xs
xsm
sm
md
lg

ความรุนแรงทางการเมืองไทยร่วมสมัย : หรือมีทางเลือกแค่ Balkanization กับ Californization (4)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ในสังคมที่ผู้คนจำนวนมากถูกปลูกฝังให้เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีการตอกย้ำความความต่ำต้อยหรือความสูงส่งของสถานะทางสังคม ชนชั้นและชนชาติ มีการแบ่งเป็นฝักฝ่ายและยึดติดกับอัตตาตัวตนอันเป็นอัตลักษณ์อย่างฝังแน่น แยกเขาแยกเราอย่างชัดเจน กอปรกับมีความมืดบอดทางปัญญาจนไม่อาจแยกแยะชั่วดี ไม่อาจแยกแยะถูกผิด สังคมนั้นกำลังก้าวไปสู่ทางแยกระหว่างการกลายเป็นภาวะที่เรียกว่า “บอลเคอะไนเซชัน” (Balkanization) หรือกระบวนการกลายเป็นบอลข่าน กับ การเป็น “แคลิฟอไนเซชัน” (Californization)หรือกระบวนการกลายเป็นแคลิฟอเนีย

การปลูกฝังความเกลียดชังเป็นกระบวนการที่เริ่มจาก การระบุว่าใคร กลุ่ม ชนชั้น ชนชาติใดเป็น ศรัตรูหรือปรปักษ์หลัก จากนั้นก็จะพรรณนาสร้างเรื่องขึ้นมาว่าบรรดาศรัตรูได้กดขี่ เอารัดเอาเปรียบ ย่ำยี ทำลาย ล้างผลาญกลุ่มของตนเองอย่างไรบ้าง ประเด็นที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อตอกย้ำให้เกิดความเข้มข้นของความเกลียดชัง เช่น ความอยุติธรรม ความยากจน การทำร้าย การสังหาร การช่วงชิงทรัพยากร เป็นต้น

ในกรณีสังคมไทยการปลูกฝังความเกลียดชังของลัทธิแดงนิยมมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเริ่มจากการระบุว่าอำมาตย์เป็นศรัตรูหลักของสาวกเสื้อแดง ในทางเปิดมีการระบุว่าประธานองคมนตรีเป็นหัวหน้าอำมาตย์ ซึ่งแปลความได้ว่าเป็นหัวหน้าของฝ่ายศรัตรูของลัทธิแดง อย่างไรก็ตามหากติดตามความคิดของนักวิชาการและแกนนำลัทธิแดงที่เป็นปกาศกคนสำคัญ มีความเป็นไปได้ว่าหัวหน้าฝ่ายศรัตรูของลัทธิแดงนั้นอาจไม่ใช่ประธานองคมนตรี ดังจะเห็นร่องรอยเชิงสัญลักษณ์และคำพูดที่แกนนำของลัทธิแดงใช้ในการเคลื่อนไหวอยู่บ่อยครั้ง เช่น การเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของลัทธิแดงกับการปฏิวัติในรัสเซีย หรือการปฏิวัติในฝรั่งเศสซึ่งเป็นการปฏิวัติที่ล้มล้างระบอบกษัตริย์

นอกจากศรัตรูหลักแล้วลัทธิแดงยังระบุถึงกลุ่มคนที่พวกเขามองว่าเป็นผู้รับใช้ระบอบอำมาตย์ เช่น กองทัพ ศาล พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มนักวิชาการบางคน สื่อมวลชนบางคน และพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

ปกาศกของลัทธิแดงตอกย้ำต่อสาวกของตนเองว่าฝ่ายอำมาตย์ใช้อำนาจกดขี่บีฑาปกครองประเทศอย่างไม่เป็นธรรม ชอบใช้สองมาตรฐาน เป็นกลุ่มที่ชิงชังความยุติธรรม ชอบยุติ...ความเป็นธรรม สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในส่วนของตัวอำมาตย์ ปกาศกลัทธิแดงบอกว่าเป็นผู้ที่รังแกผู้นำลัทธิแดงอย่างไม่เป็นธรรมจนต้องหนีไปอยู่ภายในประเทศ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ และกองทัพ ปกาศกของลัทธิแดงสร้างมายาคติให้บรรดาสาวกเชื่อว่าเป็นผู้บงการหรือ ได้รับคำสั่งจากอำมาตย์ มาสังหารสาวกลัทธิแดงที่มาชุมนุมในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 ในส่วนของนักวิชาการ(จำนวน 303 คน) ปกาศกลัทธิแดงระบุว่าเป็นผู้ที่มีใจหินชาติในบาปที่รับใช้อำมาตย์ อยู่เบื้องหลัง ร่วมมือกับรัฐบาลสนับสนุนให้ใช้กำลังปราบปรามสาวกของลัทธิแดง

