ASTVผู้จัดการรายวัน-"ในหลวง"พระราชทานสิ่งของช่วยน้ำท่วมอยุธยาและทรงพระราชทานให้ทำแก้มลิงแก้ปัญหาน้ำท่วมศิริราช "อยุธยา"วิกฤต เจ้าพระยาซัดกำแพงกั้นน้ำ "วัดไชยวัฒนาราม" พังทลายลงมา น้ำทะลักเข้าท่วมโบราณสถานสำคัญของอยุธยาและมรดกโลกทันที ขณะที่หลายจังหวัดยังอ่วม รถไฟสายเหนือหยุดวิ่งทุกขบวน "ปู"เรียกถก 4 จังหวัดรับมือน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน อุตุฯ เตือนภัย “นาลแก”จ่อถล่มซ้ำ เผย"อุบลฯ-นครพนม"ส่อโดนหนักสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (4 ต.ค.) นายกองเอกดิสธร วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ มอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 1,000 ชุด เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบความเดือดร้อน จึงได้พระราชทานถุงยังชีพเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบให้แก่ราษฎร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
โดยนายกองเอกดิสธร กล่าวว่า มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ได้มอบถุงยังชีพพระราชทาน แก่ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยไปแล้วทั่วประเทศ รวมมูลค่าสิ่งของสงเคราะห์ทั้งสิ้น กว่า 56 ล้านบาท และวันพรุ่งนี้จะเดินทางมามอบถุงยังชีพเพิ่มเติม อีกจำนวน 1,000 ชุด ให้กับประชาชน อ.บ้านแพรก
โอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ฝากความห่วงใยมาถึงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและขอให้กำลังใจกับทุกคน
**ทรงให้ทำแก้มลิงแก้น้ำท่วมศิริราช
ด้าน ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยประชาชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม โดยทรงติดตามระดับน้ำเจ้าพระยา จากห้องพักชั้น 16 โรงพยาบาลศิริราช พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรายงานเรื่องน้ำทุกวัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานวิธีป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมโรงพยาบาลศิริราช โดยให้ทำแก้มลิงไว้ก่อนหน้านี้แล้ว จึงทำให้เขตพื้นที่โรงพยาบาลศิริราชน้ำไม่ท่วม ขณะที่ชุมชนโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช พระองค์ทรงห่วงใยเช่นกัน
**"วัดไชยวัฒนาราม"กรุงเก่าจมน้ำแล้ว
ด้านสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นที่ยังคงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเมื่อเช้าวานนี้ (4 ต.ค) น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมาด้วยแรงได้กัดเซาะแนวกำแพงป้องกันน้ำท่วมทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จนเกิดการทรุดตัวลง หลังจากนั้นน้ำจำนวนมากได้ไหลทะลักเข้าท่วมภายในตัวบริเวณโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม พื้นที่กว่า 100 ไร่ของโบราณสถานแห่งนี้ทันที โดยระดับน้ำสูงราว 2-3 เมตร
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนรอบวัดไชยวัฒนารามได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้อย่างไม่ทันได้ตั้งตัวต่างเร่งอพยพลูกหลานวิ่งหนีน้ำ และขนย้ายสิ่งของหนีน้ำกันอย่างวุ่นวาย ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือชาวบ้านเช่นกัน
หลังเกิดเหตุนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ประสานขอนักประดาน้ำจากกองทัพเรือเข้ามาสำรวจจุดแนวกั้นน้ำที่พัง ซึ่งมีความยาวกว่า 60 เมตรโดยจะดำน้ำไปดูว่าฐานด้านล่างของพนังมีความเสียหายมากน้อยแค่ไหน เพื่อประเมินสถานการณ์
ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ทางอุทยานเชื่อว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 วันในการซ่อมแซมพนังกั้นน้ำที่พังทลายลงมา ซึ่งหากซ่อมแซมได้แล้วก็จะสูบน้ำออกจากวัดให้เร็วที่สุด เนื่องจากเป็นห่วงโบราณสถาน หากจมน้ำเป็นเวลานานอาจจะส่งผลกระทบในการบูรณะโบราณสถาน
นายชัยนันท์ บุษยรัตน์ ผอ.อุทยานประวัติศาสตร์ จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทะลักท่วมโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม และทำให้กำแพงวัดพังลงว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือซ่อมกำแพงที่พังลงก่อน โดยประสานผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ประสานกองทัพเรือ เพื่อขอนักประดาน้ำดำสำรวจความเสียหาย จากนั้นจะนำกระสอบทรายบรรทุกใส่เรือเพื่อไปปิดกำแพงที่พังลง ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน
