xs
xsm
sm
md
lg

จบเห่!กทม.จม "ปู"รับสภาพสกัดน้ำไม่อยู่ เตือนภัย!ประชาชนริมเจ้าพระยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-น้ำทะลักล้อมศปภ. หลังคันกั้นน้ำหลัก 6 แตก ท่วมหมู่บ้านเมืองเอก ลามถึงดอนเมือง ทำโกลาหลกันทั้งวัน ทั้งปิดรับเรื่องร้องเรียน ปิดสนามบิน รัฐบาลยังปากดี ไม่ย้ายศปภ. แต่สั่งขนผู้พักพิงไปชลบุรีด่วน "ปู"รับสภาพ กทม.จมแน่ ระดับน้ำสูง 50 ซม.-1.50 เมตร ระทึก!น้ำหนุนสูงกว่าคันกั้นน้ำปลายเดือนนี้ "สุขุมพันธุ์"ประกาศเตือนประชาชนริมเจ้าพระยา

เมื่อเช้าวานนี้ (25 ต.ค.) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฎิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีสถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังถาโถมเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า น้ำได้เข้ามา 2 ทาง คือ จากทางห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิต นับจากประตูน้ำพระอินทร์ ประกอบกับน้ำที่ลงมาจาก จ.นนทบุรี และปทุมธานี ค่อนข้างมาก และมีน้ำทะเลหนุนสูง โดยเฉพาะในระหว่างวันที่ 28-31 ต.ค. จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ไปอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งตนจะเสนอเข้าในที่ประชุมครม.ให้ประกาศเป็นวันหยุดเพื่อให้พี่น้องประชาชน ได้ออกไปต่างจังหวัดบ้าง จะได้ลดเรื่องปัญหาการจราจร และความแออัดในกทม.

ส่วนสถานการณ์น้ำจะเข้าพื้นที่กทม.ไปอีกแค่ไหนนั้น พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า น้ำก็เคลื่อนตัวขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้แจ้งเตือนไปแล้วว่ามีพื้นที่ไหนบ้างที่น้ำจะเพิ่มสูงขึ้น

"อย่างที่ทราบว่า น้ำทางตอนเหนือนั้นลงมามาก ทางคันคลองระพีพัฒน์ ก็ขาด น้ำเหนือลงมาที่ประตูน้ำพระอินทร์ ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ก็ทะลักเข้ามา จนกระทั่งเข้าคลองเปรมประชากร ก็คงต้องยอมรับ เพราะน้ำนั้นไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ และกทม.มีพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่ด้วย ก็มีระบบระบายน้ำของกทม.รับไว้อยู่ แต่ไม่แน่ใจว่าจะรับได้แค่ไหน"พล.ต.อ.ประชากล่าว

** คันกั้นน้ำคลองหลัก6แตก

ต่อมา 12.30 น. พล.ต.อ.ประชา ได้แถลงว่า ประกาศศปภ. ที่ 10 /2554 เรื่องขอให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ประสบอุทกภัย เนื่องจากคันกั้นน้ำที่ อบต. หลัก 6 อ.เมือง จ.ปทุมธานี ชำรุดบางตอน ทำให้มวลน้ำจากคลองรังสิต ไหลทะลักเข้าสู่หมู่บ้านเมืองเอก และบริเวณใกล้เคียงภายใน 1 -2 ชม.นี้ ระดับน้ำจะสูงประมาณ 1-1.50 เมตร เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว เคลื่อนย้ายโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ กองทัพไทยได้จัดเตรียมยานพาหนะไว้ที่ ม.รังสิตในหมู่บ้านเมืองเอก จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน

พล.ต.อ.ประชา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังแก้ไขคันกั้นน้ำคลองหลักหกที่แตก ซึ่งปริมาณน้ำก็จะไหลทะลักเข้ามาเรื่อยๆ ทางเมืองเอก ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังเร่งซ่อมแซมอยู่ น่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชม.น่าจะรู้ผล

** น้ำโจมตีศปภ.ใกล้แตกตาม

เมื่อถามว่าสาเหตุที่แตกเพราะอะไร ผอ.ศปภ. กล่าวว่า คันกั้นน้ำชำรุด และน้ำมาแรงและไหลเชี่ยว เมื่อถามว่าคันกั้นน้ำที่แตกนี้ จะส่งผลมาถึงที่ดอนเมืองด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ที่ดอนเมือง เราก็มีการป้องกันเต็มที่ แต่คาดว่าน้ำก็คงจะไหลเข้ามาเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ก็คิดว่า ศปภ. ที่ดอนเมืองยังไม่ต้องอพยพด้วย ยังทำงานได้อยู่ อย่างไรก็ตาม ช่วงเย็นๆ จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง และจะรายงานให้ทราบ

เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้น้ำในดอนเมืองก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ผอ.ศปภ. กล่าวยอมรับว่า สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็แก้ไขอยู่ร่วมกับกทม. พยายามทำคันกั้นน้ำให้เสร็จภายในวันนี้ โดยเฉพาะที่บริเวณอนุสรณ์สถาน เพื่อไม่ให้น้ำเข้ามาในดอนเมือง ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราทำงานได้เร็วแค่ไหน

**ชี้สถานการณ์น้ำท่วมกทม.50-50

ผู้สื่อข่าวถามว่า ชุมชนฝั่นตรงข้ามดอนเมือง ปริมาณน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ ผอ.ศปภ. กล่าวว่า ก็สูงขึ้นเรื่อย เราก็ยอมรับ แต่เราก็ได้เตือนไปแล้ว โดยเฉพาะใครที่เป็นบ้านชั้นเดียว คงต้องอพยพ เราได้แจ้งไปแล้วว่าให้ไปที่จุดที่กำหนดไว้ ทั้งที่ จ.สระบุรี ชลบุรี ราชบุรี รวมถึงนครราชสีมา ได้เตรียมรองรับไว้แล้ว

เมื่อถามว่าให้ความมั่นใจได้หรือไม่ว่า พื้นที่กทม.จะรอดพ้นจากน้ำท่วมหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากจะถามว่ามั่นใจหรือไม่ ก็ต้องบอกตรงๆ ว่า เรายังไม่มั่นใจนัก เพราะน้ำมาแรงมาก ถ้าให้ระบุเป็นตัวเลขก็ 50:50 สำหรับกทม.ชั้นใน ก็คงได้รับผลกระทบบ้าง

**โกลาหล! ปิดรับเรื่องร้องเรียน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อน้ำเริ่มเคลื่อนตัวมายังบริเวณถนนหน้าท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศปภ. ทำให้เกิดความวุ่นวาย โกลาหลขึ้นทันที เนื่องจากบางหน่วยงานกังวลว่าน้ำจะทะลักเข้ามาในพื้นที่ของท่าอากาศยาน จึงเตรียมเก็บสิ่งของเพื่อขนย้ายไปยังจุดอื่น โดยที่จุดรับเรื่องร้องเรียน และขอรับความช่วยเหลือของประชาชน ของกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ที่อยู่ชั้น 2 อาคารภายในประเทศ เจ้าหน้าที่ได้ปิดรับเรื่องร้องเรียน โดยบอกกับประชาชนที่มาขอรับถุงยังชีพ และเรือว่า ขณะนี้ปิดรับเรื่องร้องเรียนชั่วคราว เนื่องจากต้องเคลียร์คน และสิ่งของบริจาคที่อยู่ชั้น 1 เพราะหากน้ำท่วม จะทำให้การขนย้ายสิ่งของลำบาก อาทิ ข้าวสาร อาหารแห้ง

นอกจากนี้ ถึงแม้จะรับเรื่องไว้ ก็ไม่รู้ว่าจะยื่นเรื่องต่อที่ใคร เนื่องจากแต่ละจุดปิดรับเรื่องแล้ว แต่จะเปิดรับเรื่องร้องเรียนใหม่หลังจากที่ทราบว่า จะย้ายไปจุดใด ซึ่งจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับประชาชนที่เดือดร้อนหลายราย และเดินทางกลับไปมือเปล่า ส่วนประชาชนที่นำรถมาจอดทิ้งไว้บริเวณโดยรอบพื้นที่ดอนเมือง โดยเฉพาะบริเวณชั้นล่าง ได้เริ่มทยอยกันนำรถออกไปจอดที่อื่น เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย

**แตกตื่นศปภ.ไฟฟ้าซ็อตควันโขมง

เมื่อเวลา 13.45 น. ที่ ศปภ. ท่าอากาศยานดอนเมือง ได้เกิดเหตุระทึกขวัญขึ้น เมื่อเครื่องทำกาแฟภายในศูนย์ประชาสัมพันธ์ ศปภ. ซึ่งอยู่ที่บริเวณชั้น 2 ของอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ได้เกิดไฟฟ้าช็อต ส่งผลให้เกิดควันโขมง สร้างความตื่นตกใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และสื่อมวลชลที่อยู่ในศูนย์ประชาสัมพันธ์ดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ได้ใช้ถังดับเพลิง ฉีดควบคุมไม่ให้ไฟลุกลาม โดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที จึงสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

