xs
xsm
sm
md
lg

ทะลักวิภาวดี คลอง2แตกหนีตายอลหม่าน สุขุมพันธ์ผวาน้ำเหนือบุกกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ผู้ว่ากทม.ส่งสัญญาณน้ำเหนือบุกกรุง คลองประปาทะลัก “วิภาวดี-พหลโยธิน” เมืองทองท่วม ถ.สรงประภาวิกฤตอพยพแล้ว คลอง 2 ก็แตก "ปู" ตามปัญหา ใช้ พ.ร.บ. สั่ง กทม. เปิด 14 ประตูระบายน้ำเขตธนบุรี เจ๊หน่อยแนะปล่อยน้ำเข้าคลอง กทม.ชั้นใน ผบ.ทบ.ฮึ่มไม่มีใครโง่ยึดอำนาจตอนนี้

วานนี้ (21 ต.ค.) ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 31 ออกหนังสือ ลงนาม โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยฉบับแรก สั่งให้กรุงเทพมหานคร เปิดประตูระบายน้ำ 14 แห่ง โดยให้ควบคุมการระบายน้ำอยู่ในความเหมาะสม และไม่ให้กระทบต่อประชาชน

จากนั้น ได้อ่านฉบับที่ 2 ค่ำสั่งนายกรัฐนตรี สั่งให้กรมชลประทาน ดำเนินการต่อไปนี้

1. เปิดประตูระบายน้ำจากคลอง 1 ถึง คลอง 13 เพื่อให้ระบายน้ำลงสู่ทุ่งรังสิตตอนเหนือ2. เปิดประตูระบายน้ำคลอง 6 ถึง คลอง 16 ฝั่งใต้ เพื่อระบายน้ำจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ลงสู่คลองหกวาสายล่างและคลองแสนแสบ3. เร่งสูบ และ หรือ ผลักดันน้ำในคลองรังสิตประยูรศักดิ์ และคลองหกวาล่าง คลองยี่สิบ คลองยี่สิบเอ็ด คลองบางขนาด ลงสู่แม่น้ำนครนายก และแม่น้ำบางปะกง4. เร่งสูบ หรือผลักดันน้ำในคลองสิบสาม และคลองต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่หลากน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ชายฝั่งทะเล5.ให้รายงานผลการดำเนินการให้นายกรัฐมนตรี และศปภ.ทราบทุกวัน ทั้งนี้ ในกรณีฉุกเฉินให้เพิ่มความถี่ในการรายงานเป็นทุก 2 ชั่วโมง 6. สามารถพิจารณาเพิ่มเติมตามความเหมาะสม และจำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และให้การระบายน้ำเกิดผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ให้ดำเนินการตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2554

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมตลอดทั้งวัน ที่เขตพื้นที่ดอนเมือง ระดับน้ำบริเวณชุมชนเลียบคลองประปา ตั้งแต่เมืองทองธานี 1 ซอยแจ้งวัฒนะ 14 ได้ถูกน้ำท่วมเพิ่มระดับสูงขึ้น ขณะที่ ถ.วัดเมฬุวนาราม (วัดไผ่เขียว) น้ำท่วมขังค่อนข้างสูง บริเวณหมู่บ้านบูรพาซึ่งเป็นหมู่บ้านชั้นเดียว บางจุดน้ำท่วมสูงถึงระดับเอว

ทั้งนี้ น้ำท่วมเอ่อจากคลองประปาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ถนนแจ้งวัฒนะตั้งแต่แยกคลองประปาจนถึงหน้าศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ มีน้ำท่วมสูงกว่า 20 ซม. กระแสน้ำที่ค่อนข้างไหลเร็วและแรงและได้ไหลท่วมเข้าบ้านเรือนทั้งสองฝั่งที่อยู่บริเวณคลองประปาบนถนนนาวงประชาพัฒนา ย่านดอนเมือง โดยระดับน้ำสูงประมาณ 40 ซม.รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้แล้ว

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่าเย็นวานนี้ (21 ต.ค.) ได้เริ่มมีน้ำเอ่อเข้าท่วมภายในเมืองทองธานี ถ.แจ้งวัฒนะแล้ว ทางเจ้าหน้าที่เมืองทองธานีได้ใช้วิธีป้องกัน โดยการใช้ดินสร้างเป็นคันกั้นน้ำตลอดแนว ที่มีช่วงอาณาเขตติดต่อกับคูคลอง และได้ปิดกันช่องการจราจร ไม่ให้รถทุกชนิดวิ่งผ่าน ตั้งแต่แยกไฟแดง (แยกเดาใจ) ถึงสนามเทนนิส เป็นระยะทาง 200 เมตรและทางเมืองทองธานี ได้ใช้เครื่องสูบน้ำ จำนวน 4 เครื่อง สูบน้ำออกลงคลองบางพูด และได้จัดเจ้าหน้าที่ ดูแลเครื่องสูบน้ำและดูระดับน้ำ ตลอด 24 ชั่วโมง

