พิจิตร - “กรณ์ - อดีต รมต.คลัง”เหน็บรัฐบาล “ปูจ๋า”เล่นเกมการเมือง อ้างงบไม่พอช่วยน้ำท่วม บอกหากคิดไม่ออกพร้อมให้คำปรึกษา ไม่ต้องรอชุดความคิดจากดูไบก็ได้
วันนี้ ( 4 ก.ย.54 ) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมต.คลัง พร้อมด้วยนายนราพัฒน์ แก้วทอง ส.ส.พิจิตรเขต 2 , นายไพฑรูย์ แก้วทอง อดีตรมต.แรงงาน , นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมต.ต่างประเทศ , นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน, นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยคณะได้ร่วมกันนำถุงยังชีพที่ประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม จำนวนกว่า4 พันชุดแจกจ่ายให้กับราษฎรในเขต อ.ตะพานหิน อ.เมือง อ.สามง่าม ที่ถูกน้ำท่วม
จากนั้น นายกรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์โต้ กรณีที่ฝ่ายรัฐบาลที่นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงกับประชาชนว่า เงินงบประมาณมีเหลือแค่ 1 พันกว่าล้านบาท ไม่พอช่วยน้ำท่วมนั้น นายกรณ์ ได้โต้ตอบว่า จริงๆแล้วเงินมีมากกว่า 3 พันล้านบาทและถ้าจะช่วยชาวบ้านจริงๆ ก็มีวิธีบริหารจัดการการเงินที่ทำได้ แต่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ น่าจะคิดไม่เป็นมากกว่า
นายกรณ์ มองว่า เป็นการเล่นการเมืองใส่ร้ายป้ายสีกันมากกว่ามีความจริงใจที่จะช่วยเหลือชาวบ้านและยังได้พูดเหน็บแนมทิ้งท้ายว่า ถ้ารัฐบาล “ปู-ยิ่งลักษณ์” คิดไม่ออก ให้โทรมาถามก็ยินดีจะให้คำปรึกษาไม่ต้องรอความคิดจากดูไบก็ได้
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้นายบูรณะ แสงระวีวิสิษฐ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองตะพานหิน เปิดเผยว่า น้ำท่วมในเขตชุมชนและพื้นที่โดยรอบมาตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2554 และได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพราะแม่น้ำน่านสูงเอ่อล้นตลิ่งแล้วกว่า 1.20 เมตรอีกทั้งน้ำป่าจาก จ.เพชรบูรณ์ ก็ไหลซ้ำเข้ามา ทำให้ทั้งบ้านเรือนในรอบแรกกว่า 500 หลังคาเรือน และพื้นที่ที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง จากนั้นมีฝนตกต่อเนื่องทำให้พื้นที่ทั้ง 16 ชุมชนของเทศบาลตะพานหิน น้ำเข้าท่วมบ้านเรือน ล่าสุดเสียหายแล้วถึง 1,886 ครัวเรือน
ในส่วนของเทศบาลตะพานหิน ได้พยายามป้องกันน้ำจากแม่น้ำน่านไม่ให้ไหลทะลักเข้าท่วมย่านธุรกิจร้านค้า ธนาคาร ร้านทอง ตลาดสด โดยได้นำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวตลอดริมแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ซึ่งใช้กระสอบทรายไปแล้ว 2 แสนกว่าลูก และติดตั้งเครื่องสูบน้ำถึง 30 เครื่องเร่งสูบน้ำออกจากย่านชุมชน ซึ่งก็พอบรรเทาได้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้ามีฝนตกและน้ำในแม่น้ำน่านหนุนขึ้นสูงย่านชุมชนตลาดสดตะพานหิน ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงจากการถูกน้ำท่วมได้
ด้านศูนย์อำนวยการเฉาพะกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดพิจิตร สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ตั้งแต่ 2 ส.ค.54 เป็นต้นมาเหตุเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชั่น “นกเตน”ปกคลุมภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.54 และร่องมรสุมพากผ่านภาคเหนือช่วง 8 ส.ค.54 เป็นต้นมา ส่งผลให้ฝนตกติดต่อกันหลายวัน เป็นเหตุให้เกิดน้ำไหลหลากและเอ่อท่วมในพื้นที่ 12 อำเภอ 73 ตำบล 446 หมู่บ้าน
พื้นที่ทางการเกษตรนาข้าวได้รับผลกระทบ 141,409 ไร่ พืชสวน 112 ไร่ บ่อปลาได้รับความเสียหาย 15 บ่อ ถนนลูกรัง ชำรุด 39 สาย ท่อระบายน้ำ 4 แห่ง ราษฎรได้รับผลกระทบจำนวน 31,908 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 14 ราย
พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำยมนั้น น้ำยมได้เอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ทั้งสองฝั่ง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 5 อำเภอ 24 ตำบล 176 หมู่บ้านประกอบด้วย วชิระบารมี สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และโพทะเล ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ Y17 อำเภอสามง่าม ระดับน้ำ 6.77 เมตร สูงกว่าจุดวิกฤติ 1.21 เมตร ที่สถานีวัดน้ำ Y5 อำเภอโพทะเล ระดับน้ำ 8.95 เมตร สูงกว่าจุดวิกฤติ 2 เมตร
พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน น้ำในแม่น้ำน่านมีระดับสูงมีผลให้พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเกิดน้ำท่วม 3 อำเภอ 33 ตำบล 201 หมู่บ้าน สามอำเภอประกอบด้วย อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอตะพานหิน และอำเภอบางมูลนาก ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ N 7A อำเภอเมืองพิจิตร ระดับน้ำ 11.40 เมตร สูงกว่าจุดวิกฤติ 1.19 เมตร ที่สถานีวัดน้ำ N 8Aอำเภอบางมูลนาก ระดับน้ำ 11.80 เมตร สูงกว่าจุดวิกฤติ 1เมตร
ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ และเทือกเขาจังหวัดพิษณุโลก ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ 16 ตำบล 69 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อำเภอสากเหล็ก อำเภอทับคล้อ อำเภอวังทรายพูน และอำเภอดงเจริญ
ด้านความช่วยเหลือนายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ยังคงทำได้แค่เพียงแจกถุงยังชีพ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และกำลังพยายามวางแผนแก้ไขในระยะยาวอยู่