xs
xsm
sm
md
lg

พท.คาดจีดีพีหดแสนล้าน เล็งทุ่มงบจัดการ25ลุ่มน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"เพื่อไทย" เผย จีดีพี หายแสนล้าน บ้านจมน้ำสูญ 5 แสนล้าน เตรียมทุ่ม 4 แสนล้าน พัฒนา 25 ลุ่มน้ำ ทำแกล้มลิง บริหารน้ำหมื่นล้าน ลบ.ม. ต้นตอน้ำท่วม ด้าน"เลขานายกฯ" บอกเงินหมด ช่วยน้ำท่วมไปแล้วกว่า 2 พันล้าน ขณะที่ฝ่ายค้าน-รัฐบาล ยังเห็นต่างเรื่องการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่วิกฤติ อ้างประกาศไปน้ำก็ไม่ลด

นายสุชาติ ธาดาดำรงเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และทีมเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า จากการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจ พบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี หายไป 100,000 ล้านบาท และความเสียหายของทรัพย์สินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน และบ้านเรือนประชาชนเสียหาย 500,000 ล้านบาท และยิ่งสถานการณ์ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปี 2555 ทางรัฐบาลเตรียมจะมีแผนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เบื้องต้นจะจ้างงานผู้ที่เข้ามาเป็นอาสาสมัคร ช่วยอุทกภัยในอัตราค่าจ้างที่สูง เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ และจะเน้นการตัดงบประมาณประชาสัมพันธ์ และการเดินทางไปดูงาน
หรือเที่ยวของหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นโครงการฟุ่ยเฟือย เพื่อนำเงินดังกล่าวมาฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ

ทั้งนี้ ความเสียหายของภาคเอกชนที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค เบื้องต้นทางรัฐบาลจะช่วยเหลือเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะส่วนใหญ่ภาคเอกชน ทำประกันภัยพิบัติไว้อยู่แล้ว

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ในการฟื้นฟูเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนนั้น เดิมทีหากบ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง จะต้องได้รับเงินชดเชย 30,000 บาท ต่อหลังคาเรือน แต่อาจจะเพิ่มเงินชดเชยเป็น 50,000 บาท หรือไม่อย่างไรจะต้องมีการหารือกันก่อน อีกทั้งทางรัฐบาลได้กู้เพิ่ม 100,000 ล้านบาทนั้น เบื้องต้นจะมาดำเนินโครงการ SML และกองทุนหมู่บ้าน เนื่องจากโครงการดังกล่าว กระจายเม็ดเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว

** เล็งใช้ 4 แสนล.จัดการ25 ลุ่มน้ำ

สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาภัยพิบัตินั้นเห็นว่าควรจะเน้นการบริหารจัดการ เพื่อลดปริมาณน้ำส่วนเกินจากธรรมชาติ ที่ปัจจุบันมีอยู่ ประมาณ10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ด้วยการทำโครงการเมกะโปรเจกต์ บริหารจัดการ 25 ลุ่มน้ำ มูลค่า 400,000 ล้านบาท และดำเนินการแก้มลิงธรรมชาติ ด้วยการขุดลอกอ่างเก็บน้ำ เชื่อมแม่น้ำต่างๆให้น้ำไหลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลจะเดินหน้าในอนาคต

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการตั้งงบประมาณปี 2555 ที่ส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยวและการส่งออก รัฐบาลมีแผนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เบื้องต้นตั้งงบประมาณฟื้นฟู 80,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่หักมา 10 เปอร์เซ็นต์ จากงบประมาณแต่ละโครงการที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็น เพื่อนำมาฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงเรียน วัด บ้านเรือน และหน่วยงานราชการ

ทั้งนี้ ทางรัฐบาลยืนยันว่า นโยบายที่ประกาศหาเสียงไว้ จะไม่มีการยกเลิกหรือชะลอไว้แม้แต่โครงการเดียว เพื่อจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนให้เห็นว่า รัฐบาลต้องการนำมาตรการดังกล่าวมากระตุ้นเศรษฐกิจ และเตรียมจะลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์หลายโครงการ รวมถึงโครงการที่จะแก้ไขปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

**ช่วยน้ำท่วมไปแล้วกว่า 2 พันล้าน

นายบัณฑูร สุภัควณิช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-10 ต.ค. ได้ใช้งบประมาณเงินสำรองฉุกเฉินไปแล้วทั้งสิ้น 2,634 ล้านบาท และยังกันเงินสำรองอีก 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการที่เชื่อมั่นว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ได้ไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้

