xs
xsm
sm
md
lg

วิพากษ์ นิติราษฏร์

เผยแพร่:   โดย: ธงไท เทอดอิศรา

กลุ่มนิติราษฎร์ นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แถลงข่าวที่หอประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 25 ก.ย.2554
โดย ธงไท เทอดอิศรา,สำนักคิดอิสระไท

กลุ่มนิติราษฏร์ ได้สร้างวาทกรรมชุดใหม่ ในการชี้นำการเคลื่อนไหวระลอกใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองขบวนหนึ่ง (ซึ่งนำโดยใคร ? ประกอบด้วยใคร ? กลุ่มบุคคลใด ? ชนชั้นใด ? กลุ่มผลประโยชน์ใด ? ค่อยว่ากันในอีกวาระหนึ่ง เพราะได้มีการถกแถลงกันมามากแล้ว...) แต่สาระสำคัญของวาทกรรมชุดนี้ มีแง่มุมที่น่าพิจารณา ดังนี้

๑) ว่าด้วยกรอบวิธีคิด

ข้อเสนอเรื่องการลบล้างพันธะทั้งสิ้นในทางการเมือง การปกครอง ด้านกฏหมาย ระเบียบราชการ จนถึงล้างสถานะของการมีอยู่จริงของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยอ้างเหตุผลในเชิงตรรกะ เชื่อมโยงกับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่อ้างว่าขาดความชอบธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และขัดกับหลักนิติรัฐนั้น

ข้อพิจารณาคือ

1.1 กระบวนวิธีคิด ; การพิจารณาประเด็นสำคัญที่ต้องมีมุมมองให้รอบด้าน ทั้งด้านการเมือง การปกครอง นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และอื่นๆ มิใช่เริ่มจากตรรกศาสตร์ในวาทกรรมชุดเดียวกับ "ต้นไม้พิษ ย่อมต้องได้ลูกไม้พิษ" หลักตรรกะแค่นี้ไม่พอที่จะทำให้ข้อเสนอดังกล่าวทั้งสิ้นมีความรอบด้านสมบูรณ์ได้ ข้อโต้แย้งในทางหลักวิทยาศาสตร์ ชาร์ล ดาวิน และฮิวโก เดอ ฟรีส์ (Hugo de Vries) ได้ให้อรรถาธิบายถึงการสืบต่อทางสายกรรมพันธุ์นั้น ยังอาจมีโอกาสคลาดเคลื่อน ที่เรียกว่าการผ่าเหล่า หรือ Mutation ในทางสังคมศาสตร์ ผลิตผลของบุคคลยังขึ้นต่อลักษณะทางพฤติกรรม สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และระบบจริยธรรมของสังคมนั้นๆ ซึ่งหมายถึงว่าลูกโจรอาจไม่จำเป็นต้องเป็นโจรเสมอไปถ้าเขาได้รับการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมอีกชุดหนึ่ง(กรณี พ.ท.พโยม-พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ) ดังนั้นกระบวนวิธีคิดจากตรรกะชุดนี้ซึ่งเป็นตัวกำหนดและให้คุณค่าของชุดข้อเสนอใหญ่ของกลุ่มนิติราษฏร์ทั้งชุด จึงไม่ถูกต้อง

1.2 การอธิบายความ ; จากตรรกะพื้นฐานข้างต้นกลุ่มนิติราษฏร์จึงอธิบายความเชื่อมโยงสิ่งที่เป็น "เหตุ" คือ การรัฐประหารนั้นไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย ดังนั้น "ผล" คือ ทุกสิ่งที่เกิดจากจุดเริ่มต้นนี้(19 กันยา) เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งหมดเช่นกัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ คำสั่ง กฏหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

ข้อพิจารณาการอธิบายความอย่างไม่จำแนกเช่นนี้ เป็นวิธีการโต้แย้ง อภิปราย เพื่อการแสวงหาสัจจธรรม ตั้งแต่สมัยกรีกเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งเป็นพื้นฐานการแสวงหาความรู้ที่เป็นรากฐานของตรรกวิทยา นิรุกศาสตร์ อภิปรัชญา ฯลฯ รวมทั้ง เป็นหลักวิธี ของการโต้วาทีที่เอาชนะกันด้วยการเชื่อมโยงเหตุผลล้วนๆ ซึ่งบางครั้งอาจตั้งหัวข้อทำนองว่า “คนออกลูกเป็นปลา”ได้...เพราะ คนว่ายน้ำได้ และปลาก็ว่าน้ำได้ อะไรทำนองนั้น ซึ่งเราจะรู้สึกได้ทันทีว่าเป็นข้อสรุปที่ไม่เป็นจริง หรือเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับการอธิบายความของกลุ่มนิติราษฏร์ที่เชื่อมจากเหตุไปสู่ผลแบบแข็งตัว ตายด้าน เป็นกลไกเช่นนี้ จึงยิ่งทำให้การสรุปหรือการตัดสินให้คุณค่าข้อเสนอชุดวาทกรรมนี้ มีราคาต่ำลงกว่าที่จะใช้เป็นชุดความคิดที่ชี้นำให้ควรกระทำการใดๆ หรือไม่อย่างประจักษ์ชัด

การพิจารณาเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อนำสู่การปฏิบัติหรือเพื่อการปรับปรุงแก้ไขสิ่งที่เป็น“ชนัก”ทางประวัติศาสตร์ที่ปักอยู่คาหลังสังคมไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ คือการรัฐประหาร 19 กันยายนนั้นควรเริ่มต้น ดังนี้

การพิจารณาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ใดในอดีต ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง หรือเกี่ยวเนื่องถึงสังคมส่วนรวมประเทศนั้นจึงต้องมีความรับผิดชอบสูงสุดต่อผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง กล่าวคือต้องไม่ตัดตอนมาเฉพาะช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งซึ่งเห็นว่าเป็นผลประโยชน์ของความคิดเห็นฝ่ายตน เช่น ชุดวาทกรรมนิติราษฏร์นี้ อ้างถึง “เหตุ”คือ การรัฐประหาร 19 กันยายน ผล คือรัฐธรรมนูญ กฏหมายต่างๆ จนถึงการตัดสินคดีความต่างๆ (แน่นอนรวมทั้งคดีทุจริต ของคุณทักษิณ และบริวาร)เป็นข้อผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด ต้องยกเลิกอย่างไม่มีเงื่อนไขนี้เห็นได้ชัดว่าตัดตอนประวัติศาตร์โดยเริ่มจากวีนที่ 19 กันยายน 2549 แต่มิได้พิจารณาถึงการดำรงอยู่ของเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ในกระแสการเมืองการปกครองตลอดระยะเวลาเช่นนั้น

ทำไมกลุ่มนิติราษฏร์ถึงมิได้พิจารณาความเป็นเหตุเป็นผลจากทุกช่วงเวลาซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน หากประเมินและตัดสินว่าการรัฐประหาร 19 กันยายนนั้นผิด มิเพียงจะอธิบายความต่อเนื่องไปอีกว่าผลจากเหตุการรัฐประหารนี้ เป็นลูกไม้พิษทั้งสิ้น เช่นนั้น ทำไมไม่แสวงหาข้อเท็จจริงให้รอบด้านสมบูรณ์โดยตั้งคำถามถึง “เหตุ”ของการรัฐประหาร 19 กันยายนนั้นมีที่มาและมีน้ำหนักของเหตุผลที่จะพิพากษาเหตุการณ์หนึ่งในในฐานะจำเลยทางประวัติศาสตร์ว่า เป็นสิ่งที่ชั่วหมด เลวหมด ผิดหมด อย่างไม่จำแนก

กระบวนการวิธีคิดของกลุ่มนิติราษฎร์อันเป็นพื้นฐานของข้อเสนอทั้งหลายทั้งปวงจึงน่าจะมีปัญหาใม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ นั้นหมายถึงข้อเสนอทั้งหมดที่เปรียบเสมือนสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารอันสวยหรูได้ตั้งอยู่บนเสาเข็มหรือรากฐานที่ไม่มั่นคงอ่อนตัว

ข้อเสนอทั้งปวงจึงเป็นเป็นสิ่งที่ควงจากรากฐานวิธีคิดที่เป็นปัญหาดังกล่าวนี้เป็นข้อพิจารณาในประการแรก

๒) ว่าด้วยอำนาจ และ “อำนาจรัฐ”

