา ถนนวัชรพล ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกตัดถนนเพิ่มสิน ถึงห้าแยกวัชรพล
ด้านทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ถนนสายหลัก ปิดการจราจร 8 สาย ได้แก่ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกบางขุนนนท์ ถึง สะพานพระราม 7 ถนนสิรินธร ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกบางพลัดถึงทางต่างระดับสิรินธร ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าถึงแยกบรมราชชนนี ถนนอรุณอมรินทร์ ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกอรุณอมรินทร์ถึงแยก โรงพยาบาลศิริราช ถนนบรมราชชนนี ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่แยกบรมราชชนนีถึงทางต่างระดับสิรินธร (สายใต้เก่า) ถนนทางคู่ขนานลอยฟ้า ปิดการจราจรตลอดสาย ไม่สามารถลงพื้นราบได้ ถนนบรมราชชนนี (ช่วงพุทธมณฑล) ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่ แยกพุทธมณฑลสาย 4 ถึงแยก ถนนราชพฤกษ์ ถนนเพชรเกษม ขาเข้า-ขาออก ตั้งแต่ แยกพุทธมณฑลสาย 4 ถึงพุทธมณฑลสาย 1 ส่วนถนนสายรอง ปิดการจราจร 4 สาย ได้แก่ ถนนพุทธมณฑลสาย 2 พุทธมณฑลสาย 3 ถนนอุทยาน ถนนศาลาธรรมสพน์ ปิดการจราจรตลอดสาย

**'สุขุมพันธุ์'ประกาศอพยพเขตจตุจักร

เวลา 11.00 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ยังไม่มีปัญหา โดยน้ำทะเลหนุนสูงสุดเมื่อวันที่3 พ.ย. อยู่ระดับที่ 2.32 จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตนได้ลงนามประกาศให้เขตจตุจักร เฉพาะพื้นที่แขวงลาดยาว เสนานิคม จันทรเกษม และจตุจักร เฉพาะพื้นที่ริมคลองเปรมประชากร ด้านตะวันตก 100 ม. และตะวันออก ริมทางรถไฟสายเหนือ เป็นพื้นที่อพยพ และยังได้ ประกาศแจ้งเตือเฝ้าระวัง แขวงหนองแขม เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ซึ่งเขตหนองเขม มีจำนวน 2 แขวง คือ หนองค้างพลู ได้ลงนามอพยพไปแล้วเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ดังนั้นปัญหาน้ำในเขตนี้รุนแรงมาก

**ห่วงบางพลัดเร่งเก็บขยะ 130 ตัน

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า การจัดเก็บขยะ ของรถขยะกทม.ไม่สามารถเข้าไปเก็บในพื้นที่น้ำท่วมเกิน 60 ซม.ได้ จึงให้กองการช่างกล ดัดแปลงท่อไอเสีย รถเก็บขยะ กทม.ให้สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้ ดำเนินการเสร็จแล้ว 63 คัน จะเร่งเข้าไปจัดเก็บขยะตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ กทม.ได้ประสานไปยัง ปลัด มท. เพื่อประสานไปยัง ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ในการจัดส่งเรือมาสนับสนุนภาร กิจของ กทม. จัดเก็บขยะ และช่วยเหลือปชช. ในขณะนี้มี 4 จังหวัดได้ส่งเรือแล้ว ได้แก่ ปราจีนบุรี ราชบุรี นครสวรรค์ สุโขทัย ส่วนอีก 13 จังหวัดที่กำลังจัดส่งเรือมาให้

นอกจากนี้ ทาง กทม.ยังได้ขอให้ทางกระทรวงคมนาคม ผ่าน ศปภ.จัดส่งเครื่องมือหนัก เช่น รถสิบล้อดั้ม ขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 1 เมตร จำนวน 10 คันรถ มาช่วย กทม.ในการดำเนินการวางบิ๊กแบ๊ก อย่างไรก็ตาม คาดว่าในส่วนพื้นที่โรโคลโรล จะมีการวางถุงบิ๊กแบ็กได้ในส่วนกรณีน้ำท่วมบริเวณ 5 แยกลาดพร้าว ถ้าไม่มีแรงดันน้ำมาอีก น้ำจะไม่ขยายไปกว้างกว่านี้