ทั้งนี้ หลักการในการเบิกจ่ายงบประมาณ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง หรือหน่วยงานต้นสังกัด สามารถบูรณาการการเบิกจ่ายภายในศูนย์ ศปภ. ที่สามารถอนุมัติได้อย่างรวดเร็ว และยืนยันว่าไม่มีปัญหาการเบิกจ่ายรั่วไหล

อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบประมาณมีอยู่ 2 ส่วน คือ 1.งบประจำของหน่วยงานนั้นๆ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมชลประทาน หรือแม้แต่กองทัพ ที่มีงบประจำอยู่เดิม แต่หากไม่เพียงพอ สามารถมาขออนุมัติจาก ศปภ.ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผู้อำนวยการ ศปภ. ที่มีอำนาจเบิกจ่ายได้

** ปชป.ย้ำต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์ ขอยืนยันว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษอย่างพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะในบางพื้นที่ถือว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการใช้กฎหมายพิเศษไม่ใช่เกิดจากการบริหารจัดการคน หรือต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย แต่เรากำลังต่อสู้กับภัยธรรมชาติ ปริมาณน้ำที่มีจำนวนมาก การประกาศกฎหมายพิเศษ จะทำให้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางต่างๆให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้รัฐบาลอาจจะบอกว่า ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่การร่วมมืออย่างเต็มที่ตอนนี้ การบังคับใช้กฎหมาย และอำนาจต่างๆ ก็ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ส่วนรื่องการจัดตั้งศูนย์อพยพนั้น เราก็ยืนยันว่า มีความจำเป็นมาก โดยเฉพาะที่ จ.ปทุมธานี อยุธยา รอบนอกฝั่งตะวันออกของ กทม. ที่เสี่ยงมีอันตรายมากขึ้น ดังนั้น การตั้งศูนย์อพยพที่เพียงพอ ควรรีบจัดเตรียม เพราะได้ยินว่ารัฐบาลจะจัดเตรียมมา กว่า 2 วันแล้ว ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า ขอเตือนว่า อย่ารอให้เกิดสถานการณ์ที่ประชาชนต้องออกจากบ้านกันอย่างโกลาหล และอยากให้มีการจัดแผนอพยพให้ชัดเจน กำหนดจุดรวมพล และเส้นทางแต่ละพื้นที่ ไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก หากต้องอพยพฉุกเฉิน โดยการแจกแผนการอพยพให้ผู้นำชุมชน

นอกจากนี้ อยากให้ไปตรวจสอบเรื่องของโจรผู้ร้ายในการแย่งชิง อาหาร น้ำดื่ม อย่าไปพูดว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่อาจต้องเกิดขึ้นในบางพื้นที่ อยากถามว่าความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน อยู่ที่ไหน สถานการณ์อย่างนี้รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล รวมทั้งจัดหาเสบียงอาหาร และน้ำให้เพียงพอกับประชาชนด้วย

**โวย ศปภ.ให้ข่าวทำชาวบ้านสับสน

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรมต.ประจำสำนักนายกฯ เงา กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาลว่า แม้นายกฯจะมีความตั้งใจ แต่น่าเสียดายที่นายกฯไม่มีพื้นฐานความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จึงขาดข้อมูลในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา ได้แต่รับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย จนเกิดความสับสน ทำให้ขาดการบูรณาการในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชน ของฝ่ายประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ที่ไม่มีเอกภาพ ไปคนละทิศคนละทาง ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกจากข่าวลือมากกว่าข่าวจริงของรัฐบาล

นอกจากนี้ การทำงานของ ศปภ.) ที่มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นประธานนั้น ไม่สามารถรวมศูนย์ข้อมูลและการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลชุดนี้ใช้คนไม่ถูกกับงาน เพราะ พล.ต.อ.ประชา ไม่เคยมีความรู้ด้านการบริหารจัดการแก้ปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติมาก่อน ซึ่งในรัฐบาลชุดนี้ยังมีบุคคลที่มีความเหมาะสมในระดับรองนายกฯ อีกหลายคน เช่น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เคยเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย มีประสบการณ์ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ประชาชนมาก่อน และ กลไลของรัฐในการแก้ปัญหาประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในสังกัดมหาดไทย ตั้งแต่ตัวผู้ว่าราชการจังหวัด จนถึงผู้ใหญ่บ้าน