***ถ.สรงประภาทะลักจากคลองประปา

นายภูมิพัฒน์ ดำรงเกียรติศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง เปิดเผยว่า ขณะนี้ระดับน้ำในคลองประปาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ผ่านแนวคันกั้นน้ำเข้าท่วมถนนสรงประภาระยะทางประมาณ 500 เมตร โดยระดับน้ำสูงได้ 20 ซ.ม. อย่างไรก็ตามได้ประสานไปยังสำนักระบายน้ำเพื่อสูบน้ำออกลงสู่คลองเปรมประชากรแล้ว

"หากการประปานครหลวง (กปน.) ยังไม่สามารถบริหารจัดการน้ำในคลองได้ จะส่งผลให้น้ำทะลักเข้าพื้นที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ ตัวแปรหลักตอนนี้อยู่ที่การประปานครหลวงเขตทำได้เพียงเสริมกระสอบทรายและเฝ้าระวัง"นายภูมิพัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อื่นๆ ในเขตดอนเมืองที่ได้รับผลกระทบแล้ว อาทิ ย่านสีกัน เวฬุวนาราม นาวงศ์ แต่ระดับน้ำยังไม่สูง ขณะที่บรรยากาศในเขตดอนเมือง ชาวบ้านเริ่มไม่มั่นใจกับสถานการณ์ โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าพื้นที่ดอนเมืองจะถูกน้ำท่วมใหญ่แน่ เป็นเหตุให้ชาวบ้านบางส่วนเก็บข้าวของและทยอยอพยพออกจากที่พัก

**ทะลักท่วมค่ายทหาร ถ.แจ้งวัฒนะ

ระดับน้ำในคลองประปา ถ.แจ้งวัฒนะ ได้เอ่อท่วมพื้นที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ ถ.แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่เมื่อกลางดึกวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยเนื้อที่รวม 120 ไร่ ของค่ายทหารแห่งนี้ มีระดับน้ำท่วมเต็มพื้นที่ และบางจุดสูงกว่า 1 เมตรแล้ว รวมถึงท่วมฝั่งโลตัส ถ.แจ้งวัฒนะ โดยทั้งสองฝั่งความสูงเลยริมฟุตปาธเป็นระยะทางร่วม 500 เมตร

**ประตูน้ำจุฬา ฯอพยพหนีโกลาหล

ที่ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ระดับน้ำใต้ประตูฝั่งคลองรังสิตมีระดับสูงขึ้นเป็นผลจากน้ำที่ผ่านแนวคันกั้นน้ำเทศบาลนครรังสิต ทะลักเข้าตลาดไหลลงคลองรังสิต การสัญจรเข้าประตูน้ำเป็นไปอย่างลำบาก ขณะที่ประชาชนเริ่มทยอยขนของและอพยพออกนอกพื้นที่แล้ว เนื่องจากทางเทศบาลนครรังสิต ไม่สามารถกั้นน้ำที่ไหลเข้ามาได้ ทำให้เกิดความโกลาหลในการอพยพ ทั้งนี้ ระดับน้ำเหนือประตู ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น เป็น 3.82 เมตร

**ปิดพหลโยธินปิดประตูสู่อีสาน

ขณะที่ถนนพหลโยธิน ที่จะมุ่งหน้าไปสายเหนือและอีสาน ก่อนขึ้นสะพานข้างคลองรังสิต เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำแผงเหล็กมาวางกั้นเพื่อปิดเส้นทางไม่ให้รถเล็กผ่าน เนื่องจากระดับน้ำทั้งในช่องทางสวนและทางขนานมีปริมาณสูง ทั้งนี้ บนสะพานข้ามคลองรังสิต รวมไปถึงทางขึ้นโทลล์เวย์ ประชาชนได้นำรถยนต์มาจอดหนีน้ำเป็นจำนวนมาก

ที่ตลาดสี่มุมเมือง มีการระดมกำลังเร่งเสริมคันกั้นด้านหน้าตลาดอย่างเต็มที่ เนื่องจากเกรงว่าน้ำจะทะลักเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว

บริเวณชุมชนตลาดรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ประชาชนส่วนใหญ่พากันอพยพขนย้ายสิ่งของ พร้อมทั้งสัตว์เลี้ยง ออกจากพื้นที่ เนื่องจากระดับน้ำมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์น้ำท่วมที่ชุมชนคลอง 2 ลำลูกกา รังสิต เขตเทศบาลลำสามแก้ว และเทศบาลคูคต เกิดความชุลมุนวุ่นวายของชาวบ้านที่เร่งขนข้าวของหนีน้ำอย่างอลหม่านน้ำเอ่อท่วมหมู่บ้านต่างๆอาทิ หมู่บ้านบุศรินทร์ ชัยพฤกษ์ ชุมชนฟ้าคราม บัณฑิตอินเตอร์ทาวน์ และหมู่บ้านร่มเย็น โดยด้านหน้าหมู่บ้านบุศรินทร์ และชัยพฤกษ์ ในเวลาเพียง 2 ช.ม. ถนนลำลูกกา 11 บริเวณดังกล่าว รถติดขัดหนัก

