xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” สั่งกองทัพเสริมกำลังช่วยน้ำท่วม ให้ รมต.นอนค้างคืนดูแลชาวบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์อุทกภัยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเร้นซ์ ณ ตึกไทยคู่ฟ้าไปยังศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.)
“ยิ่งลักษณ์” ประชุมแก้ปัญหาน้ำท่วมผ่านคอนเฟอเรนซ์ สั่งกองทัพเสริมกำลังพล-อุปกรณ์ลงช่วยเหลือประชาชน พร้อมให้ รมต.นอนค้างคืนดูแลชาวบ้าน กำชับอธิบดี ปภ.เร่งส่งบ้านน็อกดาวน์และสิ่งของช่วยชาวเชียงใหม่ด่วน ด้านผู้ว่าฯ ชัยภูมิขอ 400 ล้านทำแก้มลิงกักน้ำ


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์  

ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล วันนี้ (29 ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายวิเชียร ชวลิต ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กระทรวงมหาดไทย นางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ตึกไทยคู่ฟ้าไปยัง ศอส. ที่มีนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดี ปภ. ตัวแทนกองทัพ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.คลัง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ชัยภูมิ และมหาสารคาม เพื่อติดตามความคืบหน้าสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย

นายปรีชาได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดในจังหวัดเชียงใหม่ว่า ล่าสุดปริมาณน้ำสูงสุดอยู่ที่ 80 มิลลิเมตร จนถึง 1 เมตร ในส่วนของเทศบาลเมืองเชียงใหม่ ในส่วนของตลาดวโรรสได้มีการนำกระสอบทรายมากั้นทำให้น้ำท่วมแค่ถนน การค้าไม่มีอุปสรรค ส่วนอำเภอที่รองลงมาที่สันกำแพง ดอยสะเก็ด และอำเภอแม่ออน ซึ่งเขื่อนแม่กวง ปริมาณน้ำ 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อำเภอสันทราย เขื่อนแม่งัดยังสามารถบรรจุน้ำได้เหลือเฟือ ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว และแม่แกลบ ปริมาณน้ำล้น ขณะที่นายกฯ สอบถามการแก้ไขปัญหาว่าสามารถระบายน้ำไปทางอื่นได้หรือไม่ โดยนายปรีชากล่าวว่า สามารถระบายน้ำได้ในทางเดียวคือ ลงแม่น้ำแม่ปิง ซึ่งทางตอนบนมีระบบชลประทาน แต่ระบายน้ำได้ไม่มาก น้ำจากที่อำเภอสันทรายก็ไหลลงสู่แม่น้ำแม่ปิงเช่นเดียวกัน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สอบถามว่าโดยภาพรวมแล้วต้องการการสนับสุนนในด้านใดบ้าง ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางจังหวัดได้มีการประสาน ปภ.และส่วนกลางตลอดเวลา ซึ่งอำเภอแม่ฝาง สันทราย แม่แตง ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ส่วนนครเชียงใหม่ก็เป็นเรื่องที่คาดหวังว่าหากน้ำฝนไม่ตกลงมาเพิ่มเติมอีกสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนเรื่องของถุงยังชีพก็ได้รับการช่วยเหลือจากกาชาดและมูลนิธิ ทุกภาคส่วน ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี และร่วมกับผู้น้ำท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยนายกฯ กล่าวว่า ขอให้ทุกคนกระจายกำลังลงไปในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อให้แน่ใจประชาชนได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ และอยากให้กรมชลประทานดูในเรื่องของการจัดการบริหารน้ำในภาพรวมด้วย

ด้าน ศอส. โดยอธิบดี ปภ.กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่หากปริมาณน้ำลดลงแล้ว ก็จะดูในเรื่องของการทำความสะอาดชุมชน และต้องเพิ่มการแจ้งเตือนให้ระมัดระวังน้ำจากด้านบนที่จะไหลลงไปที่อยู่เหนือตัวเมืองเชียงใหม่

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับปัญหาวิกฤตของน้ำที่จะเพิ่มขึ้นอีก ก็ขอให้อธิบดี ปภ.ประสานงานดูแล

“ดิฉันจะสั่งการให้รัฐมนตรีแต่ละท่านที่รับผิดชอบแต่ละจังหวัดไปคางแรมอย่างน้อย 1 คืน เพื่อติดตามสถานการณ์และในการแก้ไขปัญหา ดูแลประชาชน และขอให้ดูว่าจังหวัดไหนที่ยังอยู่ในข่ายที่ต้องได้รับการช่วยเหลือให้มีการประสานงานมายังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อประสานงานให้รัฐมนตรีลงไปประจำพื้นที่ และในฐานะที่ดิฉันดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะขอความร่วมมือ กอ.รมน.ในการลงพื้นที่ เพื่อไปขอให้มีการเสริมกำลังกองทัพลงไปในพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมทั้งหมด” นายกฯ กล่าว ขณะที่ตัวแทนกองทัพระบุว่า ในส่วนของผู้บัญชาการทหารบกได้สั่งการให้ระดมกำลังพล และอุปกรณ์ในการช่วยเหลือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการดำเนินการแล้ว และได้มีการสั่งการให้ระดมสรรพกำลังพล และทหารในพื้นที่ลงไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแล้ว

