xs
xsm
sm
md
lg

ของดีจากพระไตรปิฎก : ทำไม? เมืองไทยไม่มีการบวชภิกษุณี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พระวินัยปิฎก มีจำนวนทั้งหมด 8 เล่ม เล่มที่หนึ่ง และที่สอง ว่าด้วยศีล 227 ข้อ ของภิกษุ และเล่มที่สาม ว่าด้วยศีล 311 ข้อ ของภิกษุณี

เล่มที่สี่ และเล่มที่ห้า ว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับสงฆ์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและต้องทำเสมอ เช่น เรื่องจีวร เรื่องอุโบสถ เรื่องปวารณา และการจำพรรษา เป็นต้น ด้วยเหตุที่ว่าด้วยกิจของสงฆ์สำคัญ จึงเรียกว่า มหาวรรค แปลว่า วรรคใหญ่

เล่มที่หก และเจ็ด ว่าด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับสงฆ์ ซึ่งสำคัญรองลงมา เช่น เรื่องข้อวัตรต่างๆ และเรื่องที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ส่วนเล่มที่แปด เป็นการรวบรวมความรู้ในวินัยปิฎกทั้งเจ็ดเล่มข้างต้น จัดเป็นหมวดหมู่ให้เข้าใจง่าย เรียกว่า ปริวารสมาคมบาลีปกรณ์ประเทศอังกฤษ เรียกมหาวิภังค์ และภิกขุนีวิภังค์ รวมกันว่าสุตตวิภังค์

วินัยปิฎกทั้ง 8 เล่มที่กล่าวมา เป็นการบอกให้รู้ถึงชื่อและเนื้อหาของวินัยปิฎก อันเปรียบได้กับตำราหรือคัมภีร์กฎหมายทางฝ่ายคฤหัสถ์ ซึ่งมีไว้เป็นเครื่องมือในการปกครองสงฆ์สองฝ่าย คือฝ่ายภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์

จากจำนวนของศีลที่ภิกษุและภิกษุณีจะต้องถือปฏิบัติ ดังที่ปรากฏในวินัยปิฎก จะเห็นว่า ศีลของภิกษุณีมีจำนวนมากกว่าของภิกษุอยู่ถึง 84 ข้อ (311-227 = 84) จึงน่าจะทำให้ท่านผู้อ่าน เกิดข้อกังขาว่า วินัยส่วนใดของภิกษุณีที่มากกว่าภิกษุ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้าย้อนไปดูรายละเอียด ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎก ก็พบว่า ศีลของภิกษุณีมีส่วนหนึ่งที่ตรงกับของภิกษุ และมีส่วนหนึ่งได้เพิ่มขึ้นจากของภิกษุ เช่น อาบัติปาราชิก อันเป็นข้อห้ามที่ลงโทษหนักที่สุด ถึงกับขาดจากความเป็นภิกษุและภิกษุณี ส่วนของภิกษุมีเพียง 4 แต่ของภิกษุณีมีโทษหนักถึงขั้นขาดจากความเป็นภิกษุณีมีอยู่ 8 ข้อ

โดยที่ 4 ข้อแรกเป็นศีลของภิกษุณี และเหตุว่า 4 ข้อหลังเหมือนกับ 4 ข้อที่ภิกษุต้องถือปฏิบัติ เป็นต้น และที่เพิ่มเช่นนี้ น่าจะเป็นด้วยเหตุว่า ภิกษุณีจะต้องบวชจากสงฆ์ 2 ฝ่าย คือบวชจากภิกษุณีสงฆ์ก่อน แล้วมาบวชจากภิกษุสงฆ์อีกครั้ง

ดังนั้น ก็เท่ากับว่าจะต้องถือศีล 227 ข้อของภิกษุด้วยพร้อมกันนี้ยังมีข้อที่ภิกษุณีเอง กระทำฝึกและมีพุทธบัญญัติห้ามต่างหากอีก 84 ข้อ

