xs
xsm
sm
md
lg

เลี่ยงน้ำท่วมนาข้าว อ.เมืองขอนแก่น นำร่องเปลี่ยนเวลาทำนาใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โครงการเปลี่ยนเวลาทำนาใหม่เพื่อเลี่ยงน้ำท่วมนาข้าวนั้นนายอำเภอเมืองขอนแก่นเป็นผู้ริเริ่มนำร่องมาตั้งแต่ปี 2553 ที่ผ่านมา
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - หลายพื้นที่ในอำเภอเมืองขอนแก่นประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี จากน้ำหนุนซึ่งไหลจากจังหวัดชัยภูมิ และน้ำจากลำน้ำพองไหลมาบรรจบกัน ทำให้น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรเสียหายช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.2-3 หมื่นไร่ ทางอำเภอเมืองขอนแก่นจึงจัดโครงการเปลี่ยนเวลาทำนาข้าวในพื้นที่เสี่ยงภัยทุกปี ลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้กว่า 113.4 ล้านบาท

วันนี้ (12 ก.ย.) ที่แปลงนาสาธิต ของ นางบัวไข กงวงษ์ บ้านบึงสวางค์ ต.บึงเนียม อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ นำเกษตรกรเกี่ยวข้าวจากโครงการหนีน้ำท่วมนาเปลี่ยนเวลาทำนาข้าว โดยปรับเปลี่ยนช่วงเวลาทำนาเพื่อเลี่ยงน้ำท่วม ซึ่งทางอำเภอเมืองขอนแก่นริเริ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกซ้ำซากทุกปี หลังจากนายสมบัติ เกี่ยวข้าวร่วมกับชาวบ้านเสร็จแล้วก็ได้ออกตรวจพื้นที่น้ำท่วมบริเวณ อบต.บึงเนียม

นายสันชัย จันทร์นวล นายอำเภอเมืองขอนแก่น เปิดเผยว่าอำเภอเมืองขอนแก่น ทำโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ โดยแนะนำเกษตรกรปรับเปลี่ยนช่วงเวลาทำนา ให้งดทำนาปี เปลี่ยนไปทำนาปรัง 2 ครั้ง คือ ช่วงที่ 1 ระหว่างเดือนธันวาคม-เมษายน ช่วงที่ 2 ระหว่างเดือนเมษายน ในชื่อโครงการ “หนีน้ำท่วมนา เปลี่ยนเวลาทำนาข้าว”

ซึ่งหากเกษตรกรทำนาปีตามปกติจะเกิดความเสียหายกับผลผลิตช่วงน้ำท่วมซ้ำซากหลายพื้นที่ ได้แก่ ต.บึงเนียม พระลับ ดอนหัน เมืองเก่า และต.ท่าพระ เกิดจากน้ำลำน้ำชีหนุนซึ่งไหลมาจากจังหวัดชัยภูมิ และน้ำจากลำน้ำพองไหลมาบรรจบกันที่ปากห้วยพระคือ ในช่วงเดือนกันยายน - พฤศจิกายน รวมพื้นที่เสียหายเกือบ 30,000 ไร่

ทั้งนี้ เมื่อเกษตรกรปรับวิถีชีวิตการทำนาเข้าตามโครงการ สามารถช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากความเสียหายของผลผลิต และภาระภาครัฐที่ต้องจ่ายเงินชดเชยพื้นที่ประสบภัย รวมเป็นเงิน 113.4 ล้านบาท

ด้าน นายสมบัติ ตรีวัฒน์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวชื่นชมแนวคิดของทางอำเภอเมืองที่ลดความเสียหายของผลผลิตบริเวณพื้นที่ที่ร่วมโครงการก่อนน้ำไหลท่วมได้ทัน ซึ่งจะนำไปปรับใช้กับเกษตรกรในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่อื่นๆ ต่อไป พร้อมหารือชลประทานในการหาแนวทางตั้งสถานีสูบน้ำ เพื่อให้การทำนาปรังช่วงแล้งไม่เกิดผลกระทบ

หลายพื้นที่เป็นที่ลุ่มทางน้ำผ่าน ทำให้หน้าฝนแต่ละปีนาข้าวประสบปัญหาน้ำท่วมขังได้รับความเสียหาย
กำลังโหลดความคิดเห็น