**วธ.สั่งกรมศิลป์เสนองบซ่อมแซม
ต่อมานางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม (วธ.) พร้อมนางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมโบราณสถานมรดกโลกในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมกล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าโบราณสถานในเขตเกาะเมืองได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมดแล้ว โดยเฉพาะที่วัดไชยวัฒนาราม กระแสน้ำที่แรงได้ไหลท่วมแนวกำแพงที่กั้นน้ำด้านข้างขาดยาวกว่า 60 เมตร เข้าท่วมโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามทั้งหมด เบื้องต้นทางจังหวัดได้จัดเตรียมกระสอบทราย 30,000 กระสอบเพื่อทำเป็นกำแพงกั้นน้ำตามแนวถนนรอบโบราณสถาน ก่อนสูบน้ำออกจากพื้นที่ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ให้โบราณสถานแช่น้ำนานตัวโครงสร้างของโบราณสถานที่ทำด้วยอิฐทรุดและพังทลายได้ อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กรมศิลปากรสรุปความเสียหายหลังน้ำลดเพื่อเสนอของบฯในการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมทั้งหมดต่อไป
ด้านนางโสมสุดา ระบุว่า ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ เนื่องจากน้ำเข้าท่วมเป็นจำนวนมาก โดยในระยะยาวโบราณสถานแห่งนี้มีแผนที่จะสร้างพนังกั้นน้ำโดยรอบไว้อยู่แล้ว แต่เนื่องจากงบประมาณมาไม่ทันในการซ่อมแซมปีนี้ ถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เพราะวัดไชยวัฒนาราม ถูกสร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าปราสาททอง มีอายุไม่ต่ำกว่า 300 ปี ขณะที่โบราณสถานจุดอื่นๆ ของพระนครศรีอยุธยา ก็ต้องเร่งสร้างพนังกั้นน้ำถาวรขึ้นมาด้วยเช่นกัน
**โบราณสถานหมู่บ้านโปรตุเกสก็จม
รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากโบราณสถานวัดไชยวัฒนารามจะถูกน้ำท่วมแล้ว โบราณสถานหมู่บ้านโปรตุเกสในเขต ต.สำเภอล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ก็ถูกน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมพื้นที่ทั้งหมดเช่นกัน
นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า อุปกรณ์หรือสิ่งของใดๆ ในหมู่บ้านโปรตุเกสได้รับความเสียหายบ้าง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเร่งสำรวจแล้ว เพราะคาดว่าความเสียหายจะมากเช่นเดียวกับโบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม
ส่วนในพื้นที่ ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา น้ำจากแม่น้ำป่าสักได้ไหลเข้าท่วมในพื้นที่ ต.หันตรา เต็มพื้นที่เกือบทั้งหมด ทางเทศบาลเมืองอโยธยาต้องประกาศให้ประชาชนในตลาดน้ำอโยธยา เร่งขนย้ายสิ่งของหนีน้ำเป็นการด่วน เพราะไม่มั่นใจว่าแนวป้องกันน้ำท่วมที่ทำไว้ก่อนหน้านี้จะรับมือได้หรือไม่
**ผู้ว่าฯกรุงเก่าเผยทุกพื้นที่เต้มไปด้วยน้ำ
นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่ท่วมในพื้นที่ ต.หันตรา ยังได้ไหลลงพื้นที่ในส่วนของคลองข้าวเม่าเขต อ.อุทัย และน้ำทั้งหมดยังได้ไหลไปที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะในเขต อ.อุทัย ด้วย ทำให้นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต้องประสานไปยังนิคมฯให้แจ้งเตือนผู้บริหารภายในโรงงานทำแนวป้องกันน้ำท่วมของโรงงานตนเองเป็นการด่วน
นายวิทยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาวิกฤตหนัก ทุกพื้นที่เต็มไปด้วยน้ำ โดยเฉพาะแม่น้ำป่าสัก น้ำทะลักเข้า อ.บางปะหัน โรงพยาบาลต้องย้ายคนไข้อย่างโกลาหล เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูง 1.50 เมตร ทั้งยังไหลทะลักเข้า อ.นครหลวง ท่วมย่านการค้า บ้านจัดสรร เสี่ยงน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร
**เผยน้ำลพบุรีตลบหลังท่วม"อ่างทอง"
ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมหลายจังหวัดยังวิกฤตเช่นกัน เช่นที่ จ.อ่างทอง นายวิศว ศะศิสมิต ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง เผยในขณะนั่งเรือตรวจเยี่ยมและช่วยประชาชนที่ถูกน้ำท่วมในท้องที่ ต.ชัยฤทธิ์ ต.ตรีณรงค์,จระเข้ร้อง ต.ชัยภูมิ อ.ไชโย ว่า ขณะนี้น้ำตลบหลังมาจาก อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี และ อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา บ่าท่วมเต็มพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ อ.ไชโย เกินขีดที่จะเสริมคันป้องกันเพราะระดับน้ำท่วมทันทีถึง 2 เมตร เดินเข้าไปไม่ได้ ต้องใช้เรืออย่างเดียว ทำให้ราษฎรเดือดร้อน 374 ครัวเรือน 2,502 คน
**รถไฟสายเหนือหยุดวิ่งทุกขบวน
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศหยุดเดินรถสายเหนือทุกขบวน เนื่องจากพบว่า มีน้ำท่วมรางรถไฟยาวกว่า 12 กิโลเมตร รวมถึงระดับน้ำยังเอ่อท่วมสถานีรถไฟด้วย อย่างไรก็ตาม ขบวนรถไฟท้องถิ่นยังวิ่งให้บริการตามปกติ คือ ช่วงพิษณุโลก-ชุมแสง-เด่นชัย