ลักษณะของการบัญญัติพระวินัย มีข้อแตกต่างไปจากกฎหมายบ้างเล็กน้อย กล่าวคือ กฎหมายออกมาเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำผิดส่วนพระวินัยออกมา เพื่อแก้ไขความผิดที่เกิดขึ้นแล้ว และป้องกันมิให้กระทำทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก ทั้งไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิด อันเป็นเหตุให้มีการบัญญัติพระวินัยหรือที่เรียกว่าอาทิกัมมิกะ ผู้เป็นต้นเหตุให้มีการบัญญัติพระวินัยข้อนั้นไม่ต้องรับผิด เพียงแต่ถูกตำหนิติเตียนจากพระพุทธองค์เท่านั้น

นอกจากจะต้องรักษาหรือถือศีลมากกว่าภิกษุแล้ว ภิกษุณี ยังมีกฎเกณฑ์หรือการบัญญัติในการบวชที่ยุ่งมาก และซับซ้อน กว่าภิกษุหลายประการ

เริ่มตั้งแต่ก่อนที่จะเข้ามาบวช จะต้องเข้ามาเป็นนางสิกขมานา คือนุ่งขาวห่มขาว และถือศีล 8 อยู่ระยะหนึ่งก่อน และถ้าสามารถรักษาศีลได้ โดยไม่ด่างพร้อย ก็จะได้รับอนุญาตให้บวชได้ แต่ถ้าศีลขาดข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะต้องเริ่มต้นใหม่

และในการบวชเป็กภิกษุณี จะต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่าย คือทั้งจากภิกษุณีสงฆ์ และจากภิกษุสงฆ์ โดยบวชจากภิกษุณีสงฆ์ก่อน และมาบวชในหมู่ภิกษุสงฆ์อีกครั้ง จึงจะถือว่าเป็นภิกษุณีสมบูรณ์

และด้วยบัญญัติอันเข้มงวดนี้เอง น่าจะเป็นเหตุให้การบวชของภิกษุณีไม่แพร่หลายกว้างขวางออกไปจากประเทศอินเดียเท่ากับภิกษุ และเป็นเหตุให้การบวชภิกษุณีสืบต่อมาถึงปัจจุบันได้ยาก ทั้งนี้ อนุมานได้จากเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะ ดังต่อไปนี้

1. จากการมีข้อห้ามที่ค่อนข้างเข้มงวด และข้ออนุญาตที่มีเงื่อนไขในการเข้ามาบวชเป็นภิกษุณี ดังปรากฏในพระวินัย จึงน่าจะทำให้ผู้ที่มีความอดทนน้อย เฉกเช่นคนในรุ่นหลังที่ความเจริญทางวัตถุเพิ่มขึ้นดังที่เป็นอยู่ จึงทำให้มีผู้เข้ามาบวชน้อยลง แถมที่บวชแล้วก็ออกไปจากเพศและการบวชภิกษุณี จึงทำให้เป็นการยากที่ภิกษุณีสงฆ์จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน

2. เมื่อกาลเวลาผ่านไป เมื่อภิกษุณีเหลือน้อยลง และไม่มีผู้บวชติดต่อกันมา จึงทำให้ภิกษุณีสงฆ์ไม่สืบต่อกัน จึงทำให้การบวชเป็นภิกษุณีเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีภิกษุณีสงฆ์บวชให้

3. จากประวัติการทำสังคายนา ไม่ปรากฏว่ามีการทำสังคายนา ของภิกษุณีสงฆ์ มีแต่การทำสังคายนาของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ทั้งที่ทำในประเทศอินเดียและนอกประเทศอินเดียในยุคต่อๆมา จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า ภิกษุณีสงฆ์ได้หมดไป หรือเหลือน้อยตั้งแต่ก่อนพุทธปรินิพพานแล้ว จึงทำให้การบวชภิกษุณี มีอันต้องยุติไป

แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีการบวชภิกษุณีในประเทศ ศรีลังกา แต่จะมีการบวชสืบต่อกันมาหรือไม่ อย่างไรนั้น ฝากผู้รู้ช่วยเฉลยเรื่องนี้ด้วย แต่สำหรับในเมืองไทย ยืนยันได้ว่าไม่เคยมีภิกษุณีสงฆ์

ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ว่า จะมีการบวชภิกษุณีในเมืองไทย ทั้งๆ ที่มีผู้ศรัทธาและต้องการจะบวชก็ตาม

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย สามารถ มังสัง)

กำลังโหลดความคิดเห็น