xs
xsm
sm
md
lg

“พิชัย” ตอบกระทู้ ส.ว.ยันยังไม่ลอยตัวแอลพีจี 1 ตุลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิกตระกูล ส.ว.กทม. (แฟ้มภาพ)
ส.ว.กทม.ตั้งกระทู้ถามนายกฯ ลอยตัวก๊าซแอลพีจี ไม่สอดคล้องข้อเท็จจริง ยันก๊าซในประเทศผลิตพอใช้ได้ทั้งประเทศ ถามใช้หลักไหนคิด จะกำหนดราคาเองได้หรือไม่ “พิชัย” แจงยังไม่ทำ 1 ตุลาฯ นี้ อ้างใช้กองทุนน้ำมันอุดหนุนอยู่ แต่ต้องคำนวนตัวเลขอีกครั้ง อ้างหวั่นประชาคมอาเซียนทำไทยแบกรับภาระเพื่อนบ้าน ยันพลังงานไม่หนุนรถยนต์ใช้แอลพีจี เจ้าตัวสวน ซัดคิดกันไปเอง ชี้เอ็นจีวีเสี่ยงสูงกว่า

วันนี้ (26 ก.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ในช่วงกระทู้ถาม น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ได้ตั้งกระทู้ถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับนโยบายพลังงานของรัฐบาล โดยเฉพาะประเด็นผลประทบจากการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคยานยนต์และครัวเรือนในลักษณะลอยตัว ทั้งนี้ นายกฯ ได้มอบหมายให้นายพิชัย นริพทะพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาชี้แจงแทน โดย น.ส.รสนาได้ตั้งคำถามว่า จากกรณีที่นายพิชัยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าจะมีการลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในยานยนต์และก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.54 เป็นต้นไปนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากก๊าซแอลพีจีในประเทศสามารถผลิตได้มาก และเพียงพอต่อการใช้ในส่วนของภาคครัวเรือน แลผู้ใช้ยานยนต์ ซึ่งตนขอถามว่าการประกาศนโยบายดังกล่าวใช้หลักคิดใด รวมถึงเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีในราคาที่คิดจากต้นทุนภายในประเทศ และเหตุใดจึงมีหลักคิดในการตั้งราคาก๊าซเอ็นจีวีในราคาครึ่งนึงของน้ำมันดีเซล

นายพิชัยกล่าวตอบว่า ขอยืนยันว่ายังไม่มีการประกาศลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจี ในวันที่ 1 ต.ค.นี้อย่างแน่นอน เพียงแต่แนวคิดของกระทรวงพลังงานต่อเรื่องก๊าซแอลพีจี เพราะเห็นว่าที่ผ่านมากองทุนน้ำมันได้ถูกใช้เพื่อจ่ายค่าอุดหนุนในส่วนของก๊าซแอลพีจี มากถึง 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี และในส่วนของครัวเรือนขอยืนยันว่าจะมีการอุดหนุนต่อ แต่ต้องเป็นราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะมีการคำนวณตัวเลขอีกครั้ง สำหรับรถยนต์ที่ใช้แอลพีจีนั้น ยอมรับว่ากระทรวงพลังงานไม่เห็นด้วยที่จะนำก๊าซแอลพีจีมาใช้กับรถยนต์ เพราะเกิดอันตรายได้ง่าย หากมีการรั่วไหลของก๊าซจะลงสู่พื้น เมื่อเกิดประกายไฟจะเป็นอันตรายอย่างมาก ซึ่งไม่เหมือนกับก๊าซเอ็นจีวีที่มีอันตรายน้อยกว่า หากมีการรั่วไหลก๊าซจะระเหยขึ้นฟ้า

นายพิชัยกล่าวอีกว่า ที่สำคัญในปี 2558 จะมีการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หากพิจารณาในแง่ของราคาก๊าซแอลพีจีของประเทศเพื่อนบ้านจะเห็นว่า ประเทศเวียนดนาม ขายลิตรละ 46 บาท ลาวลิตรละ 46.50 บาท กัมพูชาขายลิตรละ 39.84 บาท พม่าขายลิตรละ 35 บาท และมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศส่งออกก๊าซขายลิตรละ 20 กว่าบาท แต่ของประเทศไทยขายลิตรละ 18 บาท จึงเกรงว่าหากเมื่อมีการรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว การซื้อขายจะทำได้ง่ายและเสรี ส่งผลให้ประเทศไทยจะต้องมีรับผิดชอบการอุดหนุนราคาแอลพีจีทั้งภูมิภาค เมื่อถึงตอนนั้นคงไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม หลักการที่กล่าวยังไม่เรียบร้อย เป็นเพียงแนวคิดที่คิดจากปัญหาที่อาจจะเกิดในอนาคตเท่านั้น

