xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“แค้น”ฝังหุ่น! “นช.แม้ว”สั่ง ส.ส.แดงรื้อ พ.ร.บ.กลาโหม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ท่วมกลางสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ประชาชนกำลังเดือดร้อนทั่วประเทศ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวเตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 ด้วยข้ออ้างสำเร็จรูปว่า เพราะเป็นกฎหมายที่มาจากการรัฐประหาร

แต่เป้าหมายสำคัญของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ คือการให้อำนาจนักการเมืองเข้าไปล้วงลูกการจัดโผแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับชั้นนายพลได้ตามใจชอบ แทนที่จะเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ตามที่กำหนดในมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบกผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

แนวคิดที่จะแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวถูกนำเสนอออกมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนแล้ว เริ่มจากญาติคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 ไปก่อม็อบคัดค้านโผแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้นายทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตได้เลื่อนตำแหน่ง

จากนั้นก็มีการเปิดแถลงข่าวของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร ว่าทีมกฎหมายของพรรคอยู่ระหว่างการพูดคุย เพื่อเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้ไขต่อไป

นายพีรพันธุ์อ้างว่า ตามกฎหมายเดิม รมว.กลาโหมทำอะไรไม่ได้ มีหน้าที่เพียงหาเงินให้กองทัพอย่างเดียวจะเหมาะสมหรือไม่ อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ออกในยุค สนช. จึงกีดกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องในสภากลาโหม ทำให้เกิดปัญหาจนถึงปัจจุบัน จึงควรเปิดให้ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปร่วมพิจารณาด้วย โดยให้ รมว.กลาโหมมีบทบาทมากกว่านี้

เหตุใดฝ่ายการเมืองจึงต้องการเข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งโยกย้ายในกองทัพ ต้องย้อนไปถึงยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างปี 2544-2549 ซึ่งทำให้การโยกย้ายผู้นำเหล่าทัพกลับมาเป็นประเด็นทางการเมืองอีกครั้ง ด้วยการผลักดันญาติใกล้ชิดและเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) ให้ขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญๆ จนทำให้ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายที่ยึดตามความเหมาะด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ เกิดความปั่นป่วนไปหมด

โดยเฉพาะการแต่งตั้ง พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ลูกพี่ลูกน้องของ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในปี 2546 -2547 ทั้งที่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ มีพื้นฐานการเติบโตมาจากทหารช่างและอยู่ในสังกัดกองบัญชาการทหารสูงสุด ไม่ได้มาจากสายคุมกำลังโดยตรง การข้ามห้วยมาเป็น ผบ.ทบ.จึงเป็นการข้ามหัวและข้ามหน้าข้ามตานายพลแห่งกองทัพบกหลายคนที่มีเป้าหมายของชีวิตที่จะได้นั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.หรืออย่างน้อยก็ 5 เสือ ทบ.ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ

การแต่งตั้งญาติใกล้ชิดและเพื่อนร่วมรุ่นขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพ ในช่วงนั้น ในบางปี จึงถูกถ่วงดุลโดย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในฐานะผู้นำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไท ทำให้การโยกย้ายภายในกองทัพไม่เป็นไปตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณต้องการ เห็นได้จากการโยกย้ายกลางปีงบประมาณ 2549 ซึ่งนายทหารที่มีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณถูกย้ายออกจากตำแหน่งการคุมกำลังเกือบทั้งหมด และทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณถูกยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณมีความรู้สึกแค้นฝังหุ่นต่อ พล.อ.เปรมมาจนทุกวันนี้ จะเห็นว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณพูดถึงการเข้ามาแทรกแซงการบริหารราชการโดย “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” ก็จะพูดถึงเรื่องการเข้ามาแก้ไขโผแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารอยู่หลายครั้ง

อาการแค้นฝังหุ่นต่อกองทัพ นอกจากเกิดขึ้นเพราะการยึดอำนาจวันที่ 19 กันยายน 2549 แล้ว ยังเป็นเพราะบทบาทของกองทัพในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่ก่อเหตุเผาบ้านเผาเมืองสองปีซ้อน ในปี 2552 และปี 2553 ทำให้เป้าหมายการโค่นล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องล้มเหลวลงทั้งสองครั้ง

