xs
xsm
sm
md
lg

บุรีรัมย์เตรียมอพยพหนีน้ำท่วม-เรือนักข่าวล่ม-ฉาวอบต.ทัวร์ลาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูมิภาค - ฝนถล่มน้ำทะลักท่วมบ้านเรือน ร้านค้าในเขตเทศบาลแคนดง เมืองบุรีรัมย์ กว่า 500 หลัง ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ สั่ง นอภ.เตรียมพร้อมอพยพชาวบ้าน ขณะที่เรือคณะนักข่าวติดตาม รมว.ทรัพย์ฯประสบอุบัติเหตุล่มกลางลำน้ำที่ ลพบุรี ฉาวอีก“อบต.สามง่าม”เมืองพิจิตรยกคณะผู้บริหาร-ขรก.-จนท.ทัวร์ดูงานหนองคาย ปล่อยลูกบ้านกว่า 1,000 ครัวเรือนจมน้ำตามลำพัง ศอส.เตือน 15 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงดินถล่มเตรียมพร้อมรับมือ 22-23 นี้

วานนี้(22 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น้ำฝนที่ตกลงมาสะสมติดต่อกันหลายวัน และน้ำตามคลองธรรมชาติต่างๆ ได้ไหลรวมเข้าฝายน้ำล้นบ้านหนองกระทุ่ม- กาละโก ต.แคนดง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ทำให้ระดับน้ำหนุนสูงเอ่อล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ร้านค้า ในเขตเทศบาลตำบลแคนดง อ.แคนดง สูง 40-50 ซม.สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนกว่า 500 หลังคาเรือน

น้ำยังได้ท่วมถนนสายหลักที่ใช้สัญจรระหว่างตัวอำเภอ และถนนในหมู่บ้าน ชุมชนอีก 11 สาย เบื้องต้นทางเทศบาลตำบลแคนดงได้นำกระสอบบรรจุทรายกว่า 3,700 ใบ ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อปิดกั้นไม่ให้น้ำทะลักเข้าบ้านเรือน

นายพิจิตร ศักดิ์ศรีท้าว นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลแคนดง กล่าวว่า น้ำจากฝายน้ำล้นบ้านหนองกระทุ่ม-กาละโกได้ไหลทะลักเข้าท่วมในเขตเทศบาลตำบลแคนดงอย่างรวดเร็ว จนประชาชน และพ่อค้าแม่ค้าบางรายไม่ทันตั้งตัวและขนย้ายข้าวของขึ้นสู่ที่สูงไม่ทัน ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าได้มีบ้านเรือน ร้านค้าได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้กว่า 500 หลังคาเรือน ใน 7 ชุมชน และถนนอีก 11 สาย

**ผู้ว่าฯสั่ง4อำเภอรับมือน้ำท่วม

นายธานี สามารถกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ 4 อำเภอ มี อ.คูเมือง, พุทไธสง, แคนดง และ อ.สตึก ที่อาศัยอยู่ติดริมแม่น้ำมูล ให้ระมัดระวังภาวะน้ำท่วมฉับพลันหลังได้รับรายงานว่าอีก 2-3 วันนี้จะมีน้ำเหนือจากจังหวัดนครราชสีมา ไหลมาสมทบรวมกับน้ำในแม่น้ำมูลที่อาจทำให้ระดับน้ำมูลหนุนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและเอ่อล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน ไร่นา สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนได้

พร้อมกันนี้ก็ได้สั่งการให้ทางอำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 4 อำเภอดังกล่าว ได้เตรียมพร้อมรับมือ และให้ความช่วยเหลือประชาชน ทั้งการอพยพขนย้ายสัตว์เลี้ยง สิ่งของ เด็ก และผู้สูงอายุในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมไปอยู่ในที่ปลอดภัย