**น้ำทะลักเอไอที จ่อมธ.รังสิต

เวลา 19.00 น.นายกำพล รุจิวิชชญ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เปิดเผยว่า ขณะนี้เขื่อนดินกั้นน้ำด้านหลังสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ได้พังลงทั้งหมดแล้ว ทำให้น้ำไหลเข้าเอไอทีอย่างต่อเนื่อง และอาจท่วมลงมายัง ถ.พหลโยธิน และท่วมไปถึงฝั่งที่ติดกับประตูโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จึงสั่งการให้เร่งเพิ่มคันดินให้สูงขึ้นในระดับ 50-60 เซนติเมตร ทั้ง 2 จุด เพิ่มจากเดิมที่อยู่ในระดับ 2 เมตร เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับคันดินมากขึ้น และจะนำผ้าพลาสติกปูทับอีกชั้นหนึ่งเพื่อความมั่นคงของฐานคันกั้นน้ำ

**บางบัวทองบ่าเข้าท่วมบางใหญ่

อีกฝั่งตะวันตกที่ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ยังมีประชาชนที่ติดอยู่ภายในพื้นที่อีกจำนวนมาก แม้กำลังทหารจากกองทัพบกจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือเพื่ออพยพตลอดทั้งวันทั้งคืน ขณะที่น้ำจากบางบัวทองไหลบ่าเข้าท่วมบางบัวใหญ่แล้ว ส่งผลให้ถนนสายตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ไม่สามารถสัญจรได้ โดยเฉพาะฝั่งขาเข้าที่ขณะนี้น้ำท่วมสูงกว่า 80 เซนติเมตร ขณะที่ฝั่งขาออกบริเวณหน้าตลาดบางใหญ่ น้ำท่วมสูงเกือบ 50 เซนติเมตร แต่หากเข้าไปถึงบริเวณหมู่บ้านบางบัวทอง และวัดลาดปลาดุก ระดับน้ำท่วมสูงถึง 80 เซนติเมตร

บริเวณหน้าตลาดบางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ค่อนข้างจะชุลมุน โดยเฉพาะรถที่อพยพประชาชนผ่านถนนกาญจนาภิเษก ขาเข้า ขณะที่รถโดยสารประจำทาง ขสมก. สาย 516 สาย 134 หยุดให้บริการ ต่อมาช่วงสาย บนถนนกาญจนาภิเษกก หน้าบิ๊กซี รถเล็กไม่สามารถผ่านได้แล้ว เนื่องจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

ขณะที่มวลน้ำ จากอ.บางบัวทอง ที่เข้าถึง อ.บางใหญ่ และถนนกาญจนาภิเษก ได้เอ่อถึงเส้นทางสายบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ซึ่งระดับน้ำท่วมสูงจนรถไม่สามารถผ่านได้ อีกทั้งมวลน้ำบางส่วนยังไหลเข้าท่วมถนนพุทธมณฑลด้วย

ล่าสุด ทางเจ้าหน้าที่ได้สั่งปิดถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรี ตั้งแต่สามแยกบางใหญ่ เนื่องจากน้ำท่วมผิวการจราจรไม่สามารถสัญจรไปมาได้ โดยผู้ที่จะเดินทางไปทางสุพรรณบุรีให้ใช้เส้นทางกำแพงแสน-นครปฐมแทน

ส่วนที่นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี มีพนักงานสวนอุตสาหกรรมบางกระดีอพยพออกมาจำนวนมาก เนื่องจากปริมาณน้ำสูงมิดหัวแล้ว และคาดว่าระดับน้ำภายในนิคมฯ ขณะนี้สูงเกิน 3 เมตรอย่างแน่นอน

**ศปภ.ตั้งแนวกระสอบทราย

เวลา 18.20น.ภายในท่าอากาศยานดอนเมือง ศปภ.ได้ออกประกาศเสียงตามสายใจความว่า “ตอนนี้ได้เสริมแนวกระสอบให้สูงขึ้นอาจทำให้การจรจรติดขัด”

ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว อาคาร 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง ขณะนี้มีผู้ประสบอุทกภัยเข้ามาพักพิงแล้วเกือบ 1,600 คน ส่วนใหญ่อพยพจาก นวนคร บางบัวทอง และเขตคลองประปา

**ทะลักวิภาวดีส่งสัญญาณน้ำเหนือบุกกรุง

เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม กรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชกากรุงเทพมหานคร(กทม.) แถลงว่า สถานการณ์ทั่วไปยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยกทม.ได้เปิดประตูระบายน้ำกว้างกว่าปกติ โดยที่คลอง 2 กว้างกว่า 1.10 เมตร ขณะที่คลองทวีวัฒนาเปิด 1 เมตร อย่างไรก็ตามตนได้พิจารณาให้เปิดประตูกว้างขึ้นในพื้นทื่ที่สามารถเปิดกว้างได้ ยืนยันว่าได้ร่วมมือเต็มที่กับรัฐบาล ทั้งนี้ประตูระบายน้ำที่ยังไม่ได้เปิด ไม่ได้เป็นของกทม.หากแต่เป็นของกรมชลประทาน ที่ยังไม่ได้เปิดประตูระบายน้ำฝั่งตะวันออก

