xs
xsm
sm
md
lg

เหตุแห่งการรัฐประหารในกรีก ปี 1967 เมื่อฝ่ายประชาธิปไตยสองขั้ว เอาและไม่เอารัฐประหาร

เผยแพร่:   โดย: ศาสตรา โตอ่อน

การรัฐประหารเป็นของไม่ดีแน่ แต่มันเกิดขึ้นได้ถ้ามันมีเหตุให้เกิด ถ้ากล่าวในทางพุทธ สิ่งใดย่อมเกิดจากเหตุ ถ้าจะดับก็ดับที่เหตุ หากมองว่ารัฐประหารไม่ดีจะไม่ให้เกิดขึ้นอีกย่อมต้องดับที่เหตุ ดังนั้นการป้องกันรัฐประหารจึงไม่อาจสรุปรวบลัดเอาว่ารัฐประหารเลวแต่อย่างเดียวโดยไม่ได้มองที่มาที่ไป แล้วจับจดอยู่แต่ว่าต้องเอาคณะรัฐประหารมาลงโทษภายหน้าจะได้ไม่มีรัฐประหารย่อมเป็นการปฏิเสธเหตุปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ

ในวงวิชาการกฎหมายก็เช่นกัน ดูเหมือนนักกฎหมายที่สมาทานให้กับความคิดแบบตะวันตกจะพลอยมองว่า ประชาธิปไตยแบบตะวันตกจะขาวสะอาดบริสุทธิ์ไม่มีรอยริ้วของรัฐประหาร การดังกล่าวย่อมทำให้เกิดความมืดบอดทางวิชาการและคำกล่าวว่าเดินตามก้นฝรั่งอาจมีข้อพิสูจน์เชิงประจักษ์ที่แข็งแรงขึ้น

ใครจะเชื่อว่า กรีก ต้นแบบประชาธิปไตยโลก มีนักคิดนามอุโฆษมากมายก็มีรัฐประหารกับเขาเหมือนกัน และไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยโรมัน สมัยกลาง หรือยุคเบ่งบานทางปัญญา หากแต่เกิดขึ้นเมื่อปี 1967 หรือ 40 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งผลของรัฐประหารดังกล่าวได้นำไปสู่ยุคเผด็จการทหารในช่วง 1967-1974 กินเวลากว่า 7 ปีเลยทีเดียว ยุคการปกครองดังกล่าวได้รับการเรียกขานว่า Junta

รัฐประหารในกรีกเกิดขึ้นในเช้าตรู่ของวันที่ 21 เมษายน 1967 กองทัพกรักภายใต้การนำของ Georgios Papadopoulos เข้าทำการยึดอำนาจได้สำเร็จ ในยุคการปกครอง 7 ปี คณะรัฐประหารได้อ้างเหตุ การปฏิวัติเพื่อช่วยเหลือชาติ และสร้างภราดรภาพของชนชาวกรีก อย่างไรก็ตามยุคเผด็จการทหาร Junta ได้รับการต่อต้านมากขึ้นและทหารเองได้จับกุมนักศึกษาหลายร้อยคนมีการส่งนักโทษไปยังเกาะ Gyaros ซึ่งนักโทษได้รับความยากลำบากอย่างมากทั้งการกินอยู่โรคภัยไข้เจ็บ มีการทรมานฝ่ายตรงข้ามกับ Junta มีการเซ็นเซอร์สื่ออย่างเอิกเกริก

ในที่สุดได้มีผู้นำในการต้านรัฐประหารนาม Mikis Theodorakis ทำการจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมกู้ชาติเข้าต่อต้านโดยได้รับการสนับสนุนภายนอกจากปัญญาชนกรีกในเยอรมนี ในวันที่ 14 November 1973 ได้เกิดการลุกฮือของนักศึกษาโปลีเทคนิคในกรุงเอเธนส์จนนำไปสู่การล้อมปราบ มีผู้เสียชีวิต แต่ระบอบ Junta ก็สิ้นสุดลงในวันที่ 15 พฤษภาคม 1974

รัฐประหารในกรีกแม้จะจบลงที่ความล่มสลายของระบอบ Junta แต่อย่างไรก็ตาม การที่ระบอบดังกล่าวตั้งมาได้ถึง 7 ปีย่อมต้องมีที่มาที่ไป และเหตุแห่งการรัฐประหารในกรีก อันเป็นชนวนปัญหาเป็นสิ่งที่ควรนำมาบอกกล่าวเล่าขานให้สังคมไทยเราได้รับทราบเพื่อลองเปรียบเทียบกับรัฐประหารของไทยเราดู

           ........สถานการณ์ก่อนรัฐประหารในกรีก 1967 ..............