** "ประชา"ย้ายผู้อพยพ แต่ไม่ย้ายศปภ.

ต่อมาเวลา 16.30 น. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. กล่าวว่า การอพยพผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งมาอยู่ที่ศูนย์พักพิง อาคาร 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง กำลังจะมีการทยอยเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยทั้งหมดไปยังศูนย์พักพิง ที่วิทยาลัยพลศึกษา จ.ชลบุรี ซึ่งได้เตรียมความพร้อมรองรับผู้อพยพอยู่แล้ว คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ชั่วโมง

เมื่อถามว่าถึงความจำเป็นการย้ายที่ทำการ ศปภ.ไปยังสถานที่อื่น พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวขอพิจารณาก่อน โดยต้องมีการหารือกับฝ่ายกองทัพ เพื่อความชัดเจนอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.ชลบุรี ได้เตรียมสถานที่รองรับผู้อพยพเพิ่มอีก 7 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชน จ.ชลบุรี ศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 2 มณฑลทหารบกที่ 14 ค่ายลูกเสือวชิราวุธ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และเทศบาลตำบลหนองไม้แดง รวมทั้งหมดสามารถรองรับผู้อพยพได้ 8,300 คน

ทั้งนี้ ศปภ.ยังได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อย้ายไปยังแฟลตเคหะเศรษฐกิจ จ.สมุทรสาคร ที่รองรับได้ 2,500 คน และบ้านเอื้ออาทร อ.พระประโทน จ.นครปฐม ที่รองรับได้ 1,100 คน รวมทั้งยังเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อกลับภูมิลำเนาในจังหวัดที่ไม่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในช่วงเย็น ระดับน้ำบนถนนวิภาวดี-รังสิต หน้าท่าอาศยานดอนเมือง มีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่ได้นำหินคลุกมาทำเป็นคันกั้นน้ำ สูงประมาณ 1 เมตร แต่ได้มีน้ำซึมเข้ามาตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อมีรถขนาดใหญ่วิ่งผ่านน้ำก็เป็นคลื่นและทะลักเข้ามาเป็นระลอก

**ย้ายหน่วยแพทย์ฉุกเฉินไปเขาใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดศูนย์บูรณาการประสานการปฏิบัติการ ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ตอบโต้ภัยพิบัติแห่งชาติ หรือศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินดอนเมือง 84 ซึ่งประจำการอยู่ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ทางเข้ากองทัพอากาศกองบินที่ 6 ได้มีการพิจารณาที่จะย้ายศูนย์ปฎิบัติการไปอยู่ที่เขาใหญ่ เนื่องจากหากน้ำท่วมสนามบิน จะส่งผลกระทบกับการจอดขึ้นลงของเฮลิคอร์ปเตอร์ที่ใช้ลำเลียงผู้ป่วย

**ดอนเมืองสั่งปิดรันเวย์ถึง 1 พ.ย.

นาวาอากาศเอกกันต์พัฒน์ มังคละศิริ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง กล่าวว่า ขณะนี้ท่าอากาศยานดอนเมืองได้ปิดทางวิ่งทั้งสองเส้นทางเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.เวลา 14.00 น.- วันที่ 1 พ.ย. เวลา 17.00 น. เนื่องจากมีปริมาณน้ำจำนวนมากได้ไหลเข้าสู่กทม.ทางด้านทิศเหนือ ทำให้กระทบต่อแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าของสนามบิน และมีผลต่อเครื่องช่วยในการเดินอากาศแบบทัศนวิสัย รวมถึงการที่น้ำท่วมทำให้ค่าแรงเสียดทานของทางวิ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนด อาจจะทำให้อากาศยานลื่นไถลออกนอกทางวิ่งได้

