xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คนตายไม่ว่าขอให้“ปู”ได้หน้า !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปกติถ้าคนไม่ฉลาดด้านการเรียนหรือการทำงาน มักจะสร้างภาพให้ตัวเองโดดเด่นกว่าคนอื่นเสมอเพื่อลดปมด้อยของตัวเองลง โดยเฉพาะการสร้างภาพของนักการเมือง

ภาพ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ขุดดินใส่กระสอบทราย โชว์ให้ช่างภาพหนังสือพิมพ์ถ่ายรูป ยิ่งแสดงให้เห็นระดับความสามารถของยิ่งลักษณ์ในด้านการบริหาร เหมือนกับคำวิจารณ์ของพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี

“นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องสั่งให้รัฐมนตรีไปนอนกับชาวบ้าน ไม่ต้องตระเวนไปดูน้ำท่วมให้มากนัก เพียงแต่ให้งบประมาณแล้วปล่อยให้หน่วยงานเขาจัดการเพราะสถานการณ์อุทกภัยทุกหน่วยงานต่างทำงานกันอยู่แล้ว อย่าคิดว่ารัฐบาลจะต้องทำดีกว่ารัฐบาลที่แล้ว”

แต่ยิ่งลักษณ์ไม่สนใจคำวิจารณ์ของคนแก่มากประสบการณ์แบบบิ๊กจิ๋ว

มิหนำซ้ำ ยิ่งลักษณ์ยังสร้างภาพด้วยการให้เจ้าหน้าที่ไปรับตัว น.ส.สุพรรณษา โสภาค อายุ 31 ปี ชาว จ.ขอนแก่น พร้อมด้วย “น้องนาย” ด.ช.สุกิจ แสงโสม อายุ 6 เดือน บุตรชายที่พลัดพรากจากกันในระหว่างเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา มาขอบคุณ หลังจากเจ้าหน้าที่ศูนย์คอลเซ็นเตอร์ติด 1111 ติดตามให้ความช่วยเหลือ

แต่กลายเป็นความดีความชอบของยิ่งลักษณ์ โดย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รักษาการ ผบ.ตร. ออกแรงนำตัว น.ส.สุพรรณษา ไปขอบคุณถึง ศปภ.

ต่างกับภาพคุณยายวัย 74 ปี ที่ลอยคอกลางกระแสน้ำมา 3 วัน ที่นครสวรรค์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิ อาสาสมัคร และทหาร...ไม่เห็นมีใครอยากได้หน้าเหมือนยิ่งลักษณ์

ภาพข่าวไม่ได้ใหญ่โตเหมือนยิ่งลักษณ์ ทั้งๆที่การช่วยเหลือก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน

การช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญ แต่ไม่ใช่ “ชุบมือเปิป” สร้างภาพให้เกินจริง เหมือนกับทำความดียิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งประเทศไทยขึ้นาอะไรทำนองนั้น

ช่วยเหลือแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้ข้าราชการมาล้อมหน้าล้อมหลังสรรเสริญเยินยอ ชื่นชม หรือชเลียร์ตั้งแต่เล็บเท้ายันเส้นผม คนดีจริง เขาไม่จำเป็นต้องตีปี๊บว่า ได้ช่วยเหลือใครมาบ้าง แต่คนดีจริง เขาช่วยเหลือคนทุกข์และลำบาก โดยไม่อยากได้รางวัลต่างหาก ต่างกับยิ่งลักษณ์ที่กำลังต้องการรางวัลจากชื่อเสียง ภาพลักษณ์ เหตุผลสำคัญคือ ภาพลักษณ์ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตกต่ำมากที่สุด โดยเฉพาะภาพติดลบในการเป็นนักแก้ปัญหาในสถานการณ์วิกฤติของยิ่งลักษณ์

ยิ่งลักษณ์ ไม่เคยให้สัมภาษณ์หรือแถลงการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ มีเพียงคำว่า “วิกฤตแล้วค้า”

“กำลังทำงานอยู่ค้า” อะไรทำนองนั้น...

