xs
xsm
sm
md
lg

“นิติราษฎร์”สวมส.ส.ร.54 “องคมนตรี” ย้ำในหลวงไม่เคยสั่งนอกรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (26 ก.ย) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ จัดโครงการปาถกฐาพิเศษ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธ.ค.2554 โดยมีคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หัวหน้าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคงฯ ร่วมงาน
นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ” ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยมีการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมายาวนาน โดยในอดีตเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่หลังจากวันที่ 24 มิ.ย.2475 มีการเปลี่ยนแปลงเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เรียกได้ว่า เป็นการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยพระมหากษัตริย์ทรงจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์เองโดยการพระราชทานในรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัดเสมอ
จะเห็นได้ว่าทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล วันอังคารที่ 25 เม.ย. 2549 ความตอนหนึ่งว่า มาตรา 7 ว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญก็ให้ปฏิบัติตามประเพณีหรือตามที่เคยทำมา แต่ว่าในมาตรา 7 นั้น ไม่ได้บอกว่า พระมหากษัตริย์สั่งได้ ไม่มี ลองไปดูมาตรา 7 เขาเขียนว่าไม่มีบทบัญญัติแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์ที่จะมาสั่งการได้และขอยืนยันว่าไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฏเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของกฎหมาย พระราชบัญญัติทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง พระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 9 ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ตั้งแต่เป็นมา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับแล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบถ้าทำไปตามใจชอบก็เข้าใจว่าบ้านเมืองล่มจมมานานแล้ว
ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงใช้อำนาจประชาธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทยผ่านองค์กรต่างๆ ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและศาล จะเห็นได้ว่าความเชื่อมโยงเกี่ยวพันในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขนั้น อำนาจทั้งหมด พระองค์พระราชทานให้เป็นของปวงชนชาวไทย คือให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนโดยผ่านทางรัฐสภา ซึ่งการเข้าดำรงตำแหน่งนั้นมิจำเป็นต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ก็ถือว่ามาจากการที่ประชาชนใช้อำนาจเลือกตั้งเข้ามา แต่สำหรับคณะรัฐมนตรีและศาลนั้นไม่ได้มีการใช้อำนาจของปวงชนชาวไทยโดยตรง จึงจำเป็นต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งในฐานะที่ทรงเป็นประมุขและเป็นผู้ใช้อำนาจเช่นเดียวกัน ตามรัฐธรรมนูญพระองค์ทรงอยู่ในฐานะที่เคารพยิ่ง ผู้ใดจะทำละเมิดหรือฟ้องร้องมิได้ เพื่อให้พระราชฐานะนั้นได้รับการปกป้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
ซึ่งพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายที่ต้องทรงลงพระปรมาภิไธยนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นการยับยั้งเด็ดขาด แต่เป็นการยับยั้งเพื่อให้รัฐสภาได้ใคร่ครวญอีกครั้ง เพราะในขั้นตอนสุดท้ายหากรัฐสภายังยืนยันมติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็สามารถประกาศร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมอว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว อย่างไรก็ตามพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจนี้ในการยับยั้งการตรากฎหมาย ถ้ากฎหมายนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์และความผาสุกของประเทศชาติและประชาชน เท่าที่ผ่านมาทรงใช้พระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย จะเห็นได้จากครั้งที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติขานร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2517 และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ นั้น ในมาตรา 107 วรรค 2 บัญญัติว่า ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่ทรงเห็นด้วย แต่ก็ไม่ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งโดยตรง หากเพียงแต่มีพระราชกระแสท้ายร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ตามตรา 107 วรรค 2 แห่งร่างรัฐธรรมนูญนี้ บัญญัติให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้น ไม่ทรงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะประธานองคมนตรี เป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย ตามความในมาตรา 16 เป็นการขัดกับหลักที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งจะทำให้ประธานองคมนตรีอยู่ในสภาพเสมือนเป็นองค์กรทางการเมือง ในเวลาต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามแนวพระราชกระแสที่พระราชทานลงมาคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2518 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 110 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 107 วรรค 2 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
ส่วนพระราชอำนาจที่เกี่ยวข้องกับอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 มาตรา 175 และมาตรา 183 นอกจากพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแล้ว ยังให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้ ตามคำกราบบังคมทูลพระกรุณาของนายกรัฐมนตรีในกรณีจำเป็นที่ต้องมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่ รวมทั้งพระราชอำนาจอื่นๆ เช่น พระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฏีกา โดยไม่ขัดต่อกฎหมายการตราพระราชกำหนด การประกาศราชสงคราม พระราชอำนาจในการทำหนังสือสนธิสัญญาและสัญญาอื่นๆ ต่อนานาๆประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ พระราชอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการ ทหาร และข้าราชการพลเรือนระดับสูงอื่นๆ
“ การที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน พระองค์ไม่ได้ก้าวล่วงมาใช้พระราชอำนาจในทางเนื้อหาแต่ประการใด เพราะพระมหากษัตริย์ทรงดำรงเหนือความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ไม่มีพระราชดำริในด้านการเมือง และไม่ต้องรับผิดชอบทางด้านการเมือง ดังนั้นพระราชอำนาจตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจึงเป็นอีกรูปแบบที่ใช้ในการบริหารราชการดังกล่าวจะต้องมีผู้ถวายคำแนะนำก่อนมีพระบรมราชโองการเสมอ ซึ่งผู้ที่รับสนองรับราชโองการต้องเป็นผู้รับผิดชอบทางกฎหมายและทางการเมือง มีข้อสังเกตว่าพระราชอำนาจที่เกี่ยวข้องกับอำนาจบริหารนี้ นอกจากพระราชอำนาจที่ระบุไว้อย่างชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญแล้ว พระมหากษัตริย์ยังทรงคงไว้ด้วยอำนาจโดยทั่วไป ตามประเพณีการปกครองในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศ และในรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติรับรองพระราชอำนาจนี้ไว้ อันได้แก่ พระราชอำนาจที่ทรงจะปรึกษาหารือแก่รัฐบาล พระราชอำนาจในการส่งเสริมนโยบายของรัฐบาล และพระราชอำนาจในการตักเตือนรัฐบาล”

**ยกอภัยโทษฯเป็น“นิติพระราชประเพณี”
ขณะที่ “พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” เป็น “นิติพระราชประเพณี” มาตั้งแต่ดั้งเดิมและเป็นอำนาจเฉพาะของพระมหากษัตริย์ที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ซึ่งเป็นอำนาจอิสระและเป็นกลางของพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความผูกพันและพระมหากรุณาของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อประชาชน ต่อผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นทางออกสุดท้ายที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับความเป็นธรรม