ทางด้านผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ กล่าวสรุปสถานการณ์ว่า จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดใกล้เคียงแบ่งเป็น 3 ลุ่มแม่น้ำ ในส่วนของเขื่อนจุฬาภรณ์รับน้ำจากจังหวัดเพชรบูรณ์ ขอนแก่น ขณะที่เขื่อนลำปะทาว อยู่ตอนกลางจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีอิทธิต่อเขตเศรษฐกิจจังหวัดชัยภูมิ และลงแม่น้ำชี และลุ่มน้ำที่ 3 คือ ลุ่มแม่น้ำชี มีผลกระทบกับจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ และร้อยเอ็ด ซึ่งน้ำจะไหลลงแม่น้ำโขง ที่ผ่านมาเกิดภาวะน้ำท่วมจังหวัดชัยภูมิจากผลของฝนตกหนัก 2 วัน 2 คืน มวลน้ำทั้งหมดไหลผ่านจังหวัดชัยภูมิไปจังหวัดขอนแก่นแล้ว ที่ผ่านมาสถานการณ์อยู่ในภาวะปกติ ยังมีน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร 2-3 หมื่น แต่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลา 10 กว่าวันเสียหายเกือบ 2 แสนไร่

ส่วนการดูแลประชาชนได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยดูแลประชาชนในเบื้องต้น และมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดของปริมาณน้ำฝน ซึ่งแม้ลำน้ำชีต้นกำหนดจะเกิดขึ้นที่จังหวัดชัยภูมิ แต่เราไม่มีเรื่องการบริหารจัดการระบบชลประทาน ไม่มีการจัดเก็บ ด้วยเหตุนี้ทางจังหวัดขอส่งโครงการผ่านไปยังรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในการทำแก้มลิงระยะสั้น เสนอไป 23 แห่ง งบประมาณ 400 กว่าล้านบาทจะสามารถเก็บกักน้ำและช่วยระบายน้ำได้ในระยะสั้น โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะกลางขอให้ทำเรื่องส่งมายัง ศอส.ที่มีอำนาจกลั่นกรองเพื่อส่งเรื่องมายังเลขาฯ ศอส.โดยท่านวิเชียร จะนำเรื่องนี้สรุปโดยเร็ว เพื่อจัดทำโครงการแก้มลิงกลับไปทางจังหวัด

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ที่ได้มีการขอความช่วยเหลือที่เป็นเรื่องเร่งด่วน อยากขอให้อธิบดี ปภ.ในการจัดส่งบ้านน็อกดาวน์ และอุปกรณ์ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ขอมา

ทางด้าน นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์น้ำยังรับได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงงเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ปริมาณน้ำเวลานี้มากกว่า 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งเราพยายามบริหารจัดการน้ำทุกวัน หากไม่มีพายุเข้า 2-3 ลูกวันนี้ คิดว่าน้ำในเขื่อนจะสามารถระบายลงสู่ลำน้ำชี และลำน้ำพอง และลำน้ำมูลได้คล่องตัว ส่วนแนวทางป้องกันน้ำในเขตเมืองได้ก่อสร้างผนังกั้นน้ำและกระสอบทรายตลอด 4 กิโลเมตร สามารถป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมเมืองได้

ส่วนการช่วยเหลือประชาชนขณะนี้มีประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน 10 อำเภอ และที่ถูกตัดขาดจริงๆ มีแค่ 2 อำเภอ พืชผลเกษตรเสียหาย 1.5 แสนไร่ ถนนถูกตัดขาด ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการซ่อมแซม คิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันสามารถควบคุมได้ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ได้ยินว่าควบคุมได้ก็ชื้นใจ และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคน ซึ่งอยากขอฝากประคองในการทำแนวกั้นน้ำ รัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยจะเร่งรัดโดยเฉพาะเรื่องการเตือนภัยต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้แต่ละจังหวัดได้เตรียมตัว และขอฝากจังหวัดว่า พื้นที่ไหนที่มีความเสี่ยงขอให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อจัดทำที่กันน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกระทบต่อประชาชนและบ้านเรือน

นายกรัฐมนตรีกล่าวฝากอธิบดี ปภ.ประสานกับผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดที่เร่งร้องขอ โดยทางอธิบดี ปภ.กล่าวว่า ได้มีการดำเนินการแล้ว อย่างที่จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการส่งบ้านน็อกดาวน์ไปแล้ว ที่อำเภอฝาง ดอยฟ้าห่มปก และมีการขอวงเงินเพื่อก่อสร้างสะพาน ประสานผู้ว่าฯ และรัฐมนตรีตลอด เข้าไปช่วยชุมชน ส่วนจังหวัดอื่นๆ ได้มีการวิเคราะห์ใน ศอส.จะดูจากทรัพยากรที่เรามีอยู่ ดูถึงจังหวัดต่างๆ ว่าขาดแคลนขนาดไหน จะกระจายออกไปให้มากที่สุด



กำลังโหลดความคิดเห็น