xs
xsm
sm
md
lg

สิงห์บุรีจมบาดาลสาหัส3หมื่นครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูมิภาค -"นายกฯปู"น้อมนำพระราชดำรัส "ในหลวง"แก้น้ำท่วม กทม.เล็งเปิดพื้นที่แก้มลิงเพิ่มป้องกันน้ำท่วมฝั่งตะวันออก ขณะที่กรมชลฯเร่งระบายน้ำเขื่อนป่าสักฯรับพายุลูกใหม่ ด้านน้ำท่วมที่สิงห์บุรียังวิกฤต ชาวบ้านกว่า 3 หมื่นครัวเรือนเดือดร้อนหนัก เช่นเดียวกับอ่างทองชาวบ้านต้องอพยพขึ้นไปอยู่บนถนน "ถนนบางบาล-ผักไห่"จมบาดาล แขวงการทางกรุงเก่าสั่งห้ามใช้ คาดถ้าฝนไม่หยุดตกถนนอีกหลายสายจมน้ำเพิ่มอีกแน่ "ศอส."เผยยอดสังเวยน้ำท่วม 24 จังหวัดตายแล้ว 130 ศพ

วานนี้ (21ก.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมประชุมมอบนโยบายป้องกัน และวางแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อป้องกันน้ำที่จะทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาตร์และเทคโนโลยี นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภย นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประธาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา ร่วมประชุมโดยใช้เวลาหารือประมาณชั่วโมงครึ่ง

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมนายปลอดประสพ ได้ร่วมกันแถลงข่าวโดยนำแผนที่จุดเร่งปั่นกระแสน้ำทั้ง 7 จุดมาแสดงประกอบ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ในวันสองวันนี้ระดับทะเลจะลดลง ตนจึงให้ รมว.วิทยาศาสตร์ร่วมมือกับกรมชลประทานไปดูในเรื่องการผันน้ำระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วขึ้น ซึ่งเราได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องของน้ำ ซึ่งตรงกับที่ได้มีการสั่งการไว้ โดยนำเรือทั้งหมด 30 ลำ กระจายตามจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนของคลองลัดโพธิ์ ทั้งนี้ สิ่งที่เราทำนั้นเพื่อปั่นกระแสน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลเร็วขึ้น การเร่งผันน้ำในวันนี้ทำให้ระดับน้ำลดลง 20% การประชุมในวันนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในแต่ละจังหวัดเพื่อเตรียมรับน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือตอนบนตอนล่าง และจากภาคกลางด้วย ซึ่งในส่วนของทหารนั้นมีกำลังที่จะช่วยดำนินการ เราจึงเร่งหาจุดเพิ่มเติมในการผันน้ำออก

ส่วนงบประมาณที่ไม่ทันการแก้ปัญหาจะทำอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า งบประมาณไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด แต่เกิดจากการที่บางจังหวัดอาจจะเป็นห่วงในเรื่องของระเบียบข้อบังคับต่างๆ แต่จริงๆแล้วบางจังหวัดเบิกงบประมาณไป 200 ล้านแล้ว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน และความสบายใจจะเพิ่มวงเงินให้เบื้องต้น 100 ล้านบาท แต่หากจังหวัดใดไม่เพียงพอสามารถขอมาได้ทันที โดยจะประสานงานกับกรมบัญชีกลาง รัฐบาลจะสนุนเต็มที่อย่างแน่นอน

**เตรียมผลักดันน้ำออกจากเจ้าพระยา
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และนายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน แถลงภายหลังการประชุมยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาอุทกภัยในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงว่า นายกฯได้ให้ความสนใจเรื่องนี้เพราะสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง จึงมีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการผลักดันน้ำลงอ่าวไทยต่อไป ทั้งนี้ นายกฯ ได้สั่งการนโยบายในที่ประชุมหลายเรื่องและรับทราบการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์น้ำ