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ที่ห่วงมากที่สุดคือคลองประปา ที่ระดับน้ำยังไม่ลด มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น และพบว่า น้ำไม่ซึมจากแนวคันกั้นน้ำคอนกรีต (แบริเออร์) แต่เป็นการเอ่อล้นไหลเข้าเขตหลักสี่และดอนเมือง ขณะที่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบและต้องการถุงทรายเป็นจำนวนมาก แต่ทางกทม.มีข้อจำกัด เนื่องจากได้นำไปสร้างแนวคันกั้นน้ำที่สายไหม

“เราได้ประสาน ศปภ.แล้ว เพื่อขอให้ลดระดับน้ำในคลองประปาและขอให้เร่งซ่อมแบริเออร์ ซึ่งจะมีผลอย่างมากถ้าไม่ดำเนินการทันที เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้ทั้งแบริเออร์และประชาชนโดยรอบ และที่ห่วงมากตอนนี้คือปริมาณน้ำในคลองประปาได้ล้นเข้าสู่คลองเปรมประชากร จะทำให้ถนนวิภาวดีได้รับผลกระทบทันที ถ้าท่วมถนนวิภาวดีได้จะเกิดปัญหา เพราะเป็นใจกลางเมือง ด้วยเหตุนี้จึงได้ประสาน ศปภ.เพื่อลดระดับน้ำในคลองประปา เพื่อให้น้ำในคลองเปรมอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งประชาชนเขตหลักสี่และดอนเมืองก็จะเดือดร้อนน้อยลง” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวอีกว่า ยืนยันว่ายังเป็นห่วงในจุดเสี่ยง 3 จุด ซึ่งที่ถนนพหลโยธินตัดคลองรังสิต กทม.ยังเป็นผู้ดูแล เพราะยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาเสริมคันกั้นน้ำ ขณะที่คันกั้นน้ำที่คลองหกวา ระยะทาง 6 กิโลเมตร ซึ่งได้มีการเพิ่มกระสอบทรายกว้าง 3 แถว สูง 3 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง คาดว่าจะเสร็จวันนี้ อาจมีความล่าช้าบ้างเพราะเมื่อคืนนี้เกิดจราจรติดขัด เนื่องจากมีประชาชนเดินทางมาเป็นจำนวนมาก

**สัญญาณเตือนเข้าระบบคลองแล้ว

เมื่อเวลา 16.15 ที่ ร.ร.ฤทธิยะวรรณาลัย 2 สายไหม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แถลงอีกว่า ขณะนี้มีสัญญาณเตือนมาแล้วมีหลายสิ่งที่บ่งชี้ว่าน้ำทุ่งเริ่มมาถึง โดยที่ประตูระบายน้ำที่คลอง 2 ขณะนี้ เปิดการระบายน้ำ 1.20 ม. ขณะที่ระดับที่รอบนอกประตูระบายน้ำอยู่ที่ 2.09 ม. และเวลานี้ถึงแม้ว่าเราจะเปิดประตูระบายน้ำที่คลอง 2 จาก 1.20 ม.เป็น 1.30 ม.ระดับน้ำก็ไม่ได้ลดลง โดยระดับน้ำนอกประตูระบายน้ำกลับเพิ่มเป็น2.23ม.จาก2.09ม. ขึ้นมาอีก 4 ซม. คาดว่า เป็นสัญญาณเตือนว่า น้ำเหนือเริ่มมาสู่ระบบคลองแล้ว

ขณะที่คลองรังสิตระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 15ซม. ทำให้คันกั้นน้ำที่กทม.สร้างไว้ไม่สามารถรับได้น้ำจึงเริ่มเข้ามาเต็มท้องถนนแล้ว ดังนั้น แม้เราจะประสานศปภ.แต่ก็ไม่มีปฏิบัติการใดๆ ในพื้นที่ตรงจุดนี้ จากศปภ.ดังนั้น กทม.จะระดมคน ทราย กระสอบบรรจุทรายเพื่อเสริมคันกั้นน้ำ บริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตามจะประสานศปภ.เพื่อขอให้มาดูแลเพราะหากน้ำตรงจุดนี้หลุดไปก็จะผ่าน ถนนวิภาวดีรังสิต เข้าอนุสรณ์สถานและเข้าดอนเมือง ถ้าเป็นเช่นนั้นจะเป็นปัญหาอย่างหนักเพราะเวลานี้มีน้ำทะลักเข้าสู่คลองประปา ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่แบริเออร์บางส่วนของคลองประปาก็ยังไม่ได้รับการดูแลซ่อมแซมจากรัฐบาลซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ดอนเมืองเดือนร้อนเป็นจำนวนมาก