การพระราชทานอภัยโทษนี้ ไม่ได้จำกัดโทษเฉพาะในคดีอาญาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโทษทางวินัยและโทษทางปกครองด้วย เช่นในกรณีที่ทรงพระราชทานอภัยโทษให้กับผู้ที่ยื่นถวายฎีกา การพระราชทานอภัยโทษอาจพระราชทานอภัยโทษโดยไม่มีเงื่อนไข หรือพระราชทานอภัยโทษจากหนักเป็นเบาก็ได้ การพระราชทานอภัยโทษแบ่งเป็น 2 ประเภท คือการพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล ที่ทูลเกล้าฯฎีกาถวายพระราชทานอภัยโทษและการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งมักจะกระทำในโอกาสสำคัญของบ้านเมืองโดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ ในการใช้พระราชอำนาจดังกล่าวพระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจอย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ส่วนพระราชอำนาจในตุลาการ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 197 มาตรา 200 และมาตรา 201 ให้การพิพากษาคดีของศาลจะต้องดำเนินการด้วยความยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหหมาย และตามพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์ฯได้ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชกระแส แนะนำ แก่ผู้พิพากษาตลอดมา ทรงย้ำให้ยึดถือความเป็นธรรมเป็นที่ตั้ง ซึ่งเมื่อครั้งเกิดวิกฤติการณ์เมื่อพ.ศ. 2549 ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารไม่สามารถทำหน้าที่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงตักเตือนให้ตุลาการซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยที่เหลืออยู่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ของประคับประคองไว้ เพื่อให้ประเทศสามารถปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ต่อไป พระบาทสมเด็จทรงตักเตือนผู้ใช้กฎหมายเสมอว่าต้องใช้กฎหมายเป็นธรรม และได้พระราชทานดำรัสอีกหลายองค์ แก่นักกฎหมายให้ตระหนักถึงความยุติธรรม อันเป็นอุดมคติสูงสุดของกระบวนการยุติธรรม ส่วนกฎหมายเป็นเพียงวิถีทางและเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องรักษาความยุติธรรมเป็นสำคัญมากกว่าการรักษาเครื่องมือ ความยุติธรรมต้องมาก่อน และอยู่เหนือกฎหมาย การรักษาความยุติธรรม ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายไปถึงศีลธรรม จรรยา ตลอดจนเหตุและผลของความเป็นจริงด้วย

**แนะจับตา“นิติราษฎร์” อาจเป็นส.ส.ร.54
นายสกลธี ภัททิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ของกลุ่ม “คณะนิติราษฎร์” ว่าเนื้อหาสาระแลไม่มีอะไรใหม่ แต่กลับทำให้ประชาชนคนไทยได้เห็นไส้เห็นพุงของอาจารย์กลุ่มนี้มากขึ้นว่า ฝักใฝ่ต่อกลุ่มการเมืองขั้วไหน ทั้งนี้ขอเรียกร้องว่า 1.อยากขอให้อาจารย์กลุ่มนี้เลิกใช้ม.ธรรมศาสตร์เป็นสถานที่แถลงจุดยืน เพราะอาจทำให้คณะอาจารย์ และนักศึกษามีความอึดอัด 2. อยากเห็นอาจารย์กลุ่มนี้เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหา2 มาตรฐานในประเทศไทยอย่างจริงจัง เพราะประชาชนที่ยากจนอีกมากมายที่กระทำความผิดและต้องคำพิพากษาของศาล3. อยากให้อาจารย์กลุ่มดังกล่าวกลับไปอ่านข่าวช่วงก่อนการรัฐประหาร19 ก.ย. 49 ว่าตอนนั้นประเทศกำลังถูกคุกคามอยู่จากเผด็จการรัฐสภาที่ยึดกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในทุกวงการรวมถึงมีการแทรกแซงวุฒิสภาและองค์การอิสระอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นระบอบเผด็จการประชาธิปไตยที่มีความน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง
4. คดียึดทรัพย์ของพ.ต.ท.ทักษิณฯ รวมถึงคดีที่ยังคงค้างอยู่ในศาล แม้กระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานจะเกิดจาก คตส.ที่คณะอาจารย์กลุ่มดังกล่าวไม่เห็นชอบกับที่มาว่ามาจากประกาศของคปค.แต่ศาลฎีกาได้ตัดสินและวินิจฉัยไปตามพยานหลักฐานแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าพ.ต.ท.ทักษิณฯ มีการซุกหุ้นจริงและมีการเอื้อประโยชน์โดยมีชอบจริงจึงให้ยึดเงินจำนวน 4.6 หมื่นล้านบาทตกเป็นของแผ่นดิน อาจารย์กลุ่มนี้กำลังทำให้ประชาชนสับสนว่าพ.ต.ท.ทักษิณฯ ไม่ได้มีการกระทำความผิดโดยการบิดเบือนเบี่ยงเบนประเด็นไปในเรื่องของการรัฐประหาร จึงอยากเรียกร้องให้อาจารย์กลุ่มดังกล่าวพูดความจริงให้หมด5. สุดท้ายอยากของเรียกร้องให้อาจารย์กลุ่มดังกล่าวคิดและทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ศาสน์ กษัตริย์อย่างแท้จริง