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังการปลดปล่อยกรีกจากการถูกยึดครองจากเยอรมนี ความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์กับเสรีนิยมในนามสงครามเย็นค่อยๆ ต่อตัวกลายเป็นความขัดแย้งภายในของกรีกจนนำไปสู่สงครามกลางเมืองในกรีกซึ่งสิ้นสุดลงในปี 1949 สงครามดังกล่าวเป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์กับฝ่ายอนุรักษ์ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวีย ในขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์ได้รับการสนับสนุนจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา โดยอเมริกาที่ยึดหลักการทรูแมน มองว่า กรีก เป็นรัฐที่มีความเสี่ยงในการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต ในที่สุดในปี 1952 กรีกได้รับการยอมรับเข้าร่วมในกลุ่มนาโตหรือสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ซึ่งในขณะนั้นกรีกถือรัฐที่ยังไม่ป็นคอมมิวนิสต์ไม่กี่ประเทศบนคาบสมุทรบอลข่าน

จากสถานการณ์ที่กล่าวมา อาจเปรียบเทียบกับประเทศไทยของเราในช่วงปี 2510 เป็นต้นมา ที่ประเทศไทยมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายคอมฯกับฝ่ายอนุรักษ์และมีฝ่ายอนุรักษ์มีอเมริกาหนุนหลัง ที่น่าสนใจคือ ฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยกับฝ่ายอนุรักษ์ของทั้งสองประเทศทำงานร่วมกันได้อย่างเหมาะเจาะ ในขณะที่ใน พ.ศ.นี้ ฝ่ายคอมฯ เก่าในไทยหลายคนกลับมาใช้อุดมการณ์เสรีนิยมมาฟาดฟันกับฝ่ายอนุรักษ์ อย่างกรณีนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นต้น

กลับมาที่กรีก ภายหลังการต่อสู้กันเองในปี 1949 รัฐบาลขวาจัดได้ครองอำนาจอย่างยาวนานในกรีก โดยมีกษัตริย์ Paul I ที่ได้รับการหนุนหลังจากอเมริกา ในช่วงปี 1949-1964 มีการแต่งตั้งประธานาธิบดีหลายคน หนึ่งในนั้นคือ Konstatinos Karamanlis ซึ่งภายหลังความขัดแย้งกับกษัตริย์ Paul I เขาได้ลาออกจากตำแหน่งในปี 1963 และทำให้กรีกต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคอนุรักษ์ของ Karamanis นาม ERE พ่ายแพ้ต่อพรรคซ้ายภายใต้การนำของ Goorgios Papandreous การกลับมาของฝ่ายซ้ายและการสวรรคตของกษัตริย์ Paul I ในปี 1964 นำไปสู่การขึ้นครองราชย์ของ Konstantin II และเหตุการณ์ค่อยๆ ก่อกลายเป็นชนวนของรัฐประหารในปี 1967

นับจากปี 1965 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลฝ่ายซ้ายของ Papadreous กับราชสำนักไม่ค่อยดีนัก ฝ่ายราชสำนักเองทราบดีว่าพรรคฝ่ายซ้ายต้องการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ ในขณะที่ Papadreous ก็ไม่ได้คิดที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกษัตริย์ และพยายามทำให้กองทัพกรีกอยู่ภายใต้อำนาจของเขาโดยการเรียกร้องให้รัฐมนตรีกลาโหมที่ขณะนั้นลาออก แต่ได้รับการปฏิเสธ ในขณะที่กษัตริย์ Konstantin II ทรงพยายามแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากสภาเช่นกัน ความขัดแย้งทั้งหมดได้นำไปสู่การจัดตั้งองค์กร Aspida ซึ่งมีนายทหารระดับสูงกว่า 28 นายเข้าร่วมเพื่อทำการยึดอำนาจ การผนึกกำลังภายในของกองทัพกับสถาบันและกำลังภายนอกจากเสรีนิยมอย่างอเมริกา เพื่อป้องกันภัยจากลัทธิฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ได้นำไปสู่การรัฐประหารในเย็นวันที่ 21 เมษา 1967

                  ........เหตุภายใน เหตุภายนอก............

