xs
xsm
sm
md
lg

โพล17จังหวัดกว่าครึ่ง ยี้คู่"ปู-มาร์ค" พอใจสื่อช่วยน้ำท่วมมากกว่ารัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - เอแบคโพลล์เผยคน 17 จังหวัด ชี้ “ความนิยม” “ยิ่งลักษณ์” เหนือกว่า “อภิสิทธิ์” แต่กว่า 50% กลับยี้ ทั้ง 2 ผู้นำ ส่วนดุสิตโพลตบหน้ารัฐบาล แก้ปัญหาน้ำท่วมแย่กว่าสื่อ "ยิ่งลักษณ์" นำทัพลงพื้นที่ดูน้ำท่วมลพบุรีทำอาหารแจก เล็งขอ ครม.อนุมัติงบเพิ่ม ศอส.เตือนช่วง 26-30ก.ย.ทุกภาคฝนตกหนัก

วานนี้ (25 ก.ย) สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เปรียบเทียบความนิยมศรัทธาของสาธารณชนต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี น่าน เชียงราย เชียงใหม่ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ เลย สกลนคร อุดรธานี นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี ยะลา และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 4,028 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 - 24 กันยายน 2554 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

“ประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 48.5 ไม่นิยมใครเลย ในขณะที่ร้อยละ 38.6 นิยมศรัทธาต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และร้อยละ 12.9 นิยมศรัทธาต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา

เมื่อจำแนกตามเพศ พบความแตกต่างเล็กน้อยโดยผู้ชายร้อยละ 39.7 ผู้หญิงร้อยละ 37.5 นิยมนางสาวยิ่งลักษณ์ ในขณะที่ ผู้ชายร้อยละ 12.8 และผู้หญิงร้อยละ 13.1 นิยมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ร้อยละ 47.5 ของผู้ชายและร้อยละ 49.4 ของผู้หญิงไม่นิยมใครเลย

เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบความแตกต่างอย่างชัดเจนในกลุ่มคนที่นิยมนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยกลุ่มคนที่มีช่วงอายุ 40 - 49 ปี ร้อยละ 43.0 และกลุ่มคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปร้อยละ 43.3 นิยมนางสาวยิ่งลักษณ์ มากกว่ากลุ่มคนอายุระหว่าง 20 - 29 ปีร้อยละ 33.9 ที่นิยมนางสาวยิ่งลักษณ์

ที่น่าพิจารณาคือ ในกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปีกว่าร้อยละ 50 ไม่นิยมใครเลย คือ ร้อยละ 52.7 ของกลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 50.8 ของคนที่อายุ 20 - 29 ปี และร้อยละ 51.6 ของคนที่อายุ 30 - 39 ปี ไม่นิยมศรัทธาใครเลย

เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า คนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีจำนวนคนที่นิยมชอบนางสาวยิ่งลักษณ์มากกว่ากลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี โดยร้อยละ 39.7 ของคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีนิยมศรัทธานางสาวยิ่งลักษณ์ ในขณะที่ร้อยละ 32.6 ของคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีนิยมศรัทธานางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เกือบครึ่งของทุกกลุ่มการศึกษาคือ ร้อยละ 48.8 ของคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 47.2 ของคนปริญญาตรี และร้อยละ 48.5 ของคนที่สูงกว่าปริญญาตรีไม่นิยมศรัทธาใครเลย

ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า กลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 43.0 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 42.2 และกลุ่มคนว่างงานไม่มีอาชีพ ร้อยละ 43.1 เป็นกลุ่มที่นิยมศรัทธานางสาวยิ่งลักษณ์มากที่สุด ในขณะที่กลุ่มนักเรียน/นักศึกษากลายเป็นกลุ่มที่มีคนนิยมศรัทธาต่อนางสาวยิ่งลักษณ์น้อยที่สุดคือร้อยละ 28.7 เท่านั้น ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.0 ของกลุ่มนักเรียน/นักศึกษาไม่นิยมศรัทธาใครเลย และที่น่าพิจารณาคือ ในกลุ่มข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 39.2 นิยมนางสาวยิ่งลักษณ์ ร้อยละ 16.7 นิยมนายอภิสิทธิ์ แต่ร้อยละ 44.1 ไม่นิยมใครเลย และที่น่าเป็นห่วงเช่นกันคือ กลุ่มอาชีพค้าขายและธุรกิจส่วนตัวเกินครึ่งหรือร้อยละ 52.0 ไม่นิยมศรัทธาใครเลย