ด้านนายชลิต กล่าวว่า จะมีการผันน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยทางด้านตะวันออกให้ผันน้ำออกทางแม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางประกงและออกสู่ทะเล-ส่วนทางด้านตะวันตกให้ผันน้ำออกทางแม่น้ำท่าจีน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การระบายน้ำได้ไวขึ้นช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ทางรัฐบาลได้ติดตั้งเครื่องผันน้ำบริเวณคลองลัดโพธิ์ เพื่อช่วยให้ระบายน้ำได้ไวขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับในส่วนจังหวัดที่เกี่ยวข้องและนายกฯได้มอบหมายกองทัพเรือเข้าไปดูในการขุดลอกคูคลองเพื่อเร่งระบายน้ำ สำหรับการผลักดันจะใช้เรือไปจอดและเดินเครื่องเพื่อให้กระแสน้ำไหลเร็วขึ้น

**กทม.เล็งเปิดพื้นที่แก้มลิงเพิ่มรับน้ำ
วันเดียวกัน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า การประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม.ที่ประชุมได้มอบหมายให้ กทม.และจังหวัดพื้นที่ปริมณฑลร่วมกันแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ด้านตะวันออกของ กทม.นอกแนวคันกั้นน้ำ ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมจะให้มีการบูรณาการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งจากนี้ กทม.จะหารือกับ จ.สมุทรปราการ ในการเพิ่มพื้นที่แก้มลิง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดต่อไป เพื่อหาวิธีระบายน้ำไม่ให้เกิดน้ำท่วมขัง ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้น หากมีฝนตกลง กทม.จะดำเนินการเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งขุดลอกคลองที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าเครื่องมือหลักในการระบายน้ำทั้งประตูระบายน้ำและคลองลัดโพธิ์ จะสามารถช่วยระบายน้ำได้อย่างดี

**สิงห์บุรีกว่า 3 หมื่นครอบครัวช้ำหนัก
ด้านสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.สิงห์บุรี จากระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สถานการณ์อุทกภัยที่ จ.สิงห์บุรี มีผู้ประสบภัยแล้วกว่า 30,000 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 40,000 ไร่ โดยนายศิระ ศิริสูงเนิน หัวหน้าสำนักงาน ปภ.สิงห์บุรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง แม้ระดับน้ำจะบรรเทาลงเพราะประตูระบายน้ำบางโฉมศรี อ.อินทร์บุรี และประตูระบายน้ำพระงาม อ.พรหมบุรี พังลงทำให้น้ำไหลลงพื้นที่ใกล้เคียง และสถานการณ์อุทกภัยของ จ.สิงห์บุรีอยู่ในขั้นวิกฤตและยังคงทรงตัว

ในส่วนของความช่วยเหลือ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง ด้วยการระดมขนอุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ที่น้ำแห้งแล้ว และเร่งติดตั้งสุขาเคลื่อนที่เพื่อให้บริการกับประชาชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือต่อไป

**อ่างทองอ่วม-ชลฯเปิดประตูระบายน้ำ
ส่วนสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ จ.อ่างทอง ทรงตัว แต่แม่น้ำน้อยประกอบด้วย อ.โพธิ์ทอง อ.วิเศษชัยชาญ เพิ่มขึ้นมากทำให้ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง ขยายวงกว้างท่วมบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน หลายอำเภอ ต้องอพยพไปอยู่บนถนน เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำทันบ้างไม่ทันบ้าง ทั้งนี้ เนื่องจากหูช้างของประตูน้ำพระงาม อ.พรหมบุรี สิงห์บุรีพังยาวประมาณ 15-20 เมตรทำให้ไหลบ่าท่วม ต.องครักษ์ ต.บางระกำ ต.ย่านซื่อ เข้าด้านหลังศูนย์เศรษฐกิจสำคัญของเทศบาลอ่างทอง