**ผู้ว่าฯกทม.กังวล4 จุดสุดเครียด

เวลา19.30น. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แถลงกังวลใน 4 จุดประกอบด้วย 1. บริเวณถนนพหลโยธิน ตัดคลองรังสิต เนื่องจากมิได้มีหน่วยงานใดเข้าไป ดูแลติดตามสถานการณ์ ทำให้มีน้ำเอ่อเข้าท่วมถนนจนถึงหน้าเซียร์รังสิตแล้ว ทั้งนี้ได้มีการประสานไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอบุคลกรเข้าไปเสริมจำนวน 1,000 นายมาเสริมคันกั้นน้ำในจุดนี้

2.คลองสอง และคลองหกวา ขณะนี้น้ำยังทรงตัวตั้งแต่ช่วงบ่ายแต่ห่วงอัตราการเพิ่มของระดับน้ำ ที่ขณะนี้มีอัตราการเพิ่ม 12 เซนติเมตรต่อ1วัน
3.คลองมหาสวัสดิ์ ฝั่งกรุงเทพตะวันตก ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 2 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งหากเพิ่มสูงถึง2.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางจะมีปัญหาทำให้น้ำตีกลับโอบกทม.ฝั่งตะวันตกได้
4.ชาวดอนเมืองเกือบ 1,500 คน ที่ต้องอพยพไปอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวในโรงเรียนสังกัด กทม.ทั้ง 6 แห่ง รวม 1,492 คน แต่รับได้จำนวนจำกัดซึ่งส่งผลให้ศูนย์พักพิงดังกล่าวคับแคบ

“ผมไม่กังวลกับกฎหมายที่ศปภ.นำมาใช้ ผมก็ทำงานต่อไป และมีอำนาจมากกว่าเดิม สามารถสั่งการหน่วยงานต่างๆ ได้ เพราะผมทำหน้าที่ไปตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2528 ฉะนั้นความรับผิดชอบของผลคือความรับผิดชอบของ กทม. ซึ่งวันนี้ทางนายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดมหาดไทย ซึ่งจะมาเป็นหน่วยล่วงหน้าของศปภ.ที่ศาลาว่าการกทม. ได้พูดคุยหารือกันเรียบร้อยแล้ว”

**หน่อยแนะปล่อยน้ำเข้าคลองกทม.ชั้นใน

คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตรมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะ ที่ปรึกษาพล.ต.อ.ประชา พรหมนอกผอ.ศปภ. กล่าวขอเรียนว่าปริมาณน้ำที่จ่อ กทม.ในตอนนี้ คือ 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมากกว่าเขื่อน ภูมิพลถึง 2,000 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร หาก ศปภ.ไม่มีแผนในการป้องกันที่ดี ปริมาณน้ำจำนวนนี้จะเข้าท่วม กทม.ตั้งแต่ 14-15 ต.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ส่วนมวลน้ำดังกล่าวจำนวนใน 2 ใน 3 จะไหลไปทางตะวันออกของกทม.นั้นเป็นการไหลตามธรรมชาติแบบโบราณ ศปภ. มั่นใจเพราะนายกฯมีแผน รัดกุมรอบคอบ นอกจากนี้มีเขื่อน 3 แห่งเป็นขั้นบันไดเฉลี่ยน้ำ เริ่ม จากคลองระพีพัฒน์ คลองรังสิต และคลองหกวา ศปภ. มาจัดการบริหารให้น้ำไหลไปทางตะวันออกให้เหมาะสมตามาเวลา

“ สมมุติ ว่าหากซวยจริงๆคันกั้นน้ำที่คลองระพีพัฒน์พัง แต่จะเหลือ เวลา 2 วันที่น้ำจะไหลเข้า กทม. ส่วนปริมาณน้ำที่ท่วมตอนนี้ใน กทม. คือน้ำจากคลองประปาเหตุผลมาจากแต่เดิมนั้น เพราะน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีเยอะ ไหล 35000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อสองวันที่ผ่านมา นายกฯ ไปดูเหตุการณ์นี้ และเมื่อเช้ามืดประตูระบายน้ำสามเสนชำรุด ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าคลองประปา นายกก็แก้ปัญหาโดยเร็วคือยกประตูบานนั้นออกแล้วซ่อมแซม ตรงนี้คือเหตุผลในการใช้ พรบ.”คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

ส่วนน้ำอีก 1ใน 3 จะไหลออกทางทิศตะวันตก คือน้ำจาก อยุธยาไหลเข้า ปทุมธานี ออกไปที่ นนทบุรี และสุดท้ายที่ฝั่งธนบุรี พื้นที่แถวนี้ไม่มีเขื่อนกั้นน้ำ และมีคลองใหญ่ 3 คลอง จึงท่วม เพราะเป็นพื้นที่ต่ำ แต่ตอนนี้นายกฯเร่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ สู่ทะเล ตนในฐานะคนนอก เท่าที่ได้รับรู้แผนของนายกฯและศปภ. ยืนยันว่านายกแก้สถานการณ์ได้เร็วและรอบคอบ คิดว่าน้ำที่ท่วมในกรุงเทพฯจะไม่ขยายวงกว้างออกไป โดยในขณะนี้ จะมีคำสั่ง เร่งสูบน้ำออกใน 1-2 วันนี้