**"นาลแก"จ่อถล่มอุบลฯ-นครพนม
ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับ กรมอุตุนิยมวิทยา จัดงานเสวนาเรื่อง “วิเคราะห์มหากาพย์มหาอุทกภัยปี 2554 พร้อมจับตา ลานีญา : พายุผิดปกติหลายพื้นที่ต้องเฝ้าระวังหรือไม่”
นายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนามจะรับพายุโดยตรง ทำให้ประเทศไทยได้รับเพียงหางพายุ แต่จากสภาพอากาศแปรปรวนของภูมิอากาศแบบผกผันของประเทศไทยในช่วงปี 53-54 ทำให้รูปแบบฝนตกเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมากเพราะเกิดพายุบ่อยขึ้น
นายธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาระดับโลก พบว่าในอนาคตสภาพความแปรปรวนของภูมิอากาศจะมีความถี่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมาพื้นที่กว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศตั้งแต่ภาคเหนือและภาคกลางโดยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดน้ำท่วมรุนแรง หลังจากที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ตั้งแต่ต้นปีมีกำลังแรงมากกว่าปกติ เพราะอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญา ที่ต่อเนื่องจากปี 53 ทำให้ร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพาดผ่านหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง อีกทั้งได้รับน้ำฝนเพิ่มเติมจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนไหหม่า พายุนกเตน และพายุนาลแกที่กำลังจะพัดเข้าประเทศเวียดนาม ในวันที่ 5 ต.ค.ซึ่งคาดว่า จะเข้าประเทศไทยในวันที่ 7 ต.ค.และสลายตัวประมาณวันที่ 9 ต.ค.
ส่วนที่ จ.อุบลราชธานี จ.นครพนม อาจจะได้รับผลกระทบจากพายุ "นาลแก" มากที่สุด และแอ่งเพชรบูรณ์อาจเกิดดินถล่มได้ แม้พายุนาลแกจะอ่อนกำลังเป็นดีเปรสชั่น แต่เมื่อเคลื่อนตัวเข้าประเทศไทยก็จะเป็นการซ้ำเติมพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมที่หนักอยู่แล้ว
**ปูเรียกผู้ว่าฯ4จังหวัดถกรับมือน้ำท่วม
ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิเชียร ชวลิต ที่ปรึกษานายกฯ นายชลิต ดำรงค์ศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าฯนนทบุรี นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าฯปทุมธานี และนายเชิดศักดิ์ ชูศรี ผู้ว่าฯสมุทรปราการ ร่วมประชุม
ในการประชุมนายกฯ ยังได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าในการแก้ปัญหาอุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 4 จังหวัดได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน เลย เชียงใหม่ และอยุธยา ด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะกรรมการ 5 ลุ่มน้ำประกอบด้วย 1 ลุ่มน้ำยม 2 ลุ่มน้ำน่าน 3 ลุ่มน้ำปิงและวัง 4 ลุ่มน้ำลพบุรี ป่าสัก และ 5 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ เป็นประธานและผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธาน เพื่อพิจารณาเปิดและปิดประตูระบายน้ำ นอกจากนี้ ยังขอร้องไปยังเรือของภาคเอกชน ให้ช่วยในการเร่งผลักดันน้ำลงสู่ทะเล โดยรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนในเรื่องของน้ำมัน โดยจะเริ่มดำเนินการในวันพรุ่งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ไม่มีน้ำทะเลหนุน จึงเหมาะกับการผลักดันน้ำให้ไหลลงสู่ทะเล
**คมนาคมขอหมื่นล้านซ่อมถนน
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงประเมินความเสียหายและเร่งฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้น มี 2 หน่วยงานหลัก คือ กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่ถนนได้รับความเสียหาย บางเส้นทางถูกตัดขาดการสัญจรไม่สามารถผ่านได้ เบื้องต้นคาดว่าการซ่อมแซมเส้นทางจะต้องใช้งบประมาณรวมกว่า 10,000 ล้านบาท โดยจะรวบรายละเอียดส่งไปยังสำนักงานงบประมาณ กระทรวงการคลัง ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่ออนุมัติงบประมาณต่อไป
***เตรียมขุดลอกแม่น้ำ-ลำคลอง
นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่า (จท.) เตรียมขุดลอกแม่น้ำ ลำคลอง ต่างๆ ทั่วประเทศทันที หลังจากระดับน้ำลดลงสู่ภาวะปกติ ซึ่งมีระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 14,000 กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกิโลเมตรละ 1-2 ล้านบาท คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในระยะยาว โดยส่วนใหญ่จะดำเนินการขุดลอก และปรับปรุงในแม่น้ำสายหลัก เช่น ปิง วัง ชี และลำน้ำปาว เป็นต้น ส่วนแม้น้ำเจ้าพระยา ก็ต้องขุดลอกในจุดที่ตื้นเขินด้วย โดยเฉพาะจุดที่เป็นสันดอน ซึ่งขวางทางน้ำไหล และเป็นปัญหาในการเดินเรือ