xs
xsm
sm
md
lg

ของดีจากพระไตรปิฎก : ภิกษุอวดตนเป็น ... "พระอรหันต์" ผิดวินัยหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระภิกษุคือนักบวชในพระพุทธศาสนา ถือศีล 227 ข้อ และดำรงชีวิตด้วยวัตถุทานที่พุทธมามกะถวายด้วยศรัทธา จึงได้ชื่อว่า “ภิกษุ” ในภาษาสันสกฤต หรือ “ภิกขุ” ในภาษามคธ หรือบาลี ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ขอ”

ด้วยศีล และข้อวัตรปฏิบัติ พระภิกษุไม่สามารถประกอบอาชีพทำมาค้าขาย เฉกเช่นคฤหัสถ์ได้ และถ้าภิกษุรูปใดประกอบอาชีพเช่นนี้ เข้าข่ายเป็นมิจฉาอาชีวะ ไม่เหมาะสมกับเพศและภาวะของนักบวช

ดังนั้น ความเป็นอยู่ของภิกษุ รวมไปถึงนักบวชประเภทอื่นคือ ภิกษุณี สามเณร และสามเณรี จึงต้องเป็นชีวิตที่ต้องอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ หรือที่เรียกว่า ปรฐชีวิตา

และการที่ต้องอาศัยผู้อื่นนี้เอง พระพุทธองค์จึงได้สอนให้นักบวชในพุทธศาสนา ทำตนให้เป็นคนเลี้ยงง่าย อย่าเป็นภาระของผู้อื่น

ด้วยเหตุที่นักบวชในพุทธศาสนาต้องอาศัยผู้อื่นนี้เอง ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ชาวบ้านชาวเมืองเดือดร้อน เพราะข้าวยากหมากแพงถึงขั้นเกิดทุพพิกขภัย ข้าวปลาหายาก การทำบุญให้ทานก็น้อยลง พระภิกษุก็พลอยลำบากไปด้วย และภาวะเช่นนี้ ภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่มีปัญหาใดๆ เพราะอยู่ด้วยธรรมและอยู่ในกรอบแห่งศีล

แต่ภิกษุผู้ไม่อดทน และไม่มีธรรม คือความสันโดษ เป็นเครื่องอยู่ ก็จะเดือดร้อนและขวนขวายเพื่อการได้มาซึ่งปัจจัยสี่ โดยไม่คำนึงถึงเพศภาวะ และข้อวัตรปฏิบัติที่นักบวชจะพึงทำ ก็จะเกิดขึ้น

ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยพุทธกาล และเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติปราชิก ข้อที่สี่ห้ามมิให้อวดคุณวิเศษ ที่ไม่มีในตน เพื่อห้ามมิให้เกิดลาภสักการะ ซึ่งปรากฏที่มาในพระไตรปิฎกเล่มที่ 1 มีใจความโดยย่อ ดังนี้

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าทรงประทับ ณ เรือนยอดในป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลี

ในสมัยนั้น มีภิกษุหลายรูปที่ชอบพอเป็นมิตรกัน จำพรรษาอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา และในเวลานั้นได้เกิดทุพพิกขภัย ในแคว้นวัชชี ซึ่งเป็นแคว้นหนึ่งในกรุงเวสาลี จึงทำให้ภิกษุทั้งหลายลำบาก ด้วยเรื่องอาหารบิณฑบาต (คือบิณฑบาตได้อาหารน้อย) จึงได้ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรดี

บางรูปมีความเห็นว่า ควรช่วยแนะนำการงานของคฤหัสถ์

บางรูปมีความเห็นว่า ควรทำหน้าที่ทูต (คือนำความข้างนี้ไปบอกข้างโน้น นำความข้างโน้นมาบอกข้างนี้)

บางรูปมีความเห็นว่า ควรใช้วิธีสรรเสริญกันและกันให้ คฤหัสถ์ฟังว่า ภิกษุรูปนั้นมีคุณวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น ได้ฌาณที่ ๑ ได้ ฌาณที่ ๒ เป็นต้น ไปจนถึงว่าได้เป็นพระโสดาบัน เป็นสกทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ มีวิชชา ๓ มีอภิญญญา ๖

