xs
xsm
sm
md
lg

ดีแต่โม้โมเดลแก้น้ำท่วมอืด ชาวบ้านระทมยอดป่วยอื้อ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ชาวบ้านระทม! การเมืองพ่นน้ำลาย โมเดล! แถมแย่งซีนหาเสียงช่วยน้ำท่วม “เพื่อไทย” อ้าง “รัฐบาลมาร์ค”ใช้เงินช่วยเหลือเกลี้ยง! ด้าน “มาร์ค-กรณ์”โวย! งบกลางปี54 ยังเหลือมากกว่า 3.5 พันล้าน แนะใช้ได้อีก 27 วัน ส่วน ”ยิ่งลักษณ์” เรียก 9 ผู้ว่าประชุมเยียวยา 5,500 บาทต่อครอบครัว

วานนี้ (4ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลอ้างว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ใช้งบประมาณไปจำนวนมาก จึงไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ว่า ตนไม่อยากจะบอกถึงขั้นว่าต้องบริหารอย่างไร แต่เงินงบประมาณที่จะใช้ในการชดเชยให้กับประชาชนนั้น ยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้เลย ตนคิดว่ามีงบประมาณเพียงพอ และสามารถใช้กลไกทดลองจ่ายใช้ได้อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ทำได้ พรรคเพื่อไทยก็ต้องทำได้ หรือหากอยากจะทราบวิธีจะมาถามตน หรือถามนายกรณ์ จาติกวณิช ได้ เพราะประเด็นเหล่านี้รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าหลักเกณฑ์ช่วยเหลือจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ในอดีตรัฐบาลชุดก่อนมีการให้เงินชดเชยครัวเรือนละ 5,000 บาท หากรัฐบาลนี้จะบวกไปอีกนิดหน่อยก็ไม่เป็นไร ขอให้ต้องตัดสินใจ ทั้งนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 27 วันกว่าจะหมดปีงบประมาณ

ส่วนที่รัฐบาลมีความพยายามที่จะระบุตัวเลขชดเชยที่ 5,555 บาท ซึ่งเปรียบเสมือนการเกทับกันระหว่าง 2 ฝ่ายนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากประชาชนได้ประโยชน์ และมีความสมเหตุ สมผล ก็ไม่เห็นมีปัญหา รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยจ่ายราคาชดเชยเกษตรกรพื้นที่ไร่ละ 2,098 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์ 55% ของต้นทุน ส่วนตัวเลขที่รัฐบาลนี้จะจ่ายชดเชย ยังไม่ทราบเลยว่ามาจากหลักเกณฑ์อะไร

**กรณ์เหน็บ!คิดไม่เป็นโทรปรึกษาได้

นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ส.ส.จังหวัดพิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ พิจิตร เขต 2 พร้อมด้วยคณะ ได้ร่วมกันนำถุงยังชีพที่ประกอบด้วยข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่มจำนวนกว่า 4,000 ชุด แจกจ่ายให้กับราษฎรในเขต อ.ตะพานหิน อ.เมือง อ.สามง่าม ที่ถูกน้ำท่วมจากนั้นได้ให้สัมภาษณ์โต้ตอบกรณีที่ฝ่ายรัฐบาล ที่นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงกับประชาชนว่าเงินในกระทรวงการคลัง มีเหลือแค่ 1,000 กว่าล้าน จึงช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมไม่ได้

โดยนายกรณ์ กล่าวว่าจริงๆ แล้ว มีเงินมากกว่า 3,000 ล้านบาท และถ้าหากจะช่วยชาวบ้านจริงๆ ก็มีวิธีการบริหารจัดการการเงินที่ทำได้ แต่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี น่าจะคิดไม่เป็นมากกว่า โดยนายกรณ์มองว่า น่าจะเป็นการเล่นการเมืองใส่ร้ายป้ายสีกันมากกว่า มีความจริงใจ ที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน และยังได้พูดเหน็บแนมทิ้งท้ายว่าถ้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ คิดไม่ออกให้โทรมาถามก็ยินดีจะให้คำปรึกษา โดยไม่ต้องรอความคิดจากดูไบ