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังนำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม และร่วมเก็บขยะในพื้นที่ของสำนักงานเขตบางพลัด บริเวณชุมชนใต้สะพานซังฮี้ จากการสำรวจขยะในพื้นที่เขตบางพลัด พบว่า ภายใน 4 วัน มีขยะจำนวนมากถึง 130 ตัน

**ต่ำกว่า 1.60 เมตร ไม่กระทบบีทีเอส

วันเดียวกัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ตรวจเยี่ยมศูนย์ระบบควบคุมการเดินรถและศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักรทราบว่า มีการเตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมเพื่อพร้อมเดินรถบริการประชาชนในภาวะที่ระบบขนส่งอื่นๆใช้ไม่ได้ ซึ่งบีทีเอสยืนยันยังสามารถเดินรถได้หากมีน้ำท่วมสูงไม่เกิน 2.15 ม.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือเทียบจากระดับพื้นผิวถนนพหลโยธิน 1.60 ม. ถ้าหากน้ำท่วมสูงเกินกว่าปริมาณดังกล่าว จะต้องหยุดเดินรถ ในกรณีที่เกิดกระแสไฟฟ้าขัดข้องหรือไฟฟ้าดับ บีทีเอส มีสำรองไฟฟ้าทุกสถานีเพื่อใช้ในด้านความปลอดภัยและการสื่อสารในการนำผู้โดยสารออกจากรถอย่างปลอดภัยได้

สำหรับรถเมล์ด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) สายช่องนนท์ทรี ราชพฤกษ์หากระดับน้ำ สูงเกิน 30 ซม. จะไม่สามารถให้บริการได้

**วางแนว“บิ๊กแบ็ก”คาดฝั่งตะวันตกอ่วม

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าในการวางแนวถุงทรายขนาดใหญ่ หรือบิ๊กแบ็ค บริเวณรางรถไฟเมืองเอก รังสิต ว่า สำหรับการดำเนินการวางบิ๊กแบ็คระยะทาง 6 กิโลเมตร จะเสร็จสิ้นในช่วงบ่ายวันนี้ (4พ.ย.) และจะได้มีการนำกระสอบทรายไปเสริมในส่วนที่บิ๊กแบ็คอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำ และจะนำถังน้ำมันบรรจุทรายประมาณ 300 ใบ ไปวางเป็นกำแพงกั้นน้ำและวางกระสอบทรายอยู่ด้านบนตรงจุดทางลงดอนเมืองโทลล์เวย์ ตัดกับถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานดอนเมือง หากดำเนินการเสร็จสิ้น อาจจะมีบางจุดรั่วซึมบ้าง เพราะมีระยะทางที่ยาว ซึ่งก็ต้องแก้ไขกันไป อย่างไรก็ตามเมื่อทุกอย่างดำเนินการเสร็จสิ้น น้ำที่ไหลเข้ามานจะน้อยกว่าน้ำที่ระบายออก