**ปูพลิกแพลงใช้พ.ร.บ.ให้ทุกหน่วยขึ้นตรง

ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.กระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปภ. นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม พร้อมด้วยผู้นำเหล่าทัพ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา ผบ.ทบ. พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รักษาการ ผบ.ตร. และพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ปรึกษา สบ.10 เข้าร่วมการประชุม

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า กรณีคลองประปาจะให้ผู้ว่าการประปานครหลวง (กปน.) เป็นผู้ชี้แจงว่าจะมีการป้องกันอย่างไร เพราะในแนวพนังกั้นน้ำบางส่วนได้มีการแตกชำรุด ทำให้มีน้ำไหลเข้ามาสู่ กทม.

ภายใต้การกำหนดได้มีการออกคำสั่ง ในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติป้องกันบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 31 ที่ระบุว่า ในการกำหนดคณะบุคคลรับผิดชอบเป็นลายลักษณ์อักษรในการเข้าแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้การทำงานมีเอกภาพ ซึ่งหลังจากการประชุมหารือวันนี้ ตนจะมีคำสั่ง ที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเกิดความสัมพันธ์กัน และที่สำคัญคือเพื่อให้การเร่งระบายน้ำออกไปยังฝั่งตะวันออกโดยเร็วนั้น ระบบการระบาย และคำสั่งต่าง ๆ ต้องเป็นคำสั่งที่ชัดเจน

ได้มีการตั้งคณะทำงานในการติดตามดูระดับน้ำและจัดการระบบน้ำในแต่ละส่วนรวมถึงการทำงานร่วมกับทาง กทม. แม้ว่าการทำงานของ กทม.จะแยกส่วนกัน แต่การทำงานในภาพรวมจะต้องประสานกัน เพื่อให้การเปิดประตูระบายน้ำเป็นไปด้วยความเต็มที่

“หลักของการระบายน้ำ และการระบายน้ำในจุดสำคัญเพื่อลดความเสียหายให้น้อยที่สุด และการระบายน้ำลงสู่ทะเล เพื่อลดการท่วมขังของน้ำ ที่ประชาชนกำลังประสบอยู่ขณะนี้ให้เร็วที่สุด โดยขอให้รักษาจุดสำคัญต่างๆ อาทิ แนวคันพระราชดำริ ซึ่งเป็นจุดที่แข็งแรง แต่เราก็มีความเป็นห่วง โดยขอให้ทางกองทัพจัดเวรเฝ้ายามตลอด 24 ชั่วโมง” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า วันนี้ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร เฝ้าระวังในทุกจุด และรายงานความคืบหน้าทุก 2 ชั่วโมง ในเรื่องของระดับน้ำส่วนการรักษาสถานที่สำคัญขอให้ทุกหน่วยงานที่ดูแลในทุกจังหวัดที่มีน้ำท่วมขัง รวมถึง กทม.ให้เฝ้าระวังสถานที่สำคัญ โรงผลิตไฟฟ้า-ประปา สำนักพระราชวัง โรงพยาบาลศิริราช สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ

**อ้างเพื่อสร้างความมีเอกภาพ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยถึงสาเหตุการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 มาตรา 31 ว่า เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานให้เป็นเอกภาพมากขึ้น และเพื่อเติมเต็มในการใช้อำนาจในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ส่วนความเข้มข้นของคำสั่งนี้จะมีผลให้เกิดการทำลายคันกั้นน้ำมากขึ้นหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวตอบว่า เป็นการทำเพื่อเพิ่มข้อมูลและมีอำนาจสั่งการให้ชัดเจนขึ้น และให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้คำสั่งทางวาจาให้กลายเป็นลายลักษณ์อักษร และเพื่อให้ทุกหน่วยมีขั้นตอนในการปฏิบัติ ซึ่งจะขอใช้ในมุมนี้ก่อน

“ที่ต้องทำอย่างนี้เพราะว่า เมื่อสั่งการไปแล้ว พอกลับดูข้อมูลของแต่ละหน่วยไม่ตรงกัน จึงต้องขอใช้ลายลักษณ์อักษร เช่น การสั่งให้เปิดประตูน้ำอย่างเต็มที่ แต่บางคนบอกว่าเปิดประตูน้ำเต็มที่แล้ว แต่เมื่อไปดูก็ไม่ใช่ตามที่บอก ก็เลยต้องใช้ลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความชัดเจน และคิดว่าการเปิดประตูน้ำในปริมาณเท่าใดจึงจะมีความสมดุลย์ ฉะนั้นผู้ได้รับคำสั่งจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันในทุกจุด ให้ประตูระบายน้ำทุกประตูทำงานสัมพันธ์กัน” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ประสานงานไปยังผู้ว่าฯกทม.แล้วหรือยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ตอบคำถาม และก้าวขึ้นรถออกจาก ศปภ.ทันที

