xs
xsm
sm
md
lg

ทบทวนไฟฟรี ให้65หน่วย รถเมล์ต่อฉลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ภาคเอกชนมีเฮลุ้นไม่ต้องแบกภาระค่าไฟฟรีไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน แต่ผู้ใช้ไฟฟรีบางส่วนอาจต้องจ่ายเพิ่ม หลังเรกูเลเตอร์เตรียมหารือ”พิชัย” 16 ก.ย.นี้ทบทวนโครงสร้างใช้ไฟฟ้าฟรีเหลือไม่เกิน 65 หน่วยต่อเดือนเหตุเข้าคอนเซ็บต์ผู้ด้อยโอกาสสุด พร้อมดึงงบรัฐมาสนับสนุนแทน ขณะที่“ชัจจ์”ยันยังไม่ยกเลิกรถเมล์ฟรี-รถไฟฟรีตอนนี้ เตรียมชงครม.ขอต่ออายุไปถึง 15 ม.ค.55 หลังจากครบกำหนด 31 ธ.ค. จากนั้นต่ออีกหรือไม่ต้องหารือนายกฯ สั่งขสมก.ประสาน บชน.แก้ปัญหาบริการรถสาธารณะทั้งหมด ขณะที่ให้ร.ฟ.ท.ปรับแผน 1.7 แสนล.พัฒนาทาง 1 เมตรคู่1.435 เมตรได้หรือไม่

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า วันที่ 16 ก.ย. นี้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงานได้เรียกเรกูเลเตอร์หารือภาพรวมถึงการดำเนินงานของเรกูเลเตอร์รวมถึงแนวทางความชัดเจนถึงการทบทวนโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ที่จะมีการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90หน่วยต่อเดือนที่ปัจจุบันภาระดังกล่าวนำไปเกลี่ยขึ้นค่าไฟให้กับผู้ใช้ไฟประเภทอุตสาหกรรมทั้งรายเล็ก รายใหญ่ กิจการเฉพาะอย่างและส่วนราชการ

แหล่งข่าวจากเรกูเลเตอร์ กล่าวยอมรับว่า เรกูเลเตอร์ได้จัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอรมว.พลังงานใน 3 ทางเลือกที่จะกำหนดผู้ใช้ไฟฟรีได้แก่ 1. ไม่เกิน 45 หน่วย 2. ไม่เกิน 65 หน่วย และ 3. ไม่เกิน 90 หน่วยเช่นเดิมแต่ทางเลือกที่ดีสุดคือ ไม่เกิน 65 หน่วย
เนื่องจากจากผลการศึกษาโดยอิงข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)พบว่าผู้ด้อยโอกาสนั้นจะมีรายได้เฉลี่ย 5,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ซึ่งกลุ่มนี้จะใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 65 หน่วยต่อเดือน

“ ถ้าพิจารณาจากผู้ใช้ไฟไม่เกิน 45 หน่วยต่อเดือนพบว่ากลุ่มนี้จะมีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ขณะที่เดิมกำหนด 90 หน่วยนั้นพบว่าเฉลี่ยมีรายได้ระดับ 10,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนจึงเห็นว่าโครงสร้างเดิมไม่เกิน 90

หน่วยต่อเดือนนั้นไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของกฏหมายเรกูเลเตอร์ที่ระบุว่าจะต้องช่วยผู้ด้อยโอกาสเท่านั้นเราจึงเห็นว่าควรปรับลดลงมา”แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตามผลจากการปรับลดหน่วยการใช้ไฟฟรีลงมาจะทำให้คิดเป็นภาระที่ต้องเข้าไปอุดหนุนค่าไฟดังกล่าวเฉลี่ย 300 ล้านบาทต่อเดือนหรือปีละ 3,000 กว่าล้านบาทเท่านั้นจากเดิมทั้งปีภาระอยู่ระดับ 12,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงเตรียมเสนอแนวทางการบริหารภาระดังกล่าว 4 ทางเลือกคือ 1.นำภาระดังกล่าวมาเกลี่ยกับผู้ใช้ไฟทั้งหมดผ่านค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) 2. เกลี่ยให้กับภาคอุตสาหกรรมเหมือนนโยบายเดิม 3. การใช้เงินงบประมาณของรัฐมาสนับสนุน และ 4. ให้ 3 การไฟฟ้ามาเป็นผู้รับภาระทั้งหมดแทน ซึ่งแนวทางเลือกที่ดีสุดเห็นว่ารัฐบาลน่าจะเป็นผู้พิจารณาหางบประมาณมาสนับสนุนเนื่องจากนโยบายที่จะดูแลประชาชนผู้ด้อยโอกาสควรเป็นหน้าที่รัฐโดยตรง

“ การทบทวนครั้งนี้ไม่ได้กลัวว่าจะถูกเอกชนฟ้องร้องต่อศาลปกครองตามที่มีข่าวอะไรเพราะที่ผ่านมาเราเองได้ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลและพอปฏิบัติได้ระยะหนึ่งก็เห็นว่ามีผลกระทบและก็เตรียมพร้อมที่จะทบทวนแต่ทั้งนี้รัฐบาลใหม่จะเห็นชอบแนวทางใดก็ยังตอบไม่ได้”แหล่งข่าวกล่าว