**" ยิ่งลักษณ์" เมิน "มาร์ค" อาสาแก้น้ำท่วม

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมมอบนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ 9 จังหวัดว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทานมองในภาพรวม ถ้าเรามองแต่ละจังหวัดก็จะมีปัญหาเรื่องน้ำจากจังหวัดหนึ่งไปจังหวัดหนึ่ง ดังนั้นทุกหน่วยงานต้องหารือร่วมกับส่วนกลางเพื่อดูผลกระทบกับจังหวัดอื่นด้วย ซึ่งวันนี้แต่ละจังหวัดได้นำเสนอแนวทาง และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้พิจารณาผลกระทบร่วมกัน ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ โดยภาพรวมของการแก้ปัญหาที่พื้นที่นั้นผู้ว่าราชการจังหวัดก็เข้าไปดูแลแล้วทั้งเรื่องของบ้านเรือนทีเสียหายก็มีการย้ายให้ไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย แต่ก็ยังขาดเหลือในเรื่องของการผลิตน้ำ สุขา และการขยายงบประมาณ ซึ่งทั้งหมดก็ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เหลือก็จะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ต้องมีการบูรณาการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน ที่ต้องนำโครงการมาหารือในระยะยาวต่อไป

ส่วนปัญหาในเรื่องของงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการบริหารจัดการเพราะบางส่วนสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละกระทรวง แต่อย่างไรก็ตามแม้งบฯจะมีอยู่จำกัดแต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ที่สำคัญในเรื่องของการตัดจ่ายที่ประชาชนต้องการให้มีการตัดจ่ายโดยเร็วก็มีกระบวนการทำงานที่เราให้ทุกหน่วยงานบูรณาการเร่งรัดรวมถึงการชดเชยพืชสินค้าเกษตรด้วย

“การเพิ่มงบฉุกเฉินนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรค เพียงท่านผู้ว่าทำเรื่องขึ้นมาเราก็สามารถอนุมัติได้เลย คงไม่เป็นอุปสรรค ส่วนจังหวัดที่มีปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าต้องสำรวจในเรื่องของการหาสถานที่อ่างเก็บน้ำในการเก็บน้ำที่จะใช้ในยามน้ำแล้งด้วย อันนี้ต่างหากที่เราต้องเร่งรัด ซึ่งต้องใช้เวลาในการสำรวจ ดังนั้นเราต้องทำในช่วงสั้นก่อนเชนการลอกคูต่างๆ”นายกฯ กล่าว

สำหรับกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พร้อมที่จะให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนมีผู้ที่หารือร่วมกันทั้ง 37 หน่วยงาน เราแก้ไขปัญหาได้ แต่ต้องอาศัยทำงานแบบบูรณาการ และโครงการเก่าๆที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติรัฐบาลนี้ก็มีการดึงเรื่องมาอนุมัติให้ประชาชน

“กราบเรียนว่าในเรื่องของการแก้ไขปัญหาเราจะไม่สามารถเห็นน้ำลดได้ทันทีเพราะปริมาณแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมยังไม่ลด ซึ่งการสูบน้ำก็ต้องรอปริมาณน้ำลด โดยในรายละเอียดจะให้กรมชลประมาณ ทั้งนี้เมื่อปริมาณน้ำลดเราจะเข้าไปในพื้นที่ทำงานทันที

เมื่อถามถึงหลักเกณฑ์ชดเชยเยียวยาจำนวน 5,500 บาทจะถึงมือประชาชนหลังจากครม.มีมติแล้วกี่วัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อันนี้ต้องอยู่ในขั้นตอน ซึ่งตนก็ได้ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา เพราะว่าปกติของเดิมก็ใช้เวลาอยู่แล้ว ก็ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรให้เร็วที่สุด

**“โฆษกรบ.” ย้อน “มาร์ค” ดูตัวเองก่อน

นางฐืติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมมีการพูดคุยเตรียมการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งบางโครงการจะต้องใช้เวลาศึกษาถึง 5 ปี และอาจจะไม่ได้ใช้งบประมาณในปีนี้ ส่วนในจ.สุโขทัยที่มีปัญหาเรื่องไร่อ้อย ต้องนำเรื่องเข้าครม.เพื่อหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมและขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อรับเงินเยียวยา