**เบื้องหลังไอเดีย”ทนายถุงขนม 2 ล้าน”

มีรายงานจากที่ประชุมศปภ.ถึงเบื้องหลังการที่รัฐบาลตัดสินใจใช้พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่ามีการหยิบยกปัญหาเรื่องความไม่เป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาระหว่าง ศปภ.-รัฐบาลกับกทม.มา พูดคุยกัน รวมถึงมีการนำการเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เช่น การให้ประกาศพรก.ฉุกเฉินฯ หรือการให้มีการบังคับใช้พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งในส่วนพรก.ฉุกเฉินฯไม่ทำอยู่แล้ว แต่เรื่องพรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อเห็นว่าสื่อเสนอว่าแนวทางนี้จะทำให้การแก้ปัญหามีเอกภาพและมาตรการก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกมากเกินไปจึงตัดสินใจประกาศใช้

ทั้งนี้นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย ที่เป็นทีมทนายของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เป็นคนเสนอเข้ามาทำให้นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยและหยิบกเรื่องนี้มาคุยกัน

**ผบ.ทบ.ฮึ่มไม่มีใครโง่ยึดอำนาจ

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงสถานการณ์ขณะนี้จำเป็นต้องประกาศ พรก.ฉุกเฉินหรือไม่ ว่า เป็นเรื่องของรัฐบาล เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจให้ ศปภ.ในการควบคุม สั่งการ กำกับดูแลทุกหน่วยราชการให้ทำงานช่วยเหลือประชาชน และมีไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้เต็มที่ แต่สิ่งสำคัญต้องระวังความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนโดยรวม เพราะสถานการณ์เป็นความเดือดร้อน ไม่ใช่สถานการณ์แบบอื่นๆ คนเดือดร้อนอยู่ ถ้าเราใช้กฏหมายอย่างเต็มที่ก็จะเกิดความกระทบกระทั้งกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน หรือ รัฐบาลกับประชาชน แต่ก็มีส่วนดี อย่างไรก็ตามทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลที่ต้องหารือร่วมกันและ จะออก พรก.ฉุกเฉิน รวมถึงความเห็นส่วนรวม

กรณีนักการเมือง พยายามเบี่ยงเบนประเด็นพื่อก้าวไปสู่การยึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ท่านจะคิด ใครจะมายึดอะไรได้ตอนนี้ น้ำท่วมถึงคอแล้ว คงไม่มีใครโง่ไปทำ ตอนนี้มีอย่างเดียวต้องช่วยประชาชนให้ได้มากที่สุด ไม่สนใจ การเมืองก็คือการเมือง ไม่เกี่ยวกับการทหารแต่อย่าให้ร้ายทหารที่เหน็ดเหนื่อย เครียด ทุกกองทัพช่วยกันทำงานทั้งหมด ทหารไม่ได้กลับบ้านกลับช่อง คึกดื่นเที่ยงคืนก็อยู่กับประชาชนมาโดยตลอด ขอร้องอย่ากล่าวพาดพิงให้เสียกำลังใจกัน เราคงทำอะไรไม่ได้อยู่แล้วเพราะเป็นเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ

“ไม่ใช่ป้องกันสวนจิตลดาอย่างเดียว แต่ต้องป้องกันทุกที่ คนกรุงเทพก็คือกรุงเทพ ไม่ใช่ป้องกันตรงนั้น ตรงนี้เป็นพิเศษ มันไม่ได้ เพราะป้องกันตรงนี้ ตรงอื่นก็ท่วม และจะท่วมกันหมด จึงต้องกันในพื้นที่กว้าง สวนจิตลดาเป็นสถานที่สำคัญที่จะต้องดูแล แต่ขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันในพื้นวงกว้าง จะทำอย่างไรให้พื้นที่วงกว้างไม่ท่วม พื้นที่ตรงกลางมีทั้ง วังสวนจิตลดา กองบัญชาการกองทัพบก ทำเนียบ รัฐสภา ส่วนราชการมีมากเราต้องป้องกันให้มากที่สุด ต้องกั้นทั้งวงในและวงนอก เราให้ความสำคัญในทุกๆส่วนเท่าๆกัน เพราะเป็นพื้นที่สำคัญของ กทม.”ผบ.ทบ.กล่าว

**รับแผนอพยพคนยังบกพร่อง

ที่ ศปภ.พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า การให้ความช่วยเหลือคงต้องมีการลงรายละเอียดให้มากขึ้น ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีการลงรายละเอียดน้อยไป

“ปัญหาขณะนี้น้ำจะมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องระวัง เพราะเมื่อปริมาณน้ำมากขึ้น โอกาสเสี่ยงที่น้ำจะเข้ามาให้ กทม.ก็มีอยู่ ดังนั้นเราต้องมาทบทวนแผนการอพยพให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ว่าจุดไหนที่ต้องอพยพ จุดไหนที่ต้องให้การช่วยเหลือ จะต้องมีการแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า และพาประชาชนไปในจุดที่จัดไว้ให้” ผบ.ทบ.กล่าว

