xs
xsm
sm
md
lg

ระดมพลป้องนิคมฯ หวั่นน้ำท่วมบานปลาย กระทบทุน1.2ล.ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- กระทรวงอุตสาหกรรมระดมเจ้าหน้าที่ประจำเขตประกอบการและนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเฝ้าพื้นที่เสียงน้ำท่วมสุด 13 จังหวัด หวั่นลามสู่ซัพพลายเชนที่เชื่อมโยงเพิ่มอีก 14 จังหวัด เป็น 27 จังหวัด จะทำให้กระทบลงทุน 1.2 ล้านล้านบาท ขณะที่ญี่ปุ่นห่วงน้ำท่วมไทยกระทบธุรกิจหนักแนะรัฐเร่งวางแผนป้องกันเร่งด่วนพร้อมเร่งฟื้นฟูโดยเร็ว ส.อ.ท.เล็งหารือร่วมเจโทรและเจซีซีอีกครั้ง 14 ต.ค.นี้ หวังร่วมหาทางออก ด้านนายกฯ-ยิ่งลักษณ์ ยอมรับน้ำท่วมกระทบจีดีพี

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ส่งเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานในสังกัดจากกรมฯต่างๆ ไปทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และเขตประกอบการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 13 จังหวัดเสี่ยงภัยน้ำท่วมนิคมฯและเขตประกอบการอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลกระทบต่อโรงงานโดยตรงและโรงงานที่ป้อนชิ้นส่วนต่อเนื่องที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆอีก14 จังหวัดรวมเป็นผลกระทบ 27 จังหวัดคิดเป็น 27,952 โรงงาน คนงาน 905,226 คน มูลค่าเงินลงทุน 1,289,037 ล้านบาท

“พื้นที่ 13 จังหวัดได้แก่ อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี อุทัยธานี ลพบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และสุพรรณบุรี ซึ่งจะมีนิคมฯและเขตประกอบการที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษเพราะเสี่ยงน้ำท่วมและหากเกิดผลกระทบก็จะกระทบต่อการจัดส่งชิ้นส่วนและวัตถุดิบป้อนไปยังโรงงานจังหวัดอื่นๆ ซึ่งเราจะเฝ้าระวัง 24ชั่วโมงแล้วส่งรายงานข้อมูลกลับมายังศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้ข้อมูลถูกต้องและไปในทิศทางเดียวกัน”นายวิฑูรย์กล่าว

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ชัย รักษาการเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ทำการศึกษาผลกระทบและความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม รวมถึงผลกระทบต่อการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีอุตสาหกรรมโดยละเอียดเพื่อให้เป็นข้อมูลที่จะสามารถนำไปอ้างอิงที่ชัดเจนได้

อย่างไรก็ตามได้มีการสรุปจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมและความเสียหายจากน้ำท่วมเบื้องต้นใน 27 จังหวัดมีโรงงานได้รับผลกระทบ 762 แห่ง กระทบแรงงาน 127,809 ราย เสียหายโดยตรงและความเสียโอกาสทางธุรกิจรวม 29,232 ล้านบาท

“ข้อมูลเป็นความเสียหายที่ได้รับรายงานเบื้องต้นอย่างกรณีอยุธยายังไม่ได้คิดเป็นโรงงานทั้งหมดในนิคมฯโรจนะซึ่งเดิมท่วมเฟสเดียว ดังนั้นข้อมูลผลกระทบจะต้องติดตามอีก ซึ่งปัจจุบัน 77 จังหวัดของไทยนั้นจะมีโรงงาน 132,112 แห่ง คิดเป็นแรงงาน 3,799,415 คน เงินลงทุนทั้งสิ้น 5,062,063 ล้านบาท ปัจจุบันไทยมีนิคมฯทั่วประเทศ 43 แห่งและเขตประกอบการ 25 แห่ง”นายวิฑูรย์กล่าว