อย่างไรก็ตาม หลังจำแนกตามเขตที่พักอาศัย พบความแตกต่างชัดเจนระหว่างคนในเขตเทศบาลกับนอกเขตเทศบาล โดยร้อยละ 43.2 ของคนนอกเขตเทศบาล และร้อยละ 32.2 ของคนในเขตเทศบาล นิยมศรัทธานางสาวยิ่งลักษณ์ ในขณะที่ร้อยละ 52.9 ของคนในเขตเทศบาลและร้อยละ 45.1 ของคนนอกเขตเทศบาลที่ไม่นิยมศรัทธาใครเลย สำหรับกลุ่มคนที่นิยมศรัทธานายอภิสิทธิ์อยู่ในเขตเทศบาล ร้อยละ 14.9 และนอกเขตเทศบาลร้อยละ 11.7 ตามลำดับ

***ตบหน้ารัฐแก้น้ำท่วมแย่กว่า"สื่อ"

จากสถานการณ์น้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ในขณะที่รัฐบาล หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนต่างเร่งให้การช่วยเหลือและเฝ้าติดตามรายงานสถานการณ์น้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นและเป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาให้ถูกจุดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว"สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้ส้ารวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,019 คน ระหว่างวันที่ 19-24 ก.ย.54 สรุปผลได้ดังนี้ 1.“หน่วยงาน”ที่ประชาชนพึงพอใจในการช่วยเหลือน้ำท่วม อันดับ 1.สื่อมวลชน 26.88% อันดับ 2.รัฐบาล 25.50% อันดับ 3.น่วยงานเอกชนในจังหวัด บริษัท ห้างร้าน 18.52% อันดับ 4.อบต. จังหวัด หน่วยงานราชการ 17.34% อันดับ 5.ฝ่ายค้าน 11.76%

2.“จุดเด่น”ในการช่วยเหลือน้ำท่วมที่ประชาชนพึงพอใจ ประทับใจ อันดับ 1.ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยได้รวดเร็วมากขึ้น 39.49% อันดับ 2.การช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เช่น การบริจาคเงิน อาหาร เสื้อผ้า ของใช้ที่จำเป็น ฯลฯ 25.67% อันดับ 3.ความมีน้ำใจของคนไทย การได้รับความช่วยเหลือต่างๆ จากคนไทยด้วยกัน 18.11% อันดับ 4.สื่อมวลชนเข้ามามีบทบาทสาคัญในการช่วยเหลือน้ำท่วมครั้งนี้อย่างมาก ทั้งในด้านการนาเสนอข่าวสาร การตรวจสอบในเรื่องต่างๆ และพยายามเข้าถึงพื้นที่ที่ถูกตัดขาด 13.09% อันดับ 5.การดูแลช่วยเหลือกันเองในครอบครัว บ้านใกล้เรือนเคียง หรือในบริเวณชุมชนเดียวกัน 3.64%

3.“จุดด้อย”ในการช่วยเหลือน้ำท่วมที่ประชาชนอยากให้เร่งแก้ไข อันดับ 1.บางพื้นที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ การช่วยเหลือไม่ทั่วถึง อาหารและน้ำไม่เพียงพอ 56.70% อันดับ 2.การคาดการณ์หรือการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การแจ้งข่าว เตือนภัย เพราะกลัวว่าจะมีฝนตกลงมาอีกหรือการปล่อยน้ำจากที่อื่นมาสมทบ 27.11% อันดับ 3.ขาดการเตรียมพร้อมในการรับมือกับน้ำท่วม เช่น การจัดเตรียมสถานที่รองรับหรือที่พักชั่วคราวให้กับผู้ประสบภัย 6.92% อันดับ 4.การประสานงาน การแจ้งข่าว การติดต่อสื่อสารระหว่างหน่วยงานต่างๆ กับพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมยังไม่ดีพอ 5.40% อันดับ 5.เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่จาเป็นต้องใช้ในเรื่องน้ำท่วม เช่น กระสอบทราย ห้องส้วม สะพาน ทางเดิน เครื่องสูบน้า ตามพื้นที่ต่างๆ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ 3.87%