“ยืนยันว่าน้ำตรงจุดนี้จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ได้ข้ามไปฝั่งตะวันตก ทั้งนี้น้ำที่ระบายมี 2 ส่วน คือ 1.ดูดออกตามระบบระบายน้ำของ กทม. และ 2.สูบออกไปคลองรังสิตเพื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดจะไปเสริมบิ๊กแบ็คที่บริเวณอื่น แต่จะทำการรักษาแนวคันกั้นน้ำตรงไว้ให้ดีเพื่อให้น้ำไหลลงมาน้อยที่สุด และเมื่อการวางเสร็จสิ้นสถานการณ์น้ำจะเบาบางลง” พล.อ.อ.สุกำพล กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จตามกำหนดการ เนื่องจากมีปัญหาติดขัดเรื่องการลำเลียงกระสอบทรายยักษ์เข้าพื้นที่ คาดว่าเสร็จวันที่ 5 พ.ย.นี้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เรียกร้องให้รัฐบาลชี้แจงข้อเท็จจริงกับประชาชนที่อยู่นอกแนวบิ๊กแบ็คว่า หากวางแนวบิ๊กแบ็คสำเร็จจะทำให้น้ำถูกผลักไปทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ มากขึ้น ซึ่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนานกว่าเดิม

**ยิ่งลักษณ์ยันเจ้าพระยาปลอดภัย

อีกด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในภาพรวมฝั่งตะวันออกมวลน้ำจากทางทิศเหนือเริ่มลดลง เริ่มระบายออกทางคลองไปบ้างแล้ว แต่ก็อาจจะมีบางประตูที่เราจะต้องชะลอน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำเข้ามาในกรุงเทพฯ มากขึ้น รวมถึงมาตรการที่เราได้ทำแนวกั้นน้ำ เช่นการวางบิ๊กแบ็ค ซึ่งตนคิดว่าฝั่งตะวันออกดีขึ้น ส่วนฝั่งตะวันตกนั้น การระบายเป็นไปค่อนข้างยาก เพราะในภาพรวมของฝั่งตะวันตกไม่ได้ถูกออกแบบให้ รับน้ำจากทางเหนือไหลลงมาทางใต้ และคลองทื่จะระบายน้ำลงสู่ทะเลนั้นแคบมาก

เมื่อถามว่า พื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหรือไม่หากการนำบิ๊กแบ๊คไปทำคันกั้นน้ำมีความล่าช้า นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เราก็กำลังเร่งทำอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันนี้ จากการที่สอบถามทีมงานที่ทำ ก็ได้เร่งทำอย่างเต็มที่ เราก็พยายามที่จะทำจุดอื่นพื่อไว้ด้วยโดยการแก้จุดอื่นพร้อมๆ กัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า บิ๊กแบ็คจะช่วยฝั่งตะวันออก ซึ่งฝั่งตะวันออกการแก้ปัญหาหลัก ๆ คือ เรื่องของบิ๊กแบ็ค การหรี่น้ำ การระบายน้ำ ส่วนฝั่งตะวันตก แม่น้ำเจ้าพระยามีรอยรั่วนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิด โดยเราจะเข้าไปดำเนินการตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไปและจะแล้วเสร็จในวันที่ 15 พ.ย. ตนขอเรียนประชาชนตรง ๆว่า เราต้องอยู่ในสภาพนี้ไปก่อน เพราะน้ำทะเลจะหนุนสูง แม้เราจะทำการหยุดน้ำจากทางเหนือแล้ว แต่น้ำก็ยังตีเข้ามาจากทางฝั่งตะวันตกอีก เพราะยังมีรูรั่วอีก 13 จุด ซึ่งรูรั่วนี้เกิดมาก่อน ไม่ได้เกิดจากการกระทำของประชาชน

ส่วนที่เคยออกมาระบุว่า หลังวันที่ 31 ต.ค.สถานการณ์จะดีขึ้น แต่วันนี้ล่วงมาวันที่ 3 พ.ย.แล้วยังไม่มีอะไรดีขึ้นหมายความว่าอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ตนเคยบอกว่าวันที่ 31 ต.ค.นั้นหมายถึงระดับน้ำทะเลจะขึ้นสูงสุด เราจึงออกมาระบุว่าจะประเมินสถานการณ์หลังวันที่ 31 ต.ค. ซึ่งวันนี้สิ่งที่ดีขึ้น คือระดับน้ำทะเลลดลง ขณะนี้เป็นผลกระทบหลังจากวันที่ 31 ต.ค.แล้วน้ำจะแห้ง ซึ่งเป็นผลจากน้ำที่สะสมและเป็นผลจากน้ำทะเลที่หนุนสูงที่ล้นเอ่อเข้ามา ร่วมถึงระบบการระบายที่ยังไม่สามารถระบายได้เต็มที่เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบแบน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ต้องควบคุม ส่วนที่ดีขึ้นคือ ระดับน้ำทะเล แต่เราต้องให้ระยะเวลาเพื่อให้น้ำระบายลงสู่ทะเล