การขนส่งน้ำมัน-ก๊าซฯปกติ

นายพชร นริพทะพันธุ์ โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากภาวะน้ำท่วมขณะนี้ มีสถานีบริกรน้ำมันจำเป็นต้องปิดจำนวน 31 แห่ง และแอลพีจีจำนวน 4 แห่ง และโรงบรรจุก๊าซแอลพีจีจำนวน 4 แห่ง และยังได้รับการยืนยันว่าเส้นทางการขนส่งลำเลียงน้ำมันและก๊าซเข้าไปยังพื้นที่เดือดร้อนยังคงสามารถใช้งานได้อยู่ ส่วนปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการหารืออย่างกล้ชิดกับกรมชลประทนและหน่วยงานที่เกียวข้องในการควบคุมรดับน้ำในเขื่อนให้อยู่ระดับที่เหมาะสมและมีผลกระทบโดยน้อยที่สุด

*******ญี่ปุ่นผวาซ้ำรอยสึนามิ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับนายเซ็ทซีโอะ อิอุจิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และนายเคียวอิจิ ทานาดะ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (เจซีซี) เบื้องต้นโดยนักลงทุนญี่ปุ่นมีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมไทยอย่างมากแต่เข้าใจว่าเป็นเรื่องภัยธรรมชาติจึงต้องการให้รัฐบาลวางแผนป้องกันอย่างเร่งด่วนและให้ภาครัฐฟื้นฟูโดยเร็ว

อย่างไรก็ตามวันที่ 14 ต.ค.2554 ส.อ.ท.จะหารือในรายละเอียดร่วมกับเจโทร และเจซีซี อีกครั้ง รวมทั้งเชิญผู้ประกอบการของเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะมาร่วมหารือด้วย เพราะขณะนี้ทางโรจนะได้เตรียมแผนการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมไว้แล้ว แต่ยังต้องรอให้น้ำลดระดับลงเสียก่อน ซึ่งวิธีการเอาน้ำออกจากพื้นที่ของโรจนะ จะประสานงานร่วมกับกองทัพภาคที่ 1 ในการเตรียมสูบน้ำออกจากพื้นที่

สำหรับแผนป้องกันนิคมอุตสาหกรรมในส่วนภาคตะวันออกของกรุงเทพ เช่น ลาดกระบัง บางชัน หากรัฐบาลต้องการจะระบายน้ำออกมาทางตะวันออกก็ต้องระบายมาในระดับที่ไม่สูงกว่าแนวป้องกันที่แต่ละนิคมอุตสาหกรรมทำไว้ เพราะโดยปกตินิคมฯ จะมีแนวป้องกันน้ำท่วมเตรียมไว้ เพราะเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมอยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาป้องกันได้อย่างดีมาโดยตลอด แต่หากมีการระบายน้ำมาในปริมาณที่มากเกิน ก็จะรับมือไม่ไหวซึ่งยอมรับว่าโรงงานมีจำนวนมากหากเข้าท่วมบริเวณนี้จะกระทบสูง

“การเตรียมความพร้อม ผู้ประกอบการควรตรวจสอบคันดินให้แข็งแรง และเชิญวิศวกรเข้ามาประเมินว่าคันดินควรจะมีความสูงเท่าใดถึงจะเหมาะสม เพื่อรองรับน้ำ เพราะหากเสริมคันดินแบบมั่วจะเป็นจุดอ่อนให้น้ำทะลักเข้ามาได้ และควรมีเวรยามตรวจสอบระดับน้ำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหารอยรั่วและอุดได้ทัน”นายพยุงศักดิ์กล่าว

**ยอมรับต้องปรับลดจีดีพี

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ความเสียหายจากนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จะส่งผลต่อการปรับตัวลงของ จีดีพี หรือไม่ ว่า คงต้องปรับลด เพราะโดยภาพรวมมีผลกระทบในแนวกว้างจริงๆ แต่ตัวเลขในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ที่เสียหาย ประมาณ 5-6 หมื่นล้าน แต่ให้ทางสภาพัฒน์กลับไปทบทวนตัวเลขอีกครั้งหนึ่ง และในรายละเอียดเท่าที่สอบถามในนิคมอุตสาหกรรมนั้น ในบางนิคมจะมีเหล็กกั้นภายในตัวอาคาร คงต้องไปสำรวจหลังจากที่มีการหารือกันอย่างชัดเจน โดยวันนี้ในการประชุม ครม.ได้มีการตั้ง คณะกรรมการในการเยียวยาฟื้นฟู เพราะต้องมีการทำงานควบคู่กันไป โดยแบ่งออกเป็น 3 ชุด คือ