**เรือคณะนักข่าวตาม รมต.ล่มที่ลพบุรี

ที่ จ.ลพบุรี เรือคณะสื่อมวลชนที่ติดตามนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่บ้านสระตาแวว ต.พุคา อ.บ้านหมี่ ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในการมอบสิ่งของแล้ว คณะรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมคณะสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาคได้ลงเรือท้องแบน 5 ลำที่ทางจังหวัดจัดเตรียมไว้ให้เพื่อสำรวจสภาพความเสียหายโดยรอบของพื้นที่ประสบภัย

ขณะล่องเรือเพื่อตรวจดูสภาพความเสียหายในจุดสุดท้าย ซึ่งยังอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 1 กม.ได้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นเมื่อเรือลำที่ 4 ซึ่งเป็นของคณะสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรรมชาติฯ สำนักงาน ปภ.ลพบุรี โดยสารมารวม 12 คนเกิดล่มลงกลางลำน้ำ โคชดีที่มีเรือของเจ้าหน้าที่ทหาร จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษตามหลังมารีบโยนชูชีพให้และเรือทุกลำที่เห็นเหตุการณ์ต่างรีบวนกลับมาให้การช่วยเหลือ โดยใช้เวลาประมาณ 10 กว่านาที จึงสามารถช่วยชีวิตทุกคนไว้ได้หมด
**โวย อบต.สามง่ามทัวร์ลาวหนีน้ำ

รายงานจาก จ.พิจิตรวานนี้ (22 ก.ย.)ว่า พื้นที่ ต.สามง่าม อ.สามง่าม จ.พิจิตร ชาวบ้าน 13 หมู่บ้านกว่า 1,000 หลังคาเรือนยังถูกน้ำท่วมจากแม่น้ำยมล้นตลิ่งเข้าท่วม มสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านอย่างหนัก ซึ่ง อบต.สามง่าม ได้นำถุงยังชีพมาแจกครั้งเดียว พร้อมกับกระสอบทรายจำนวนหนึ่ง โดยทาง อบต.สามง่าม อ้างว่ามีงบประมาณจำกัด

ล่าสุดนายนรินทร์ วิมล อายุ 67 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 10 ต.สามง่าม อ.สามง่าม เปิดเผยว่า ในขณะที่ชาวบ้านกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากสถานการณ์น้ำท่วม ปรากฏว่า คณะผู้บริหารของ อบต.สามง่าม นำโดยนายคะเนย์ ทองเพ็ง นายก อบต.สามง่าม ได้พาผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เดินทางด้วยรถโดยสารปรับอากาศไปดูงานและท่องเที่ยวที่ จ.หนองคาย พร้อมข้ามไปนอนพักค้างคืนที่นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ระหว่างวันที่ 20-23 ก.ย.ปล่อยให้ชาวบ้านเผชิญความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม

โดยชาวบ้านตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดทางผู้บริหาร อบต.สามง่าม จึงทำอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา อบต.สามง่าม ได้อ้างมาตลอดว่ามีงบประมาณจำกัด ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมได้ แต่เหตุใดกลับมีงบประมาณสำหรับพาคณะผู้บริหารและข้าราชการเจ้าหน้าที่ไปท่องเที่ยวดูงาน

**ชาวพิจิตรป่วยกว่าหมื่นคิดสั้นเกือบ400คน

นายประจักษ์ วัฒนกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตรว่า ขณะนี้ชาวพิจิตรป่วยด้วยโรคน้ำกัดเท้าแล้วมากถึง 8,770 ราย ป่วยเป็นไข้หวัด 1,483 ราย ป่วยจากอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ 1,484 ราย ป่วยจากระบบทางเดินอาหารที่อาจเกิดจากอาหารการกินและน้ำดื่มที่ไม่สะอาดเพียงพอ 245 ราย ส่วนชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมเกิดความเครียดและเกิดป่วยด้วยสุขภาพจิต บางรายคิดมากเรื่องหนี้สินและทำใจไม่ได้กับผลผลิตนาข้าวที่ถูกน้ำท่วมจนถึงขั้นคิดสั้นอยากฆ่าตัวตาย มากถึง 378 ราย
**นายกฯย้ำทุกจังหวัดต้องบูรณาการแก้น้ำท่วม