ยุคสมัยแห่งการรัฐประหารในกรีก มีเหตุปัจจัยซับซ้อนมากมายทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยที่ถูกหยิบยกมาโจมตีจากฝ่ายต้านรัฐประหาร คือ การมองว่ารัฐประหารเป็นเพียงการแย่งชิงอำนาจภายในระหว่างสถาบัน กองทัพ กับฝ่ายซ้ายที่อ้างประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันสิ่งที่ขัดแย้งอยู่ในตัวคือ การรัฐประหารในกรีกที่ได้รับการต่อต้านจากกระบวนการประชาธิปไตยในกรีกกลับได้รับการสนับสนุนจากเสรีนิยมอย่างอเมริกาซึ่งก็เป็นประเทศประชาธิปไตยเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาปัจจัยภายนอกอย่างลัทธิคอมมิวนิสต์ การทำรัฐประหารที่อ้างความเป็นภราดรภาพของชาวกรีกก็ดูมีน้ำหนักไม่น้อย เพราะสถานการณ์ของสงครามเย็นในขณะนั้นบีบเค้นประเทศต่างให้ต้องเลือกข้าง และหากฝ่ายอำนาจเก่าที่ได้รับการเรียกขานว่าฝ่ายอนุรักษ์ไม่สามารถรักษาฐานอำนาจได้ กรีกอาจกลายเป็นประเทศหลังม่านเหล็กไปอีกประเทศ

ในความน่ารังเกียจของรัฐประหารที่ได้รับการสร้างความคิดจากฝ่ายเสรีนิยมในประเทศ กลับปรากฏความน่ารังเกียจอื่นๆ เช่น ความรังเกียจในลัทธิคอมมิวนิสต์ของประชาธิปไตยแบบอเมริกาจนจำต้องเข้าสนับสนุนการรัฐประหาร สถานการณ์ที่กล่าวมาแสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งทางความคิดประชาธิปไตย ที่อาจรังเกียจได้ทั้งลัทธิอื่นอย่างคอมมิวนิสต์ และรังเกียจการรัฐประหาร แต่ในกรณีของกรีก หากพิจารณาจากปัจจัยภายนอก การจัดลำดับความสำคัญของความรังเกียจกลับให้น้ำหนักไปที่คอมมิวนิสต์มากกว่าการรัฐประหาร ฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษ์จึงตกลงใจใช้รัฐประหาร ประหารคอมมิวนิสต์ ในขณะที่นักประชาธิปไตยในประเทศกลับไม่กลัวภัยคอมมิวนิสต์เท่ากับการรัฐประหาร

                         ..........ท้ายที่สุด.........

วิวาทะเรื่องรัฐประหารในไทยปี 49 กำลังได้รับการนำเสนอผลักดันจากฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเผ็ดร้อน ความรังเกียจรัฐประหารที่สมาทานให้ทุนนิยมกลายเป็นประเด็นร้อนในหมู่นักประชาธิปไตยสีแดง ที่พยายามใช้ความคิดทางกฎหมายผลักคนหมู่อื่นให้ตกไป แต่ความจริงก็คือความจริง โลกไม่ได้มีความเคลื่อนไหวอย่างในตำราหรืออุดมการณ์ ความรังเกียจคอมมิวนิสต์อย่างคนกรีกหรือคนไทยในสมัยหนึ่งก็ยังมี และคอมฯ เก่าหลายคนยังคงรังเกียจระบบทุนนิยมอย่างเข้ากระดูก รัฐประหารเกิดขึ้นไปแล้วโดยทหาร

ส่วนฝ่ายรังเกียจทุนนิยมจะยังเหลือเครื่องมือใดอีกหรือไม่ในการนำพาประเทศไทยให้รอดจากการแย่งยึดทรัพยากรจากทุนโลก ยังไม่มีใครตอบมากนักในเรื่องนี้ ที่อันตรายตอนนี้ คือ การมองความคิดตนเองแบบ Absolute นับวันจะหนักข้อขึ้นจนกล่าวหาว่าอีกฝ่ายไม่เป็นประชาธิปไตย ขนาดต้นแบบประชาธิปไตยทางตรงขนานแท้ดั้งเดิมอย่างกรีก เขายังมีปัญหาเลยครับพี่น้องชาวไทยผู้รักประชาธิปไตยไม่ว่าจะเอา หรือไม่เอารัฐประหารก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น