การได้กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวเป็นร่างทรง มีหรือที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่สางปมแค้นที่ฝังอยู่ในใจตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนายกฯ

แต่อุปสรรคสำคัญในการสางแค้นครั้งนี้ ก็คือ พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหมฯ ซึ่งมีการจัดทำในยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการป้องกันไม่ให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกการจัดทำโผแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารจนเกิดความวุ่นวายเหมือนในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกฯ

แม้จะมีกระแสคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหมฯ จากหลายฝ่ายที่ไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้าไปล้วงลูกการจัดทำโผทหารอีกครั้ง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดงยังไม่ยอมหยุดเรื่องนี้

ทั้งนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานกลุ่ม นปช. และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ระบุตรงกันว่า จะแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกลาโหมฯ หลังจากน้ำลด

ทั้งนี้ นายจตุพรอ้างว่า หลังรัฐประหาร 19 กันยน 2549 มีการพิจารณากฎหมายโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 177 ฉบับที่ผ่านด้วยองค์ประชุมไม่ถึงครึ่ง ซึ่ง พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกลาโหมฯ ก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงเป็นการตรากฎหมายที่มิชอบ โดยหลังน้ำลดจะสังคายนากฎหมาย 177 ฉบับนี้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งว่า หากจะรื้อกฎหมายที่ผ่านสภาด้วยองค์ประชุมที่ไม่ครบก็คงรื้อกฎหมายอีกจำนวนมากที่ออกมาก่อนการรัฐประหาร 2549 ซึ่งผ่านออกมาด้วยองค์ประชุมที่ไม่ครบเช่นเดียวกัน

ขณะที่ นายประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า จะนำเรื่องการดังกล่าวเข้าที่ประชุมของ กมธ.ในสัปดาห์หน้า

แรงกดดันให้แก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกลาโหมฯ ดูเหมือนจะทำให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เกิดความอึดอัดขึ้นไม่น้อย เพราะอีกทางหนึ่ง ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดแรงต่อต้านจากน้องๆ ในกองทัพ แต่อีกทางหนึ่งก็ต้องไม่ขัดความต้องการของนายใหญ่ที่เป็นนายกฯ ตัวจริง

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ ว่า ขอให้คนอื่นพูดกันหมดก่อน จะขอพูดเป็นคนสุดท้าย โดยต้องดูถึงข้อดีเเละข้อด้อย รวมทั้งจุดที่เป็นสมดุลที่สุดเสียก่อน แล้วค่อยพิจารณา โดยต้องสอบถามเจ้ากรมพระธรรมนูญ และเจ้ากรมเสมียนตรา แล้วดูวันเวลาที่เหมาะสม เพื่อนำเรื่องเข้าไปหารือกับสภากลาโหมต่อไป และยังบอกว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ได้ทำให้รัฐมนตรีกลาโหมเป็นแค่ตรายาง อย่างที่นายพีรพันธุ์บอก

ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม พล.อ.ยุทธศักดิ์ มีท่าทีสนับสนุนให้การแก้ไข พ.ร.บ.นี้มากขึ้น แต่ก็ยังพยายามประนีประนอมกับกองทัพอยู่ โดยบอกว่า ฝ่ายที่จะแก้ไขควรต้องศึกษาทุกมาตรา ไม่ใช่ดูเฉพาะมาตราเดียว เพราะยังมีมาตราอื่นที่มีปัญหา และควรจะดูระเบียบ กฎกระทรวงกลาโหมที่เขียนขึ้นจากพระราชบัญญัตินี้ด้วย ถ้าแก้ไขต้องแก้ไขพร้อมกัน และควรดูให้ครบถ้วนแล้วพูดกันทีเดียว แล้วดูว่า จุดสมดุลอยู่ตรงไหน

พล.อ.ยุทธศักดิ์ พยายามตอกย้ำว่า ฝ่ายทหารและการเมืองจะเห็นจุดสมดุล จะเข้าใจกันและไปด้วยกันได้ ซึ่งตนอยู่ตรงกลาง ถ้าเรื่องนี้มาถึงเมื่อไร ตนมีหน้าที่นำเข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหมเพื่อพิจารณาร่วมกันก่อน

นี่ย่อมเป็นสัญญาณว่า มีใบสั่งจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกมาแล้ว ที่จะให้การแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบข้าราชการกลาโหมฯ แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น