xs
xsm
sm
md
lg

“ปลอด” ย้ำคนฝั่งธนฯ ทำใจอยู่กับน้ำ 2 อาทิตย์ เสนอขุดฟลัดเวย์กันน้ำเข้า กทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ภาพจากแฟ้ม)
รมว.วิทย์ ย้ำ กทม.ฝั่งธนฯ เตรียมรับสภาพอยู่กับน้ำนาน 2 สัปดาห์ คาดปริมาณน้ำเมืองปทุมธานี-นนทบุรี จะเริ่มลดหลัง 7 พ.ย.นี้ ขณะมวลน้ำฝั่งตะวันตกจะไหลเข้าพื้นที่ลุ่มอย่างช้าๆ ร่ายยาวแผนจัดการน้ำทั้งระบบ เชื่อธรรมชาติเปลี่ยนต้องปรับปฏิทิน “เกษตรฯ-ท่องเที่ยว” ฝนมาเพิ่ม 25-50 เปอร์เซ็นต์ ชงทำ “ฟลัดเวย์-ขุดแม่น้ำ” ผันน้ำลงทะเลเร็วขึ้น ผุดไอเดีย “บ้านกบ” สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ล้อมกรอบนิคมอุตฯ ใหม่หมด

วันนี้ (3 พ.ย.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กระทรวงพลังงาน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ว่า ประชาชนต้องช่วยกันปล่อยให้น้ำไหลผ่านลงสู่ทะเลโดยไม่ควรไปสร้างเขื่อนกั้น ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับการใช้ชีวิตอยู่กับสภาพน้ำท่วมให้ได้ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งในส่วนของ จ.ปทุมธานี และจ.นนทบุรี น้ำจะลดลงหลังวันที่ 7 พ.ย.เป็นต้นไป เพราะพื้นที่ฝั่งตะวันตกของ กทม.เป็นที่ลุ่ม และมีสิ่งกีดขวางน้อยกว่าฝั่งตะวันออก ทำให้น้ำไหลเข้ามาในพื้นที่ฝั่งตะวันตกเป็นจำนวนมาก และน้ำเหนือที่ลงมาจะไม่เป็นก้อนใหญ่เหมือนที่ผ่าน จ.นนทบุรี กับ จ.ปทุมธานีอีก แต่จะเป็นลักษณะของน้ำที่ไหลลงมาอย่างช้าๆ

นายปลอดประสพกล่าวด้วยว่า ขณะนี้รัฐบาลเตรียมตั้งคณะกรรมการดูแลภาพรวมเรื่องการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลดครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งจะมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และจะพิจารณากรอบการทำงานตามแผนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำแผนฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าจากนี้ไปประชาชนในประเทศไทยจะใช้ชีวิตแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ฤดูฝนจะมาเร็วขึ้น 1-2 เดือน เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้มีไอน้ำลอยขึ้นสู่อากาศมากทำให้เกิดกลุ่มเมฆฝนจึงตกลงมามากตามไปด้วย

“จากนี้ต่อไปประเทศไทยจึงจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นประมาณ 25-50 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นปริมาณน้ำฝนประมาณ 50,000-100,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ซึ่งเพิ่มจากเดิมที่มีปริมาณน้ำฝนปีละ 200,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี จึงต้องมีการแก้ปฏิทินการเกษตร โดยต้องทำการเกษตรให้เร็วกว่าเดิม เช่น การปลูกข้าวให้เร็วขึ้น และอาจต้องมีการคิดค้นข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป” นายปลอดประสพระบุ

นายปลอดประสพกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ต้องมีการปรับเรื่องของการเก็บน้ำ เนื่องจากมีการประเมินว่าฝนจะตกใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตรมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำใต้เขื่อนมากขึ้น จึงต้องใช้ระบบการดูดน้ำจากใต้เขื่อนเข้ามาเก็บเหนือเขื่อน ทั้งนี้ ตนคิดว่าต่อไปต้องมีการสร้างเขื่อนเพื่อใช้ควบคุมน้ำเป็นหลัก ลุ่มน้ำใดที่อุ้มน้ำไม่ได้จะต้องมีการสร้างเขื่อนดังกล่าว อีกทั้งจะต้องป้องกันไม่ให้น้ำเข้าสู่ กทม.ด้วยการทำเส้นทางเร่งระบายน้ำออกสู่อ่าวไทย หรือที่เรียกว่าฟลัดเวย์ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออก ที่สามารถทำได้หลายวิธีตั้งแต่แพงที่สุด คือ การทำขุดแม่น้ำขนาดใหญ่ ขณะที่วิธีที่ถูกที่สุด คือ การเช่าที่ดินของประชาชน ตั้งแต่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ยาวไปจนถึงบริเวณคลองด่าน จ.สมุทรปราการ โดยมีการไถที่ดินและมีการจัดทำลักษณะทางน้ำไหลผ่าน ซึ่งในช่วงหน้าแล้งประชาชนก็มาทำกิจกรรมหรือพักผ่อนในพื้นที่ได้ ซึ่งประเทศญี่ปุ่นก็ใช้รูปแบบนี้