ผู้สื่อข่าวถามว่า พบความเชื่อมโยงของกลุ่ม นิติราษฎร์ กับพรรคการเมืองหรือไม่ นายสกลธีกล่าวว่า ทางเรายังไม่พบแต่ก็พยายามที่จะเข้าไปดู แต่จากประสบการณ์และอดีตที่ผ่านมาเราก็เห็นอยู่แล้วว่า อาจารย์กลุ่มนี้มีมุมมองทางวิชาการที่เอื้อให้กับพ.ต.ท.ทักษิณอยู่ตลอด และขอให้ประชาชนเจ้าของประเทศช่วยจับตาอาจารย์กลุ่มนี้ว่า ทั้งหมดจะถูกปูนบำเหน็จให้มาทำหน้าที่ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) 2554 ที่รัฐบาลนี้พยายามที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าใช่ก็แสดงว่าอาจารย์ทั้งหมดก็ทำเพื่อตัวเองและเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ

**ชี้อย่าริแก้รธน.ม.8พ่วงป.อาญา112
นายอรรถพร พลบุตร รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร โดยเตือนมิให้คณะนิติราษฎรเคลื่อนไหวยกเลิกมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญฯและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นบทบัญญัติรองรับสถานะและพิทักษ์สถาบันมหากษัตริย์
“ถ้าอ.วรเจตน์และคณะนิติราษฎรเคลื่อนไหวในประเด็นนี้จะนำมาสู่ความแตกแยกอย่างรุนแรงและเกิดวิกฤติการเมืองรอบใหม่ เนื่องจากคนไทยเกือบทั้งหมดยอมรับไม่ได้ถ้าจะมีใครแตะต้องหรือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และวิกฤติการเมืองรอบนี้จะทำให้แผนการนิรโทษกรรมและนำพ.ต.ท.กลับประเทศไทยล่มสลายลงไป”
ทั้งนี้ ข้อเสนอของคณะนิติราษฎรที่จะร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่หรือการทำให้การดำเนินการใดๆของคปค.เสียเปล่า, ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยมีผลในทางไม่ใช่วิธีการป้องกันการทำรัฐประหาร เป็นเพียงมายากรทางวิชาการเพื่อช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณให้พ้นผิด การป้องกันรัฐประหารที่ได้ผลอย่างแท้จริงคือการสร้างระบบการเมืองที่สุจริตและสร้างประโยชน์ให้คนไทยทุกคนในประเทศนี้ “น่าแปลกใจที่อ.วรเจตน์หยุดประวัติศาสตร์ไว้วันที่ 19 ก.ย.49 เหมือนกับก่อนหน้านั้นไม่เคยมีประเทศไทย เพราะถ้าย้อนประวัติศาสตร์ไปเพียง2-3ปี อ.วรเจตน์ก็จะพบการฉ้อฉลของกลุ่มทุนสามานย์ การขายสัมปทานของชาติ และการแทรกแซงองค์อิสระ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการทำรัฐประหาร และถ้าหยุดทุนสามานย์นี้ไม่ได้ ก็ยากที่จะห้ามมิให้รัฐประหารเกิดขึ้นอีก

**โกวิทอ้างเว็บหมิ่นในประเทศลดลง
พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงของชาติ(พ.ศ.2555-2559) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) สำนักนายกรัฐมนตรี ตอนหนึ่งว่า เราจะไม่ประกาศโจมตีว่าจะจัดการกับใคร เพราะเราต้องมีพยานหลักฐาน ไม่ใช่ประกาศว่าใครจะล้มสถาบันแล้วเราจะไปเล่นงาน ฝ่ายความมั่นคงต้องได้พยานหลักฐานก่อน เมื่อจับกุมและตั้งข้อหาได้ก็จะชี้แจง ทั้งนี้การที่ตนดูแลกระทรวงไอซีทีนั้น ตนได้เข้าไปดูการละเมิดสถาบัน พบว่าเว็บไซต์ในประเทศที่หมิ่นสถาบัน มีจำนวนลดลง แต่ในต่างประเทศยังมีจำนวนมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไขกันต่อไปส่วนสื่อมวลชนและคอลัมน์ต่างๆนั้นบางส่วนอาจจะไปทางซ้ายหรือขวา ซึ่งถ้ามันถึงขั้นเสียหาย ก็ต้องถูกเข้าไปจัดการ
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา รัฐบาลจะอนุมัติโครงการฟื้นฟูกิจการลูกเสือชาวบ้านในทุกจังหวัด ในเดือน ต.ค.นี้
วันเดียวกัน ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบ ด้วยคะแนน 67 ต่อ 11 ให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และคณะเป็นผู้เสนอ
นายสมชาย กล่าวว่า ขอบเขตการทำงานของคณะกรรมาธิการฯเบื้องต้น จะเป็นการศึกษาถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน จำนวน 8 ฉบับ
กำลังโหลดความคิดเห็น