ส่วนการสำรวจถึง "การช่วยเหลือน้ำท่วม”ในสายตาประชาชน:ประชาชนคิดว่าการวางแผนเตรียมรับมือป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ จะสามารถป้องกัน ได้มากน้อยเพียงใด ? อันดับ 1.น่าจะป้องกันได้บ้าง 59.85% เพราะการบริหารจัดการ การระบายน้ำน่าจะทาได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น,มีเวลาในการเตรียมการมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ฯลฯ อันดับ 2.ป้องกันน้ำท่วมได้แน่นอน 24.49% เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงและเป็นย่านเศรษฐกิจสาคัญ ดังนั้นจะต้องมีการป้องกันอย่างเต็มที่ ฯลฯ อันดับ 3.ไม่น่าจะป้องกันได้ 11.77% เพราะดูจากพื้นที่ที่ประสบภัยในจังหวัดต่างๆ ถึงจะมีการเตรียมพร้อมอย่างไร ? ก็ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ทั้งหมด ฯลฯ อันดับ 4.ป้องกันไม่ได้ 3.89% เพราะปริมาณน้าในปีนี้มีมากกว่าทุกปี และยังมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ,แผ่นดินทรุดตัว ฯลฯ

นอกจากนี้ ประชาชนอยากให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าว กรณี น้ำท่วมอย่างไร อันดับ 1.การรายงานสด นาเสนอภาพข่าวในพื้นที่ที่เดือดร้อน สัมภาษณ์ประชาชนเพื่อรับฟังปัญหา และนำมาแก้ไขให้ตรงจุด 32.22% อันดับ 2.นอกจากการนำเสนอข่าวแล้ว สื่อควรเป็นตัวกลางในการรับความช่วยเหลือโดยการจัดตั้งกองทุน รับบริจาค และจะต้องชี้แจงยอดรายรับ-รายจ่ายอย่างโปร่งใส 30.18% อันดับ 3.รายงานข่าวรวดเร็ว เกาะติดสถานการณ์ ทันเหตุการณ์ 15.52% อันดับ 4.ให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการป้องกันดูแลตัวเองเมื่อประสบภัยน้ำท่วมอย่างถูกต้อง โดยเชิญนักวิชาการหรือผู้ที่รู้จริงมาพูด 12.95% อันดับ 5.การรายงานสภาพน้ำท่วมในภาพรวมจากทุกภาคของประเทศอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง 9.13%

6.แก้ไขน้ำท่วมอย่างไร จึงจะถูกใจประชาชน อันดับ 1.การชดเชย เยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยไม่ให้เกิดความเครียดหรือซึมเศร้า 27.19 % อันดับ 2.การให้ความสาคัญต่อสิ่งแวดล้อม ปลูกป่า ขุดลอกคูคลอง ตรวจสอบความแข็งแรงของเขื่อน ฝายน้าทุกแห่ง 25.14% อันดับ 3.การประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งผู้รับผิดชอบหรือศูนย์กลาง ในการดาเนินงานที่ชัดเจน 22.88% อันดับ 4.การเฝ้าระวังเพื่อจะได้แจ้งเตือนภัยล่วงหน้าอย่าง ชัดเจน แม่นยาและทั่วถึงทุกพื้นที่ 17.23% อันดับ 5.ภาครัฐต้องเอาจริงเอาจัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบริหารจัดการเรื่องน้ำท่วม อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดทาแผนที่ เส้นทางน้าทั่วประเทศ 7.56%

7.บทเรียนที่ได้รับจากน้ำท่วมในครั้งนี้ คือ อันดับ 1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการเตรียมพร้อมที่รวดเร็วและทันสถานการณ์ เช่น การแจ้งข่าว เตือนภัย 46.17%อันดับ 2.การให้ความสาคัญต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อไม่มีป่าไม้นอกจากน้าท่วมแล้วยังมีดินโคลนถล่มด้วย 23.91% อันดับ 3.ประเทศชาติได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 19.47% อันดับ 4.เมื่อคนไทยประสบภาวะวิกฤต จะได้รับน้าใจ ความช่วยเหลือต่าง ๆ จากคนไทยด้วยกัน 8.13% อันดับ 5.ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนต้องอดทน มีสติ มีจิตใจเข้มแข็งจนกว่าสถานการณ์น้าจะคลี่คลาย 2.32%