**บางขุนเทียน จอมทอง คลองสานส่อรอด

ทั้งนี้ หลังจากที่ผู้สื่อข่าวได้ตั้งคำถามหลายคำถาม เช่น กรุงเทพฯต่อจะหนักหรือไม่ จนทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ พูดว่า “ ให้ผู้สื่อข่าวไปถาม ผู้ว่ากทม. (ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร) บ้างไหมค่ะ เดี๋ยวจะหาว่ารู้ระบบ กทม. มากเกินไป”

ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ที่ยืนอยู่ข้างนายกฯ กล่าวว่า กรุงเทพฯฝั่งเหนือจะไม่รุนแรง และกรุงเทพฯตอนกลางที่น้ำแผ่เข้ามา ดูจากสถานการณ์แล้ว คาดว่าจะไม่รุนแรง ดังนั้นหาก ศปภ.และกรุงเทพฯร่วมมือกันจะสามารถบริหารจัดการการระบายน้ำตะวันออกได้ ดังนั้นที่เป็นห่วงมากที่สุดคือฝั่งตะวันตก เพราะน้ำยังเข้ามาเยอะอยู่ จากนนทบุรีและปทุมธานี ซึ่งระบบระบายน้ำทางด้านตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ กรมชลประทาน มันไม่ดีเท่าฝั่งตะวันออก

ทั้งนี้ปฏิเสธว่า พื้นที่ฝั่งตะวันตกจะยังไม่น้ำท่วมทั้งหมด ยังมีพื้นที่อีกหลายพื้นที่ที่ไม่มีปัญหา เช่น เขตบางขุนเทียน จอมทอง คลองสานยังไม่มีปัญหาอะไร ส่วนจะปกป้องได้กี่เขตนั้น ตนไม่อยากทำนาย เพราะน้ำเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดาได้

**ยังไม่จำเป็นประกาศ กม.เด็ดขาด

ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จะส่งผล ในการตั้งกระทรวงน้ำขึ้นมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคตหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังไม่ขอพูดถึงกระทรวงน้ำดีกว่า แต่ขอว่าวันนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรุงเทพฯ มาวางแผนแก้ไขปัญหาระยะรวมกัน ในภาพของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมีจังหวัดใดเป็นทางผ่านของน้ำ เพื่อไม่ให้ปัญหานี้กลับมาเกิดขึ้นอีก

ส่วนเรื่องมาตรการขั้นเด็ดขาดนั้น เป็นในส่วนของข้อกฎหมายที่จะต้องปฏบัติตามอย่างเคร่งครัด หากการทำงานนั้นไม่ได้อย่างเต็มที่ ก็ต้องมีมาตรการภายใต้กฎหมาย มาตรา 31 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 ที่เราได้ประกาศให้ 27 จังหวัด เป็นเขตภัยพิบัติร้ายแรง วันนี้เราอยู่ในระบบประชาธิปไตย ขอให้ทึกทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ เราไม่ใช้กฎหมายเป็นตัวนำในการแก้ไขปัญหา แต่ทุกคนต้องมีส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาก่อน

