ศูนย์ข่าวภูมิภาค - น้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่วันที่ 2 หลายจุดยังไม่บรรเทา ย่านเศรษฐกิจสำคัญจมบาดาลหนักสุดในรอบ 5 ปี แถมลามเข้าท่วม ถ.มหิดลด้วย ส่วนที่ชุมชนป่าพร้าวนอกน้ำท่วมหนักถึงคอ ลุ้นมวลน้ำก้อนใหม่จ่อเข้าเพิ่ม หอฯเชียงใหม่ประเมินน้ำท่วมรอบนี้ทำ ศก.สูญวันละ 500 ล้านบ.“ปู”เข้มเล่นบท ผอ.กอ.รมน.สั่งกองทัพเสริมกำลังพล-อุปกรณ์ลงช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม พร้อมสั่ง รมต.ลงนอนค้างคืน 12 จังหวัดดูแลชาวบ้าน เตือนอีก 42 จังหวัดเตรียมรับมือน้ำท่วม-ดินถล่ม 29 ก.ย.-3 ต.ค.นี้ เผยตายแล้ว 180 ศพ
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในตัวเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ช่วงเช้าวานนี้ (29 ก.ย.)ว่า หลายพื้นที่ยังน่าเป็นห่วง ขณะที่ระดับในแม่น้ำปิงช่วงผ่านตัวเมืองเชียงใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมย่านตลาดวโรรสและสันป่าข่อย ซึ่งถือเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของเมืองเชียงใหม่ หลังจากเมื่อช่วงเย็นวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา น้ำปิงได้ไหลเข้าท่วมย่านตลาดไนท์บาซาร์ ถนนช้างคลานไปก่อนแล้ว ทำให้เจ้าของร้านค้าและผู้ที่พักอาศัยอยู่ในย่านดังกล่าวต่างขนย้ายทรัพย์สินและข้าวของหนีน้ำกันอย่างวุ่นวายเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
เวลา 12.00 น.น้ำในบริเวณตลาดไนท์บาซาร์ ถนนช้างคลาน ยังคงทรงตัว แต่ด้านตลาดป่าพร้าวนอก น้ำยังคงท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนตลาดวโรรส-ต้นลำไย ปริมาณน้ำได้ลดลงหมดแล้ว แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องปริมาณน้ำจากบ้านแม่แต อ.สันทราย ในจุด P.67 ยังน่าเป็นห่วง ซึ่งถ้าปริมาณน้ำจากบ้านแม่แต ลดลงมากก็จะทำน้ำในตัวเมืองเชียงใหม่ลดลงตามไปด้วย แต่ถ้าน้ำเพิ่มขึ้นอีกในตัวเมืองเชียงใหม่ก็มีความเสี่ยงที่น้ำจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่าย แม้ว่าหลายจุดปริมาณน้ำจะค่อยๆ ลดลงตามลำดับ แต่ก็ยังคงมีพื้นที่หลายจุดทั่วเขตตัวเมืองเชียงใหม่ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งประชาชนในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ ยังคงต้องติดตามปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงต่อไปอย่างใกล้ชิด ภายหลังจากที่ศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคเหนือตอนบนได้แจ้งว่าระดับน้ำในแม่น้ำปิงที่สถานี P.67 บ้านแม่แต อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กลับเพิ่มขึ้นสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
โดยมวลน้ำระลอกนี้จะเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ที่บริเวณสถานีวัดระดับน้ำ P.1 สะพานนวรัฐ ตั้งแต่เวลาประมาณ 21.00-22.00 น.ของคืนวันที่ 29 ก.ย.เป็นต้นไปและแม้ว่าศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคเหนือตอนบนจะประเมินว่า มวลน้ำระลอกใหม่นี้จะไม่ทำให้ปริมาณน้ำในเมืองเชียงใหม่เพิ่มสูงมากไปกว่าระดับน้ำที่จุด P.1 เมื่อเวลาประมาณ 04.00 น.ของวานนี้ ซึ่งมีระดับน้ำอยู่ที่ 4.94 ม.ก็ตาม แต่ปริมาณน้ำระลอกใหม่ดังกล่าวจะยังส่งผลให้ในหลายพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมขังบ้านเรือนต่อไป รวมทั้งอาจขยายวงกว้างออกไปสู่พื้นที่อื่นๆ อีกด้วย