ไม่ว่ามนุษย์ยุคแรกที่เกิดขึ้นมาในโลกจะมีเจตจำนงเสรีอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่อย่างไรก็ตามแต่ข้อเท็จจริงของสิ่งที่ทำให้มนุษย์อยู่รวมกันเป็นเผาพันธุ์และดำรงตนมาได้ตราบจนทุกวันนี้ ก็เพราะมีเรื่องของ“อำนาจ”มาเกี่ยวข้องเสมอ และเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฎิเสธได้ เพราะผู้แข็งแรงกว่าเท่านั้นจึงจะอยู่รอดภายใต้เสื้อคลุมของความงดงามแห่งวาทกรรมเกี่ยวกับเสรีภาพย่อมดำรงอยู่บนพื้นฐานที่เป็นจริงของอำนาจและอำนาจรัฐ กฎหมายในยุคแรกในช่วงนครรัฐเมโสโปเตเมีย แห่งอาณาจักรบาบีโลเนีย(ประมาณ 1728 -1686 ปีก่อนคริสตกาล) กษัตริย์ฮัมมูราบี กล่าวว่า “กฎหมายต้องสร้างความยุติธรรมให้แก่แผ่นดิน ขจัดความชั่วร้ายและไม่ซื่อตรง เชื่อว่าผู้เข้มแข็งไม่เอาเปรียบผู้อ่อนแอ เราเป็นผู้รับบัญชาจากพระเจ้าจะรักษาไว้ซึ่งความถูกต้องของสังคม จึงได้กำหนดความสัตย์ซื่อและความยุติธรรมดินแดนแห่งนี้ด้วยตัวเรา” กฎของเผ่าได้กลายเป็นกฎหมายที่ปกครองสังคมเมืองที่ขยายเติบใหญ่ขึ้นจนเป็นนครรัฐ และแว่นแคว้นอันกว้างใหญ่ไพศาล

ดังนี้ชี้ให้แห่งถึงความเกี่ยวพันของกฎหมาย ความยุติธรรม และอำนาจ ว่ามิอาจตัดขาดออกจากกันได้ ชาวกรีกยุคคลาสิกอยู่ร่วมกันในนครรัฐ ( city states ) หรือ (polities) (คำนี้เป็นบ่อเกิดของ politic) ซึ่งดำรงตนอยู่ได้ด้วยความเชื่อที่ต้องทำให้รัฐของตนแข็งแกร่ง มีความสามารถเหนือผู้อื่น ในบทสนทนาเรื่อง อุตมรัฐ (republic) ของเพลโต อธิบายถึงความหมายของความยุติธรรมคืออะไรและโสกราตีสกล่าวว่าความยุติธรรมเชื่อมโยงอย่างลึกล้ำกับการที่รัฐนั้นจะใช้อำนาจในการบริหารอย่างไร รัฐที่ยุติธรรมคือรัฐที่ทำให้คนทั้งหลายได้ทำหน้าที่ตน เพลโตได้กล่าวเชื่อมโยงความยุติธรรมของกฎหมายกับระบอบการปกครอง คือการบริหารและยึดคลุมอำนาจรัฐนั้นเอง ชาวโรมันก็ได้รับช่วงมรดกประเพณีแบบกรีกโดยประชาชนกรุงโรมได้แสดงความสามารถในการบริหารและรวบอำนาจรัฐไว้อย่างรวมศูนย์ ชาวโรมันจึงได้สร้างระบบกฎหมายที่สามารถปกครองจักรวรรดิ์ที่ยิ่งใหญ่ให้ดำรงอยู่ได้หลายศตวรรษ แม้ต่อมาพัฒนาการทางสังคมได้ก้าวข้ามรายละเอียดของยุคกลาง ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ยุคแสงสว่างทางปัญญาจนมาสู่ยุคปัจจุบัน ความคิดว่าด้วยรัฐชาติที่เปล่งประกายรัศมีทางความคิดมาจากยุโรปแพร่หลายไปทั่วโลก ยอมรับในการดำรงอยู่ของรัฐและอำนาจรัฐเคียงคู่กับการกำหนดแบบแผนกฎเกณฑ์ทางสังคมมาโดยตลอด

กล่าวโดยสรุปคือ กระแสธารแห่งความคิดของมนุษยชาติซึ่งรวมตัวอยู่ร่วมกันภายใต้อำนาจการปกครอง เรียกว่า “อำนาจรัฐ” ได้ยอมรับสถานภาพการกำหนดกฎเกณฑ์ของสังคมโดยผู้มีอำนาจทางการปกครองแห่งรัฐนั้นเป็นสำคัญนี้คือสิ่งที่เรียกว่า “รัฎฐาธิปัตย์”