เมื่อถามว่า ปัญหาในคลอง 8 คลอง 9 และคลอง 10 ที่ประชาชนยังมีความขัดแย้งอยู่จะใช้กฎหมายนี้ไปบังคับหรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จากการตราวจสอบการทำงานจะต้องลงพื้นที่ด้วยกันทุกฝ่าย วันนี้เรายังต้องมีการปรับปรุงอยู่ ส่วนหนึ่งเราเคลียร์มวลชนได้แล้ว และยังไม่เจอเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจะต้องกลับไปคุยกันใหม่ และนัดทั้งสองฝ่ายเพื่อตกลงร่วมกัน ให้เวลาทีมงานวันนี้อีก 1 วัน

**โว!สู้มาแล้ว 27 จว.ไม่ยอมแพ้

เมื่อถามต่อว่า วันนี้ถือว่าเราแพ้น้ำใช่หรือไม่ มีคำว่าชนะหรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า วันนี้มันเป็นภัยธรรมชาติ ต้องกลับไปดูประวัติศาสตร์ เพราะน้ำมากกว่าประวัติศาสตร์ น้ำมันเยอะมาก เมื่อถามว่า เราจะสร้างประวัติศาสตร์เพื่อชนะน้ำครั้งนี้ได้หรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ กลวว่า วันนี้น้ำมา 27 จังหวัด หากน้ำมาแค่ 1 จังหวัดก็ยังพอสู้ได้ เราระดมสรรพกำลังสู้กับน้ำทั้ง 27 จังหวัดมา 3 เดือน รับมาน้ำก็เต็มแล้ว

ถามต่อว่า จะมีการประกาศวันหยุดราชการเพิ่มหรือไม่ นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องรอดูการวางบิ๊กแบ๊ค ซึ่งขณะนี้แต่ละหน่วยงานก็สามารถพิจารณาวันหยุดได้เอง หากเราประกาศเป็นวันหยุดก็จะไม่มีใครมาช่วยเหลือประชาชน ซึ่งในบางพื้นที่ที่น้ำท่วมก็ไหยุดไปโดยปริยายอยู่แล้ว

**“สุกำพล” เมินระบบฟลัดเวย์

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม กล่าวว่า กรณีที่มีนักวิชาการเสนอให้ใช้ทางด่วนเป็นฟลัดเวย์ระบายน้ำนั้น ตนคิดว่าการที่น้ำจะเดินทางจากดอนเมืองมาถึงมักกะสันไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้น้ำที่มาทางวิภาวดีรังสิต ไหลมาจากคลองระบายน้ำ ซึ่งเดินทางมาค่อนข้างช้า และใช้ระยะเวลานาน เราจึงใช้วิธีจะหยุดน้ำแทน นอกจากนี้ ในส่วนของระบบประปา ได้มีการดำเนินการกันอยู่ ยังไม่มีปัญหา และหากการวางบิ๊กแบ็คเสร็จสิ้น คลองประปาก็จะจบด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า น้ำที่ไหลเติมลงมาอาจจะแก้ไขได้ แต่น้ำที่ขังอยู่จะทำอย่างไร รมว.คมนาคม กล่าวว่า กทม.จะต้องแก้ไขไป ถามว่า รัฐบาลตระหนักใช่หรือไม่ว่าหากน้ำประปาล้มเหลว คนกทม.อยู่ไม่ได้แน่ รมว.คมนาคม กล่าวว่า คลองประปายังใช้ได้ที่บางเขน มหาสวัสดิ์ ซึ่งยังใช้ได้อยู่ โดยขณะนี้เราสามารถบล็อกน้ำที่คลองบางเขนได้แล้ว

**ยันไม่ย้ายศปภ.-ลือไป“ศูนย์สิริกิตติ์”

ส่วนด้านหน้า ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) อาคารเอเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน เจ้าหน้าที่ได้ขนหินคลุกมาถมเพิ่มเติมบนถนนวิภาวดีรังสิตขาออก 1 ช่องจราจร ตั้งแต่ทางลงโทลล์เวย์ตั้งแต่ปตท.สำนักงานใหญ่เข้ามายังซอยวิภาวดี 11 สูงกว่า 2 เมตรหลังจากระดับน้ำสูงขึ้นบริเวณ 5แยกลาดพร้าว จึงต้องปิดถนนตั้งแต่สะพานลอยด้านหน้าปตท. จนทำให้น้ำท่วมในช่องคู่ขนาน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงการย้ายศปภ.ว่า ขอดูสถานการณ์ก่อน เพราะใจจริงเราก็อยากจะยืนหยัดอยู่ตรงนี้