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาระบุว่ารัฐบาลปชป.ใช้เงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทในการช่วยเหลือน้ำท่วมนั้นไม่เป็นความจริง จึงอยากย้อนถามกลับไปว่า วันนี้สับสนอะไรกับตัวเลขหรือเปล่า เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลพบว่างบกลางจำนวน 67,300 ล้านบาทนั้น ท่านใช้เรื่องน้ำท่วมไป 36,660 ล้านบาท และท่านทำงบเพิ่มเติมปี 54 อีกจำนวน 9,900 ล้านบาท อีกทั้งท่านก็มีงบไทยเข้มแข็งอีก 1,000 ล้านบาท ฉะนั้นท่านใช้เงินเฉพาะเรื่องภัยภิบัติทั้งสิ้น 47,500 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ 2 หมื่นกว่าล้านบาท

“ขอถามอีกว่าที่ท่านอภิสิทธิ์จะมาแนะนำการบริหารงานให้นั้น ตัวของท่านเองเคยบริหารราชการมาอย่างไร ขนาดใช้เงิน 4 หมื่นกว่าล้านบาทในการแก้น้ำท่วมแต่น้ำก็ยังท่วมอยู่อย่างนี้ ทั้งๆที่เงินขนาดนี้สามารถทำโครงการใหญ่ๆได้เลย ดังนั้นเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาถกเถียงกันเรื่องนี้ เรามาช่วยเหลือประชาชนกันดีกว่า เพราะรัฐบาลตั้งใจเข้ามาทำงาน” โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าว

**พท.อ้างมาร์คใช้งบกลางเหลือแค่ 3.5 พันล้าน

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ ออกมาระบุมีงบกลางช่วยเหลือประชาชนชนประสพภัยน้ำท่วม แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุงบกลางเหลือน้อยต้องไประดมเจียดงบประมาณจากระทรวงต่างๆมา ว่า ขณะนี้งบกลางมีแค่ 3.5 พันล้านบาท โดยในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ถลุงอีลุ่ยฉุยแฉกจนหมดตูดไป 6.3 หมื่นล้านบาท เรียกได้ว่ากระเป๋าฉีก โดยในวันที่ 5 ก.ย. ตนเตรียมจะเปิดข้อมูลฟ้องประชาชนว่าในจำนวนนี้มีการนำงบกลาง 2 หมื่นล้านบาทไปทำอะไรบ้าง ทำให้รัฐบาลนี้เลยทำงานลำบาก ไม่มีงบประมาณช่วยเหลือกประชาชน

**ปูอ้างนั่งไม่ติด หลังน้ำท่วมวิกฤตหนัก

เมื่อเวลา 13.00 น.ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานมอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ 9 จังหวัด ประกอบด้วยสุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร อ่างทอง ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี สิงห์บุรี ร่วมกับ 37 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนนกเตน โดยนายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวรายงานว่า ตามที่นายกฯสั่งการว่า ให้เชิญผู้ว่าฯ 9 จังหวัดทีประสบภัยน้ำท่วมหนักอยู่ในขณะนี้ ให้ดำเนินการหารืออย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะเข้าไปช่วยเหลือและเยียวยา ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะช่วงที่ชาวบ้านประสบวิกฤตได้ ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าฯ 9 จังหวัดก็ได้ร่วมมือกันเพื่อที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะนโยบายของนายกฯ ที่เน้นย้ำไม่ให้การระบายน้ำอีกพื้นที่หนึ่งไปกระทบอีกพื้นที่หนึ่ง ซึ่งก็ได้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง

นางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณที่ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และมีการบูรณการร่วมกันกับหน่วยงานทั้ง 37 แห่ง ซึ่งตนต้องการให้การบูรณการเป็นไปอย่างเร่งด่วน และทั่วถึง จึงได้สั่งให้ทุกหน่วยงานมาประชุมร่วมกัน และวิดิโอคอนฟรีเรนซ์ไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ แม้จะยังไม่ประสบอุทกภัยก็ตาม จะได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ หากจังหวัดนั้นๆ สุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดภาวะอุทกภัยขึ้นได้ เพราะว่าการเกิดอุทกภัยจังหวัดที่เกิดน้ำท่วมจะทำให้จังหวัดใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อนไปด้วย ที่ผ่านมาได้มีการตั้งวอร์รูมโดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ติดตามสถานการณ์น้ำ และเตือนล่วงหน้าประชาชนในพื้นที่ ได้เตรียมตัวรับบปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น