เมื่อถูกปลูกฝังให้เกิดความเกลียดชัง การแสดงออกของสาวกลัทธิแดงจึงเป็นไปด้วยความรุนแรงและโกรธแค้น การทำร้ายประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากลัทธิแดงเกิดขึ้นในทั่วทุกปริมณฑลของประเทศไทยทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ดังที่เกิดจังหวัดเชียงรายที่สาวกลัทธิแดงไปทำลายและทำร้ายผู้ไม่เห็นด้วยหลายครั้งหลายคราว ในจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา มีการบุกไปทำลายวิทยุชุมชนวิหคเรดิโอหลายครั้ง และทำร้ายผู้คนจนเสียชีวิต และ มีการบุกรุกไปทำลายพุทธสถานภูฟ้าน้ำ จังหวัดอุบลราชธานีมีการบุกเผาร้านบุญนิยม ส่วนจังหวัดอุดรธานีกลุ่มเสื้อแดงก็รุมทำร้ายประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขาหลายครั้งหลายคราวด้วยกัน นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อยเท่านั้นในจำนวนพฤติกรรมความรุนแรงของสาวกลัทธิแดงที่แสดงออกมานับร้อยนับพันครั้ง เพราะถูกปลูกฝังให้เกิดความเกลียดชังโดยปกาศกและแกนนำ

ยิ่งกว่านั้นสาวกของลัทธิแดงถูกแกนนำปลูกฝังให้เกิดความรู้สึกต่ำต้อยโดยเรียกตนเองว่า “ไพร่” ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้สึกในทำนองที่ว่า คนที่เป็น “ไพร่” ทำอะไรก็ได้โดยไม่มีความผิด เพราะถูกเอาเปรียบมานานดังนั้นจึงมีความชอบธรรมที่จะเอาคืน เมื่อความรู้สึกเช่นนี้ถูกปลูกฝังลงไป สาวกลัทธิแดงจึงมีการแสดงออกทางการเมืองที่ดุดัน ป่าเถื่อน ไม่เคารพกฎหมาย มีลักษณะทำลายล้างชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

ความรู้สึกเกลียดชังและความเชื่ออันงมงายที่บรรดาสาวกแดงถูกปลูกฝังลงไปจึงไปกัดกร่อนสำนึก มโนธรรม และจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ของบรรดาสาวกลัทธิแดงให้กลายสภาพเป็นหุ่นยนต์หรือฝูงผีดิบ ที่พร้อมจะรับคำสั่งจากผู้เป็นนายให้ไปกระทำการใดๆก็ได้ โดยปราศจากความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแต่ประการใด

ขณะเดียวกันปกาศกลัทธิแดงก็ได้สร้างอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวตนให้แก่บรรดาเหล่าสาวกแดงทั้งหลายขึ้นมา รูปเคารพสูงสุดของลัทธิแดงก็จะแตกต่างจากรูปเคารพทั่วไปของประชาชนชาวไทย เสื้อผ้าอาภรณ์ก็แตกต่างจากคนไทยทั่วไป มีการสร้างประวัติศาสตร์ของเจ้าลัทธิแดงหรือประวัติศาสตร์ของ “เจ้ามูลเมือง” ขึ้นมา ซึ่งที่แตกต่างจากประวัติศาสตร์ไทยโดยทั่วไป มีการเคารพบูชา นายฮุนเซน ผู้นำประเทศกัมพูชาเป็นพิเศษที่แตกต่างจากประชาชนไทยโดยทั่วไป มีความเชื่อในเรื่องของการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมาย มีการจัดตั้งหมู่บ้านแดง ตำบลแดง และอำเภอแดง ที่แตกต่างจากหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ โดยทั่วไปของประเทศไทย และอื่นๆอีกมากมายหลายประการที่สะท้อนให้เห็นว่าอัตลักษณ์ของสาวกลัทธิแดงมีความแตกต่างจากอัตลักษณ์ร่วมของคนไทยทั่วๆ ไป

การสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของกลุ่มคนที่มีจำนวนมากขึ้นมาภายในสังคมย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากับผู้คนที่มีอัตลักษณ์ดั้งเดิมอยู่แล้ว ความรู้สึกความระแวง ไม่ไว้วางใจระหว่างผู้คนในสังคมย่อมมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความเห็นอกเห็นใจ ความเมตตา กรุณา ระหว่างกลุ่มที่มีอัตลักษณ์แตกต่างกันก็จะลดลง ส่งผลให้การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันจะจางหายไป การกระทบกระทั่งตั้งแต่เรื่องเล็กๆ จนไปถึงเรื่องใหญ่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น อาณาบริเวณที่ถูกประกาศว่าเป็นพื้นที่เฉพาะของกลุ่มลัทธิแดง กลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ลัทธิแดงย่อมไม่อยากเดินทางเข้าไป เพราะหวาดกลัวและวิตกในความปลอดภัยของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกลัทธิแดงระบุว่าเป็นปรปักษ์ ความหวาดกลัวของกลุ่มอื่นที่มีต่อสาวกของลัทธิแดงหาใช่เกิดขึ้นจากจินตนาการ แต่เกิดจากการที่พวกเขารับรู้สภาพความเป็นจริงซึ่งกระทำโดยสาวกลัทธิแดงอย่างซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ในหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ.2551 เป็นต้นมา

ผู้คนในสังคมไทยส่วนหนึ่งมองสาวกลัทธิแดงว่าเป็นพวกอันธพาล ไร้เหตุผล และพร้อมจะใช้ความรุนแรงต่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พวกของตนเอง บางคนอาจไปไกลถึงขนาดเปรียบเปรยว่าสาวกลัทธิแดงบางส่วนเป็นเสมือนบรรดาเหล่าผีดิบในภาพยนตร์ ที่ไม่มีความรับผิดชอบชั่วดีหรือสำนึกในความเป็นมนุษย์ การที่ผู้คนซึ่งไม่ใช่สาวกลัทธิแดงมีการรับรู้เช่นที่กล่าวมา ทำให้พวกเขาบางส่วนเกิดความกังวลและพร้อมที่จะตอบโต้การกระทำของสาวกลัทธิแดงอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วเป็นบางครั้งบางคราวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

สภาวะที่สังคมแตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย แต่ละฝ่ายต่างมีความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ยึดมั่นฝังแน่นในอัตลักษณ์ของกลุ่มตนเอง และมีกองกำลังติดอาวุธ เผชิญหน้าและพร้อมจะยิงตอบโต้กันในทุกสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ภาวะนี้คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรบอลข่านนั่นเอง ภายหลังจึงมีการเรียกสังคมที่กำลังมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้ว่า กระบวนการกลายเป็นบอลข่าน

ในอีกทางหนึ่งเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถครองอำนาจได้เบ็ดเสร็จ และใช้อำนาจรัฐและมวลชนในการคุกคามบุคคลที่มีความเห็นต่าง ภายใต้ความรู้สึกหวาดกลัวก็อาจทำให้ประชาชนหลบเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยการไม่สนใจการเมือง ไม่ดู ไม่ฟัง และปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทางการเมือง หันไปหมกหมุ่นแสวงหาเสพสุขส่วนตัว แสวงหาความบันเทิง ท่องเที่ยว ดูหนังฟังเพลง เสพกาม ไปวันๆ ไม่สนใจสังคม ไม่สนใจความเป็นไปของชาติ และอาจจะบ่นพึมพัมๆบ้างเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล แต่ก็ไม่กระทำหรือไม่มีปฏิบัติการทางการเมืองใดๆออกมาก ภาวะเช่นนี้เรียกว่า กระบวนการกลายเป็นแคลิฟอเนีย นั่นเอง

สังคมไทยในปัจจุบันดูเหมือนมีหน่ออ่อนของปรากฎการณ์ทั้งสองประการนี้ดำรงอยู่ร่วมกัน ซึ่งอาจมีแรงผลักดันไปทางใดทางหนึ่งเป็นทางหลักในอนาคต แต่คำถามที่สำคัญคือ ภาวะทั้งสองแบบที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังพัฒนาไปสู่ระดับความเข้มข้นมากขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาหรือไม่สำหรับสังคมไทย หากภาวะทั้งสองนี้ไม่ใช่สิ่งที่พึงปรารถนา ภาวะเช่นใดเล่าจึงเป็นสภาพที่พึงปรารถนา และสภาพเช่นนั้นจะมีกลไกเชิงอำนาจแบบใดที่จะสร้างให้เกิดขึ้นมาได้

กำลังโหลดความคิดเห็น