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาน้ำท่วมที่ทะลักเข้าท่วมถนนสายเอเชียและนาข้าวที่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ทันว่า เราต้องไปดูแลในส่วนของค่าชดเชย เพราะแท้จริงแล้วจังหวัดก็พยายามป้องกันให้สามารถเกี่ยวข้าวได้ก่อน แต่บางพื้นที่ก็หนักจริง จึงไม่สามารถพยุงได้

ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่ามีการกั้นน้ำไม่ให้เข้ามากรุงเทพฯส่งผลให้ จ.สุพรรณบุรีได้รับความเสียหาย ต้องขอไปตรวจสอบก่อน ตลอดเวลาที่ผ่านมาทุกจังหวัดจะดูแลในส่วนของจังหวัดตนเอง ก็กั้นน้ำจากข้างในไปข้างนอก ปกป้องในจังหวัดตนเองโดยที่ไม่มีการบูรณาการในการดูผลกระทบจากจังหวัดข้างเคียง ซึ่งก็เป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาที่จะบริหารจัดการน้ำอย่างถาวร

**ศอส.เตือน15จังหวัดเสี่ยงฝนถล่ม

นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ ยโสธร ขอนแก่น มหาสารคาม ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี รวม 144 อำเภอ 1,075 ตำบล 8,031หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 563,010 ครัวเรือน 1,877,106 คน มีผู้เสียชีวิต 136 ราย สูญหาย 2 ราย พื้นที่การเกษตร 5,110,327 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา 60,124 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบ 4,727,694 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แยกเป็น ทางหลวง 27 สาย ใน 10 จังหวัด ทางหลวงชนบท 76 สาย ใน 19 จังหวัด

นายฉัตรป้อง กล่าวต่อว่า ส่วนช่วงวันที่ 22-23 ก.ย.จะมีฝนตกหนักใน 15 จังหวัดได้แก่ เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี เลย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ที่ราบลุ่ม และใกล้ทางน้ำไหลผ่านระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก นอกจากนี้บยังมีพื้นที่ที่ยังต้องเฝ้าระวังดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ในระยะ 1-2 วันนี้ ได้แก่ อุบลราชธานี (อำเภอนาจะหลวย บุณฑริก น้ำยืน น้ำขุ่น) ศรีสะเกษ (อำเภอภูสิงห์ ขุนหาญ )

ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 89 ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 97 ของความจุอ่างฯ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำร้อยละ 99 ของความจุอ่างฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณมากเกินความจุ ร้อยละ 116 ของความจุอ่างฯ ซึ่งต้องปล่อยน้ำออกจากเขื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนและชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ ได้รับกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ดังกล่าวให้ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงและเสริมแนวกระสอบทรายกั้นน้ำ

***เจ๊งรอบนี้ 3 หมื่นกว่าล.

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมว่า ผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อยนกเตน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.จนถึงปัจจุบัน สร้างความเสียหายให้ประเทศคิดเป็นมูลค่า 32,419.30 ล้านบาท โดยเป็นความเสียหายของพืชมากที่สุดถึง 16,037.70 ล้านบาท รองลงมาเป็นความเสียหายของสิ่งสาธารณ (ถนนท่อระบายน้ำ ฝาย สะพาน วัด โรงเรียน) 5,872.20 ล้านบาท, การค้า 4,716.10 ล้านบาท, บ้านเรือน 1,820.30 ล้านบาท, ประมง 1,455.10 ล้านบาท, ปศุสัตว์ 1,153.90 ล้านบาท, ท่องเที่ยว 648 ล้านบาท, อุตสาหกรรม391.8 ล้านบาท และอื่นๆ 324.1 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อรวมผลกระทบจากภัยน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2554 ที่มีมูลค่าความเสียหาย 26,075.3 ล้านบาท ทำให้ประเทศเกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติในปีนี้ทั้งสิ้น 58,494.6 ล้านบาท และมีผลทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลง 0.5-0.7%
กำลังโหลดความคิดเห็น