หน.ประชาธิปัตย์รับน้ำท่วมยืดเยื้อ พร้อมร่วมรัฐแก้ปัญหา เผย ส.ส.รวมเงินบริจาคช่วย 5 ล้าน วอนชาวบ้านร่วมมือรัฐ หนุนตั้ง ศปภ.แต่ยุบกรรมการอื่นทิ้ง แนะประสานสื่อแจ้งข้อมูลเตือนภัย-อพยพ พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินบางพื้นที่ ทบทวนกรอบงบปี 55 แนะแปลงโครงการรถคันแรกมาฟื้นฟูประชาชน ชี้ควรเป็นเจ้าภาพบริหารสถานการณ์แต่ละส่วน
วันนี้ (10 ต.ค.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวภายหลังการประชุม ครม.เงานัดพิเศษว่า พรรคประชาธิปัตย์ห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบและจากการประเมินสถานการณ์คิดว่าจะยืดเยื้อ มีหลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะเสี่ยง โดยยืนยันพรรคจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลแก้ปัญหา เมื่อรัฐบาลเปิดศูนย์ที่ดอนเมืองบูรณาการการทำงาน สถานการณ์จะหนักขึ้น ทั้งนี้ยังเห็นว่า ส.ส.ของพรรคควรมีส่วนร่วมในการช่วยประชาชนบริจาคเงินทั้งพรรคยอดอยู่ที่ 5 ล้านบาท สมทบช่วยประชาชนน้ำท่วม โดยเห็นว่าขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ประมาทไม่ได้ เพราะในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ลงมาสถานการณ์หนักหน่วงไล่ลงมาถึงกรุงเทพฯ และห่วงปริมาณน้ำที่บางไทรระดับน้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ตัวเลขราชการไม่สอดคล้องกันทำให้ประเมินว่าน้ำที่ไหลผ่านน่าจะสูงกว่าที่วัดโดยกรมชลประทาน จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ขอให้ประชานอย่าตื่นตระหนกให้ความร่วมมือกับรัฐบาล
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ครม.เงามีคำแนะนำถึงรัฐบาลดังนี้ 1.การบริหารนโยบายส่วนกลาง ครม.เงาหนุนตั้งศูนย์ที่ดอนเมือง แต่ขอให้ยุบกลไกและคณะกรรมการที่ไม่จำเป็นพราะทำให้เกิดความสับสน ล่าช้าในเรืองการรายงานของเจ้าหน้าที่ จึงควรกระชับโครงสร้างการทำงานให้ศูนย์ที่ดอนเมืองมีอำนาจตัดสินใจได้อย่างแท้จริง 2.การบริหารจัดการระดับพื้นที่โดยเฉพาะการป้องกัน อพยพ อยากให้มีการจัดการเรื่องระบบบริหารส่วนหน้า ที่ยังขาดอยู่ ตั้งแต่การเตือนภัย มีข้อมูลให้ประชาชนอย่างครบวงจรผ่านการประสานงานกับสื่อมวลชน 3. การตัดสินใจบางเรื่องและการใช้อำนาจบางด้าน รัฐบาลอาจต้องพิจารณาประกาศภาวะฉุกเฉินบางพื้นที่ตามความเหมาะสม เพราะการแก้ปัญหาหลายพื้นที่มีความยากลำบากโดยเฉพาะการบริหารพื้นที่และการเคลื่อนย้ายคนหากใช้กฎหมายนี้จะทำให้การบริหารง่ายขึ้น
“รัฐบาลต้องประเมินจากข้อมูลที่มีว่าพื้นที่ไหนจำเป็น ไม่อยากให้รัฐบาลลังเลว่าถ้าใช้กฎหมายพิเศษจะกระทบภาพลักษณ์ เพราะการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต้องถือเป็นความสำคัญสูงสุด เพราะขณะนี้ภาพน้ำท่วมปรากฏในต่างประเทศอยู่แล้วทการบริหารจัดการป้องกันให้สถานการณ์คลี่คลายจะสร้างความเชื่อมั่นมากกว่า จึงไม่ควรกังวลในเชิงภาพลักษณ์ เพราะถ้าบริหารดีความเชื่ออมั่นจะมาเอง ส่วนการฟื้นฟูเสนอว่าให้รัฐบาลทบทวนกรอบงบประมาณปี 55 เพื่อกันเงินใช้ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบเพราะไม่ได้จัดไว้อาจจะเกิดไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง พร้อมยกตัวอย่างนโยบายที่ควรยกเลิก เช่น โครงการรถยนต์คันแรก ที่ต้องใช้เงิน 3 หมื่นล้านบาท ควรนำเงินดังกล่าวมาฟื้นฟูช่วยเหลือประชาชนดีกว่า” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดเจ้าภาพที่ชัดเจนในการบริหารสถานการณ์ในแต่ละส่วน เช่น การจัดหาทราย รัฐบาลต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจนทั้งการจัดหาและจัดสรรอาจให้ รมว.อุตสาหกรรม ดูแลอีกทั้งในสถานการณ์นี้บางพื้นที่ต้องดูแลเป็นพิเศษขณะที่บางพื้นที่ต้องรับภาระ การมีโครงสร้างพื้นที่ที่ต้องดูแลชัดเจน เช่น พื้นที่เศรษฐกิจ หน่วยบริการประชาชน ก็จะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพมากกว่า ทั้งนี้ในส่วนของ กทม. ส.ส.ของพรรคจะหารือกับ กทม.ดูแลชุมชนริมน้ำ กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกและในเรื่อง ขีดความสามารถการระบายน้ำ กทม.ต้องบริหารจัดการร่วมกับรัฐบาล