**"ยิ่งลักษณ์" ดูน้ำท่วมเมืองลพบุรี

ขณะที่วานนี้ (25 ก.ย.) ที่ จ.ลพบุรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม และนายพระนาย สุวรรณรัฐ รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางมาถึงวัดเทพอำไพ ต.อำไพ อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เพื่อมอบถุงยังชีพ 500 ชุด ให้กับชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย จากนั้นช่วงบ่ายได้เดินทางไปยังวัดท่าโคลง ต.เขาสมอคอน และบ้านคลองเม่า อ.ท่าวุ้ง และอีกหลายพื้นที่

ทั้งนี้ นายกฯได้กล่าวกับชาวลพบุรีที่ถูกน้ำท่วมว่ากล่าวว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานกำลังเข้ามาให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และมีการลำเลียงให้ความช่วยเหลือประชาชนไปอยู่บ้านพักชั่วคราวที่มีเจ้าหน้าที่ดูแล ทั้งเรื่องยาและอาหาร พร้อมกับผู้ที่บ้านเรือนเสียหายก็จะมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่ออนุมัติงบประมาณ

**สั่ง มท.ส่งเรือ 500 ลำช่วยวันนี้

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนประชาชนที่แจ้งมาว่าต้นทุนทางการเกษตรมีต้นทุนสูงขึ้น ก็จะมอบหมายให้ นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ ไปศึกษาข้อมูลเพื่อมาชี้แจงอีกครั้ง สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ก็จะดูกฎระเบียบว่ามีอะไรบ้าง เพื่อป้องแก้ไขและเคลื่อนย้ายให้เร็วขึ้นก่อนที่น้ำจะมาถึง นอกจากนี้ ในวันนี้ (26) จะสั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)นำเรือท้องแบน 500 ลำ มาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า ตลอดการเดินทางได้เห็นน้ำใจจากประชาชนมากมาย ในการลำเลียงสิ่งของมาช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องมาให้ความช่วยเหลือ ดังนั้น ขอให้ทุกคนอดทนไว้ก่อน เราจะเร่งฟื้นฟู อ.บ้านหมี่ ให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ ตนยังรู้สึกเป็นห่วงเด็กนักเรียนที่ขาดเรียน เพราะน้ำท่วม จึงอยากให้ผู้ว่าฯไปปรึกษากับผู้อำนวยการโรงเรียนทุกโรงเรียน เพื่อขอความร่วมมือจากครูให้มาสอนในช่วงนี้ด้วย และจะมีการประสานงานกับกระทรวงแรงงานให้มาฝึกอาชีพระหว่างน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม คนไทยทุกคนมีความเป็นห่วงเป็นใยในสถานการณ์ครั้งนี้ ซึ่งถือโอกาสให้กำลังใจด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลวงพ่อเพี้ยน อัคคธรรมโม หรือพระครูวิมล สมณวัตน์ เจ้าอาวาสวัดเกริ่นกฐิน ต.บ้านชี อ.บ้านหมี่ ได้มอบวัตถุมงคลให้กับนายกฯ ระหว่างที่เดินทางมาดูสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ ต.บ้านชี จากนั้นนายกฯ ได้ประกอบอาหาร เช่น ทอดไก่ ไข่เจียวแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยและร่วมรับประทานอาหารในพื้นที่ดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางมาให้กำลังใจในการลงพื้นที่ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย

**นายกฯเล็งขอ ครม.อนุมัติงบเพิ่ม

นายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีการแก้ไขระเบียบต่างๆ ในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยเพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงทีว่า ตามระเบียบเวลาเกิดอุทกภัยเราจะประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ซึ่งปัญหานี้ดูจากพยากรณ์อากาศก็จะรู้ว่าจังหวัดไหนบ้างจะเกิดภัยพิบัติ แต่เราไม่สามารถทำได้ เพราะติดในเรื่องของระเบียบ จึงได้มีการหารือกับผู้ว่าฯลพบุรี เพราะใน 7 อำเภอของ จ.ลพบุรีนั้น ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติแล้วแต่ในเขต อ.เมือง ยังไม่สามารถประกาศได้ เนื่องจากติดเรื่องระเบียบ ซึ่งเราจะนำปัญหาต่างๆ เหล่านี้เสนอที่ประชุม ครม.เพื่อสอบถามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยกระทรวงการคลังในการดูแลระเบียบเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและไม่ให้เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหา สำหรับ จ.ลพบุรีจะมีการเร่งรัด ประกาศให้ อ.เมือง เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อจะเข้าไปป้องกันน้ำท่วมได้ทันท่วงที

ผู้สื่อข่าวถามว่า การยกเลิกระเบียบต้องขอที่ประชุม ครม.อนุมัติหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องชั่วคราวคงจะต้องไปหาทางออก ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นทางไหน เพราะเรื่องระยะยาวต้องมานั่งคุยกันในส่วนของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณว่าระเบียบกติกาต่าง ๆ จะทำอย่างไร ให้เกิดกระบวนการในการป้องกัน อาจจะคุยในลักษณะของกระบวนการว่าเกิดเหตุแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งเรายังไม่เคยคุยกันในเรื่องว่าจะเตรียมการป้องกันอย่างไร หากทราบว่าจะมีปัญหานี้เกิดขึ้น ซึ่งจะเอาข้อคิดต่างๆ ไปปรับปรุง เพื่อให้การทำงานรอบคอบและรวดเร็วยิ่งขั้น

**จ่อทบทวนจ่าย 2,222 บาทต่อไร่

เมื่อถามว่า หลายพื้นที่ระบุว่าเงินช่วยเหลือ 2,222 บาทต่อไร่ ไม่เพียงพอจะมีการทบทวนเพิ่มเงินในส่วนนี้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เบื้องต้นต้องขออนุญาตสำรวจก่อน เพราะเราได้มีการชดเชย 55% ของต้นทุนจริง หากต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลงเราก็พร้อมนำไปทบทวน

เมื่อถามว่า จะมีการดูเรื่องของการประกันราคาข้าวหรือไม่นายกฯกล่าวว่า ในส่วนข้าวที่เสียหาย ก็มีการชดเชย 2,222 บาทต่อไร่แล้วและคงไปดูการฟื้นฟูหลังน้ำลดอีกครั้ง เมื่อถามว่า รอยต่อระหว่างการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล กรณีการประกันและจำนำข้าวจะแก้ปัญหาอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เราได้ทราบว่ามีปัญหานี้ก็ได้บอกนายกิตติรัตน์ ณ ระรอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ พิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เมื่อถามว่า ได้แนะนำอะไรนายกิตติรัตน์ ในเรื่องข้าวหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องพิจารณาข้อเท็จจริง ทั้งในส่วนที่เราได้มีระเบียบในการดูแล ถ้าข้าวสามารถเข้าระบบรับจำนำราคาข้าวได้ก็จะเข้าโครงการนี้ แต่ถ้าข้าวในพื้นที่เสียหาย ก็ให้การชดเชยอยู่แล้ว แต่ก็ยังเหลือกลุ่มที่ไม่เสียหายและไม่เข้าโครงการก็จะขอประเมินรายละเอียดอีกครั้ง เมื่อถามว่า จะใช้เวลานานหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เร่งอยู่แล้ว เพราะทุกปัญหาเราต้องแก้ไขให้ประชาชน

**ปูยกหูหาครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ฝาง

เมื่อถามถึงสถานการณ์น้ำท่วมใน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ มีรายงานล่าสุดเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าาวว่า ได้สั่งการให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.คลัง ลงพื้นที่แล้วเนื่องจากตนติดภารกิจที่ จ.ลพบุรี แต่ในช่วงเช้าได้โฟนอินไปแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นเด็ก 3 ขวบและ 8 เดือน เป็นครอบครัวเดียวที่สูญเสียและได้มีการจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบราชการแล้ว

นอกจากนี้ เงินที่ประชาชนบริจาคเข้าสำนักนายกฯก็ได้นำเงินในส่วนนี้ชดเชยอีกศพละ 50,000 บาท ส่วนกรณีบ้านที่เสียหายทั้งหลังตามระเบียบได้มีการดูแลและจะนำเงินที่ได้จาการบริจาคไปช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายอีกด้วย