**นครเชียงใหม่ตั้งศูนย์ช่วยเหลือชาวบ้าน
ทั้งนี้ เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้จัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือขึ้นภายในบริเวณสถานฌาปนกิจหายยา โดยมีกำลังจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 กองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 7 ค่ายกาวิละ และหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 32, เจ้าหน้าที่จากองค์กรป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่จากเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยในจุดดังกล่าวมีการนำทรายมาบรรจุลงกระสอบเพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนและนำไปใช้ป้องกันภัยน้ำท่วมตามจุดต่างๆ รวมทั้งมีการระดมถุงยังชีพ น้ำดื่ม และอาหารกล่องเพื่อนำออกไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับความเดือดร้อน
ขณะที่พื้นที่หลายจุดของเมืองเชียงใหม่ ยังคงมีน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว โดยน้ำยังคงท่วมขังในบริเวณถนนช้างคลานตลอดทั้งสาย เช่นเดียวกับถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนบริเวณย่านหนองหอย และถนนสันป่าข่อย จนถึงบริเวณสถานีรถไฟเชียงใหม่ โดยน้ำจากถนนช้างคลานที่ท่วมต่อเนื่องมาจนถึงบริเวณสะพานป่าแดด และหมู่บ้านเชียงใหม่แลนด์ ได้ไหลท่วมต่อเนื่องมาถึงถนนมหิดลบริเวณทางเข้าหมู่บ้านเชียงใหม่แลนด์ ส่วนน้ำบริเวณย่านหนองหอย ได้ไหลท่วมเข้าไปถึงหมู่บ้านการเคหะและหมู่บ้านเอื้ออาทรที่อยู่ใกล้เคียงกัน โดยมีส่วนหนึ่งทะลักออกมาท่วมถนนมหิดลบริเวณทางเข้าการเคหะด้วย
**ถนนหลายสายจม-ส่งเรือท้องแบนช่วย
นอกจากนี้น้ำอีกส่วนหนึ่งยังได้ไหลเข้าท่วมเส้นทางรถไฟและถนนเลียบทางรถไฟบริเวณข้างโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกมัธยม และไหลท่วมจุดกลับรถใต้สะพานยกระดับทั้งสองฝั่ง โดยฝั่งโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัยแผนกมัธยมน้ำได้ท่วมไปจนถึงเชิงสะพานข้ามแยกดอนจั่นแล้ว ซึ่งปริมาณน้ำที่ไหลต่อเนื่องจากหลายพื้นที่ได้ส่งผลให้ หลายจุดของนนมหิดลกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมขังเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง
ด้านชุมชนต่างๆ ภายในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่หลายแห่งยังคงได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนป่าพร้าวนอก ซึ่งเป็นจุดที่น้ำไหลเข้าท่วมอย่างหนัก โดยน้ำได้ท่วมมาถึงบริเวณเชิงสะพานป่าแดด ประชาชนที่อาศัยอยู่ภายในชุมชนและหมู่บ้านในพื้นที่ดังกล่าวบางส่วนต้องเดินทางลุยน้ำซึ่งสูงถึงประมาณ 1.50 เมตรออกมาหาซื้ออาหารและสิ่งของจำเป็นหรือออกมาขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้ระดมกำลังเข้าให้ความช่วยเหลืออยู่ที่เชิงสะพานป่าแดด
ขณะเดียวกันเรือของหน่วยงานต่างๆ ทั้งทหาร ตำรวจตระเวณชายแดนและเทศบาลได้นำถุงยังชีพ น้ำดื่มและอาหารกล่องเข้าไปแจกจ่ายให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทำหน้าที่รับส่งประชาชนที่ต้องการเข้า-ออกในพื้นที่ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เจ็บป่วยหรือจำเป็นต้องอพยพโยกย้าย โดยเฉพาะภายในหมู่บ้านเวียงทอง และหมู่บ้านอุ่นเรือนซึ่งถูกน้ำท่วมอย่างหนัก มีประชาชนหลายครอบครัวไม่สามารถออกจากบ้านได้ ต้องอาศัยอยู่บนชั้น 2 ของบ้านซึ่งน้ำยังท่วมไม่ถึง
**เผยน้ำท่วมท่วมหนักสุดในรอบ 5 ปี
นายสุริยา สุริยะธำรงกุล อดีตประธานชุมชนป่าพร้าวนอก กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่นั้นค่อนข้างหนัก มีประชาชนกว่า 400 ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากน้ำท่วมขังสูง ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มและไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่รถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้อย่างสิ้นเชิง ต้องใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการเดินทางเข้าออกเพียงอย่างเดียว
