xs
xsm
sm
md
lg

จาก “ บางระกำโมเดล “ ถึง “ ศปภ” นี่หรือภาวะผู้นำ ??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกพี่ชายชักขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้นำหมายเลข 1 เพียงสองเดือน ก็ต้องเจอกับ น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี เป็นภัยธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ ที่สั่งสมกันมานานหลายทศวรรษ โดยไม่มีรัฐบาลไหนในอดีตจนถึงปัจจุบัน ให้ความสนใจ แก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างจริงจัง

โชคร้ายของยิ่งลักษณ์ที่ปัญหามาปะทุเอาในช่วงที่เธอเป็นนายกฯ เป็นปัญหาที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เธอจึงไม่ได้ถูกเขียนโปรแกรมสั่งไว้ว่า จะต้องทำอะไรบ้างจน อยุธยาล่มแล้ว จึงคิดได้ว่าต้องทำอะไรสักอย่าง นั่นแหละศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หรือ ศปภ. จึงเกิดขึ้น

ตลอดระยะเวลาสองเดือนที่ลุ่มน้ำภาคเหนือ และลุ่มน้ำภาคกลางเกิดน้ำท่วม รัฐบาล ที่มียิ่งลักษณ์เป็นผู้นำ ได้แสดงให้สังคมได้เห็นแล้วว่า ไมได้ใส่ใจกับปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนเลย มีแต่การสร้างภาพ สร้างวาทกรรมหรูๆ อย่าง “บางระกำ โมเดล” “ สองพี สองอาร์” การโยนความผิดไปให้รัฐบาลชุดที่แล้วว่า ใช้งบช่วยน้ำท่วมจนหมด จึงไม่มีเงินช่วยเหลือประชาชน และการ “ เล่น” ประชุม วิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ วันละครึ่งชั่วโมง กับผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกเช้า ติดต่อกันเพื่อสร้างภาพให้ประชาชนเห็นว่าได้ทำงาน แก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว

เทียบไมได้เลยกับ การแก้ปัญหาให้ นช.ทักษิณ ชินวัตร พ้นผิด ไม่ต้องติดคุก ที่ทำกันอย่างฉับไว ประสานงาน รับลูกส่งลูกกันอย่างเป็นระบบ เดินงานกันเป็นขั้นตอน ระดมกลไกทั้งนักการเมือง ข้าราชการ นักวิชาการ และสื่อ ช่วยผลักดันกันเต็มที่

ปัญหาน้ำท่วม รุนแรง โทษรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไมได้ เพราะเป็นภัยธรรมชาติ เป็นเรื่องสุดวิสัย แต่การแก้ปัญหาความเดือดร้อน จากน้ำท่วมเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลได้แสดงให้เห้นแล้วว่า ไม่มีความรับผิดชอบและทำงานไม่เป็น

ศปภ. กลายเป็นศูนย์รับบริจาคเงิน สิ่งของ ช่วยผู้ประสบอุทกภัย งานหลักคือ การประกาศ เชิญชวนให้คนมาบริจาค ระดมคนมาช่วยแพ็คของใส่ถุงยังชีพ

นายกรัฐมนตรี กลายเป็นผู้ประกาศเตือนภัย แข่งกับศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติว่า วันไหนฝนจะตก พายุจะเข้า น้ำทะเลจะหนุนและสั่งการแบบไม่เข้าท่า แสดงถึงความไม่ประสีประสา เช่น สั่งให้ขุดลอกคลอง เพื่อระบายย้ำภายใน 7 วัน เป็นต้น

ศปภ, จะมี ประโยชน์มากกว่านี้ หากรู้จักจัดลำดับความสำคัญของภารกิจ ให้ความสำคัญกับ การจัดการด้าน การขนย้าย อพยพ ประชาชน และเอาความช่วยเหลือไปให้ถึงมือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ใช่ให้ชาวบ้านต้องลุยน้ำ อย่างทุลักทุเล เสี่ยงตาย มารับน้ำดื่ม อาหารเองทุกวัน

ใครดูข่าวทีวี ที่ส่งนักข่าวลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ที่จมน้ำ ก็จะเห็นได้ว่า พวกเขาต้องช่วยตัวเอง ไม่มีมือของรัฐยื่นไปช่วยเหลือเลย เหตุการณ์ที่มีผู้เคราะห์ร้ายถูกไฟดูดตาย บริเวณหน้านิคมอุตสาหกรรมโรจนะ เพราะการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไม่ส่งคนมาตัดไฟ โดยอ้างว่า กำลังคนไม่พอ ก็แสดงให้เห็นว่า คำว่า “บูรณาการ” ที่ยิ่งลักษณ์ชอบพูดนั้น เป็นเพียงคำพูดเท่านั้น

เหตุที่ ศปภ. เป็นได้เพียงศูนย์รับบริจาค และสถานีโทรทัศน์ที่รายงานข่าวน้ำท่วม เท่านั้น ก็เพราะว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โครงสร้างของ ศปภ. นั้น ก็ฟ้องตัวเองอยู่แล้ว ยิ่งลักษณ์ตอบได้ไหมว่า ทำไมเรื่องใหญ่ขนาดที่ตัวเองยังประกาศว่า เรื่องน้ำท่วมเป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่ยอมเป็นประธาน ศปภ.เอง กลับมอบหมายให้พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งไม่ได้มีอำนาจกำกับหน่วยงานที่ดูแล การบรรเทาภัยน้ำท่วมเลย เป็นประธานแทนที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่เป็นผู้บังคับบัญชา ผู้ว่าราชการจังหวัด

เมื่อดูองค์ประกอบของคณะกรรมการ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเฏษตรซึ่งคุมกรมชลประทาน ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มีอำนาจสั่งการ 3 เหล่าทำ ให้ระดมพลลงไปช่วยเหลือประชาชนได้ ก็ยิ่งสะท้อนไปถึงตัวนายกรัฐมนตรีว่า นอกจากใจไม่รักกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังทำงานไม่เป็นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น