1. คณะฟื้นฟูเรื่องเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทั้งภาพรวม ซึ่งจะรวมถึงการดูแลผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หรือคนงานที่ตกงานด้วย ว่าจะมีมาตรการดูแลและผ่อนปรนที่จะช่วยอย่างไร
2. โครงสร้างพื้นฐานที่จะดูเรื่องของการเดินทางต่างๆ และสาธารณูปโภค และโรงเรียนสถานศึกษา วัด โดยในส่วนของวัฒนธรรม จะรวมในกลุ่มนี้เช่นกัน
3. เรื่องการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต เพราะผู้ที่ประสบภัยบ้านเรือนเสียหาย สภาพจิตต่างๆ หรือแม้กระทั่งการชดเชย ถึงแม้จะไม่มีอาชีพเราก็จะดูว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระยะยาว

** เล็งกู้เงินต่างประเทศเยียวยา

สำหรับประมาณการฟื้นฟูหลังน้ำลด คิดว่าจะใช้งบเท่าไหร่นั้น วันนี้เรายังไม่ทราบทั้งหมด แต่ในเบื้องต้นทาง ครม. จะใช้งบประมาณในด้านของการดำเนินการใช้จ่าย ปรับลดลงไปประมาณ ร้อยละ 10 จากงบประมาณทั้งหมด เพื่อที่จะจัดสรรมาเป็นงบฟื้นฟู

ผู้สื่อข่าวถามว่า ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าต้องใช้งบฟื้นฟูในเบื้องต้น 1 แสนล้านบาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อย่างที่เรียนเบื้องต้น เราจะทำสัดส่วนของการใช้จ่ายทั้งหมดร้อยละ 10 ซึ่งเป็นเงินจำนวนหลายหมื่นล้าน และหลังจากที่มีการประเมินทุกกลุ่มงานแล้ว คงจะทราบตัวเลขที่แน่นอน

เมื่อถามว่าจะจัดหาเม็ดเงินจากส่วนอื่นหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่ง และคงจะไปดูในส่วนของการงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง ในกลางปี เพราะว่า ขณะนี้เรายังไม่อยากสรุปเร็วทั้งหมด เพราะยังไม่ได้ประเมินทั้งหมด จึงอยากให้คณะกรรมการนี้เข้าไปทำงานก่อน เพราะบางครั้งเราจะใช้เรื่องโครงสร้างมาตรการภาษี หรือรูปแบบการให้เงินกู้ต่างๆ เรายังมีสถาบันการเงินต่างๆ ที่พร้อมให้ความร่วมมือด้วย

ส่วนจะต้องกู้เงินจากต่างประเทศหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงจะดูว่า ถ้ามีแหล่งไหนให้ เราคงทำ

**ท่วม 762 รง.กระทบแรงงานกว่าแสนคน

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมครม.ว่า นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม ได้รายงานสถานการณ์อุทกภัยที่สร้างความเสียหายในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ให้กับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ว่าเบื้องต้นโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมีจำนวน 762 โรงงานจาก 28 จังหวัด ซึ่งมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทันทีประมาณ 127,809 คน โดยเฉพาะจ.พระนครศรีอยุธยา มี 1 นิคมอุตสาหกรรมและ 1 เขตประกอบการอุตสาหกรรมได้ถูกน้ำท่วม

ทั้งนี้จากการประชุมร่วมกับภาคเอกชนในธุรกิจอุตสาหกรรม เขามีความต้องการที่จะเสนอรัฐบาลเยี่ยวยา เช่น ให้รัฐบาลเตรียมป้องกันพื้นที่ที่น้ำยังไม่ท่วมในภาคตะวันออก ชดเชยแรงงานที่ยังไม่ได้ทำงานในช่วง 3-4 เดือน ตั้งกองทุนฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมหลังน้ำท่วม ผ่อนผันการจ่ายเงินค่าไฟฟ้า ผ่อนผันการเรียกเก็บเงินประกันสังคม ผ่อนผันการย้ายสินค้าหรือยกเว้นภาษีหรือนำเครื่องจักรออกนอกพื้นที่หรือจากเงินกู้อัตราพิเศษ 0-2 เปอร์เซ็นต์ และจัดให้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด การแก้ไขปัญหาในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป

นายชลิตรัตน์ กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่ง ให้ไปประชุมร่วมกับคณะกรรมการฟื้นฟูในเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีคำสั่งให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค. เป็นต้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น