เป็นไปตามนโยบายที่ตนได้มอบหมายไว้ให้คือ 2 พี 2 อาร์ ซึ่งไม่ใช่มาตรการป้องกัน แต่เป็นมาตรการดำเนินการในช่วงที่ก่อนภัยเกิด ช่วงที่ภัยเกิด และหลังจากเกิดแล้ว การบูรณาการร่วมกันก็จะทำให้มาตรการ 2 พี 2 อาร์ สัมฤทธิ์ผล ซึ่งความสำเร็จก็จะตกอยู่กับประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดิฉันต้องการที่จะทำให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือจากทุกหน่วยงานโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะมาตรการเร่งด่วน และมาตรการระยะยาว เพื่อช่วยดูแลความเดือดร้อนความเดือดร้อน และความเสียหายของประชาชน ซึ่งเวลานี้น้ำท่วม 44 จังหวัด แต่ที่เรียกผู้ว่าฯ 9 จังหวัดมาหารือ น้ำยังไม่ลด ซึ่งจะเป็นการหารือเพื่อให้เห็นสภาพปัญหาว่า การช่วยเหลือควรจะเป็นไปอย่างไร ผู้ว่าฯได้ใช้กลไกแต่ละกระทรวงแล้วหรือยัง

**ผู้ว่าขู่อบต.ปล่อยน้ำท่วมนาไม่ขึ้นเงินให้

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ดังนั้นการหารือวันนี้เป็นการหารือเพื่อให้เห็นถึงภาพรวมในการแก้ไขปัญหา และจะหารือถึงมาตรการระยะยาวก่อน เพราะมาตรการระยะยาวจะมากำหนดนโยบาย และงบประมาณที่จะรัฐบาล และหน่วยงานส่วนกลาง จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับนโยบายเร่งด่วน แต่ละจังหวัดต้องเสนอมาว่า มีความต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านใดบ้างอย่างเร่งด่วนมา

“แม้ว่า ดิฉันจะให้นโยบายโมเดลบางระกำแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถนั่งอยู่ได้ เพราะเห็นความเดือดร้อนของประชาชนใน 9 จังหวัด ดิฉันเป็นห่วง ก็จะต้องลงมาเรียกทุกหน่วยงานหารือบูรณาการร่วมกัน หามาตรการลงไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ดิฉันต้องลงมาอีกทางหนึ่งเพื่อที่จะให้ความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 9 จังหวัดเป็นไปอย่างรวดเร็ว” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว

ด้านนายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกว่า น้ำอยู่ในระดับสูงสุดของวันนี้ ซึ่งมีเกณฑ์ระดับน้ำที่ไหลผ่านอยู่ที่ 2400-2500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้ขอร้องกรมชลประทานว่า อย่าปล่อยน้ำมามากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นนาจังหวัดอยุธยาล่มหมดแน่ ตอนนี้ก็พยายามทำแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ ตามอำเภอต่างๆไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่การเกษตร เพราะมีพื้นที่นา 2-3 แสนไร่ ได้ขู่ไปว่าองค์การบริหารส่วนตำบลไหนทุกตำบลในจังหวัดอยุธยา ปล่อยให้เกิดน้ำท่วมนา จะไม่ขึ้นเงินเดือนให้ แม้ว่ารัฐบาลจะปรับให้ 15,000 บาทก็จะไม่ขึ้นให้ ต้องเฝ้าระวังทุกประตูน้ำให้ได้ ระหว่างวันที่ 5-10 ก.ย. เพราะจะให้ชาวนาเกี่ยวข้าวก่อน

**สธ.สั่ง อภ.ผลิตยาชุดน้ำท่วมสำรอง 2 แสนชุด

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงเรือไปตรวจสภาพน้ำท่วมเยี่ยมจุดรอบเกาะเมือง และตรวจเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่วัดพิชัยสงคราม จ.พระนครศรีอยุธยา และมอบยาชุดน้ำท่วมพร้อมถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัย จากนั้นเดินทางไปดูแนวคันดินกั้นน้ำที่ใต้สะพานดุสิตาราม เพื่อวางแผนป้องกันน้ำท่วม

สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทวงสาธารณสุขได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะด้านการเจ็บป่วยทางกายและทางใจ ตั้งแต่น้ำท่วมตลอดกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปแล้ว 640 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วย 76,585 ราย พบโรคน้ำกัดเท้ามากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาปวดเมื่อย ไข้หวัด ไม่มีรายใดอาการหนัก ส่วนด้านสุขภาพจิต ได้เร่งให้กรมสุขภาพจิตร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจคัดกรองอาการเจ็บป่วยทางใจ จนถึงขณะนี้ตรวจไปแล้ว 12,036 ราย พบผู้มีอาการซึมเศร้า 1,191 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 173 ราย ต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 225 ราย มีผู้เสียชีวิต 59 ราย เป็นชาย 54 ราย หญิง 5 ราย สาเหตุส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 เกิดจากการจมน้ำ ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 11 ราย

ทั้งนี้ คาดว่าน้ำท่วมขังคงจะกินเวลายาวนานกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นลักษณะน้ำล้นจากแม่น้ำ ปัญหาที่ตามมา คือ โรคน้ำกัดเท้า ขณะนี้พบร้อยละ 80 คาดว่าแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมผลิตสำรองไว้ 200,000 ชุด และให้โรงพยาบาลอีก 3 แห่งคือโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี และโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ช่วยผลิตเพิ่มจะได้ประมาณ 300,000 ชุด เพื่อให้เพียงพอ

สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 9 อำเภอ คือพระนครศรีอยุธยา บางไทร บางบาล บางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ เสนา มหาราช นครหลวง มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลถูกน้ำท่วม 15 แห่ง ระดับน้ำสูงประมาณ 80 เซนติเมตร แต่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกช่วยเหลือผู้ประสบภัย 59 หน่วย พบผู้ป่วย 1,060 ราย ส่วนใหญ่โรคน้ำกัดเท้า ปวดกล้ามเนื้อ ไข้หวัด และให้โรงพยาบาลทุกแห่งเป็นคลังยาแจกจ่ายยาชุดน้ำท่วมครอบคลุมทุกหลังคาเรือนผู้ประสบภัย ขณะนี้แจกไปแล้ว 10,000 ชุด นอกจากนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต.และอสม.เยี่ยมบ้านผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คัดกรองความเครียด 3,332 ราย คัดกรองสุขภาพจิต 563 ราย

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ต้องขอย้ำเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคลมชักหรือลมบ้าหมู ซึ่งอาจเกิดการป่วยฉุกเฉินจากอาการกำเริบได้ และเสี่ยงอันตราย จมน้ำเสียชีวิตได้ ไม่แนะนำให้เดินทางโดยไม่จำเป็น และขอให้ตรวจสอบยากิน หากยาใกล้หมด ขอให้แจ้งอาสาสมัครสาธารณสุขหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโทรหมายเลข 1669 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเดินทางเข้าไปดูแลและจัดยาไปมอบให้ถึงบ้าน

**”พิจิตร-ลุ่มน้ำยม-น่าน”ยังวิกฤติ

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้นายบูรณะ แสงระวีวิสิษฐ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองตะพานหิน เปิดเผยว่า น้ำท่วมในเขตชุมชนและพื้นที่โดยรอบมาตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2554 และได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพราะแม่น้ำน่านสูงเอ่อล้นตลิ่งแล้วกว่า 1.20 เมตรอีกทั้งน้ำป่าจาก จ.เพชรบูรณ์ ก็ไหลซ้ำเข้ามา ทำให้ทั้งบ้านเรือนในรอบแรกกว่า 500 หลังคาเรือน และพื้นที่ที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง จากนั้นมีฝนตกต่อเนื่องทำให้พื้นที่ทั้ง 16 ชุมชนของเทศบาลตะพานหิน น้ำเข้าท่วมบ้านเรือน ล่าสุดเสียหายแล้วถึง 1,886 ครัวเรือน