**ครม.ถกเครียดศปภ.ส่อพ่ายกระแสน้ำ

สำหรับการประชุมครม.เมื่อวานนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เน้นไปที่การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม อย่างเคร่งเครียด โดยนายอำพน กิติอำพน เลขาธิการครม. ได้กล่าวกับครม.ว่า ขณะนี้น้ำไหลเข้ามายังดอนเมืองเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบถึงขั้นที่จะประชุมกันไม่ได้ ดังนั้น ถ้าจะมีการเคลื่อนย้ายก็คงเป็นเฉพาะผู้ที่พักพิง ส่วนการดำเนินการแก้ไขปัญหา เราก็ยังต้องอยู่ที่นี่ต่อไป ซึ่งก็ไม่มีใครที่มีความเห็นเป็นอย่างอื่น

ขณะที่นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะวิปรัฐบาล ได้ขอหารือว่า จะมีการเปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อใช้เป็นเวทีในการช่วยกันแก้ปัญหาน้ำท่วมหรือไม่ เพราะจะได้อภิปรายกัน และประชาชนไจะได้ประโยชน์และรับรู้การดำเนินการของรัฐบาล เพราะวันที่ 2-3 พ.ย.นี้ ก็จะมีการประชุมสภา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ซึ่งนายกฯ ก็ระบุว่า พร้อมที่จะให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาวันไหนก็ได้ เพราะถือเป็นข้อดี ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ แม้เรามานั่งประชุมครม.กันอยู่ ก็ยังมีปัญหาน้ำจุดนั้น จุดนี้อยู่ตลอด มันไม่ใช่เรื่องการเมืองว่าเราจะตอบหรือไม่ตอบต่อสภา

อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐมนตรีท่านใดที่จะไปชี้แจง ก็ขอให้ความเห็นใจด้วยว่า รัฐมนตรีต้องอยู่ชี้แจงด้วย ซึ่งนายวิทยา บุรณศิริ ได้เสนอให้เจาะจงรายชื่อรัฐมนตรีที่จะไปตอบชี้แจงเลย ซึ่งนายกฯ ได้สรุปให้ นายฐานิสร์ เทียนทอง พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ไปช่วยกันตอบ และชี้แจง โดยเฉพาะฝากให้ ร.ต.อ.เฉลิม ช่วยตอบให้เคลียร์ไปเลย ส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ให้นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.คลัง เป็นผู้ตอบชี้แจง

** "ปลอด"ได้ทีถล่มกรมชลประทาน

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวชี้แจงต่อครม.ว่า ก่อนหน้านี้ ที่ได้แสดงความเห็นไปนั้น ไม่ได้เป็นการต่อว่าใคร แต่ถ้ามีใครไม่สบายใจ ก็ต้องขออภัยด้วย อย่างไรก็ตาม ตนต้องพูดความจริงว่าวันที่ 29 ต.ค. สถานการณ์จะรุนแรงมาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่วันที่ 29 ต.ค.เท่านั้น แต่จะต่อเนื่องถึง 31 ต.ค. ที่จะมีลมแรงขึ้นมาอีก เนื่องจากมีลมใต้และจะมีผลทำให้มีปริมาณน้ำสูงขึ้น 20-30% ซึ่งตนมั่นใจข้อมูลของตนและหากจะมอบให้ตนไปตอบในสภาด้วยก็ยินดี ที่ผ่านมา สิ่งที่ตนพูดไป ปัญหาส่วนหนึ่งก็หมายถึงว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานบางส่วนที่ไม่บริหารจัดการน้ำ

ทำให้นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า โดยจิตวิญญาณของกรมชลประทาน ไม่มีหรอก ที่ไม่อยากช่วยประชาชน ไม่มีหรอกที่จะไปทำให้น้ำเพิ่มขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีลมที่เปลี่ยนทิศจริง ทำให้น้ำหนุนสูงมากขึ้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากคือน้ำกระฉอก โดยที่ต้องจับตาไม่ใช่ แค่วันที่ 29 ต.ค. แต่ควรเป็นตั้งแต่วันที่ 29-31 ต.ค.เลย และการดูดน้ำอย่างเดียวอย่างไม่มีความรู้ อาจทำให้เป็นปัญหามีน้ำทะลักไหลกลับมาก็ได้ นายกฯ จึงได้ปรามว่า อย่าเพิ่งถกเถียงกัน และไม่ต้องเป็นห่วงเพราะตอนนี้ศปภ. ได้ตั้งตำรวจจราจร ขึ้นเป็นคณะกรรมการ ตรวจประตูระบายน้ำทุกแห่ง และให้รายงานมาทุกชม.เป็นลายลักษณ์อักษร และจะดีมากถ้ากรมชลประทาน จะได้รายงานเป็นลายลักษณ์อักษรมาให้ด้วย