หากรัฐบาลจะมอบความไว้วางใจให้กับ พล.ต.อ.ประชา ในการแก้ปัญหาครั้งนี้ ก็ต้องตั้งคำถามว่า แล้วคนอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่มีประสบการณ์ทางด้านการเมืองมายาวนาน ก็สามารถที่จะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ได้ดี อยากให้รัฐบาลชุดนี้ มีความเป็นเอกภาพในการแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ การมอบหมายให้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาลตร์ และเทคโนโลยี ไปดูแลเรื่องการขุดคูคลอง ทั้งที่น่าเป็นความรับผิดชอบของนายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ แต่ถ้ายังมีความคิดแบ่งแยก ระหว่างพรรคแกนนำกับพรรคร่วมรัฐบาล ในการแย่งชิงบทบาทกัน ยังเล่นการเมืองกัน ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ที่ยังใจสถานการณ์น้ำท่วมมาเล่นเกมการเมืองกัน "อยากให้ข้อมูลของรัฐ มีความเป็นเอกภาพ ถูกต้องชัดเจน และควรที่จะกำชับไม่ให้นักการเมือง หรือ ส.ส.ในฝ่ายรัฐบาลที่ไม่มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ออกมาเสนอหน้าสร้างภาพ ให้กับตัวเอง สร้างความเอือมระอาให้กับประชาชน และเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนที่มีอยู่ขณะนี้อีกด้วย" นายเทพไท กล่าว

** เย้ย พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ช่วยให้น้ำลด

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ว่า กฎหมายดังกล่าว มีไว้สำหรับควบคุมสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐได้ปฏิบัติงานได้อย่างสะดวก แต่กรณีน้ำท่วม ไม่ปรากฏว่ามีการต่อต้าน ขัดขวาง หรือไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ หรือก่อให้เกิดความวุ่นวาย ยากแก่การควบคุมแต่อย่างใด รัฐบาลไม่มีพื้นฐานความคิดจากประเด็นการเมืองแม้แต่น้อย และไม่เกี่ยวว่าแกนนำรัฐบาล อย่างพรรคเพื่อไทย จะมีอคติกับกฏหมายดังกล่าวจากการที่รัฐบาลชุดก่อน เคยประกาศใช้เพื่อปราบปรามมวลชนคนเสื้อแดง จนเกิดเหตุจลาจล

ในทางกลับกัน ถ้าประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วทำให้น้ำลดลงอย่างรวดเร็ว แก้ปัญหาได้หมดจด เบ็ดเสร็จ รัฐบาลก็ไม่มีเหตุที่จะไม่ประกาศ แต่ข้อเท็จจริงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการประกาศหรือไม่ประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเพียงอย่างเดียว

" ขณะนี้รัฐบาลมั่นใจว่า ได้ให้ข้อมูลที่แท้จริง ครบถ้วน รอบด้านแก่ประชาชน แต่การชี้ชัดว่าพื้นที่ใดน้ำจะท่วม หรือไม่ท่วมนั้น บางครั้งต้องมีข้อมูลแวดล้อมมาก การประกาศหรือแจ้งเตือนที่เกินกว่าเหตุ เกรงว่าอาจก่อให้เกิดการความตื่นตระหนก วุ่นวาย และขอความเห็นใจ วันนี้คนไทยทั้งประเทศกำลังช่วยกันทำสงครามกับน้ำ หรือ Water War อย่าให้ถึงขั้นทำ Air War ช่วงชิงพื้นที่ข่าวกันเลยครับ" นายอนุสรณ์ กล่าว

** แนะสร้างกำแพงป้องกันน้ำทะเลหนุน

วานนี้ ( 13 ต.ค.) นักศึกษาหลักสูตรนักบริหารการยุติธรรมทางปกครองระดับสูง (บยป.) รุ่นที่ 2 ของสำนักงานศาลปกครอง ได้จัดกิจกรรมส่งมอบเรือ และสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี และปทุมธานี โดยมีนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธาน

โอกาสนี้ นายหัสวุฒิ กล่าวว่า อยากเห็นการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว เพราะที่ผ่านมาเรามักจะประสบปัญหาอุทกภัยแทบทุกปี แต่ฝ่ายบริหารไม่เคยคิดแก้ไขปัญหาแบบระยะยาว เนื่องจากหวังงบประมาณรายปี คิดเพียงแค่แก้ปัญหาแบบขอไปที ซึ่งเป็นความคิดที่แย่ และก็ไม่ได้รักประเทศจริง ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสร้างกำแพงกั้นน้ำทะเลรอบอ่าวไทย เพื่อป้องกันปัญหาน้ำทะเลหนุน เพราะปีนี้ยังเกิดอุทกภัยหนักขนาดนี้ แล้วปีหน้า หรือปีต่อไปจะหนักขนาดไหน รวมทั้งรัฐบาลต้องจริงจังในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า โดยขับเคลื่อนนโยบายที่สามารถทำได้จริง ผู้บริหารประเทศจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลมากกว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น