xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตน้ำท่วม...กับวิกฤตประชาธิปไตยแบบไทยๆ

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

ในท่ามกลางความทุกข์อันแสนสาหัสของพี่น้องร่วมชาติ เกือบทุกภูมิภาคที่ต้องผจญอยู่กับภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในเวลานี้ ทำอะไรได้ไม่มากนักนอกจากขอส่งแรงใจและกำลังใจไปให้แก่ทุกคนทุกครอบครัว ที่กำลังทุกข์ทนกับภาวะที่เป็นอยู่ ปลายปีที่แล้วภาวะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ อาจจะรุนแรงกว่านี้ในแง่ของการเกิดภาวะน้ำท่วมที่ผสมด้วยพายุดีเปรสชั่นที่ทำให้บ้านเรือน เรือกสวนไร่นา สวนยางพารา สวนผลไม้ เสียหายย่อยยับ ถึงวันนี้แม้การฟื้นฟูเพิ่งจะผ่านไป แต่ผลหมากรากไม้ สวนยางพารา สวนผลไม้ ก็เพิ่งจะผลิใบแตกยอดอ่อนได้ไม่กี่ชั้นใบ อีกนานกว่าที่ไม้ยืนต้นเหล่านี้จะให้ผลผลิต เป็นรายได้เป็นอาชีพให้เหล่าเกษตรกรได้ลืมตาอ้าปากได้.....

ผมยังจำเสียงร้องโหวกเหวกโหยหวนในค่ำคืนที่พายุเข้ากระหน่ำ ผ่านเครื่องรับส่งวิทยุสมัครเล่นได้ติดหู มีคนส่งข่าวเรื่องแผ่นดินถล่มทับบ้านเรือน มีคนติดอยู่ในบ้าน 5 คน ร้องขอการช่วยเหลือมาตามคลื่นวิทยุ มีผู้คนตอบรับกันเป็นทอดๆ ถามพิกัด สภาพพื้นที่และพยายามที่จะหาทางออกไปช่วยเหลือกันให้ทันท่วงที แต่จนแล้วจนรอด 3 คนในบ้านหลังนั้นก็เสียชีวิตในกองโคลนที่ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าไปช่วยเหลือได้

สภาพที่พายุพัดเข้าพื้นที่ ระบบไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ใช้การไม่ได้ทั้งหมด ภาคประชาชนต้องตะเกียกตะกายช่วยเหลือตัวเอง ทำให้นึกถึงกลไกในการรับมือกับภัยพิบัติซึ่งน่าจะเป็นวิกฤตที่ใหญ่หลวงของประเทศหรือของโลก พอๆ กับวิกฤตทางเศรษฐกิจและวิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่ทุกภาคส่วน ทุกระดับกำลังตื่นตัวต่อแนวโน้มในอนาคตที่มนุษยชาติจะต้องเผชิญร่วมกัน

อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าครุ่นคิด ว่า “ความเกี่ยวพันอย่างยอกย้อนระหว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมกับประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันไม่ได้ ว่าทำไม เท่าที่ผ่านมาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยดังที่เป็นอยู่ ( existing democracies) หรือนัยหนึ่งการปกครองด้วยอำนาจเสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้ง จึงไม่สามารถนำพานานาประเทศในโลกไปดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมใหญ่ๆ อย่างเช่นภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหรือโลกร้อนสำเร็จ เพื่อจะอนุรักษ์ดาวพระเคราะห์โลกให้อยู่ยั่งยืนได้?”

และผมยังติดใจข้อคิดเห็นของอาจารย์เกษียร ที่ว่า “ข้อเสนอหลักก็คือประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกอย่างยั่งยืนได้เพราะมันล็อกติดผนึกแน่นกับระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม-บริโภคนิยมที่เน้นการเติบโตตามตัวแบบการพัฒนา ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นฐาน (a growth-oriented industrialized consumer economy based on the fossil model of development)

อาการล็อกติดหรือเสพติดตัวแบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตดังกล่าวได้แปรออกมาในทางการเมืองกลายเป็นเสียงข้างมากของผู้ผลิต- ผู้บริโภค, กลุ่มล็อบบี้วิ่งเต้นของบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ และนักการเมืองที่ขึ้นต่อสื่อมวลชนและกระแสหลักของสังคม อันเป็นโซ่ตรวนที่พันธนาการหรือคาถาที่สะกดเสียงข้างมากของประชาธิปไตยไว้อย่างดิ้นไม่หลุด จนยากที่อำนาจประชาธิปไตยจะขยับขยายไปขุดรากถอนโคนปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกให้เด็ดขาดได้”