***“ชัจจ์”แจงยังไม่เลิกรถเมล์-รถไฟฟรี

พล.ต.ต.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยกเลิกมาตรการรถไฟฟรีและรถเมล์ฟรีแต่อย่างใด ซึ่งตามหลักการจะยกเลิกได้เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นแล้วและเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนกระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขยายเวลาให้บริการรถเมล์ฟรีรถไฟฟรี จากที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2554 ออกไปอีก 15 วันเป็นสิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค. 2555เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและไม่ทำให้ประชานสับสน ในการใช้บริการในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่มีผู้โดยสารเดินทางไปท่องเที่ยว และภูมิลำเนาจำนวนมาก

ทั้งนี้หลังจากครบกำหนดวันที่ 15 ม.ค. 55 แล้วจะมีการต่ออายุมาตรการดังกล่าวอีกหรือไม่ จะต้องหารือกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงการคลัง เป็นต้น ว่ามาตรการดังกล่าวยังมีความจำเป็นอีกหรือไม่และด้านงบประมาณมีปัญหาหรือไม่

“เป็นเรื่องเข้าใจผิดที่บอกว่าผมจะยังไม่ยกเลิกโครงการรถเมล์ฟรีรถไฟฟรีตอนนี้ เพราะจะยกเลิกก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นแต่ตอนนี้ยังวิกฤติอยู่ก็ต้องช่วยเหลือประชาชนก่อนและเตรียมเสนอครม.ต่ออายุออกไปถึง วันที่ 15 ม.ค. 55 แต่ไม่แน่ใจว่าจะทันการประชุมครม.วันนี้(13 ก.ย.) หรือไม่ เพราะต้องการให้เสนอเป็นวาระปกติ ไม่อยากให้เสนอจร”พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าว

ด้านนายโอภาส เพชรมุณี ผู้อำนวยการขสมก.กล่าวว่า ภาครัฐต้องชดเชยให้ขสมก.ตามมาตรการรถเมล์ฟรี จำนวน 800 คันๆ ละ 8,000 บาทต่อวัน หรือเดือนละ 192 ล้านบาท ต่ออายุอีก 15 วันจะได้รับชดเชยอีกประมาณ 96 ล้านบาท

ขณะที่นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ตามปกติ ภาครัฐต้องชดเชยในโครงการรถไฟฟรีให้ร.ฟ.ท.เดือนละประมาณ 80 ล้านบาท โดยหากต่อแค่ 15วัน ก็จะได้รับชดเชยอีก 40 ล้านบาท

นอกจากนี้ พล.ต.ท. ชัจจ์ กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่าพนักงานเก็บค่าโดยสารของ ขสมก. ไม่ทอนเงินให้กับผู้โดยสารหลังจากมีการปรับลดค่าโดยสาร ว่า ได้สั่งการให้ขสมก.เข้มงวดกวดขันโดยหากตรวจพบ จะถูกลงโทษถึงขั้นให้ออก ซึ่งเบื้องต้นขสมก.ยืนยันว่า มีเหรียญสตางค์ วันละประมาณ 3.5 แสนเหรียญไม่ขาดแคลนแน่นอนพร้อมกันนี้ให้จัดระเบียบรถสาธารณะประเภทอื่นๆ ให้ถูกต้องตามกฏหมาย เช่น รถโดยสารขนาดใหญ่ มินิบัส รถตู้โดยสาร รถสองแถว ได้สั่งการให้ขสมก.กวดขันจัดระเบียบให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้ดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลอย่างเร่งด่วนแล้ว โดยจะต้องมีการรายงานผลให้ทราบเป็นระยะๆ

***สั่งร.ฟ.ท.ศึกษาใช้ทาง 1 เมตรและ 1.435 เมตรร่วมกัน

พล.ต.ท.ชัจจ์กล่าวว่า ยืนยันว่ารัฐบาลจะผลักดันการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง 5 เส้นทางให้ประชาชนได้ใช้อย่างแน่นอน ซึ่งจะใช้รางขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) เป็นทางคู่ โดยให้ร.ฟ.ท.ศึกษาเพิ่มเติมกรณีที่นำแผนการพัฒนารางเดิมที่มีขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท มาดำเนินการร่วมกับ โครงการรถไฟความเร็วสูง ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ รวมถึงมีความคุ้มค่าในการลงทุน และมีความปลอดภัยหรือไม่

“ผมไม่ได้บอกว่าจะเอาเงิน 1.7 แสนล้านที่รัฐบาลชุดที่แล้วอนุมัติไว้ในการพัฒนารางขนาด 1 เมตรมาใช้ทำรถไฟความเร็วสูงเพราะเป็นคนละโครงการ แต่ตั้งคำถามไปว่า จะประหยัดงบ 1.7 แสนล้านนั้นได้หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้น ร.ฟ.ท.บอกว่าสามารถลดลง 3-4 หมื่นล้าน เช่น ปรับเส้นทางรถไฟทางคู่ให้สั้นลง เป็นต้น เนื่องจากอาจปรับให้ใช้เส้นทางร่วมกับรถไฟความเร็วสูงได้ “

อย่างไรก็ตาม ร.ฟ.ท.จะใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการปรับแผนรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา 2 เส้นทาง และอีก 3 เส้นทางกำลังรองบประมาณ โดยจะพิจารณาแต่ละเส้นทางว่าจะสามารถปรับตามนโยบายได้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น