ด้านนายศราวุธ แซ่เตี๋ยว นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ กล่าวว่า ผลกระทบน้ำท่วมเชียงใหม่ปีนี้ค่อนข้างรุนแรงกว่าปี 48 ทำให้เกิดความเสียหายพอสมควรโดยเฉพาะการประเมินความเสียหายทางด้านการท่องเที่ยว ด้านโรงแรมมีการประเมินกันว่าเกิดความเสียหายราว 100 ล้านบาท โรงแรมย่านไนท์บาซาร์เสียหายประมาณ 10% จากห้องพักที่มีในจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมดราว 30,000 ห้อง แต่เชื่อว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากเชียงใหม่ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวและที่พักอื่นๆ ที่ไม่ได้ผลกระทบจากน้ำท่วมอีกจำนวนมาก
**หอฯประเมินสูญรายได้500ล.ต่อวัน
นายวิทยา ครองทรัพย์ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำในแม่น้ำปิงล้นตลิ่งเข้าท่วมย่านธุรกิจของเมืองเชียงใหม่ทั้งไนท์บาซาร์ ย่านตลาดวโรรส หรือย่านสันป่าข่อยว่า ในส่วนของหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ มีการประเมินเบื้องต้นว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้น่าจะทำให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของเชียงใหม่ต้องสูญเสียรายได้วันละประมาณ 500 ล้านบาท จากการที่ร้านค้าต่างๆ ในย่านธุรกิจต้องปิดกิจการชั่วคราวเนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วม โดยในส่วนเฉพาะย่านไนท์บาซาร์ คาดว่าน่าจะเกิดความเสียหายวันละประมาณ 100 ล้านบาท จากการที่ร้านค้า ร้านอาหารต้องปิดและโรงแรมในย่านดังกล่าวได้รับผลกระทบ
เลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ มองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมในครั้งนี้น่าจะเป็นเพียงในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เมื่อน้ำลดลงหมดแล้วเชื่อว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติในเวลาไม่นานนัก และเห็นว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่แต่อย่างใด เพราะน้ำท่วมเพียงในพื้นที่เฉพาะจุดเท่านั้น โดยที่โรงแรมพักและแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ไม่ได้ถูกน้ำท่วม และยังสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ตามปกติด้วย นอกจากนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่ายังไม่มีการยกเลิกการจองห้องพักหรือทัวร์ของนักท่องเที่ยวเลย ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่มีต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่นายวิลาศ ปัญญาวงศ์ ประธานชมรมผู้ประกอบการย่านไนท์บาซาร์ เปิดเผยว่า เบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินความเสียหายของธุรกิจการค้าที่เกิดขึ้นจากน้ำท่วมในครั้งนี้ได้ว่ามีมูลค่าเท่าใด เพราะต้องรอให้เหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติเสียก่อน แต่ยอมรับว่าน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายมากในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ไม่น่าจะมากเท่าเมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมไนท์บาซาร์เมื่อปี 48 ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ประกอบการมีประสบการณ์มาแล้วจากน้ำท่วมในครั้งนั้นและได้มีการเตรียมตัวป้องกันไว้ล่วงหน้าจึงบรรเทาความเสียหายลงไปได้ ทั้งนี้หากน้ำลดลงหมดแล้วเชื่อว่าน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน ย่านไนท์บาซาร์ก็จะสามารถกลับมาค้าขายได้ตามปกติแล้ว