นายปลอดประสพกล่าวอีกว่า รวมทั้งด้านการท่องเที่ยวก็ต้องมีการปรับปฏิทินด้วย เพื่อให้กิจการการท่องเที่ยวสอดคล้องกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ส่วนรูปแบบการสร้างบ้านของประชาชนให้สร้างบ้านในลักษณะยกสูงเป็นชั้นครึ่ง หรือสร้างบ้านแบบใหม่มีเสา 4 เสา ใต้บ้านเป็นโฟมอย่างดีโดยในช่วงหน้าแล้งบ้านก็อยู่บนพื้นดินตามปกติแต่เมื่อถึงหน้าน้ำมีน้ำท่วมตัวบ้านจะยกขึ้น โดยที่ยังมีเสายึดตัวบ้านไว้ ซึ่งขณะนี้ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้จัดทำแปลนบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรียกว่าบ้านสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกหรือบ้านกบ เตรียมที่จะนำเสนอออกมาเร็วๆ นี้ ขณะที่การถมที่ดินอาจต้องมีการออกกฎหมายว่าด้วยการถมที่ดิน โดยกำหนดให้ผู้ที่จะถมที่ดินต้องขออนุญาต และต้องควบคุมความสูงการถมที่ดินในแต่ละเขตให้มีความเท่าเทียมกันทั้งหมดไม่ให้สูงต่ำสลับไปมา ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ส่วนการขุดลอกคูคลองอาจต้องมีการตั้งบริษัทขึ้นมาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ อีกทั้งถนนฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกของ กทม.จะต้องยกสูงขึ้นให้น้ำลอดผ่านลงทะเลได้เร็ว

ส่วนกรณีนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยครั้งนี้อย่างหนัก นายปลอดประสพกล่าวว่า จะต้องมีการปรับแนวป้องกันรอบนิคมฯให้เป็นสี่เหลี่ยม และให้มีจำนวนมากกว่า 1 ชั้น เพื่อให้ป้องกันน้ำทำได้ง่ายและได้ผลขึ้น ทั้งนี้ ส่วนตัวคิดว่าวิธีที่คุ้มค่าในระยะยาวคือย้ายนิคมฯออกไปจากพื้นที่ลุ่มในภาคกลางไปอยู่ในพื้นที่สูงในภาคอื่นๆ โดยรัฐต้องสร้างระบบสาธารณูปโภคและเส้นทางคมนาคมเข้าไป และใช้พื้นที่ลุ่มดังกล่าวไปทำการเกษตรแทน ด้านชลประทาน ประเทศไทยต้องสร้างระบบระบายน้ำขึ้นใหม่ ซึ่งปัจจุบันเรานำระบบส่งน้ำมาใช้ระบายน้ำปล่อยน้ำจากคลองใหญ่ลงสู่คลองเล็กเพื่อลงทะเล ทำให้การระบายน้ำช้าและเอ่อล้นท่วมชุมชน จึงต้องเปลี่ยนมาจัดทำระบบระบายน้ำด้วยการให้น้ำไหลจากท่อเล็กไปยังท่อใหญ่ ซึ่งตนเห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องตั้งกระทรวงน้ำขึ้นมาซึ่งจะมีกรมที่ดูแลเป็นการเฉพาะแต่ละด้านในการบริหารจัดการน้ำ เช่น กรมส่งน้ำ กรมระบายน้ำ กรมคูคลอง กรมประปา และกรมน้ำเพื่ออุตสาหกรรม

“แนวคิดทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่จะต้องทำ เพราะธรรมชาติได้เปลี่ยนไปแล้ว คนจึงต้องปรับตัวตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน” นายปลอดประสพกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น