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรที่สู้กับน้ำจากที่เคยสู้กับศัตรู ผบ.ทบ.กล่าวว่า ก็ต้องสู้ ความจริงไม่ได้หนักกว่ากัน เพียงแต่กับน้ำเป็นวงกว้างกว่า

“มันไม่ถึงตายหรอก ไม่ได้ยิงกันจนตาย ซึ่งมันก็ต้องสู้กันไป ต้องดูว่าเราจะอยู่กับน้ำได้อย่างไรให้ปลอดภัย” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

**ทบ.เสริมกำลัง 9 กองร้อย

พ.อ.(หญิง) ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ขณะนี้กองทัพบก ยังคงระดมทหาร พร้อมทั้งเครื่องมือหนักของทหารช่าง ในการสร้างเสริมความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำในพื้นที่เสี่ยง บริเวณรอบนอกกรุงเทพมหานคร รวมถึงการลาดตระเวนตรวจสอบความแข็งแรงของพนังกั้นน้ำ เพิ่มอีก 9 กองร้อย ร่วมกับจำนวนเดิม เป็น 40,000 นาย ทั่วประเทศ โดยจะให้กำลังส่วนนี้ เข้าช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ฉุกเฉินทันทีตลอด 24 ชั่วโมง

**สามีปลอบ "ปู” เหนื่อยได้ท้อไม่ได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุสรณ์ อมรฉัตร คู่สมรสนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เหนื่อย ยอมรับทุกวันนี้นายกฯก็เหนื่อยต้องกางแผนที่ดู เรื่องอื่นต้องเก็บไว้หมด นายกฯมีความกังวลมากกว่าแต่ไม่ได้ตื่นตกใจอะไรและเร่งทำงานประสานกับทุกหน่วยงานอย่างเต็มที่ โดยส่วนตัวเห็นว่านายกฯก็ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่ปัญหาตอนนี้ก็คือ นายกฯห่วงคนที่ติดอยู่ในน้ำในหลายๆจังหวัด ก็พยายามประสานหน่วยงานให้เข้าไปช่วยเหลือและดูแลความเป็นอยู่ อีกทั้งขณะนี้ตนก็เป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีอยู่และ ซึ่งบอกไปว่าเหนื่อยได้แต่ท้อไม่ได้ ซึ่งตอนนี้การทำงานกับทุกหน่วยงานก็พบว่ามีความผิดพลาดบ้างแต่นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้ตำหนิใครเพราะทุกฝ่ายทำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็ยอมรับว่าจะให้ทำตามความต้องการของทุกฝ่ายให้พอใจหมดไม่ได้ เพราะทุกคนก็เครียดกันหมดอะไรยอมกันได้ก็ควรยอมกัน โดยขอให้ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่และจะเห็นผลของการทำงานไม่มากก็น้อยแต่อย่างไรก็ตามทุกฝ่ายก็ควรทำให้อย่างดีที่สุด”

**ทางหลวงแนะเส้นทางออกตจว.

พล.ต.ต.นรบุญ แน่นหนา ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง(ผบก.ทล.) กล่าวแนะนำการใช้เส้นทางสำหรับประชาชน ได้แก่ ถนนสายเอเชียที่ใช้เดินทางสู่ภาคเหนือบริเวณ จ.พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และปทุมธานีมีน้ำท่วมสูงเป็นช่วงๆ ทำให้รถไม่สามารถผ่านได้ รวมทั้งบางเส้นมีประชาชนนำรถมาจอดหนีน้ำบนถนนและสะพาน ทำให้การจราจรติดขัดรถยนต์สัญจรลำบาก

ภาคเหนือแนะนำให้ใช้เส้นทาง จาก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เข้า จ.อ่างทอง และ จ.สุพรรณบุรี หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 11ทาง จ.ปราจีนบุรี ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้เส้นรังสิต เข้าอ.บ้านนา จ.นครนายก ไป จ.สระบุรีและทาง จ.ฉะเชิงเทรา เข้าไปยัง จ.ปราจีนบุรี และเข้าทาง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา

**“เมืองทอง” จอดรถได้ 1 หมื่นคัน

ด้าน อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้เปิดชาเลนเจอร์ 1-3 ชั้น 2 ให้จอดรถได้ 10,000คัน โดยให้เจ้าของรถนำสำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาทะเบียนรถ เป็นหลักฐานยืนยันความเป็นเจ้าของ ทั้งนี้สามารถจอดได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 28 ต.ค.นี้

** จม 1.4 หมื่น รง. กระทบ 6.7 แสน

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด พบว่า ใน 19 จังหวัด มีลูกจ้างได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 678, 227 คน และสถานประกอบการได้รับผลกระทบ 14,818 แห่ง ล่สุดคือ นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี จ.ปทุมธานี ขณะที่ต้องเฝ้าระวังคือ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และนิคมอุตสาหกรรมบางชัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น