**ผู้ว่าฯย้ำทุกหน่วยงานเร่งแก้น้ำท่วม
ทางด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ว่า มีทั้งหมด 4 จุด คือ จุดที่ผ่อนคลายแล้วที่บ้านเปียงกอก อ.ฝาง ขณะนี้อยู่ในช่วงฟื้นฟู ซึ่งประชาชนที่ไม่ประสงค์จะย้ายออกจากพื้นที่ หน่วยงานรัฐและเอกชนก็จะไปสร้างบ้านแบบน็อคดาวน์ให้ในพื้นที่เดิม แต่ต้องศึกษาเส้นทางของน้ำให้รอบคอบก่อน
"ส่วนที่หนักที่สุดขณะนี้ คือ เขตตัวเมืองเชียงใหม่ คาดว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในครั้งนี้มูลค่ามหาศาลยังไม่สามารถประเมินได้ ขณะเดียวกันยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเชียงใหม่ในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม ผมได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมมือบูรณาการแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ถูกน้ำท่วมอย่างเร่งด่วนแล้ว"
**นายกฯคอนเฟอเรนซ์แก้ปัญหาอุทกภัย
ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมติดตามสถานการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม(ศอส.)กระทรวงมหาดไทย ที่มีนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ตัวแทนกองทัพ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.คลัง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ชัยภูมิ และมหาสารคาม เพื่อติดตามความคืบหน้าสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย
ทั้งนี้ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.เชียงใหม่ว่า ปริมาณน้ำสูงสุดอยู่ที่ 80 มิลลิเมตรจนถึง 1 เมตร ในส่วนของเทศบาลเมืองเชียงใหม่ ในส่วนของตลาดวโรรสได้มีการนำกระสอบทรายมากั้นทำให้น้ำท่วมแค่ถนน การค้าไม่มีอุปสรรค ส่วนอำเภอที่รองลงมาที่สันกำแพง ดอยสะเก็ด และ อ.แม่ออน ซึ่งเขื่อนแม่กวง ปริมาณน้ำ 90% ขณะที่ อ.สันทราย เขื่อนแม่งัดยังสามารถบรรจุน้ำได้เหลือเฟือ ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว และแม่แกลบ ปริมาณน้ำล้น
ขณะที่ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดได้รายงานสถานการณ์ว่าภาพรวมยังคงควบคุมได้ แต่ในส่วนของ จ.เชียงใหม่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รายงานว่า ทางจังหวัดได้มีการประสาน ปภ.และส่วนกลางตลอดเวลา ซึ่ง อ.แม่ฝาง สันทราย แม่แตง ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ส่วนเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นเรื่องที่คาดหวังว่า หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติมคาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ส่วน จ.ชัยภูมิ ได้ร้องขอให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณจัดทำแก้มลิง 23 แห่ง จำนวน 400 ล้านบาท เพื่อจัดระบบชลประทาน ทั้งนี้ นายกฯ ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ทำแผนดังกล่าวเสนอการจัดทำแก้มลิงมายัง ศอส. ด้าน จ.ขอนแก่น ยังห่วงปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน ที่มีมากถึงร้อยละ 102 และหากไม่มีพายุเข้ามา จะบริหารจัดการพร่องน้ำได้
รายงานข่าวแจ้งว่าระหว่างที่ผู้ว่าฯรายการรายงานสถานการณ์น้ำท่วมของแต่ละจังหวัดนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามสอบถามสถานการณ์ถึงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดอย่างสนใจเป็นพิเศษ จนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ถึงกับสีหน้าไม่ค่อยสู้ดีนัก
**สั่งรมต.ลงนอนค้างคืน12จว.น้ำท่วม
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำงานอย่างเต็มที่ สำหรับปัญหาวิกฤตของน้ำที่จะเพิ่มขึ้นอีกก็ขอให้อธิบดี ปภ.ประสานงานดูแล ขณะเดียวกันยังต้องการให้จัดส่งสิ่งของไปให้ความช่วยเหลือประชาชนตามที่มีการและร้องขอมาทั้งบ้านน็อกดาวน์ และถุงยังชีพ โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่
