“ยิ่งลักษณ์” เรียก รมต.หารือรายกระทรวง วางแผนฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัย หลังน้ำลด เผยต้องใช้งบกว่าแสนล้าน ยังเดินหน้านโยบายประชานิยม อ้างต้องอัดเงินลงระดับชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาส่วนรวม ส่อกู้เงินต่างประเทศ กู้วิกฤตเศรษฐกิจไทย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ให้สัมภาษณ์
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 17 ต.ค.ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกรัฐมนตรีมาหารือรายกระทรวง เพื่อวางแผนฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลดให้แก่ภาคประชาชน ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดจากภัยน้ำท่วม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เบื้องต้นต้องการคุยในรายละเอียดของแต่ละกระทรวง เพื่อให้แน่ใจในการทำงานของแต่ละกระทรวง เพราะวันนี้เราต้องเตรียมการ ไล่ตั้งแต่ศูนย์ ศปภ.ที่มีการทำงาน และมีการสั่งการที่ชัดเจน และในขั้นต่อไปจะต้องมีเรื่องการทำงาน หรือการดูแลพี่น้องประชาชนช่วงที่น้ำยังไม่ลด ซึ่งต้องให้แน่ใจว่ากลไกของทุกกระทรวงทำงานได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการเตรียมทำแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งแต่ละกระทรวงจะต้องบูรณาการการทำงานร่วมกับคณะกรรมการเยียวยาที่คณะรัฐมนตรีตั้งไว้
เมื่อถามว่า งบประมาณในการฟื้นฟูเบื้องต้นตั้งไว้จำนวนเท่าไหร่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอให้ทุกกระทรวงทำงานก่อน แต่เบื้องต้นจากที่เราเตรียมการไว้อาจจะไม่พอ คงจะมีการตั้งงบเพิ่ม เพื่อเร่งฟื้นฟูภาพรวมโดยเร็ว เพราะจากที่เราเห็น พบว่ามีความเสียหายในภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม ดังนั้นคงต้องเร่งฟื้นฟู ที่สำคัญต้องกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศกลับคืนมาให้เร็วที่สุด
เมื่อถามว่า จะต้องใช้งบประมาณถึง 2 แสนล้านบาทในการฟื้นฟูหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่าคงต้องขอดู แต่เบื้องต้นจากงบประมาณที่จะต้องใช้คงถึงแสนล้านบาทแน่นอน อันนี้ยังไม่รวมกับที่เราต้องบูรณาการในภาพรวมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เพราะว่าเราพยายามทำงานทั้งหมด เพื่อฟื้นฟูให้ทุกอย่างกลับคืนมาสู่สภาพเดิม และฟื้นฟูสภาวะพี่น้องประชาชนให้กลับมาตั้งตัวได้เหมือนเดิม รวมถึงกลุ่มภาคอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี และยังไม่รวมไปถึงการพัฒนารวมในโครงการนโยบาย 25 ลุ่มน้ำ และการบูรณาการโครงการพระราชดำริทั้งหมด เข้ามาเป็นแผนการแก้ไขปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบ
เมื่อถามว่า มีเสียงสะท้อนอยากให้รัฐบาลทบทวนนโยบายประชานิยม เพื่อนำงบประมาณมาช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยก่อนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า แน่นอน ตนได้ให้มีการทบทวนนโยบายต่างๆ ซึ่งจะเน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะโครงการเอสเอ็มแอล ซึ่งจะเร่งรัดโครงการนี้เพื่อให้เงินลงสู่ระบบ ให้ประชาชนในระดับชุมชนนำเงินเข้าไปแก้ไขปัญหาส่วนรวม รวมถึงนโยบายกองทุนต่างๆ และการพักหนี้เกษตรกร
เมื่อถามว่า เงินงบประมาณที่จะนำมาเป็นเงินที่จะมาจากแหล่งเงินกู้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อาจจะมาจากแหล่งเงินกู้บ้าง ที่ต้องนำมาใช้ ทั้งนี้ขอประมวลภาพรวมจึงจะชี้แจงอีกครั้ง เมื่อถามย้ำว่าแหล่งเงินกู้จะมาจากสถาบันการเงินจากต่างประเทศหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอให้กระทรวงการคลังโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้พิจารณาในเรื่องดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาคเอกชนเสนออะไรผ่านมาทาง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ บ้าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบสิ่งที่หารือกับนายกิตติรัตน์วันนี้ เป็นเพียงภาพรวม
เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ ในฐานะที่บริหารจัดการโครงการประชานิยมเก่ง และแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ ได้แนะนำอะไรบ้างหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เวลานี้ได้หารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทยในภาพรวมอยู่ ซึ่งขอให้กระทรวงการคลังทำหน้าที่ตรงนี้ จึงจะมาชี้แจงภายหลัง
ด้าน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน หาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟู ทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน สำหรับในส่วนภาคอุตสาหกรรม วันนี้ยังไม่สามารถสรุปตัวแรงความเสียหายได้ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่นิ่ง ซึ่งเวลานี้รัฐบาลกำลังหารือแนวทางแก้ไขฟื้นฟู ทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว อย่างไรก็ตามงบประมาณที่รัฐบาลกันไว้ 8 หมื่นล้าน เพื่อนำมาเยียวยาหลังน้ำลดนั้น คิดว่าคงไม่เพียงพอ ต้องมีมาตรการอื่นมาเพิ่มเติม
ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อแนะนำว่าก่อนที่น้ำจะลด ทางกระทรวงคมนาคมต้องมีแผนในเรื่องของถนนและเส้นทางรถไฟ จะเร่งกู้อย่างไรเพื่อที่จะสามารถใช้ได้ก่อน สำหรับตัวเลขความเสียหายทางด้านของคมนาคมยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากน้ำยังท่วมอยู่ ต้องรอให้น้ำลดแล้วจึงเข้าไปประเมินความเสียหาย รวมทั้งเส้นทางที่จะกู้ให้กลับมาใช้ได้ เวลานี้หากใครจะเดินทางไปตอนเหนือยังสามารถเดินทางได้อยู่ แต่ต้องใช้เส้นทางอ้อม ส่วนถนนสายเอเชียคงต้องรอเวลา เพราะขณะนี้น้ำยังแรงอยู่