xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใช้เงินล้านล้าน กู้ประเทศหลังน้ำลด ความหวังอันริบหรี่จาก “สมองยิ่งลักษณ์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยนับว่ารุนแรง สาหัสสากรรจ์ โดยได้แผ่วงกว้างสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ประสบภัย รวมไปถึงความเสียหายของภาคธุรกิจที่ยังประเมินค่าไม่ได้ ซึ่งหากจะกล่าวถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในสายตาประชาชนก็คงจะมีคำตอบให้เพียงอย่างเดียวว่า สอบตก แบบไม่มีข้อสงสัย

แต่ในขณะเดียวกันดูเหมือนว่าวิบากกรรมของรัฐบาลยังไม่ได้หมดแค่นั้น เพราะหลังจากนี้ย่อมจะต้องมีคำถามจากหลายฝ่ายพุ่งตรงไปยังรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงมาตรการในการเยียวยาภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่พินาศฉิบหายนับแสนล้านบาท ทั้งภาคเกษตรกรรมที่เทือกสวนไร่นาจมหายไปกับสายน้ำ ไล่เรื่อยไปจนถึงบ้านเรือนของประชาชนและปัญหาข้าวยากหมากแพงที่จะตามาสารพัดสารพัน

ทั้งนี้ เมื่อกวาดสายตาดูมาตรการต่างๆนานาของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงนี้แล้วก็ดูเหมือนจะยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์เลยแม้แต่เพียงนิดเดียวว่าจะกู้ประเทศไทยที่จมดิ่งจากมหาอุทกภัยในครั้งนี้ได้อย่างไร

เริ่มจากตัดทอนเงินงบประมาณปี 2555 ลง 10 % เพื่อให้มีเงิน 80,000 ล้านบาทนำมาฟื้นฟูประเทศ ตามด้วยการที่คณะรัฐมนตรีมีมติขยายวงเงินงบขาดดุลในปีงบประมาณ 2555 ออกไปอีก 5หมื่นล้าน สรุปก็คือจะส่งผลให้วงเงินงบขาดดุลในปี 2555 เพิ่มเป็น 400,000 ล้านบาท ในทันที
นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังได้สั่งการให้ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ไปดำเนินการพิจารณาออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อกู้เงินก้อนใหญ่อีกร่วม 400,000 ล้านบาทมาฟื้นฟูวิกฤตน้ำท่วม

แต่ปัญหาใหญ่มิได้อยู่ที่จำนวนเงินร่วมล้านล้านบาทในการฟื้นประเทศ หากอยู่มี “สมอง” และ “ฝีมือ” ของตัวนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งขุนพลฝ่ายเศรษฐกิจว่าจะมี “ปัญญา” ใช้เงินจำนวนนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่

ขณะเดียวกันวิบากกรรมที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องเผชิญก็คือ บรรดาโครงการขายฝันทั้งหลาย ที่รัฐบาลยังมีการกู้เงินเพื่อทำโครงการประชานิยมอีกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงินเพื่อโครงการรับจำนำข้าวอีก 300,000 ล้านบาท โครงการแจกเงินกองทุนหมู่บ้านที่กู้เงินจากธนาคารออมสินไปจ่ายก่อนอีก 80,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมโครงการขายฝันทั้งหลายแหล่ที่รัฐบาลประกาศไว้ตอนหาเสียงก็สิทธิ์ว่าจะส่อแท้งหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายกำลังตั้งคำถามอยู่

สอดคล้องกับ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนโครงการที่ใช้งบประมาณมาก เช่น ประชานิยม โดยให้รัฐบาลนำงบดังกล่าวมาปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งไทยเจอปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานมาก รัฐบาลควรทบทวนการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการในระดับปริญญาตรี 15,000 บาท การเงินเดือนระดับต่ำกว่าปริญญาตรี 9,000 บาท เพราะใช้งบปีแรกถึง 24,500 ล้านบาท และอาจชะลอโครงการที่ทำให้รัฐมีรายได้ลดลง เช่น โครงการรถยนต์คันแรกที่ทำให้รัฐเสียรายได้จากภาษี 30,000 ล้านบาท โครงการแจกแทบเล็ตนักเรียน 5,000 ล้านบาท

หรือจะเป็น นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ซึ่งจากเดิมที่จะปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัด และขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% ในจังหวัดที่เหลือทั่วประเทศ ในปี 2555 ทยอยปรับขึ้นใน 3-4 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ฟื้นตัวจากน้ำท่วม โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่จะมีปัญหาสภาพคล่องมาก และถ้ารัฐบาลยืนยันจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ จะทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนรับภาระไม่ได้

คำถามก็คือ รัฐบาลจะหารายได้จากไหนมาโปะจากรายจ่ายที่ต้องนำไปชดเชยเยียวยาสถานการณ์น้ำท่วม ในขณะที่แรงงานหลายแสนคนต้องตกงาน ในขณะที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องพังพินาศไปหลายแห่ง แถมต่างชาติเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่นใจในการคงฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย อีกทั้งในทางตรงข้าม หากกู้มาเป็นจำนวนมากถมใส่ลงเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจไม่ได้เดินไปอย่างที่ฝันไว้ จะส่งผลทำให้ทั้งสัดส่วนหนี้เพิ่มและเงินชำระหนี้ยังไม่พอ ซึ่งนอกจากยังสุ่มเสียงทำให้ประเทศไทยเป็นหนี้บานตะไท ซึ่งอย่าได้เอ่ยถึงบรรดาโครงการขายฝันก็อาจมีอันต้องพับเก็บไปทีละโครงการ

เพราะมาถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้เห็นการแจกแจงวางแผนทางการเงินที่จะนำมาฟื้นฟูประเทศ ซึ่งก็ต้องคิดให้รอบคอบในเรื่องการใช้จ่ายเงิน การชำระหนี้ การวางแผน และนโยบายต่างๆ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ เศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในความเสี่ยง แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ท่ามกลางวิกฤติรัฐบาลยังได้แสดงภาวะความไม่รู้จักกาลเทศะด้วยการเคาะขึ้นค่าแรง 40% รับเงิน 300 ต่อวัน ใน 7 จังหวัด ในขณะที่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมกำลังหน้ามืดกับสภาวะน้ำท่วมโรงงาน

อาจกล่าวได้ว่า วิบากกรรมน้ำท่วมที่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ กำลังเผชิญอยู่ว่าหนักแล้ว วิบากกรรมหลังน้ำลดน่าจะตามหลอกหลอนแบบชนิดที่ว่าหนักหน่วงไม่แพ้กัน
กำลังโหลดความคิดเห็น