xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนใหญ่โคราชปริ่มเต็ม เร่งพร่องน้ำรับมือมรสุมลูกใหม่ – เฝ้าระวัง 4 จว.อีสานใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เขื่อนใหญ่โคราชจ่อเต็มเร่งพร่องน้ำรับมือมรสุมลูกใหม่  ส่งผลน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มหลายแห่ง  อ.พิมาย จ.นครราชสีมา น้ำมูลเอ่อท่วมนาข้าวแล้วกว่า 100 ไร่ ด้านปภ.เขต 5 เตือน 4 จังหวัดอีสานใต้เฝ้าระวัง 24 ชม. วันนี้ (17 ก.ย.)
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เขื่อนใหญ่โคราชจ่อเต็ม เร่งพร่องน้ำรับมือมรสุมลูกใหม่ ส่งผลน้ำท่วมพื้นที่ลุ่ม อ.พิมาย นาข้าวจมแล้วกว่า 100 ไร่ ชาวบ้านต้องนำสัตว์เลี้ยงกินหญ้าตามริมถนน เหตุทุ่งหญ้าถูกน้ำมูลเอ่อท่วม พบชาวบ้านจมน้ำเสียชีวิตแล้ว 1 ราย ด้าน ปภ.เขต 5 เตือนประชาชน ในพื้นที่เสี่ยง 4 จว.อีสานใต้ติดตามสถานการณ์น้ำใกล้ชิด จัด จนท. - อุปกรณ์เครื่องมือ พร้อมให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชม.

วันนี้ (17 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นครราชสีมาว่า ล่าสุดปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่รวม 4 แห่ง ของจ.นครราชสีมา เกือบเต็มระดับความจุของอ่างทั้งหมดแล้ว เฉลี่ยประมาณร้อยละ 84 โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำรวม 257.88 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 82 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 314 ล้าน ลบ.ม. , อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาณน้ำรวม 96.69 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 88.20 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 110 ล้าน ลบ.ม. ,อ่างเก็บน้ำลำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 117.27 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 83 .17 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 141 ล้าน ลบ.ม. และ อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำ 245 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 89.09 ของความจุที่ระดับกักเก็บ 275 ล้าน ลบ.ม. ทางเขื่อนต้องเร่งพร่องน้ำ ลงสู่ลำน้ำสาขาใต้เขื่อนเพื่อรองรับมรสุมลูกใหม่ที่จะเข้ามาในวันพรุ่งนี้ ( 18 ก.ย.) ทำให้พื้นที่ลุ่มในหลายพื้นที่ ของ จ.นครราชสีมาถูกน้ำท่วม

เช่นเดียวกับน้ำในลำน้ำมูลมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไหลเอ่อเข้าท่วมไร่นาของเกษตรกรที่อยู่ติดลำน้ำมูล โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรใน ต.ท่าหลวง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ถูกน้ำท่วมนาข้าวเสียหายกว่า 100 ไร่ ขณะเดียวกันชาวบ้านต้องนำสัตว์เลี้ยงไปหากินหญ้าริมถนนเนื่องจากในพื้นที่ลุ่มทุ่งหญ้าถูกน้ำท่วมทั้งหมด นายสนอง ศิริงาน เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ใน ต.ท่าหลวง บอกว่า ในช่วงนี้ จำเป็นต้อง นำวัวไปเลี้ยงบนถนนใกล้หมู่บ้าน เนื่องจากน้ำได้ไหลเข้าท่วม ทุ้งหญ้า ที่อยู่ติดกับลำน้ำมูล ทำให้ไม่สามารถนำวัว ไปกินหญ้าในบริเวณนั้นได้

ขณะที่ช่วงกลางดึกคืนที่ผ่านมาที่บริเวณฝายน้ำล้นห้วยวังม่วง ม.1 ต.ทุ่งสว่าง อ.ประทาย จ.นครราชสีมา นักประดาน้ำ หน่วยเฉพาะกิจ ฮุก 31 ประจำจังหวัดนครราชสีมา ได้ช่วยกันค้นหาศพผู้สูญหายใต้น้ำนานกว่า 4 ชั่วโมง แต่ไม่พบ ชาวบ้านช่วยกันออกตามหาจึงพบศพ นายเลี่ยง เนียมกลาง อายุ 57 ปี เจ้าของโรงสีข้าว ใน ต.ทุ่งสว่าง อ.ประทาย จ.นครราชสีมาลอยมาติดริมตลิ่ง โดยก่อนเสียชีวิตนายเลี่ยงได้ลงไปหว่านแหหาปลาบริเวณหน้าฝายแต่ เชือกแหขาด นายเลี่ยง จึงเดินลงไปกู้แหขึ้นมาแต่เนื่องจากกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกราก จึงดูดร่างนายเลี่ยง จมหายไปในน้ำ

ด้าน นายวัลลภ เทพภักดี ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา (ผอ.ปภ.เขต5 นครราชสีมา) กล่าวว่า จากการติดตามสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาทราบว่า ในช่วงวันที่ 18 - 21 ก.ย. 2554 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีกำลังแรงขึ้น ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากได้บางแห่ง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ราบลุ่ม ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ในพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานใต้เขตความรับผิดชอบของศูนย์ ปภ. เขต 5 นครราชสีมา ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และ สุรินทร์ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีฝนตกเป็นช่วง ๆ ทำให้ดินมีความชุ่มชื้นสูง ความสามารถในการอุ้มน้ำของดินลดลง หากมีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติมมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยมากขึ้น ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีประวัติน้ำท่วมขัง นอกจากการติดตามข้อมูลข่าวสารการพยากรณ์อากาศและการประกาศเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิดแล้ว ให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนหรืออ่างที่อยู่ในพื้นที่ด้วย

หากเกิดภาวะฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ระดับน้ำในแม่น้ำ ลำคลองสูงขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ สีของน้ำเปลี่ยนเป็นสีของดินบนภูเขา ขอให้มีการจัดเตรียมถุงยังชีพของครอบครัวไว้อย่างน้อย 1 ชุด เพื่อจะได้ช่วยเหลือตัวเองได้ยามฉุกเฉินพร้อมขนย้ายสิ่งของและสัตว์เลี่ยงไว้ในที่สูงเพื่อความปลอดภัยและป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ศูนย์ ปภ. เขต 5 นครราชสีมา ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม โดยจัดให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้เตรียมเรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ รถยนต์บรรทุกขนาดใหญ่ รถผลิตน้ำดื่ม รถบรรทุกน้ำ รถไฟฟ้าส่องสว่าง เครื่องจักรกลขนาดหนัก เครื่องมืออุปกรณ์กู้ชีพกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ไว้พร้อมให้การสนับสนุนจังหวัดในเขตรับผิดชอบทันทีที่มีการร้องขอ

“หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อน สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์ ปภ. เขต 5 นครราชสีมา และสำนักงาน ปภ.จังหวัดทุกจังหวัด โทรศัพท์สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง” นายวัลลภ กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น