** "ประชา"พูดเป็นนัยกทม.จมแน่

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ตอนนี้มีคำถามมาที่ตนและศปภ.กันมากว่า กทม.จะรอดหรือไม่

"พูดก็พูดนะ กทม.ก็อยู่ต่ำเหลือเกิน และอยู่ใต้น้ำด้วย ส่วนน้ำเหนือก็เข้ามาเยอะ วันนี้ยอมรับว่า เราก็คงจะทำให้ดีที่สุด"

เมื่อ พล.ต.อ.ประชากล่าวจบ ทำให้ครม.นิ่งเงียบไปชั่วขณะ ก่อนที่นายกฯ จะกล่าวแก้สถานการณ์ขึ้นว่า ถ้าเราประเมินเอาไว้ในทางที่เลวร้ายที่สุด ก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะเลวร้ายไปเสียทั้งหมด หากแผนการระบายน้ำที่เราวางไว้ มันเข้าเป้าบ้าง ก็คงจะไม่หนักมาก ไม่ใช่ว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จเสียเลย

**"ปู"รับสภาพป้องกันน้ำท่วมกทม.ยาก

เมื่อเวลา 20.45น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงการณ์ เตือนภัยสถานการณ์น้ำท่วม ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจว่า ขณะนี้มวลน้ำก้อนใหญ่ที่ไหลมาจากภาคกลาง จะผ่านกรุงเทพฯ เพื่อไหลลงสู่ทะเล จึงได้กำชับให้หน่วยงานของทุกกระทรวง กทม.และทุกเหล่าทัพ ช่วยระวังป้องกันเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อนที่สุด

นายกรัฐมนตรียอมรับว่า พลังของน้ำครั้งนี้มากเกินกว่าที่พนังกั้นน้ำ ประตูน้ำ หรือมาตรการต่างๆ ที่จะป้องกันไว้ได้ และมีโอกาสอย่างสูงยิ่งที่น้ำจะทะลักเข้ามาทั้งในเขตพื้นที่ชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ของกทม. โดยพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่สุด คือ แนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแนวพนังกั้นน้ำต่างๆ รวมถึงพื้นที่ที่อยู่นอกแนวริมน้ำ ส่วนระดับน้ำจะสูงเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถ ในการบริหารจัดการวิกฤตน้ำทะลักครั้งนี้ ให้ค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับบรรเทาความรุนแรง ตลอดจนขึ้นอยู่กับความสูงของพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท่วมสูงไม่เท่ากัน

ขณะนี้มีน้ำเหนือ ซึ่งผ่านจ.ปทุมธานี และนนทบุรี ได้ล้นเข้ามาที่บริเวณอ.บางกรวย จ.นนทบุรี และเขตบางพลัด กทม. และ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังป้องกันบริเวณคลองมหาสวัสดิ์ โดยเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายไปสู่อ่าวไทย นอกจากนั้นตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา รัฐบาลและกทม.จะดูแลแนวคันกั้นน้ำเพื่อให้สามารถทานแรงอันมหาศาลของน้ำให้ได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากน้ำมีปริมาณมากเกินกว่าศักยภาพของระบบจะรองรับได้ ดังนั้น พื้นที่ในเขตต่างๆ ทางฝั่งธนบุรี รวมทั้งจังหวัดปริมณฑล จะมีน้ำท่วมในพื้นที่ที่เป็นที่ลุ่มในระดับเฉลี่ยประมาณ 0.5 เมตร

**คาดระดับน้ำสูง50ซม.-1.50เมตร

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า มาตรการหนึ่งที่ได้พยายามกระทำเพื่อลดความกดดันของพลังน้ำ คือ การปิดประตูระบายน้ำปากคลองเปรมประชากร เพื่อให้พื้นที่ที่อยู่บริเวณตอนเหนือ โดยเฉพาะเขตดอนเมือง หลักสี่ สายไหม บางซื่อ บางเขน ถนนพหลโยธิน ไปจนถึงอนุสรณ์สถานดอนเมือง และถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อให้ได้รับผลกระทบที่ลดน้อยลง โดยจะเร่งระบายน้ำจากคลองรังสิตลงคลองหกวาสายล่าง เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะเข้าสู่พื้นที่กทม.ชั้นใน และไม่สร้างความเสียหายให้มากเกินไป ซึ่งถ้ามาตรการเหล่านี้เป็นไปตามแผน และไม่มีการเสียหายของแนวป้องกันต่างๆ ก็น่าจะควบคุมไม่ให้ระดับน้ำสูงเกิน 50 ซม.