ในที่สุด ภิกษุทั้งหมดในที่นั้น เห็นพ้องต้องกันว่า วิธีหลังนี้ดี จึงเที่ยวสรรเสริญกันและกันให้คฤหัสถ์ฟัง จึงได้รับการเลี้ยงดูจากชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาเป็นอย่างดี มีผิวพรรณผ่องใสเอิบอิ่ม

เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงเก็บเสนาสนะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ กรุงเวสาลี และในกาลเดียวกันนั้น พระภิกษุจากที่อื่นได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย แต่ปรากฏว่า ภิกษุจากที่อื่นล้วนซูบผอม ผิวพรรณหยาบ มีเส้นเอ็นขึ้นเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับภิกษุที่มาจากฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา

หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงถามทุกข์สุข และได้ทราบเรื่องของภิกษุที่มาจากฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาแล้ว ได้ติเตียนและเรียกประชุมภิกษุทั้งหลาย ได้ตรัสเรื่อง มหาโจร ๕ ประเภท เปรียบเทียบกับภิกษุ คือ

๑) มหาโจรพวกหนึ่ง คิดรวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพัน เพื่อจะเข้าไปฆ่า ปล้น เอาไฟเผาในคามนิคมราชธานี ต่อมาได้ลงมือปล้น ฆ่า เอาไฟเผาคามนิคมราชธานี

โจรประเภทนี้ เทียบได้กับภิกษุบางรูปที่คิดรวบรวมพวกตั้งร้อยตั้งพัน เพื่อจาริกไปในคามนิคมราชธานี ให้คฤหัสถ์และบรรพชิตสักการะเคารพนับถือ บูชา อ่อนน้อม และได้จีวร บิณฑบาต ที่อยู่อาศัย ตลอดจนยารักษาโรค นี้เป็นมหาโจรประเภทที่หนึ่ง

๒) ภิกษุบางรูป เรียนพระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็โดยเป็นของตนเอง นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ ๒

๓) ภิกษุบางรูปใส่ความเพื่อนพรหมจารี ผู้ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ ด้วยข้อหาว่า ผิดพรหมจรรย์ อันไม่มีมูล นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ ๓

๔) ภิกษุชั่วบางรูป เอาของสงฆ์ที่เป็นครุภัณฑ์ครุบริขาร (ซึ่งห้ามแจกห้ามแบ่ง) เช่น อาราม วิหาร ที่ตั้งวิหาร เตียง ตั่ง เป็นต้น ไปสงเคราะห์คฤหัสถ์ ประจบคฤหัสถ์ (เพราะเห็นแก่ลาภ) นี้เป็นมหาโจรประเภทที่ ๔

๕) ภิกษุผู้อวดคุณพิเศษที่ไม่มีจริง ไม่เห็นจริง ชื่อว่าเป็นยอดมหาโจรในโลก เพราะบริโภคก้อนข้าวของราษฎรด้วยอาการแห่งขโมย

ครั้นแล้วทรงติเตียนภิกษุชาวริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทาด้วยประการต่างๆ พร้อมทั้งทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามอวดคุณพิเศษ ที่ไม่มีในตน เมื่ออวดไปแล้ว แม้จะออกตัวด้วยสารภาพผิดทีหลัง ก็ต้องอาบัติปราชิก

อาบัติปราชิกมีอยู่ ๔ ข้อ และถ้าทำผิดเพียงข้อใดข้อหนึ่ง ถือว่าขาดจากความเป็นภิกษุ และจะบวชอีกไม่ได้ตลอดชีวิต

จากเรื่องที่ยกมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า การอวดคุณพิเศษเป็นอย่างไร และอวดแล้วผิดวินัยข้อไหน ทั้งนี้เพื่อให้พุทธบริษัทได้รับรู้และเข้าใจ จะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือ หรือแม้กระทั่งเป็นเหยื่อของมหาโจรพวกนี้ ซึ่งมีอยู่ในวงการสงฆ์ ในลักษณะแอบแฝงเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย และเป็นเหตุหนึ่งในการอ้างเพื่อการทำสังคายนาพระธรรมวินัย

แม้กระทั่งในยุคนี้ ก็พอจะมีให้เห็น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 137 พฤษภาคม 2555 โดย สามารถ มังสัง)

กำลังโหลดความคิดเห็น