“ดิฉันจะสั่งการให้รัฐมนตรีแต่ละท่านที่รับผิดชอบแต่ละจังหวัด ลงพื้นที่ค้างแรมอย่างน้อย 1 คืนเพื่อติดตามสถานการณ์และในการแก้ไขปัญหา ดูแลประชาชน และขอให้ดูว่าจังหวัดไหนที่ยังอยู่ในข่ายที่ต้องได้รับการช่วยเหลือให้มีการประสานงานมายังสำนักนายกฯ เพื่อประสานงานให้รัฐมนตรีลงไปประจำพื้นที่และในฐานะที่ดิฉันดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะขอความร่วมมือ กอ.รมน.ในการลงพื้นที่ เพื่อไปขอให้มีการเสริมกำลังกองทัพลงไปในพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมทั้งหมด
ขณะที่ตัวแทนกองทัพระบุว่า ในส่วนของผู้บัญชาการทหารบกได้สั่งการให้ระดมกำลังพลและอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ ได้มีการดำเนินการแล้ว และได้มีการสั่งการให้ระดมสรรพกำลังพล และทหารในพื้นที่ลงไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว
**"ปู"2มาตรฐานส่งรมต.นอนชม.2คน
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตุว่าสำหรับรัฐมนตรีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สั่งการให้ลงพื้นที่ไปนอนค้างแรมเพื่อติดตามสถานการณ์และแก้ปัญหาน้ำท่วมให้แก่ชาวบ้านนั้น พบว่าที่ จ.เชียงใหม่ มีรัฐมนตรีได้รับมอบหมายให้ไปดูแลถึง 2 คนด้วยกัน คือ 1.นายบุญทรง เตยาภิรมย์ รมช.การคลัง และ 2.นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขณะที่จังหวัดอื่น ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักมาเป็นเวลานานกลับมีเพียงแค 1 คนเท่านั้น เช่น จ.ชัยนาท นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน จ.อุทัยธานี น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จ.สิงห์บุรี พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รมช.คมนาคม จ.ลพบุรี นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.การคลัง จ.อ่างทอง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และ จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข เป็นต้น
**รมว.สธ.คอนเฟอเรนซ์แพทย์ช่วยผู้ป่วย
ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข เรียกประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยเน้นย้ำทุกจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม เร่งปฏิบัติการส่งเสริม ป้องกันโรค อย่างเต็มระบบ ด้วยการตั้งทีมแจ้งเตือนโรคระบาดเชิงรุก ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมถึงบ้านเรือน พร้อมสอนวิธีดูแลตัวเองและการใช้ชีวิตท่ามกลางน้ำท่วมอย่างไรให้ปลอดโรค พร้อมสั่ง 23 จังหวัดที่ยังประสบภัย เร่งประสานระบบส่งต่อผู้ป่วยเป็นรูปธรรม โดยกำหนดจุดรับส่งผู้ป่วย พร้อมทำแผนขึ้นใหม่ เพราะจุดเดิมถูกน้ำท่วม ทำให้เจ้าหน้าที่รับส่งต่อผู้ป่วย ปฏิบัติงานยากลำบาก
ทั้งนี้ การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ได้รับรายงานประชาชนป่วยทางการสะสมรวม 395,594 คน ป่วยทางจิต พบมีความเครียดสูง 1,482 คน ภาวะซึมเศร้า 3,200 คน เสี่ยงฆ่าตัวตาย 387 คนและต้องติดตามดูแลพิเศษ 548 คน นอกจากนี้ยังกำชับไปยัง จ.เชียงใหม่ ลำพูน ตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ที่แม่น้ำปิงไหลผ่าน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง เตรียมพร้อมรับมือน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
นายวิทยา กล่าวหลังประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ยอมรับว่า สถานการณ์ จ.ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากว่าระดับน้ำท่วมสูง ขณะที่ทุกจังหวัดต้องการเรือยนต์ ชูชีพ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วย จึงเร่งประสานให้ดำเนินการต่อไป
