xs
xsm
sm
md
lg

ขรก.บ้านน้ำท่วมสุดเซ็ง! “ปู”เมินให้วันหยุด ปัดประกาศฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รัฐสภา สั่งงดประชุม 3 วัน ให้ ส.ส.-ส.ว.ลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วม แต่ “ข้าราชการบ้านน้ำท่วม” สุดเซ็ง! “ครม.”เมินข้อเสนอประกาศ 12-15 ต.ค.เป็นวันหยุดราชการ แถมยังไม่กล้ารับข้อเสนอ “ประกาศภาวะฉุกเฉิน เขตน้ำท่วม” เผย รมว.ท่องเที่ยว กลัวตปท.ตื่นตระหนก “เติ้ง” นำทีมจวกเด็กพท.

วานนี้ (11 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รักษาราชการแทนประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้หารือกับ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ติดภารกิจอยู่ที่ต่างประเทศ และ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภาถึงวิกฤติการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ และเห็นตรงกันว่า ส.ส.และ ส.ว.มีความจำเป็นต้องเข้าไปดูแล และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จึงของดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12-13 ต.ค. รวมทั้งงดการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 17 ต.ค.นี้

ด้าน นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในส่วนของการประชุมคณะกรรมมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรนั้น จะมีการประชุมกันตามปกติ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมมาธิการว่า จะพิจารณาอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกระแสข่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาประกาศให้วันที่ 12 - 15 ต.ค นี้เป็นวันหยุดราชการนั้น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมว่าให้เป็นดุลย์พินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณา โดยไม่ให้กระทบต่อโควต้าของใช้สิทธิ์วันหยุด-ลา และเรื่องดังกล่าวไม่จำเป็นที่จะต้องประกาศเป็นมติครม.

“ ไม่อนุมัติให้.เป็นวันหยุดราชการตามที่บางฝ่ายเสนอ โดยเห็นว่าควรให้หน่วยงานในแต่ละท้องถิ่นพิจารณาเอง”รายงานข่าวระบุ

ก่อนหน้านี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวแล้ว ไม่อยากจะให้ข้าราชการหยุดทั้งหมด เพราะหากข้าราชการหยุดงานแล้ว จะไม่มีใครจะมาคอยมาดูแลประชาชน แต่ยืนยันว่าอาจจะให้มีการหยุดในส่วนของผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาเราได้ระดมข้าราชการจากทุกภาคส่วนทั้งในจังหวัดที่มีประสบภัยน้ำท่วม และจังหวัดที่ไม่มีน้ำท่วม มาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอยู่แล้ว

นายชุมพล ศิลปอาชา รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ให้หน่วยงานท้องถิ่นพิจารณาตามความเหมาะสม และเจ้าหน้าที่รัฐสามารถลาไปช่วยเหลือน้ำท่วมได้

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ครม. ยังเห็นว่าไม่ควรประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) พ.ศ.2548ด้านอุทกภัย โดยเฉพาะนายชุมพล อ้างว่า จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติตื่นตระหนก โดยยืนยันว่าขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ได้รับผลกระทบ ประเมินจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาทางสุวรรณภูมิยังอยู่ที่ 4 หมื่นคนต่อวันเท่าเดิม ส่วนเป้ายังคงอยู่ที่ 19 ล้านคนเช่นเดิม ยังไม่มีการปรับลดเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติ

ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงว่าขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล 3 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้รัฐบาลได้พูดความจริง และให้ข้อมูลที่ครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง 2.ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา บรรเทาทุกข์ให้แก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลแก้ไขปัญหาได้อย่างล่าช้า ไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ ซึ่งขาดการบูรณาการในพื้นที่ส่วนหน้า ในรูปศูนย์บริการครบวงจร ขาดแผนงานป้องกันที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ที่น้ำยังไม่ท่วม และยังขาดแผนการรองรับการอพยพประชาชนที่มีประสิทธิภาพ 3.ขอให้เร่งรัดกำหนดมาตรการในการเยียวยาภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักในขณะนี้ ทั้งในส่วนของโรงงานนิคมอุตสาหกรรมและผู้ใช้แรงงาน

นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวตอบโต้กรณีที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่ากรมชลประทานทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถในการควบคุมน้ำตลอด 24 ชม. แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากปริมาณน้ำที่มีจำนวนมหาศาลไหลมาทางตอนเหนือแต่นายกรัฐมนตรีก็ยังสามารถเข้ามาสั่งงานกรมชลประทานได้ทุกเรื่อง ในฐานะผู้นำประเทศ อยากให้นายนพดลมาดูปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าใครไม่รู้ปัญหาจริงก็จะไม่เข้าใจทั้งหมด

ส่วนที่หลายฝ่ายออกมาโจมตี จ.สุพรรณบุรี ว่าน้ำไม่ท่วม ก็อยากให้คนที่พูดตื่นมาดูความเป็นจริงได้แล้ว เพราะ จ.สุพรรณบุรี ได้รับผลกระทบเช่นกัน ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนมาทำงานก็แก้ปัญหาไม่ได้ ต่อให้มี 10 รัฐบาลก็รับมือไม่ไหว และไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะประกาศให้สถานการณ์น้ำท่วมเป็นภาวะภัยพิบัติหรือการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นการสร้างความตื่นตระหนกเกินจำเป็น

ด้านกลุ่มส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมแถลงข่าวตอบโต้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ระบุว่า การที่ไม่ยอมปล่อยน้ำเข้าท่วม จ.สุพรรณบุรี เป็นสาเหตุที่เกิดอุทกภัยใหญ่ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น ไม่อยากให้การอภิปรายในสภาฯเป็นเครื่องมือทิ่มแทงฝ่ายตรงข้าม รวมถึงมีนักการเมืองบางคนสร้างความแตกแยกทางสังคมซ้ำเติมขึ้นมาอีก เพียงต้องการสร้างคะแนนนิยมส่วนตน
กำลังโหลดความคิดเห็น