พล.อ.อ.สุกำพล ยืนยันว่า จะไม่ย้ายศปภ. แม้ระดับน้ำด้านหน้า ถ.วิภาวดีรังสิต จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากได้ทำทางยกระดับเชื่อมต่อจากโทลล์เวย์ โดยมีความสูง 1.10 เมตร และจะไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อีกทั้งจะทำให้การสัญจรเข้ามายัง ศปภ. สะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ การวางแนวกระสอบทรายยักษ์ (บิ๊กแบ็ก) ในระยะทาง 6 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จจะช่วยลดปริมาณน้ำที่จะเข้ามาท่วมพื้นที่ ถ.วิภาวดีรังสิต ถ.พหลโยธิน รวมถึงพื้นที่บริเวณโดยรอบได้ และเชื่อว่าสถานการณ์ดีขึ้น พร้อมมั่นใจว่า หากวางแนวบิ๊กแบ็กสำเร็จ จะไม่เป็นการเพิ่มระดับน้ำทางฝั่งตะวันตก เพราะจะระบายลงคลองรังสิต รวมแม่น้ำเจ้าพระยา

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การจะย้ายศปภ.ไปที่ทำการใหม่หรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็น แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องดูและประชาชนให้ได้ และยังไม่คิดย้ายที่ตั้งไปต่างจังหวัด

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวว่า ศปภ.อาจจะย้ายไปปฏิบัติงานที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ บริเวณย่านคลองเตย

**บรูไน-ญี่ปุ่นบริจาคช่วยไทยเพิ่ม

เวลา 13.30 น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เดินทางมายังลานคนเมืองหน้าศาลากทม. เพื่อมาเปิดโรงครัวกทม. ที่จะเป็นสถานที่ที่ใช้ในการประกอบอาหารเพื่อที่จะให้สำนักงานเขตที่ประสบอุทกภัยมารับไปแจกจ่ายและได้ลงมือผัดข้าวผัดไก่ไส้กรอกและข้าวผัดด้วย

ด้านนายสมภพ ระงับทุกข์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รับมอบ “เรือห่วงยางชาวนครพนม” เพื่อช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร จำนวน 125 ชุด

วันเดียวกัน ที่ประเทศญี่ปุ่น สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เป็นประธานรับมอบเงิน จำนวน 5 ล้านเยน หรือประมาณ 2 ล้านบาท จากท่านอิโต ซินโซ ประมุขสงฆ์นิกายซินนิโยเอน แห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อช่วยเหลือวัดและผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ประเทศไทย

นอกจากนี้ ดาโต๊ะ พาดูกา ฮัจญี คามิส บิน ฮัจญี ทามิน เอกอัครราชทูตบรูไน ประจำประเทศไทย เป็นผู้แทน สมเด็จพระราชาธิบดีฮัสซานัล โบลเกียห์ องค์สุลต่านแห่งบรูไน ทรงพระราชทานเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในไทย จำนวน 100,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 3 ล้านบาท