ส่วนด้านตะวันออกของกทม. คือ บริเวณมีนบุรี หนองจอก ลาดพร้าว ซึ่งมีคลองระพีพัฒน์ คลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบ ก็จะมีทั้งมาตรการเร่งระบายน้ำไปทางตะวันออก เพื่อลงสู่ทะเลตามแนวคลองที่ขุดเอาไว้ อย่างไรก็ตาม พื้นที่เหล่านี้อยู่ในเขตหลากน้ำ ดังนั้น ระดับน้ำจะสูงกว่าบริเวณอื่นๆ โดยจะอยู่ในช่วงประมาณ 1 ถึง 1.5 เมตร

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เลวร้ายที่สุด หากเราไม่สามารถป้องกันแนวป้องกันจุดใดจุดหนึ่งหรือทั้ง 3 จุดดังกล่าวได้ หรือไม่สามารถชะลอพลังอันมหาศาลของน้ำได้ หรือมีปัจจัยอื่นที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น แนวเขื่อนพัง แนวคันกั้นน้ำพัง ระดับน้ำท่วมในพื้นที่กทม. ก็จะสูงต่ำแตกต่างกันไป ตั้งแต่ราว 10 ซม. จนถึงระดับประมาณ 1.50 ม. ผลก็คือจะต้องควบคุมให้น้ำเข้าในเขตกทม. เป็นจำนวนน้อยวันที่สุด

เพื่อความไม่ประมาท และมีการเตรียมตัว จึงขอให้ให้พี่น้องประชาชน เคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีค่าขึ้นในที่สูง อยู่ในระดับที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมขัง และได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเพื่อรักษาสถานที่สำคัญ เช่น พระบรมมหาราชวัง โรงพยาบาลศิริราช เขตพระราชฐานต่าง ๆ ระบบสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้า โรงประปา โรงพยาบาล ให้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้น้อยที่สุด

"วันนี้ดิฉันขอให้พวกเรามีสติ ไม่ตื่นตระหนกจนเกินการณ์ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ประมาทและตั้งมั่นอยู่ในความสงบ ตลอดจนติดตามรับฟังคำแนะนำของทางราชการเพื่อให้กระบวนการจัดการต่างๆ ของรัฐได้ทำหน้าที่ดูแลท่านอย่างดีที่สุด ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ กับทั้งความพร้อมเพรียงร่วมใจกันของพวกเราชาวไทย ดิฉันมั่นใจว่าเราจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน"

** รัฐบาลเปิดศูนย์อพยพเพิ่ม

นายวิม รุ่งวัฒนจินดา โฆษกศปภ. กล่าวถึงการหาศูนย์พักพิงผู้อพยพ และผู้ประสบอุทกภัยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังมองหาสถานที่เพิ่มเติม เช่น ที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ซึ่งรองรับคนได้ประมาณ 1 หมื่นคน และยังมีศาลากลางจังหวัดในพื้นที่รอบนอกกทม เช่น จ.ราชบุรี ค่ายทหารม้าอดิศร จ.สระบุรี ก็รับได้หลายพันคน รวมถึง ม.บูรพา จ.ชลบุรี

"ก่อนหน้านี้มีแนวความคิดจากคนในศปภ. จะเปิดโรงแรมในพื้นที่ จ.ชลบุรี ให้ประชาชนที่เดือดร้อนไปพักอาศัย แต่ก็มีคนคัดค้านว่าทางโรงแรมในพื้นที่ คงไม่ยินยอม เพราะจะมีค่าใช้จ่ายเยอะและจะกระทบกับกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมถึงเรื่องสาธารณูปโภค ส่วนในกทม. นอกจากที่เราใช้ล่าสุด คือ ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งอพยพคนจากศูนย์ธรรมศาสตร์รังสิต ล่าสุดก็กำลังติดต่อขอใช้พื้นที่สนาม ศุภชลาศัยเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง" นายวิมกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโบนันซ่า เขาใหญ่นั้น เป็นที่รู้กันดีว่าเจ้าของ คือ นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ ที่ปรึกษารมว.มหาดไทย

ด้านนางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรตี แถลงว่า ในที่ประชุมครม. ได้มีการหารือในเรื่องนี้ โดยจะใช้พื้นที่อุทยานที่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร เช่น อุทยานเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีบ้านพักรองรับได้จำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ก็แจ้งว่ามีพื้นที่วัดไร่ขิง รองรับได้ 1 พันคน รวมถึงคนต่างชาติก็สามารถเข้าไปพักพิงได้