ในส่วนของเทศบาลตะพานหิน ได้พยายามป้องกันน้ำจากแม่น้ำน่านไม่ให้ไหลทะลักเข้าท่วมย่านธุรกิจร้านค้า ธนาคาร ร้านทอง ตลาดสด โดยได้นำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวตลอดริมแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ซึ่งใช้กระสอบทรายไปแล้ว 2 แสนกว่าลูก และติดตั้งเครื่องสูบน้ำถึง 30 เครื่องเร่งสูบน้ำออกจากย่านชุมชน ซึ่งก็พอบรรเทาได้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น แต่ถ้ามีฝนตกและน้ำในแม่น้ำน่านหนุนขึ้นสูงย่านชุมชนตลาดสดตะพานหิน ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงจากการถูกน้ำท่วมได้

ด้านศูนย์อำนวยการเฉาพะกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดพิจิตร สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพิจิตร ตั้งแต่ 2 ส.ค.54 เป็นต้นมาเหตุเกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชั่น “นกเตน”ปกคลุมภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.54 และร่องมรสุมพากผ่านภาคเหนือช่วง 8 ส.ค.54 เป็นต้นมา ส่งผลให้ฝนตกติดต่อกันหลายวัน เป็นเหตุให้เกิดน้ำไหลหลากและเอ่อท่วมในพื้นที่ 12 อำเภอ 73 ตำบล 446 หมู่บ้าน

พื้นที่ทางการเกษตรนาข้าวได้รับผลกระทบ 141,409 ไร่ พืชสวน 112 ไร่ บ่อปลาได้รับความเสียหาย 15 บ่อ ถนนลูกรัง ชำรุด 39 สาย ท่อระบายน้ำ 4 แห่ง ราษฎรได้รับผลกระทบจำนวน 31,908 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 14 ราย

พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำยมนั้น น้ำยมได้เอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ทั้งสองฝั่ง ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีพื้นที่ถูกน้ำท่วม 5 อำเภอ 24 ตำบล 176 หมู่บ้านประกอบด้วย วชิระบารมี สามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และโพทะเล ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ Y17 อำเภอสามง่าม ระดับน้ำ 6.77 เมตร สูงกว่าจุดวิกฤติ 1.21 เมตร ที่สถานีวัดน้ำ Y5 อำเภอโพทะเล ระดับน้ำ 8.95 เมตร สูงกว่าจุดวิกฤติ 2 เมตร

พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน น้ำในแม่น้ำน่านมีระดับสูงมีผลให้พื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเกิดน้ำท่วม 3 อำเภอ 33 ตำบล 201 หมู่บ้าน สามอำเภอประกอบด้วย อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอตะพานหิน และอำเภอบางมูลนาก ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ N 7A อำเภอเมืองพิจิตร ระดับน้ำ 11.40 เมตร สูงกว่าจุดวิกฤติ 1.19 เมตร ที่สถานีวัดน้ำ N 8Aอำเภอบางมูลนาก ระดับน้ำ 11.80 เมตร สูงกว่าจุดวิกฤติ 1เมตร

ส่วนพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ และเทือกเขาจังหวัดพิษณุโลก ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ 16 ตำบล 69 หมู่บ้าน ประกอบด้วย อำเภอสากเหล็ก อำเภอทับคล้อ อำเภอวังทรายพูน และอำเภอดงเจริญ

ด้านความช่วยเหลือนายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ยังคงทำได้แค่เพียงแจกถุงยังชีพ เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน และกำลังพยายามวางแผนแก้ไขในระยะยาวอยู่

**นครสวรรค์สรุปน้ำท่วมกระทบ 7 อำเภอ

นายชัยโรจน์ มีแดง ผวจ.นครสวรรค์ กล่าวว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้มีฝนตกชุกต่อเนื่อง และเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก อยู่ในขณะนี้ ได้สั่งการให้ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จังหวัดนครสวรรค์ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งช่วยเหลือประชาชน โดยจนถึงขณะ มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 7 อำเภอ 29 ตำบล 196 หมู่บ้าน 13 ชุมชน ราษฎรได้รับผลกระทบ 22,816 ครัวเรือน 72,215 คน พื้นที่การเกษตร 153,716 ไร่ ประกอบด้วย อ.ชุมแสง อ.เมือง อ.เก้าเลี้ยว อ.ท่าตะโก อ.โกรกพระ อ.พยุหะคีรี และ อ.ตาคลี.
กำลังโหลดความคิดเห็น