xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ชี้แก้พรบ.กลาโหม แผนทำกองทัพอ่อนแอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"สมเจตน์" ลั่นห้ามแตะ พ.ร.บ.กลาโหม เหตุไม่ไว้ใจนักการเมือง ไล่ไปปรับปรุงตัวให้ดีก่อนคิดมาแทรกแซงกองทัพ ชี้ยุค"แม้ว" ดัน"ชัยสิทธิ์"ขึ้น ผบ.ทบ. เลวร้ายที่สุด จี้ฝ่ายความมั่นคงสอบตั้ง "อำเภอเสื้อแดง" อาจเข้าข่ายเป็นกบฏ ด้านรมว.กลาโหมเตรียมถก ผบ.เหล่าทัพ หาจุดสมดุล ที่ทุกฝ่ายรับได้

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ในฐานะอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมลดลง ว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เพราะวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.กลาโหม ก็เพื่อไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายของทหาร ซึ่งตัวอย่างของการแทรกแซงที่ชัดเจนที่สุดคือ เมื่อสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วผลักดันญาติผู้พี่ของตัวเอง คือพล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ให้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ทั้งที่ไม่มีประสบการณ์ในการบริหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่กองทัพไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเหมือนการทำธุรกิจที่ให้ผู้จัดการสาขาข้ามชั้นขึ้นมาเป็นผู้บริหารองค์กร จึงทำให้ พล.อ.ชัยสิทธิ์ อยู่ในตำแหน่ง ผบ.ทบ.ได้เพียงปีเดียว ก็ต้องไปนั่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ( ผบ.สส. ) แทน เพราะไม่สามารถทำงานได้ แสดงให้เห็นว่า การที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาจัดวางตัวบุคคลในกองทัพ ไม่เหมือนกันทหารมองทหารด้วยกันเอง

ดังนั้นความพยายามของฝ่ายการเมืองครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการทำให้กองทัพอ่อนแอ ซึ่งต้องถามว่า ทำเช่นนี้เพื่อเหตุใด ทีนักการเมืองยังไม่อยากให้กองทัพแทรกแซง เนื่องจากตัวเองไม่อยากเสียอำนาจ แต่ขณะเดียวกันก็พยายามมาแทรกแซงเพื่อลดอำนาจกองทัพ

" ยอมรับว่ากองทัพเป็นหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และต้องอยู่ภายใต้รัฐบาล แต่วันนี้นักการเมืองยังไว้วางใจไม่ได้ คนดีมีน้อยมาก เป็นอย่างนี้แล้วเราจะให้นักการเมืองมาแทรกแซงกองทัพ ก็คงไม่เหมาะสม เพราะยังไม่เห็นว่าหน่วยงานใดที่ถูกการเมืองแทรกแซงแล้วจะเป็นองค์กรที่ดี หากคุณอยากแทรกแซงกองทัพ ต้องไปปรับปรุงตัวเองให้เป็นนักการเมืองที่ดีเสียก่อน ถ้าทำได้ ตัวผมก็ยอมรับ" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

ส่วนกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ต้องมีการรื้อ พ.ร.บ.กลาโหม รวมไปถึงกฎหมายอีก 177 ฉบับ ที่ผ่านความเห็นชอบของสนช. เนื่องจากองค์ประชุมสนช.ไม่ครบนั้น พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า หากกล่าวเช่นนี้ต้องย้อนกลับไปในรัฐบาลทุกสมัย ที่เข้าข่ายลักษณะนี้ เพราะจริงๆ เรื่องนี้เพิ่งมาเกิดขึ้นเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความให้กฎหมาย 3 ฉบับตกไป เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ดังนั้นหากคิดว่าไม่ถูกต้อง ก็ต้องย้อนไปตีความกฎหมายตั้งแต่ในอดีตทุกรัฐบาล อย่ามาเลือกปฏิบัติเฉพาะ 177 ฉบับของ สนช. และหากเป็นเช่นนั้นจริงอยากถามว่า ประเทศชาติจะวุ่นวายขนาดไหน แล้วการที่เลือก พ.ร.บ.กลาโหมขึ้นมาก่อน ก็เพราะต้องการทำลายกองทัพ ใช่หรือไม่