**ศปภ.ร้อนตัวแจงส.ส.ฮุบของบริจาค

นายวิมยังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ศปภ.กระจายของบริจาคให้แต่คนเสื้อแดง ว่า เรื่องนี้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นคนกำกับดูแล แต่ในเบื้องต้นอาจมี ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงมาช่วยบริหารจัดการ แต่หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ของบริจาคมีจำนวนมาก จึงให้ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาดูแลแทน ซึ่งเป็นข้าราชการคอยควบคุม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าของบริจาคทุกชิ้นหากไม่หมดอายุ หรือเสื่อมคุณภาพ จะถึงมือประชาชนอย่างแน่นอน โดยขั้นตอนการเบิกจ่ายต่างๆ จะต้องเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

สำหรับขั้นตอนการเบิกจ่ายนั้น กลุ่มอาสา มูลนิธิต่างๆ ที่อาสาจะนำไปแจกจ่ายในพื้นที่ จะต้องเข้ามาติดต่อกับ ศปภ. ว่าจะให้นำไปแจกจ่ายในพื้นที่ใด จากนั้นศปภ.จะต้องตรวจสอบสิ่งของ และพื้นที่ว่าถูกต้องหรือไม่ เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกัน นอกจากนี้ ในกรณีที่มีรถบรรทุกของส.ส.ที่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดงมาขนของนั้น ขอชี้แจงว่ารถบรรทุกดังกล่าวมีทั้งหมด 20 คัน และเป็นสิ่งของที่กลุ่มคนเสื้อแดงรับบริจาคมาเอง เพียงแต่มาติดต่อกับศปภ. เพื่อสอบถามว่าจะให้ลงไปแจกจ่ายในพื้นที่ใด สำหรับส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่มีการนำรถบรรทุกมาขนของ และมีการติดป้ายชื่อตัวเอง เหมือนการหาเสียงนั้น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ. คงจะเรียกมาตักเตือน

**ไล่"เก่ง การุณ"ไม่ให้ดูแลของบริจาค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเกิดปัญหาเรื่องการดูแลสิ่งของบริจาคภายในศปภ. ที่มีนักการเมืองพรรคเพื่อไทย คือ นายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. เขตดอนเมือง เข้าไปดูแลสิ่งของบริจาคในศปภ.โดยส่งคนของตัวเองมาดูแลทั้งหมด จนมีการร้องเรียนว่า การแจกจ่ายของไม่ทั่วถึง มีการเลือกปฏิบัตินั้น ล่าสุดศปภ.ได้ให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี มาดูแลเรื่องนี้เต็มตัวแล้ว

** กองทัพดูแลวัง-ร.พ.ศิริราชเป็นพิเศษ

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม เชิญ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฎิมาประกร ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. เข้าร่วมหารือในรายละเอียดของการทำงานในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยระบุว่า ตนจะรับผิดชอบในการดูแลพื้นที่บริเวณพระบรมมหาราชวัง ร.พ.ศิริราช และพระตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ และที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ พระตำหนักจักรีบงกช นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้กองทัพบก ดูแลในพื้นที่ที่น้ำทะลักเข้ามา เช่น เขตตลิ่งชัน บางชัน ศาลายา เป็นต้นด้วย

**กปน.เร่งแก้ไขน้ำประปามี“สี-กลิ่น”

นายเจริญ ภัสสระ ผู้ว่าการประปานครหลวง (กปน.) แถลงที่ศปภ.ว่า ขอให้ความมั่นใจ การให้บริการน้ำประปากับประชาชน หลังจากที่เกิดอุทกภัยน้ำเหนือไหลบ่าลงมาเข้าคลองประปา ทางกปน.ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการผลิตน้ำประปาตามขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น และดูแลเป็นพิเศษ จนขณะนี้สามารถให้บริการน้ำประปาแก่ประชาชน อยู่ในมาตรฐาน และมีความปลอดภัยต่อการใช้อุปโภค บริโภค ทั้งนี้ คุณภาพทางเคมี กปน.ได้ตรวจสอบโลหะหนัก และสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย รวมทั้งแบคทีเรียชีวะวิทยา ที่จะทำให้เป็นโรคอหิวาต์ หรือโรคบิด โดยการตรวจสอบผ่านเกณฑ์มาตราฐาน