**ศาลเลื่อนพิจารณาคดีสืบพยาน

ในวันเดียวกันที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้ประกาศศาลอาญา เรื่อง เลื่อนการพิจารณาคดี เนื่องจากเกิดอุทกภัยในเขตกรุงเทพมหานคร ทำให้มีน้ำท่วมสูงถนนหลายสาย คู่ความและประชาชนที่จะเดินทางมาติดต่อราชการต้องเดินทางด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง กรณีมีเหตุฉุกเฉินและเป็นการจำเป็น ศาลอาญาจึงประกาศเลื่อนการพิจารณาคดีที่นัดความไว้ล่วงหน้า อาทิ การฟังคำพิพากษา การสืบพยานระหว่างวันที่ 7-15 พ.ย.นี้ ออกไปก่อนโดยการกำหนดนัดวันพิจารณาใหม่ทางศาลจะแจ้งให้คู่ความทราบภายหลัง

สำหรับการรับฟ้องคดีการออกหมายค้น,หมายจับ และการผลัดฟ้อง ศาลอาญาได้จัดเวรผู้พิพากษาและข้าราชการให้คู่ความและประชาชนสามารถติดต่อช่วงวันเวลาดังกล่าว หรือสอบถามได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2541-2176, 0-2541-2181 และ 0-2541-2284-91 ทั้งนี้จะต้องดูสถานการณ์ระดับน้ำอีกครั้งว่าจะเพิ่มสูงขึ้นมากน้อยเพียงใด จนกระทบต่อการเดินทางของคู่ความ และประชาชนรวมทั้งเจ้าหน้าที่หรือไม่ หากระดับน้ำยังคงสูงและส่งผลกระทบต่อการเดินทางและการปฏิบัติหน้าที่ก็จะต้องพิจารณาอีกครั้ง

**เขาดินเตรียมรับมือน้ำท่วม

นายสัตวแพทย์กาญจ์ชัย แสนวงศ์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์ดุสิต องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมว่า สวนสัตว์ดุสิตมีพื้นที่กว้างทั้งหมด 118 ไร่ เป็นพื้นน้ำ 30 ไร่ มีสัตว์ทั้งหมด 250 ชนิด 1,200 ตัว โดยได้เตรียมกระสอบทรายไว้ตามประตูต่างๆ และมีการพร่องน้ำในสระเอาไว้ ซึ่งมีความกว้างทั้งหมด 30 ไร่

ส่วนเรื่องอาหารสัตว์ได้เตรียมไว้ประมาณ 2 สัปดาห์ และแบ่งสัตว์ตามพื้นที่ ที่คิดว่าหากระดับน้ำท่วม 50 ซ.ม. แล้ว สัตว์จะลำบากหรือเกิดอันตราย ก็จะย้ายไปที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ซึ่งได้ประสานงานกันอยู่ตลอดเวลา ที่ย้ายไปแล้ว

คือ เก้งธรรมดา 12 ตัว ,เก้งหม้อ 8 ตัว ,เก้งเผือก 2 ตัว ,กวางดาว 14 ตัว และเลียงผา 4 ตัว โดยคิดเป็น 3-4 % ที่ย้ายไป

**ท่วม 25 จว.ตายรวม 442 ราย

นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศอส. รายงานสถานการณ์ปัจจุบัน มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 25 จังหวัด รวม 145 อำเภอ 1,1012 ตำบล 7,960 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 713,836 ครัวเรือน 2,096,521 คน และมีผู้เสียชีวิต 442 ราย สูญหาย 2 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 10,986,252 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำคาดว่าจะเสียหาย บ่อปลา 194,012 บ่อ/กระชัง ด้านปศุสัตว์ สัตว์ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 13,282,622 ตัว

ส่วนสถานการณ์น้ำเขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 99.5 % ปริมาณน้ำเข้า 31 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 30 ล้าน ลบ.ม. (347 ลบ.ม./วินาที) รับได้อีก 65 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 99.8 % ปริมาณน้ำเข้า 16 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 18 ล้าน ลบ.ม. (208 ลบ.ม./วินาที) รับได้อีก 20 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสัก มีปริมาณน้ำ 129 % ปริมาณน้ำเข้า 6 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 3.49 ล้าน ลบ.ม. (40 ลบ.ม./วินาที)
กำลังโหลดความคิดเห็น