ดังนั้นไม่ว่าโดยหลักกฎหมายที่ร่ำเรียนมาจากสำนักใดก็ตามล้วนยอมรับในข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฎิเสธนี้ บางครั้งการได้มาซึ่งอำนาจรัฐในการปกครองประเทศของแต่ละสังคมแต่ละประเทศ แต่ละยุคแต่ละสมัย อาจมีที่มาและวิถีทางที่แตกต่างกันเป็นที่ชื่นชอบหรือเกลียดชังของสังคมในยุคสมัยที่ต่างกันก็ตาม แต่ผู้มีอำนาจรัฐย่อมเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ทางสังคมเสมอ ตราบเมื่อสังคมนั้นไม่ยอมรับ ปฎิเสธผู้ยึดกุมอำนาจรัฐในยุคสมัยนั้นจนมิอาจดำรงสถานะอยู่ได้ ก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้ยึดครองอำนาจรัฐใหม่ และกำหนดกฎเกณฑ์ใหม่เป็นเช่นนี้เสมอมา

ในการนี้เราซึ่งอยู่ในยุคสมัยนี้ย่อมมีความชอบธรรมที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับผู้ครองอำนาจรัฐในขณะนี้ และยอมรับหรือไม่ยอมรับกฎเกณฑ์ทางสังคมที่กำหนดโดยผู้ยึดครองอำนาจรัฐในปัจจุบันนี้ จึงเป็นการยากแท้ทีเดียวถ้าเราจะให้คุณค่าว่ากฎหมายเมโสโปเตเมียที่กำหนดโดยกษัตริย์ฮัมมูราบี เมื่อยุค 3,800 ปีล่วงมาแล้วนั้น “ดีหรือไม่ดี”หรือชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม หรือเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิไตย เพราะมันเป็นคนละเงื่อนไขประวัติศาสตร์ในบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน ความสำคัญจำเป็นของกฎหมายในแต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกัน หัวใจสำคัญคือมันถูกกำหนดโดยรัฎฐาธิปัตย์

กล่าวโดยเฉพาะเจาะจง รัฎฐาธิปัตย์ของหลายช่วงในอายุแห่งระบอบประชาธิไตยไทยมิได้มาด้วยการร้องขอ การเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพตามหลักการอย่างที่ควรจะเป็น แต่มาด้วยการยึดอำนาจการรัฐประหารด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน ด้วยเงื่อนไข ปัจจัย และสภาพแวดล้อมในช่วงระยะเวลานั้นที่แตกต่างกัน เมื่อมีอำนาจสูงสุดจึงได้ยึดครองอำนาจรัฐ บางครั้งการรัฐประหารหรือความพยายามในการยึดครองอำนาจรัฐด้วยหนทางลัดเช่นนี้ ก็พบกับความล้มเหลว พ่ายแพ้ และเป็นกบฏ นั่นเพราะว่าผู้ที่ถือครองอำนาจรัฐอยู่เดิมไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจากรถถัง มีความเข้มแข็งและได้รับการยอมรับจากสังคมโดยรวมมากกว่า นี้แหละคือรัฎฐาธิปัตย์ตัวจริง ที่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ ร่างระเบียบ คำสั่ง ตรากฎหมาย หรือแม้แต่ฉีกหรือสถาปนารัฐธรรมนูญได้ด้วยอำนาจที่พลังทางสังคมในขณะนั้นให้การยอมรับโดยการปฎิบัติตาม ตราบจนเมื่อพลังทางสังคมไม่ยอมรับ ไม่ปฎิบัติตาม การเปลี่ยนแปลงรัฎฐาธิปัตย์ก็จะเกิดขึ้นอย่างประจักษ์ชัด

ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ที่ให้ย้อนกลับไปพิพากษารัฎฐาธิปัตย์ในอดีตด้วยเหตุผล เงื่อนไข และพลังทางการเมือง ในช่วงระยะปัจจุบัน จึงเป็นการก้าวล่วงหลักการสำคัญที่ได้กล่าวมาข้างต้น ด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตาม หากมีการย้อนไปลบล้างกฎหมายในอดีตได้ด้วยเหตุผลของปัจจุบัน สังคมคงจะวิกฤตด้วยผู้เสียผลประโยชน์ในปัจจุบันจากกฎระเบียบทางสังคมที่ตนโดยพิพากษามาจากอดีต ก็คงแก่งแย่งแข่งขันกันผ่านยานย้อนอดีตของกลุ่มนิติราษฎร์ไปลบล้างกฎหมายในประวัติศาสตร์กันเป็นพัลวัน

เพียงพิจารณาจากกรอบวิธีคิดและหลักการสำคัญเรื่องรัฎฐาธิปัตย์ กับการบัญญัติกฎหมาย ก็กล่าวได้ว่าชุดวาทกรรมของกลุ่มนิติราษฎร์มีราคาน้อยกว่าเศษกระดาษที่ใช้พับถุงกล้วยแขกขายตามสี่แยกไฟแดง แค่นั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น