ทำให้ย้อนมองถึงความเป็นประชาธิปไตยที่ประเทศของเรากำลังดำเนินอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ..ปัจจุบันที่พัฒนาไปไกลถึงขนาดกล่าวอ้างความเป็นประชาธิปไตยไปในทำนองโอ้อวด เกทับบลั๊ฟแหลกไปถึงปริมาณเสียงจากการลงคะแนนที่ว่ามาจาก 15 ล้านเสียงบ้างล่ะ ...ชนะขาดเป็นเสียงข้างมากบ้างล่ะ คำถามจึงมีว่าแล้วไง.....15 ล้านเสียงแล้วไง? และชนะขาดลอยเป็นเสียงข้างมากแล้วไง? ที่ผู้คนในประเทศนี้ที่เผชิญหน้าอยู่กับปัญหาต่างๆ แล้วเทใจพร้อมกันมาเลือกตั้ง กับแนวทาง วิธีการที่จะแก้ไขปัญหาที่ดำเนินอยู่แล้วประกาศเป็นนโยบายออกมาหรือศักยภาพในการแก้ไขวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าปัญหาที่ทำกินของเกษตรกร มาตรการในการลดช่องว่างทางสังคม โดยเฉพาะปัญหาวิกฤตจากน้ำท่วมใหญ่ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ 15 ล้านเสียง เอกภาพจากการเป็นพรรคเสียงข้างมากทำอะไรได้กี่มากน้อย???

บางครั้งเราก็หลงใหลได้ปลื้มไปกับความเป็นประชาธิปไตยกันแต่เฉพาะรูปแบบ แต่เนื้อหา วิธีการ และเป้าหมายสุดท้ายเรากลับมองข้ามกันเป็นส่วนใหญ่ เราจึงได้ประชาธิปไตยที่มีแต่เปลือก ประชาธิปไตยที่กินไม่ได้ ประชาธิปไตยที่แก้ไขปัญหาหลักๆ ของประเทศชาติไม่ได้ และเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของชนชั้นปกครองภายใต้การครอบงำของระบบทุนนิยมเท่านั้นเอง

ที่ว่ามาทั้งหมดก็หาได้มีความคิดชื่นชมในระบอบการปกครองที่เป็นเผด็จการ หรือเห็นด้วยกับการปกครองที่ขาดการมีส่วนร่วม ที่ไม่เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้คนและไม่ฟังเสียงของผู้คนก็หาไม่ เพียงแต่อยากสะท้อนให้เห็นว่ายามใดที่เราเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราได้ตระหนัก ได้เห็นรูปธรรมของเครื่องมือและกลไกของสังคมที่เราสมาทานกันอยู่ ว่าจริงๆ แล้วมันได้ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหามากน้อยแค่ไหน วิกฤตที่เรากำลังเผชิญกันอยู่เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตโลกใบนี้โดยรวม ในขณะที่วิกฤตภายในชาติเรายังแก้ไขไม่ได้จึงเป็นภาระที่หนักหน่วงที่เราจะต้องหาหนทางฝ่าไปด้วยกัน การทำความเข้าใจร่วมในปัญหาและวิธีการแก้ไขจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรหลีกเลี่ยง

ข้อคิดเห็นของอาจารย์เกษียร ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งก็คือ แม้ชาตินั้นๆ จะแก้ไขปัญหาของผู้คนในชาติของตัวเองได้เป็นอย่างดีแล้วก็ตาม แต่ “...การที่จะให้รัฐชาติเปลี่ยนปรับขยับขยายจากรับใช้ชาติของตนไปรับใช้โลก และยอมเสียสละลดทอนสวัสดิการหรือคุณภาพชีวิตของประชาชนพลเมืองของตนลงเพื่อเห็นแก่สิ่งแวดล้อมโลก” (คาดคำนวณว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่เจริญแล้วจักต้องหดลดการใช้ทรัพยากรฟอสซิลลง 90% เหลือเพียง 1 ใน 10 ของที่ใช้อยู่ตอนนี้ภายใน 40 ปีข้างหน้า เพื่อรักษาโลกให้อยู่รอด)

จึงเป็นเรื่องที่ยากจะนึกคิดไปได้ว่าจะมีผู้นำรัฐบาลใดกล้านำและกล้าทำ ...เทียบกับการประกาศนโยบายลดแลกแจกแถมรถคันแรก, บ้านหลังแรก, คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต, งดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ถมทะเล สร้างกาสิโน ฯลฯ เพื่อประชาธิปไตยแล้ว มันยากกว่ากันเยอะเลย” เราจะยังวนเวียนอยู่กับระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ไปอีกกี่วิกฤตละเนี่ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น