xs
xsm
sm
md
lg

ของดีจากพระไตรปิฎก : ที่มาของคำว่า "พระไตรปิฎก"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นครั้งแรกที่บทความนี้ได้เริ่มต้นในนิตยสารธรรมลีลา ดังนั้น ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาตามหัวข้อที่บอกไว้ ผู้เขียน จึงใคร่ขอนำท่านผู้อ่านไปพบกับความหมายของคำว่า “พระไตรปิฎก”

โดยยึดแนวทางการอธิบายจากหนังสือ พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน ซึ่งรวบรวมและเรียบเรียงโดย อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ จัดพิมพ์และจำหน่ายโดย มหามกุฏราชวิทยาลัย
คำว่าพระไตรปิฎก อันเป็นคัมภีร์ของพุทธศาสนา ในทำนองเดียวกันกับไบเบิล เป็นคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ และอัลกุรอาน เป็นคัมภีร์ของศาสนาอิสลาม

โดยความหมายตามตัวอักษร คำว่า “พระไตรปิฎก” หมายถึง กระจาดหรือตะกร้าสามใบ โดยแยกออกเป็นคำได้ ดังนี้

1. ไตร แปลว่า สาม

2. ปิฎก แปลว่า ตะกร้าหรือกระจาด ซึ่งคนทั่วไปใส่ของถือไปมา

โดยนัยนี้ เมื่อใช้กับคำสอน ก็หมายถึง การรวบรวมคำสอนไว้เป็นหมวดหมู่ 3 หมวดด้วยกัน อันได้แก่

• พระวินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ และภิกษุณี

• พระสุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรม เทศนาทั่วๆไป ซึ่งพระพุทธเจ้าสอนโดยการยกบุคคลขึ้นมารองรับในการอธิบายขยายความ หรือที่เรียกว่า บุคคลาธิษฐาน

• พระอภิธรรมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วน ไม่อ้างอิงบุคคลตัวตน เราเขา

ในยุคที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ คำสอนแบ่งออกเป็น 2 หมวด คือ พระธรรมกับวินัย ดังที่ปรากฏอยู่ในพุทธพจน์ที่ตรัสแก่พระอานนท์ ซึ่งได้ทูลถามว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว จะให้ใคร เป็นศาสดาแทน ว่า

พระธรรมและพระวินัยที่เรา (ตถาคต) แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว จะเป็นศาสดาแทน เมื่อตถาคตล่วงลับไปแล้ว (โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว ม มจฺจเยน สตฺถา)

เมื่อพิจารณาจากพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า ไม่มีคำว่าพระอภิธรรมแยกออกไปเหมือนกับที่ปรากฏในคำว่า พระไตรปิฎก จึงทำให้เกิดข้อกังขาว่า อภิธรรมอยู่ที่ไหน และเพิ่มเข้ามาได้อย่างไร

คำตอบเกี่ยวกับประเด็นนี้ พอจะอนุมาน ได้ว่า พระอภิธรรม ในยุคแรก ก็เป็นส่วนของคำสอน ที่รวมอยู่ในคำว่าพระธรรม แต่เป็นส่วนที่ลึกซึ้ง

ดังนั้น จึงมีการแยก ธรรมส่วนนี้ออกมาเป็นหมวดหนึ่งต่างหาก โดยยึดลักษณะแห่งการสอน คือถ้าการสอนโดยยกบุคคลขึ้นตั้ง หรือที่เรียกว่าบุคคลาธิษฐาน ก็จัดเป็นพระสุตตันตปิฎก แต่ถ้าการสอนเป็นปรมัตถ์ คือมุ่งเนื้อหาธรรมะแท้ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล ตัวตน เราเขา หรือที่เรียกว่า ปรมัตถเทศนา ก็จัดเป็นพระอภิธรรมปิฎก

เมื่อมีการเกริ่นให้เข้าใจชื่อของคัมภีร์ โดยสังเขปแล้ว ต่อจากนี้ ผู้เขียนจะได้นำคำสอนทั้งจากพระสูตร พระวินัย และ พระอภิธรรม มาเสนอท่านผู้อ่านเป็น ตอนๆ ไป

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 134 กุมภาพันธ์ 2555 โดย สามารถ มังสัง)

กำลังโหลดความคิดเห็น