การทำงานแบบนี้แหละที่ทำให้เกิดความเสียหายถึง 500,000 ล้านบาท

ภาพรวม ณ วันที่ 10 ตุลาคม มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 30 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี เชียงใหม่ ร้อยเอ็ด ลำปาง เลย นครราชสีมา บุรีรัมย์ กำแพงเพชร และตาก รวม 223 อำเภอ 1,532 ตำบล 10,130 หมู่บ้าน

ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 784,097 ครัวเรือน 2,388,286 คน มีผู้เสียชีวิต 269 ราย สูญหาย 4 คน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 7,528,805 ไร่ บ่อปลาเสียหาย 125,963 บ่อ/กระชัง สัตว์ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 9,795,064 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้รวม 217 สาย แยกเป็น ทางหลวง 59 สาย ใน 15 จังหวัด ทางหลวงชนบท 158 สาย ใน 32 จังหวัด
คนตายเพราะความล่าช้าในการเตือนภัยของรัฐบาล
 

หายนะยังเกิดขึ้นกับภาคเอกชนในนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งที่ จ.พระนครศรีอยุธยา

บริษัทฮอนด้า และโตโยต้า ประกาศหยุดผลิตรถยนต์ เพราะโรงงานผลิตชิ้นส่วนและโรงงานประกอบรถยนต์ในนิคมอุตสหกรรม จมอยู่ในน้ำ

สวนอุตสาหกรรมโรจนะที่อยู่ในความดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมถูกน้ำท่วมทั้งหมด โดยมีพื้นที่ 12,000 ไร่ จำนวน 198 ไร่ จ้างงาน 90,000 คน มูลค่าลงทุนรวม 58,000 ล้านบาท

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมที่เหลือได้แก่ 1) นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ถูกน้ำท่วมไปแล้ว มีพื้นที่ทั้งหมด 2,050 ไร่ มีโรงงาน 43 โรง แรงงาน 14,000 คน มูลค่าลงทุนร่วม 9,472 ล้านบาท 2) นิคมอุตฯบ้านหว้า (ไฮเทค) มีพื้นที่ 2,400 ไร่ มีโรงงาน 143 โรง จ้างงาน 55,000 คน มูลค่าลงทุนรวม 64,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

3) นิคมอุตฯบางปะอิน มีพื้นที่ 1,962 ไร่ 90 โรงงาน แรงงาน 60,000 คน มูลค่าลงทุน 60,000 ล้าน ส่วนใหญ่ผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์

โดยเฉพาะบริษัท ฮอนด้า ออโต้โมบิล ไทยแลนด์ ซึ่งมีโรงงานประกอบรถยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โรงงานนี้ถูกน้ำท่วมเต็มพื้นที่ โดยระดับน้ำภายในตัวโรงงานและรอบนอกมีความสูงเกือบ 3 เมตร เจ้าหน้าที่ของบริษัทสามารถขนย้ายรถยนต์ออกไปได้กว่า 3,000 คัน ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังคงเหลือรถยนต์ที่จอดอยู่ภายในโรงงานอีกประมาณ 200 คัน

“ฮอนด้ามีขั้นตอนการดำเนินการกับชิ้นส่วนและรถยนต์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกมาได้ โดยจะไม่มีการนำมาจำหน่ายให้กับลูกค้าอย่างแน่นอน” เอกสารข่าวของฮอนด้าระบุไว้

“ฮอนด้าได้รับผลกระทบเต็มที่ เพราะมีสต๊อกรถที่นำออกมาไม่ทันหลายร้อยคัน ส่วนงานมหกรรมรถคันแรกนั้น ฮอนด้ายังยืนยันที่จะเข้าร่วมงานเหมือนเดิม แต่อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเปิดรับจองรถได้หรือไม่” พิทักษ์ พฤกธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโต้โมบิล จำกัด บอกกับนักข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ของฮอนด้าในปัจจุบัน

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย แจ้งว่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนบางรายได้รับผลกระทบและไม่สามารถส่งชิ้นส่วนมายังบริษัท เพื่อทำการผลิตรถยนต์ได้