ส่วนกรณีการกำหนดราคาก๊าซแอลพีจีในราคาที่คิดจากต้นทุนภายในประเทศนั้น นายพิชัยกล่าวว่า ในปัจจุบัน ราคาส่งออกของ ปตท.อยู่ที่ 570 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ราคาที่คิดกับประชาชนอยู่ที่ 363 เหรียญต่อตันเท่านั้น ขณะที่ราคาหน้าโรงกลั่น คือ 450 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากก๊าซที่แยกและส่งให้ระหว่างกันเป็นเรื่องของปิโตเคมีคอล เรื่องภาษีสรรพสามิต หรือกองทุนน้ำมันไม่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ทั้งนี้ เมื่อมีการส่งก๊าซไปแล้วเกิดธุรกิจต่อเนื่องมากมาย ทำให้รัฐบาลได้รับเงินภาษีจำนวนมากจากธุรกิจต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน มีเพียงแต่หลักคิดเท่านั้น ส่วนราคาก๊าซเอ็นจีวีที่จะกำหนดไว้ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ของน้ำมันดีเซลนั้นมาจาก 2 แนวคิด คือ 1.จากการคำนวนต้นทุนค่าเอ็นจีวีจากสถาบันการศึกษากลาง ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ราคากลางของก๊าซเอ็นจีวี ควรอยู่ที่ประมาณ 14 บาท และ 2. ส่วนที่กำหนดราคาครึ่งหนึ่งของน้ำมันดีเซล ความเป็นจริงในทางเศรษฐศาสตร์ ควรมีราคาใกล้เคียงกัน หากราคาต่างกันมาก จะทำให้บิดเบือนการใช้ ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับจาก ปตท.พบว่าขณะนี้มีการขาดทุนจริง เพราะหากขายในราคา 8.50 บาท แล้วได้กำไร ปตท. คงขยายสาขาของสถานีบริการเอ็นจีวีออกไปเป็นจำนวนมาก

ด้าน น.ส.รสนาถามต่อว่า กรณีที่ระบุว่าก๊าซแอลพีจีไม่เหมาะที่จะใช้กับยานยนต์นั้น คิดว่าอยากให้ตรวจสอบในรายละเอียด เพราะก๊าซแอลพีจี เป็นก๊าซสำหรับรถยนต์ และที่สำคัญก๊าซแอลพีจีมีความปลอดภัยกว่าก๊าซเอ็นจีวี เพราะมีความดันที่ต่ำกว่ามาก หากเกิดระเบิดจะเกิดปัญหาน้อยกว่า สำหรับกรณีที่กังวลว่าหากมีการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว จะมีคนจำนวนมากแย่งใช้ก๊าซในประเทศไทย คิดว่าเป็นเรื่องที่คาดเดาไปเอง เพราะมีตัวอย่างในประเทศมาเลเซียที่ราคาน้ำมันถูกกว่าประเทศไทย แต่คนไทยไม่สามารถนำน้ำมันดังกล่าวมาใช้ได้

น.ส.รสนายังได้ตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายการลอยตัวราคาแอลพีจีด้วยว่า เท่าที่มีข้อมูลจาก ปตท.พบว่า ในปี 2551 ภาคยานยนต์ใช้ก๊าซแอลพีจีในราคา 18.13 บาทต่อลิตร ส่วนภาคปิโตเคมีได้ใช้ในราคา 16.45 บาทต่อลิตรเท่านั้น ดังนั้น การที่ประชาชนใช้ราคาแพงกว่าที่ปิโตรเคมีได้ใช้ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ปตท.ได้ขยายกำลังการผลิตในปริมาณที่มากขึ้น จากการเปิดโรงแยกก๊าซโรงที่ 6 ที่จะผลิตก๊าซแอลพีจีได้เพิ่มขึ้น 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้นสถานการณ์ของแอลพีจีในประเทศคงเพียงพอ ซึ่งประเด็นนี้ตนขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ต้องรีบประกาศลอยตัวก๊าซแอลพีจีใช่หรือไม่ เพราะต่อไปจะไม่สามารถอ้างความชอบธรรมดึงเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยได้อีก

น.ส.รสนากล่าวว่า การนำประเด็นการลักลอบนำก๊าซไปขายตามชายแดน มาเกี่ยวข้องกับการขึ้นราคา หากมีการใช้ราคาเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้มีการลักลอบก๊าซออกนอกประเทศ หรือไม่ให้ใช้สิ้นเปลือง ต้องใช้มาตราการขึ้นภาษี เก็บเงินเข้ารัฐ ตนขอเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาให้ตรงกับเหตุ หากลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจี เป็นสิ่งที่บริษัทต้องการ เพราะขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาไม่สามารถเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ ต้องการซื้อแอลพีจีจากประเทศไทยใช่หรือไม่ นอกจากนั้นแล้วจะให้คนไทยที่สามารถผลิตก๊าซได้เอง ใช้ก๊าซในราคาที่แพงเท่าตลาดโลก จะเป็นธรรมกับคนไทยหรือไม่ ดังนั้นขอให้คิดเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ

นายพิชัยชี้แจงโดยยอมรับว่าปัจจุบันมีการลักลอบขนก๊าซไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ต้องคิดไว้เผื่อหากมีการไหลเวียนก๊าซ และที่สำคัญขณะนี้ประเทศมาเลเซียเริ่มลอยตัวก๊าซแล้ว จากหน้าบ่อก๊าซ และราคา เพื่อรับมือในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ส่วนตัวยืนยันว่าตนมองเห็นประโยชน์ประชาชนมาก่อนบริษัทอยู่แล้ว ดังนั้น ต่อไปจะต้องมาวิเคราะห์ในรายละเอียดอีกครั้งหากสรุปแล้วคงต้องแจ้งมายังวุฒิสภาอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น