นายกฯ ยังให้สัมภาษณ์ถึงการพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้านเมื่อช่วงเช้าในงานเดินรณรงค์รวมพลังต่อต้านคอร์รัปชัน นายอภิสิทธิ์ ได้ฝากอะไรหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ได้ยื่นจดหมาย เพื่อให้นำไปพิจารณา ซึ่งตนก็รับเรื่องไว้แล้ว และจะนำส่งให้รองนายกฯที่เกี่ยวข้อง หารือทางออก เพื่อจะดูว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง

**มาร์คยื่นหนังสือจี้ปูเร่งช่วยเหยื่อน้ำท่วม

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เวลา 07.00 น.ที่สวนลุมพินี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และในฐานะผู้นำฝ่ายค้านได้ร่วมกิจกรรมเดินรณรงค์รวมพลังต่อต้านคอรัปชั่นที่ศูนย์ภาคีเครือค่ายต่อต้านคอรัปชั่น (ภตค.)30 องค์กร ซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานในการเปิดงาน โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายอภิสิทธิ์ ได้ร่วมกิจกรรมเดินรณรงค์จากบริเวณลานหน้าพระบรมราชานุเสาวรีย์รัชกาลที่ 6 ไปตามถนนสีลมและวกกลับมาที่เดิม

ทั้งนี้ ก่อนพิธีเปิดงานนายอภิสิทธิ์ ได้นั่งเก้าอี้ร่วมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยนายอภิสิทธิ์ ได้หารือถึงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใจความสรุปว่า “ขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ตนและพรรคประชาธิปัตย์ได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยพบว่า ในหลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมสูงและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นอีกและยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนคือ ความเสียหายในพืชผลการเกษตรที่เกษตรกรสูญเสียผลผลิตทั้งหมดหรือจำเป็นต้องเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำไปขายในราคาถูก

อีกทั้งบางกรณีก็ไม่สามารถขายได้ ทำให้เกษตรกรเหล่านี้ไม่สามารถเข้าร่วมถึงการจำนำข้าวของรัฐบาลและมีบางส่วนจะไม่ได้รับเงินชดเชย 2,222 บาทต่อไร่ จึงขอเรียกร้องให้นายกฯและรัฐบาลได้ทบทวนการปฎิเสธการจ่ายเงินส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว โดยรัฐบาลอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริงกับพี่น้องประชาชน"โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับหนังสือพร้อมรับปากว่าจะดูและให้โดยได้สั่งการให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์นำไปพิจารณา

จากนั้นทั้ง 2 ได้ร่วมเดินรณรงค์กิจกรรมต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นไปตามถนนสีลม ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะแยกตัวออกไปเมื่อเดินถึงบริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ

**แนะทบทวนส่วนต่างประกันราคา

นายอภิสิทธิ์ เผยถึงการพูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ได้ฝากเรื่องของการช่วยเหลือเกษตรกร เพราะมีเกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถที่จะได้รับการช่วยเหลือจากโครงการรับจำนำข้าวได้ ตัวอย่างเช่น พื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างที่ถูกน้ำท่วมพืชผลเสียหายจนต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตหนีน้าทำให้ต้องไปขายในราคาถูก หรือเก็บเกี่ยวและขายไม่ได้ หรือจำนวนน้อยเกินไป ซึ่งคนเหล่านี้เขาเคยได้รับเงินส่วนต่างจากโครงการประกันรายได้ก็ร้องเรียนมาอยากให้ช่วยติดตาม ตนจึงได้ฝากเรื่องพร้อมยื่นหนังสือกับนายกฯไป และบอกว่า เราไม่ติดใจว่าจะยกเลิกโครงการประกันรายได้หรือไม่แต่อย่างน้อยที่สุดการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่เขาจะได้ละได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วก็อยากให้รัฐบาลดำเนินการ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้บอกว่า จะให้นายกิตติรัตน์ไปดู