นายวิศว ศะศิสมิเต ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทองกล่าวว่า ชลประทานได้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 6 แห่งตั้งแต่เวลา 06.00 น.วันที่ 21 ก.ย.แล้ว ได้แก่ ประตูระบายน้ำคลองสาหร่าย, โพธิ์ปล้ำ, คลองตะเคียน, ท่าอู, คลองขนาก และประตูระบายน้ำลาดนัย เพื่อระบายน้ำเข้าทุ่งเป็นการลดระดับแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อยลง ส่วนเกษตรกรได้เร่งให้เกี่ยวข้าวมาก่อนแล้ว

**"ถนนบางบาล-ผักไห่"จมบาดาล
มีรายงานข่าวจาก จ.พระนครศรีอยุธยาถึงการระบายน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรใน อ.บางบาล และ อ.ผักไห่ว่า ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้ทุ่งบางบาล ฝั่งตะวันตก และทุ่งผักไห่ ฝั่งตะวันออก มีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรมากกว่า 44,000 ไร่ จุน้ำได้มากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม.แต่ขณะนี้ระดับน้ำที่ท่วมในพื้นที่การเกษตรสูงกว่า 3 เมตร ล่าสุดน้ำที่ท่วมขังยังไหลเข้าท่วมถนนสาย 3414 บางบาล-ผักไห่ตั้งแต่แยกวัดตะกูไปจนถึง อ.ผักไห่ ระยะทางประมาณ 10 กม.ทำให้แขวงการทางพระนครศรีอยุธยาต้องประกาศปิดเส้นทางเพราะขณะนี้ระดับน้ำบนผิวการจราจรมีน้ำสูงมากกว่า 50 ซม.ทั้งรถเล็กและรถใหญ่ไม่สามารถวิ่งได้แล้ว

**แฉเรือยืมพายบางระกำโมเดลที่แท้เรือเก่า
ส่วนที่ศาลาเอนกประสงค์ ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก พ.ต.อ.เนรมิต ดุสิตากร ผกก.ตชด.ที่ 31 พร้อมคณะ ได้มอบถุงยังชีพพระราชทานให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม โดยมีชาวบ้านจาก ต.ท่านางาม-บางระกำ เดินทางด้วยเรือมารับมอบถุงยังชีพพระราชทานจำนวน 480 คน

นางจำปา กันจร อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 270 ม.1 ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ 1 ในประชาชนที่มารับมอบถุงยังชีพ กล่าวถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐว่า ที่ผ่านมาได้รับเพียงถุงยังชีพ แต่ยังไม่ได้รับทั้งเงินชดเชยค่าบ้าน 5,000 บาท และค่าสวนฝรั่งประมาณ 2 พันบาทเศษ ซึ่งตนกำลังรอเงินในส่วนนี้อยู่ ส่วนเรือยืมพายที่ทางราชการระบุว่าจะมีให้ยืมใช้ตามโครงการบางระกำโมเดล ในระหว่างน้ำท่วม และจะต้องส่งคืนเมื่อน้ำลดลงนั้น ตนได้ไปลงชื่อขอยืมเรือและได้รับเรือลำสีเหลืองมา 1 ลำ แต่พบว่าเรือลำดังกล่าวเป็นเรือที่จัดไว้เป็นเรือยืมพายตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้วไม่ใช่เรือใหม่ตามโครงการแต่อย่างใด

**ศอส.เผยยอดสังเวยน้ำท่วม130ศพ
ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) สรุปสถานการณ์อุทกภัยล่าสุดว่า ขณะนี้ยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 24 จังหวัด ประกอบด้วย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ ยโสธร ขอนแก่น มหาสารคาม ศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี รวมมีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 588,347 ครัวเรือน 1,916,986 คน และตั้งแต่เกิดสถานการณ์มีราษฎรเสียชีวิตทั้งสิ้น 130 ราย สูญหาย 2 ราย และมีพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายกว่า 4,192,000 ไร่
กำลังโหลดความคิดเห็น