พล.อ.สมเจตน์ ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีการเปิดอำเภอเสื้อแดง ที่ จ.อุดรธานี ว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของอำเภอเสื้อแดง หรือต่อไปจะเป็นจังหวัดเสื้อแดง ดูเหมือนจะเป็นการใช้อำนาจรัฐซ้อนอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และอาจจะเข้าข่ายการเป็นกบฏต่อราชอาณาจักร เพราะประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว มีโครงสร้างหมู่บ้าน อำเภอ หรือ จังหวัดอยู่แล้ว หากคนเสื้อแดงตั้งขึ้นมาอีก ต่อไปผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด จะสามารถปกครองได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นอยากให้ฝ่ายความมั่นคง ตั้งแต่สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย รวมไปถึงกองทัพ เข้าไปตรวจสอบให้ดี ว่าเป็นพฤติการณ์ของกบฏหรือไม่ หากเข้าข่ายต้องจัดการทางกฎหมายโดยด่วน

**ให้สภากลาโหมตัดสินใจ

ด้านพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย เรียกร้องให้แก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ว่า ส่วนตัวยังไม่ได้คิดเรื่องนี้ เพราะเอาเวลาช่วยน้ำท่วมอย่างเดียว ทั้งนี้ปล่อยให้เป็นเรื่องที่ฝ่ายรับผิดชอบพูด และแสดงความคิดเห็นไปก่อน และค่อยมาคุยกันทีหลัง ตนไม่มีปัญหาอะไร แต่หากว่าส่วนใหญ่ ส่วนรวมเห็นอย่างไร ก็ต้องว่ากันไปตามวิถีทางทางการเมืองของเสียงส่วนมาก ปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาฯ อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องของบุคคลคนเดียว

เมื่อถามว่า หากการแก้ไขไม่เป็นไปตามที่เหล่าทัพ ต้องการ จะทำให้เกิดความขัดแย้งกับฝ่ายการเมืองหรือไม่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ฝ่ายที่จะแก้ไข ควรต้องศึกษาพ.ร.บ. ทุกมาตรา ให้ไปดูว่า หากจะแก้ไข ต้องแก้ไขตรงไหนบ้าง ไม่ใช่ดูเฉพาะมาตราเดียว เพราะยังมีมาตราอื่นที่มีปัญหา
เมื่อดูในพ.ร.บ.แล้วควรดูระเบียบ กฎกระทรวงกลาโหม ที่เขียนขึ้นจากพ.ร.บ.นี้ด้วย เป็นการศึกษาครอบคลุมให้หมด ถ้าแก้ไขต้องแก้ไขพร้อมกัน ซึ่งการดำเนินการต้องทำเพื่อส่วนรวม และ ควรดูให้ครบถ้วนแล้วพูดกันทีเดียว แล้วดูว่าจุดสมดุลอยู่ตรงไหน ตนเชื่อว่าฝ่ายทหาร และการเมือง เห็นจุดสมดุลที่เกิดขึ้น จะเข้าใจกัน และไปด้วยกันได้ อย่าเอียงขวา หรือ เอียงซ้ายมากเกินไป ซึ่งตนอยู่ตรงกลาง ถ้าเรื่องนี้มาถึงเมื่อไร ตนมีหน้าที่นำเข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหมเพื่อพิจารณาร่วมกันก่อน

** จวกพท.ดึงต่างชาติมาจุ้นไทย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงส.ส.เพื่อไทย และกลุ่มเสื้อแดงพยายามผลักดัน เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.การจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เข้าสภาฯ ในสัปดาห์หน้า ว่า ไม่แน่ใจว่าสัปดาห์หน้าจะประชุมได้หรือไม่ เพราะได้มีการยกเลิกประชุมร่วมรัฐสภาไปแล้ว แต่ต้องการย้ำว่า ในขณะนี้น่าจะมาช่วยกันดูแลแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัย และหลายเรื่องที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ก็ยังไม่ควรทำ แม้จะเป็นสิทธิก็ตาม

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กลุ่มเสื้อแดงที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ไม่ใช่คนส่วนใหญของกลุ่มเสื้อแดง และการที่ออกมาพูดในลักษณะนี้ ถือว่าเสื้อแดงให้ความสำคัญกับการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม สำคัญกว่าการที่ประชาชนเดือดร้อนสาหัสที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ การที่เชิญนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศของคนเสื้อแดง มาร่วมแถลงข่าว ในเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหมด้วยนั้น ถือเป็นการเชิญทนายต่างประเทศมาทำร้ายคนในประเทศ ขณะที่พี่น้องที่อยู่ข้างท่านส่วนหนึ่ง ลอยคออยู่กลางน้ำ อย่างนี้หรือที่บอกว่าจริงใจในการแก้ไขปัญหาของประชาชน จึงไม่แน่ใจว่าสติสัมปชัญญะยังครบอยู่ดีหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น