xs
xsm
sm
md
lg

พฤติกรรมของพระเกษม :บวชกายแต่ไม่บวชใจ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ธรรมะ 10 ประการที่บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ (ปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์) คือ

1. เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว

2. ชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น

3. เรายังมีอากัปกิริยาอย่างอื่นที่จะพึงทำ

4. ตัวเราเองยังติเตียนตนเองด้วยศีลได้หรือไม่

5. เพื่อนพรหมจรรย์ผู้เป็นวิญญูชนทั้งหลาย พิจารณาแล้วยังติเตียนเราด้วยศีลได้หรือไม่

6. เราจักต้องมีการพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น

7. เรามีกรรมของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องได้รับผลของกรรมนั้น

8. วันคืนล่วงไปๆ เราทำอะไรอยู่

9. เรายินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่

10. คุณสมบัติวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่เราบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่”

ธรรมะทั้ง 10 ประการดังกล่าวนี้ เป็นพุทธพจน์ซึ่งปรากฏที่มาในพระไตรปิฎกเล่มที่ 24 ทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย โดยนัยแห่งธรรมะ 10 ประการข้างต้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าในฐานะพระศาสดาได้ทรงตักเตือนผู้ที่เข้ามาบวชเป็นสาวกของพระองค์ คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการเป็นคฤหัสถ์มาเป็นนักบวช มีอะไรจะต้องกระทำเพิ่มขึ้นจากที่เคยทำ

และในขณะเดียวกัน ให้ปรับทัศนคติให้สอดคล้องกับเพศ และภาวะของนักบวช รวมไปถึงเป้าหมายที่นักบวชจะพึงกระทำ นั่นคือ ความหลุดพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้เข้าบวช และเพื่อความตั้งมั่นและดำรงอยู่ยืนยาวของพุทธศาสนา ดังที่พระองค์เคยตรัสตอบพระกิมพิละ ผู้ทูลถามพระองค์ว่าอะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ทำให้พระสัทธรรมไม่ยั่งยืนเมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว และพระองค์ได้ตอบว่า ดูก่อนกิมพิละ เมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในพระธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพ ไม่ยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในการศึกษา ไม่เคารพยำเกรงกันนี้แล กิมพิละ คือเหตุปัจจัยทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นานเมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว คำตอบที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระกิมพิละนี้ มีปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย

จากการที่พระพุทธองค์เตือนสาวกด้วยธรรม 10 ประการก็ดี จากคำตอบที่ตรัสแก่พระกิมพิละก็ดี ล้วนแล้วแต่บ่งบอกถึงว่า เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว สักวันหนึ่งข้างหน้าจะต้องมีพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่งมีความคิดเห็นผิดแผกไปจากคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า และเผยแผ่คำสอนนั้นจนกลายเป็นความแตกแยกในหมู่สงฆ์เกิดขึ้น และถ้าสงฆ์ไม่สามารถระงับอธิกรณ์หรือเหตุเกิดที่ว่าศาสนาของพระองค์ก็จะเสื่อม และสลายไปในที่สุด

อีกประการหนึ่ง จากคำตอบพระกิมพิละ พระพุทธเจ้าได้ทรงเน้นย้ำถึงพฤติกรรมของพุทธบริษัทสี่ว่า เป็นเหตุให้พุทธศาสนาตั้งอยู่ได้นาน หรือตั้งอยู่ไม่ได้นาน

ด้วยเหตุที่มีพระพุทธวจนะดังที่ว่ามานี้เอง ในอดีตที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มีภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เช่น พระจุนทะที่กล่าวจาบจ้วงพระพุทธเจ้า และกลุ่มภิกษุชาววัชชีมีการตีความพระวินัยผิดแผกไปจากพุทธบัญญัติดั้งเดิม จนเป็นเหตุให้มีการทำสังคายนา เป็นต้น

แต่มาถึงบัดนี้ พระพุทธศาสนาได้มีอายุล่วงเลยมาแล้ว 2,554 ปี และได้มีการทำสังคายนามาแล้วหลายครั้งในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย และถ้าพิจารณาจากเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมตามนัยแห่งคำตอบแก่พระกิมพิละแล้ว ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่พุทธศาสนามั่นคง และฝังรากหยั่งลึกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีการนับถือพระพุทธศาสนากัน แต่คนไทยก็ไม่ควรประมาท และพอใจอยู่กับจำนวนวัด จำนวนพระภิกษุ รวมไปถึงจำนวนคนเข้าวัด ดังที่เป็นอยู่อย่างมากมายในขณะนี้ว่าจะเป็นหลักประกันว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าจะดำรงอยู่ได้นาน โดยไม่คิดแก้ไขป้องกันเหตุปัจจัยอันจะทำให้พุทธศาสนาเสื่อม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระภิกษุอันเป็นหนึ่งในสี่แห่งพุทธบริษัท ดังที่พระเกษม อาจิณฺณสีโล แห่งสำนักสงฆ์สำนักหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ กำลังเป็นอยู่ และมีแนวโน้มว่าพฤติกรรมในลักษณะนี้จะลุกลาม และท้าทายกฎหมายปกครองสงฆ์เพิ่มขึ้นทุกที

พระเกษม อาจิณฺณสีโล ทำอะไรจึงเข้าข่ายเรียกได้ว่าเป็นเหตุปัจจัยให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน

จากข่าวที่ปรากฏทางสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสิ่งพิมพ์ได้ระบุว่า พระเกษมได้โพสท่าลงในเว็บไซต์เป็นการแสดงอากัปกิริยาไม่เหมาะแก่เพศและภาวะของนักบวชในพุทธศาสนา เช่น เตะเก้าอี้ พูดจาเกรี้ยวกราด และรวมถึงแสดงท่าเตะก้านคอพระเณรชาวพุทธ เห็นแล้วทำให้เสื่อมศรัทธา และนำไปสู่การบั่นทอนการเคารพนับถือพระสงฆ์โดยรวมด้วย ยิ่งกว่านี้ เมื่อทางสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและมหาเถรสมาคมทราบข่าว มีการสอบสวนข้อเท็จจริงจนถึงกับออกคำสั่งให้สึกจากความเป็นพระ ก็แสดงอาการเบ่งทั้งยังท้าทายด้วย และจนบัดนี้ยังปรากฏว่าพระรูปนี้ก็ยังมีพฤติกรรมเช่นเดิม

ถ้าเป็นสมัยที่วงการสงฆ์ยังมีเอกภาพ และยึดมั่นในพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า การแสดงอาการเช่นนี้คงจะมีพระเถระรูปใดรูปหนึ่งถือเป็นเหตุอ้างขออุปการะทางอาณาจักร ทำสังคายนาพระวินัยและขจัดเสี้ยนหนามพระพุทธศาสนาไปแล้ว คงไม่ปล่อยให้พระที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้บ่อนทำลายศรัทธาผู้นับถือพุทธศาสนานานเดือนเช่นนี้

ถ้าพระเกษมไม่ยอมสึก และทางฝ่ายบ้านเมืองจัดการตามกฎหมายไม่ได้ พุทธบริษัทจะช่วยกันจัดการเรื่องนี้อย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก่อนที่จะแก้ปัญหาโดยใช้กฎหมาย ควรอย่างยิ่งที่ทางฝ่ายสงฆ์ และทางฝ่ายคฤหัสถ์ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา จะได้ลองย้อนไปดูแนวทางแก้ปัญหาตามหลักแห่งพระวินัย ก็จะพบว่า มีอยู่ข้อหนึ่งที่ว่าด้วยการลงโทษภิกษุผู้ชอบก่อการทะเลาะวิวาท เป็นผู้มากด้วยอาบัติ มีความประพฤติไม่เรียบร้อย เป็นผู้คลุกคลีกับคฤหัสถ์ในทางที่ไม่สมควร ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับที่พระเกษมเป็นอยู่ พระภิกษุที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ควรจะถูกลงโทษด้วยตัชชนียกรรม คือถูกตัดสิทธิต่างๆ รวม 18 อย่าง ได้แก่

1. ไม่พึงให้อุปสมบท (ห้ามเป็นอุปัชฌายะ)

2. ไม่พึงให้นิสัย (ห้ามรับบุคคลไว้ในปกครอง)

3. ไม่พึงมีสามเณรไว้รับใช้

4. ไม่พึงรับแต่งตั้งให้สอนนางภิกษุณี

5. ได้รับแต่งตั้งแล้วก็ไม่พึงสอนนางภิกษุณี

6. ถูกสงฆ์ลงโทษด้วยอาบัติใด ไม่พึงต้องอาบัตินั้นอีก

7. ไม่พึงต้องอาบัติประเภทเดียวกันนั้น

8. ไม่พึงต้องอาบัติที่เลวกว่านั้น

9. ไม่พึงตำหนิกรรมนั้น

10. ไม่พึงตำหนิสงฆ์ผู้ทำกรรม

11. ไม่พึงห้ามอุโบสถแก่ภิกษุปกติ

12. ไม่พึงห้ามปวารณาแก่ภิกษุปกติ

13. ไม่พึงไต่สวนภิกษุอื่น

14.ไม่พึงตั้งอนุวาทาธิกรณ์ (การโจทอาบัติ)

15. ไม่พึงขอให้ภิกษุอื่นทำโอกาส (เพื่อจะโจทอาบัติ)

16. ไม่พึงโจทอาบัติภิกษุอื่น

17. ไม่พึงทำภิกษุอื่นให้ระลึก (ว่าทำความผิดข้อนี้ข้อนั้นหรือไม่)

18. ไม่พึงช่วยให้ภิกษุทั้งหลายให้สู้กันในอธิกรณ์

จะเห็นได้ว่า ภิกษุที่ควรจะถูกลงโทษด้วยตัชชนียกรรมไม่อยู่ในฐานะปกติที่จะทำอะไรได้ตามที่พระวินัยอนุญาต ดังนั้น ถ้าพระเกษมถูกสงฆ์ลงโทษด้วยมาตรการนี้ โอกาสที่พระรูปนี้จะดำรงอยู่ได้ในฐานะรับทานจากผู้มีศรัทธาคงเป็นไปได้ยาก และที่สำคัญจะออกมาด่าทอพระเถระทั้งหลายดังที่เป็นอยู่คงทำไม่ได้ และถ้าทำต่อไปก็ควรถึงคราวที่กฎหมายจะจัดการด้วยความอนุเคราะห์จากฝ่ายอาณาจักรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น