**"ชาวบางระกำ"บุกสภาฯร้อง ส.ส.
ที่รัฐสภา ก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีชาวบ้าน อ.ระกำ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ประมาณ 100 คนได้เข้าพบ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อขอเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือปัญหาความเดือดร้อนเนื่องจากน้ำท่วมนาข้าว พร้อมทั้งให้ช่วยขยายเวลาโครงการรับจำนำข้าว
โดยนางรำพึง จิตรำพึง ตัวแทนชาวบ้านบางระกำ กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติเงินส่วนต่างจากราคารับจำนำจำนวน 1,437 บาท แต่ตัดสิทธิไม่ให้ชาวบ้านเข้าร่วมโครงการจำนำที่กำหนดราคาไว้ที่ 15,000 บาทต่อตันและอยากถามว่า เมื่อชาวบ้านเพาะปลูกเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วจะนำข้าวไปไว้ที่ไหน นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วยกับที่รัฐบาลกำหนดระยะเวลาให้จำนำตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่การทำนาของขาวบ้านจะทำได้ล่าช้าเพราะต้องรอน้ำลด และสามารถเก็บเกี่ยวได้ภายหลังจากระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงอยากจะให้รัฐบาลขยายเวลาการรับจำนำออกไป
“ขณะนี้ชาวบ้านมีหนี้สินมากมาย ทั้งสหกรณ์ ธ.ก.ส.แต่กลับไม่มีเงินค่าชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วม อาทิ ค่าบ้าน เงินทดแทนจำนวน 2,222 ต่อไร่ ขณะที่กำหนดการชำระหนี้ก็ใกล้จะถึงแล้ว ก็เชื่อว่าจะทำให้ชาวบ้านมีหนี้นอกระบเพิ่มขึ้น และหากนโยบายบัตรเครดิตเข้ามาก็จะทำให้มีหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก”
นพ.วรงค์ กล่าวว่า คนเหล่านี้คือชาวบ้านบางระกำตามโครงการบางระกำโมเดลที่รัฐบาลมุ่แก้ปัญหาน้ำท่วม แต่ขณะนี้ชาวบ้านยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยตนจะนำเรื่องนี้นำเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้ได้รับการแก้ไขโดยด่วน นอกจากนี้ ตนคิดว่ารัฐบาลน่าจะขยายเวลาในการรับจำนำเป็นปีละ 2 ครั้ง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะขัดต่อคำพูดที่ระบุไว้ว่า รับจำนำข้าวทุกเม็ด แต่กลับมากำหนดระยะเวลา
**เผยตายแล้ว180เดือดร้อน2ล้านคน
นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สุรินทร์ ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี รวม 163 อำเภอ 1,195 ตำบล 8,942 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 614,876 ครัวเรือน 1,934,812 คน มีผู้เสียชีวิต 180 ราย สูญหาย 2 ราย
**เตือน42จว.รับมือน้ำท่วม-ดินถล่ม
ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ได้ประกาศเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ รวม 42 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร เลย หนองบัวลำภู นครพนม มุกดาหาร ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครราชสีมา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และสตูล เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินถล่มในช่วงวันที่ 29 ก.ย.ถึง 3 ต.ค.นี้
**ประกาศเตือนภัยพายุ"เนสาด"ฉบับ3
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนภัยพายุ "เนสาด”ฉบับที่ 3 เมื่อเวลา 15.00 น.วานนี้ (29 ก.ย.)พายุไต้ฝุ่น“เนสาด”(NESAT) บริเวณตอนเหนือของเกาะไหหลำมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 20.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 120 กม./ชม. และเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 18 กม./ชม.คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ยในวันที่ 30 ก.ย.นี้และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในระยะต่อไป ขอให้ติดตามข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดต่อไป
**สทอภ.เตือนพื้นที่เสี่ยง13เขตกทม.
ด้านนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ.กล่าวว่า สทอภ.ได้เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงพื้นที่เสี่ยงภัยในการเกิดน้ำท่วมฉับพลันของ 13 เขตในกรุงเทพฯ ได้แก่ หนองค้างพลู ทุ่งสองห้อง สายไหม คลองถนน อนุสาวรีย์ จระเข้บัว ลาดพร้าว คลองกุ่ม คลองจั่น หัวหมาก สะพานสูง คลองสองต้นนุ่น ลาดกระบัง และบริเวณปริมณฑล ได้แก่ จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรปราการ และ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเตือนให้ประชาชนเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วม และหลีกเลี่ยงเส้นทางจราจรที่มีน้ำท่วมขัง รวมทั้งติดตามข่าวสถานการณ์น้ำท่วม และระดับน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน ตลอดจนเตรียมย้ายที่อยู่ชั่วคราว