บริษัทจึงมีความจำป็นต้องหยุดการผลิตชั่วคราวสำหรับโรงงานทั้ง 3 แห่งระหว่างวันที่ 12 - 15 ตุลาคม 2554 โดยในขณะนี้บริษัทฯกำลังทำการประเมินสถานการณ์ด้านชิ้นส่วนการผลิต ซึ่งความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่า มูลค่าความเสียหายประมาณ 60,000 ล้านบาท สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ประเมินมูลความเสียหายจะอยู่ที่ 80,000- 90,000 ล้านบาท แต่หอการค้ากลับประมาณว่า ความเสียหายมีมากกว่า 100,000 ล้านบาท

ความเสียหายที่เกิดขึ้นมากที่สุดก็คือ หายนะในอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งกำลังลุกลามไปสู่เฟส 2 ซึ่งมีโรงงานรวมทั้งสิ้น 198 แห่ง จำนวนแรงงาน 90,000 คน มูลค่าลงทุน 58,000 ล้านบาท

ปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโลโลยี ในฐานะประธานฝ่ายปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทักภัย (ศปภ.) ยอมรับความผิดพลาดของรัฐบาลว่า สถานการณ์ในขณะนี้จะต้องพูดความจริงเกี่ยวกับสถานการณ์และปริมาณน้ำในขณะนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาคำนวณน้ำเฉพาะแม่น้ำสายหลัก แต่ไม่ได้คิดจากน้ำบนบกหรือโอเวอร์แลนด์ ซึ่งเป็นน้ำที่เกิดจากน้ำล้นตลิ่ง ถือว่าเป็นการคำนวณที่ผิดพลาดไป

ศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อธิบายข้อเรียกร้องอย่างมีเหตุผลว่า “ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการใน 3 เรื่องเร่งด่วนคือ 1.หามาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตชิ้นส่วนว่าจะรับผิดชอบคำสั่งซื้อ(ออเดอร์)ที่ยังไม่สามารถจัดส่งได้อย่างไร 2.การให้ข้อมูลของรัฐบาลที่ยังล่าช้าและสับสน ที่ผ่านมานักลงทุนมีความเป็นห่วงมาก เพราะรับข้อมูลจากสื่อเพียงด้านเดียวขณะที่ ส.อ.ท.ก็ตอบไม่ได้ว่าจะใช้ข้อมูลอ้างอิงจากที่ไหน 3.การจัดการกับข่าวลือที่ทำให้เกิดความสับสนเช่น กรณีพื้นที่อุตสาหกรรมบางบ่อจะปล่อยน้ำสูง 1.2 เมตร โดยเทศบาลประกาศให้มีการอพยพเร่งด่วน ซึ่งภาคเอกชนไม่ทราบที่มาที่ไปของข่าวจึงเตรียมรับมือไม่ทัน

สอดคล้องกับความเห็นของ“ชลิต ลิมปนะเวช“ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งบอกว่า ปัญหาน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อบรรยากาศและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก เพราะต่างชาติเกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่มีแผนจริงจังในการจัดการปัญหาและมาตรการรับมือ เพราะเมื่อเครื่องจักรในโรงงานเกิดความเสียหายมหาศาล ก็ไม่รู้ว่าจะหาใครมารับผิดชอบในเรื่องนี้ รวมถึงบริษัทที่ไม่ได้ทำประกันอุทกภัยด้วย จึงกลายเป็นสัญญาณสำคัญทำให้นักลงทุนไม่กล้าเข้ามาลงทุนในไทย

“พากร วังศิลาบัตร” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อธิบายถึงความเดือดร้อนว่า ขณะนี้ลูกค้าต่างประเทศที่สั่งออเดอร์สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เตรียมจะไปเจรจาซื้อสินค้าจากประเทศจีน เวียดนามและฟิลิปปินส์แทนผู้ประกอบการใน จ.พระนครศรีอยุธยา เพราะไม่สามารถรอสินค้าจากประเทศไทยได้ เนื่องจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์กำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น

ความเดือดร้อนเหล่านี้ ยิ่งลักษณ์ไม่รับรู้หรอก หากคุณเธอไม่ได้ “หน้า” ในการแก้ปัญหา !!


กำลังโหลดความคิดเห็น