สำหรับปัญหาในเรื่องของสี และกลิ่น ได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว ส่วนปัญหากลิ่นคลอรีนที่ค่อนข้างรุนแรงนั้น เนื่องจากการประปา จะต้องเพิ่มปริมาณคลอรีนในจำนวนที่มากขึ้น จากน้ำดิบด้อยคุณภาพลง โดยวิธีการแก้ไข ประชาชนสามารถรองน้ำประปาทิ้งไว้ 1 คืน จะทำให้กลิ่นคลอรีนระเหยไป โดยยืนยันว่า น้ำประปาของกปน. ยังมีคุณภาพสามารถดื่มได้ แต่หากประชาชนไม่มั่นใจ ก็สามารถนำน้ำไปต้มหรือกรองด้วยสารส้ม หรือด่างทับทิมก่อนดื่มได้

ทางด้านการป้องกันน้ำท่วมโรงงานผลิตนั้น มีการป้องกันด้วยการเสริมคันป้องกันที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 4 เมตร พร้อมทั้งเตรียมป้องกันปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง โดยมีการประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เพื่อร่วมกันแก้ไข อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาไฟฟ้าขัดข้องจริง คาดว่าจะใช้เวลาแก้ไขไม่เกิน 10 ชั่วโมง ประชาชนจึงไม่จำเป็นต้องสำรองน้ำไว้จำนวนมาก เพราะน้ำจะหยุดไหลไม่เกิน 10 ชั่วโมงเท่านั้น

**ระทึก!ปลายเดือนน้ำหนุนสูงกว่าคั้นกั้น

วานนี้ (25 ต.ค.) เวลา11.00 น. ที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม กรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. แถลงภายหลังประชุมร่วมกับรองผู้ว่าราชการ กทม. ปลัดและรองปลัด กทม. รองปลัดกระทวงมหาไทย ตัวแทนจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และตัวแทนจากเขตพื้นที่เสี่ยง ว่าสถานการณ์น้ำทั่วไปเป็นที่น่าเป็นห่วง โดยที่เป็นห่วงมากที่สุด คือ ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลหนุนสูงมาก 0.98 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงถึง 2.30 ม.รทก. โดยวานนี้ น้ำหนุนสูงถึง 1.05 ม.รทก. รวมกับระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบวก 1.30 เป็น 2.35-2.40 ซึ่งสูงสุดเท่าที่เคยมีมา โดยในช่วงปลายเดือนนี้น้ำทะเลจะหนุนสูง และมีความเป็นไปได้ว่าระดับน้ำจะสูงถึง 2.60 ม.รทก. แต่ระดับคันกั้นน้ำของ กทม. สูง 2.50 ม.รทก.

**เตือนประชาชนริ่มฝั่งเจ้าพระยาย้ายของ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า กทม.ขอประกาศเตือนประชาชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น คลองบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ผดุงกรุงเกษม เป็นต้น ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ นำของมีค่าขึ้นที่สูง ย้ายปลั๊กไฟ สำหรับประชาชนที่อยู่หลังแนวคันกั้นน้ำคงจะท่วมในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูง หากจำเป็นก็ให้เคลื่อนย้ายไปศูนย์พังพิงของ กทม. และได้กำชับให้สำนักงานเขตทั้ง 13 เขตให้ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ กทม.ไม่สามารถเสริมแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาได้ทันเวลาทั้ง 80 กิโลเมตร เนื่องจากจะต้องใช้กระสอบทรายนับ 10 ล้านใบ แต่กทม.จะต้องเน้นป้องกันสถานที่สำคัญ อย่างโรงพยาบาลศิริราช และพระบรมมหาราชวัง และเขตพระราชฐาน โดยจะดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำในด้านอื่นๆ

“จากที่เคยติดต่อประสานงานไปยังสำนักงานเขตพระราชฐาน เรื่องกรณีการป้องกันน้ำท่วม ทางสำนักงานฯ ได้ตอบกลับมาแล้ว และระบุว่าในส่วนพระราชฐานอื่นๆ ยังไม่ต้องให้ทำคันกั้นน้ำ เนื่องจากเข้าใจดีว่าเป็นภัยธรรมชาติ ยกเว้นประตูทางเสด็จในพระราชวังสวนจิตรลดา จะทำเนินคันกั้นน้ำสูงขึ้นมาเล็กน้อยเพื่อไม่ให้น้ำหลากเข้า”ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น