เมื่อถามว่าได้ระบุจังหวัดหรือไม่ว่าจะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงไปดูในพื้นที่ใด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ตนไปทุกจังหวัดก็จะมีเกษตรกรมาร้องเรียนในเรื่องนี้ เพราะครั้งที่แล้วเขาเคยได้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 5,000 บาทและได้รับการช่วยเหลือไร่ละ 2,000 บาท ซึ่งเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือทั้ง 2 อย่าง แต่คราวนี้เขาไม่ได้ รวมทั้งเรื่องพันธุ์ข้าว เพราะโครงการจำนำเกษตรกรหลายคนไม่มีข้าวจะไปจำนำ แม้โครงการจะขยายเวลาไปถึงวันที่ 1 ก.พ.55 แต่ถ้าสภาพน้ำท่วมยังเป็นอยู่ปัจจุบันก็ไม่ได้หมายความว่าเกษตรกรจะสามารถปลูกข้าวได้ทัน ต้องรอน้ำลดและเริ่มปลูกข้าวใหม่ แต่โครงการประกันรายได้เนื่องจากเป็นโครงการที่เริ่มไว้ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เกษตรกรก็คาดหวังว่าจะได้เงินส่วนต่าง

“ตอนนี้รัฐบาลจะมีการเปิดโครงการรับจำนำข้าวในวันที่ 7 ต.ค.แต่ขณะนี้ข้าวไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกร เพราะเกษตรกรรีบขายไปเยอะแล้วเนื่องจากนำท่วม คำถามคือ ข้าวที่จะเข้าโครงการจับนำจะเป็นข้าวของเกษตรกรจริงหรือไม่ รัฐบาลเตรียมมาตรการป้องกันไม่ให้มีการสวมสิทธิ์โดยพ่อค้า โรงสีที่ซื้อข้าวไปแล้วหรือไม่ จะป้องกันคนเอาข้าวจากประเทศเพื่อนมานำเข้ามาจำนำได้หรือไม่

**รมว.สธ.ปรับแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ด้านนายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันที่อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ว่า ได้ส่งทีมแพทย์ฉุกเฉินจากโรงพยาบาลฝาง ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก 2 คน ผู้ได้รับผลกระทบ 350 ครัวเรือน และมีการอพยพ 20 ครัวเรือน 80 คนไปที่วัดเปียงกอก โดยในวันนี้ได้ให้โรงพยาบาลฝาง จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 2 ทีม พร้อมทั้งพยาบาลจิตเวชออกให้บริการผู้ประสบภัยที่จุดอพยพวัดเปียงกอกด้วย

**เตือน 9 จังหวัดระวังน้ำท่วมฉับพลัน

นายภาณุ แย้มศรี ในฐานะประธานการประชุมศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัดได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ ยโสธร ขอนแก่น อำนาจเจริญ ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี รวม 141 อำเภอ 1,052 ตำบล 8,088 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 583,370 ครัวเรือน 1,927,120 คน ผู้เสียชีวิต 158 ราย สูญหาย 3 ราย

นายภาณุ กล่าวต่อว่า ช่วงวันที่ 26-30 ก.ย.ทั่วทุกภาคจะมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ อีกทั้งพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกจะมีฝนตกชุกกับฝนตกหนักในบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณ จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ในระยะ 7 วันนี้ จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขาที่ราบลุ่มและใกล้ทางน้ำไหลผ่านบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้นคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตราย ในการเดินเรือและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง

นายภาณุ กล่าวเตือนยังมีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มรวม 9 จังหวัด ได้แก่ อ.เถิน จ.ลำปาง อ.ฝาง จ.เชียฝใหม่ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก อ.น้ำยืน จ.ฮุบลราชธานี อ.เกาะช้าง และ อ.บ่อไร่ จ.ตราด อ.เขาคิชกูฎ อ.แหลมสิงห์ และ อ.เมือง จ.จันทบุรี อ.ปากพลี จ.นครนายก อ.เขาชะเมา จ.ระยอง และ อ.ละอุ่น จ.ระนอง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขาที่ราบลุ่ม และใกล้ทางน้ำไหลผ่านระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก

สำหรับพื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังภาวะน้ำล้นตลิ่งได้แก่ ลุ่มน้ำภาคตะวันออก ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำโขง รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ภาคกลาง.
กำลังโหลดความคิดเห็น