xs
xsm
sm
md
lg

หยุดความตายประชาชนด้วยการปฏิรูประบบควบคุมสารเคมีเกษตร

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

บรรดานโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล การหยุดยั้งความตายทั้งแบบเฉียบพลันและผ่อนส่งของประชาชนจำนวนจากพิษภัยของสารเคมีเกษตรอันตรายร้ายแรง และการตกเป็นเมืองท่า ‘ปล่อยของ’ ของบรรดาบรรษัทเกษตรอุตสาหกรรมที่ผลิตและจำหน่ายสารเคมีเกษตรที่ประเทศตนเองเลิกใช้แล้วแต่นำเข้ามาขายในไทยจำนวนมหาศาลนับว่าเป็น ‘นโยบายเร่งด่วนที่จำเป็นอย่างยิ่ง’ ของรัฐบาลที่ประกาศว่าจะนำประเทศไทยไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่สมดุล มีความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้นเพื่อความสามารถในการอยู่รอดและแข่งขันทางเศรษฐกิจได้ ในขณะเดียวกันก็ก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 อย่างมีความพร้อมและเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการเมืองและความมั่นคง

ด้วยการที่ประเทศชาติจะพัฒนาศักยภาพจนสามารถแข่งขันต่อกรกับกระแสโลกาภิวัตน์ได้โดยไม่เพลี่ยงพล้ำตกเป็นประเทศพ่ายแพ้สงครามการค้าเสรี โดยเฉพาะตลาดสารเคมีเกษตรที่มีหัวขบวนใหญ่เป็นบรรษัทอุตสาหกรรมเกษตรระดับชาติ และข้ามชาติที่มีอาณัติอิทธิพลเหนือรัฐชาติกระทั่งพลิกผืนแผ่นดินไทยสิ้นสูญความอุดมสมบูรณ์เพราะอาบด้วยพิษยาฆ่าแมลงได้นั้นก็ต่อเมื่อรัฐบาลไทยกล้ากำหนดนโยบายด้านสารเคมีที่นอกจากจะตระหนักถึงความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญอันเป็นจุดมุ่งหมายเดียวกันกับการเป็นครัวโลก (Kitchen of the World) ที่มุ่งส่งออกผลิตผลการเกษตรและอาหารที่ปลอดภัยเลี้ยงประชากรโลกแล้ว ยังต้องไม่ประหวั่นพรั่นพรึงไปกับคำข่มขู่คุกคามของผู้ประกอบการสารเคมีเกษตรที่ใช้เกษตรกรเป็นตัวประกันว่าจะขาดแคลนสารเคมีที่ใช้ในการเพาะปลูก

เพราะข้อเท็จจริงต่างจากกลยุทธ์การจับเกษตรกรเป็นตัวประกันอย่างมาก เนื่องจากการยกเลิกสารเคมีเกษตรอันตรายร้ายแรง 4 ชนิด ทั้งคาร์โบฟูราน (Carbofuran) ไดโครโตฟอส (Dicrotophos) เมโทมิล (Methomyl) และอีพีเอ็น (EPN) ที่หลายประเทศทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยจนห้ามใช้ (ban) แล้วนั้น จะก่อ ‘คุณูปการมหาศาล’ ต่อระบบเกษตรกรรมและอาหารของประเทศไทยโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีสารทดแทนหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีสารทดแทนจำนวนมากที่ปลอดภัยกว่าต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ตลอดจนสังคมไทยในภาพรวม รวมถึงปกป้องตลาดสินค้าเกษตรส่งออก จากการรวบรวมของเครือข่ายเกษตรกร นักวิชาการ และผู้บริโภค เพียงแต่รัฐบาลดำเนินการส่งเสริมก็จะสามารถเข้ามาแทนที่สารเคมีร้ายแรงเหล่านี้ได้ มิพักจะเอ่ยถึงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่เคยเป็นวาระแห่งชาติในช่วงสมัยรัฐบาลก่อนหน้าที่เป็นเนื้อดินเดียวกันกับรัฐบาลชุดนี้ที่ประกาศว่าจะส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือกเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่สอดรับกับข้อเสนอภาคประชาสังคมที่กอปรด้วยเกษตรกร นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม และผู้บริโภค ในการเรียกร้องให้รัฐปฏิรูประบบการควบคุมสารเคมีเกษตร โดยการไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนทางการค้าแก่สารและชื่อการค้าของสารเคมีการเกษตรที่มีความเป็นพิษสูงมากทั้งคาร์โบฟูราน ไดโครโตฟอส เมโทมิล และอีพีเอ็น ซึ่งถูกตรวจสอบพบการปนเปื้อนในผักระดับอันตรายและเคยถูกเตือนหลายครั้งจนต้องระงับการส่งออกไปสหภาพยุโรป และรวมถึงสารเคมีกำจัดศัตรูพืชกลุ่มอื่นๆ ซึ่งแม้ไม่มีพิษเฉียบพลัน แต่อาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพในระยะยาว จึงเป็นรูปธรรมของความพยายามที่จะขจัดการสูญเสียทรัพยากรของประเทศชาติไปอย่างไร้ค่า เพราะไม่ใช่แค่เกษตรกรและผู้บริโภคที่ต้องสังเวยชีวิตเพราะพิษภัยสารเคมีทั้งแบบเฉียบพลันและสะสมจนเป็นมะเร็งร้าย

หากภายในสถานการณ์ที่สารเคมีทั้ง 4 ชนิดยังคงได้รับอนุญาตให้ขายต่อไปได้จะทำให้ไทยไม่ต่างจากดินแดนแห่งสารพิษที่ต่างชาติสามารถปล่อยของที่ไม่ต้องการแล้วได้ แต่ไทยจะรับไว้ด้วยยินดี ดังกรณีสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปแบนคาร์โบฟูราน แต่ไทยไม่! สิงคโปร์และมาเลเซียแบนเมโทมิล แต่ไทยไม่! แคนาดาและออสเตรเลียแบนไดโครโตฟอส แต่ไทยไม่! เวียดนามและพม่าแบนอีพีเอ็น แต่ไทยไม่!

ไม่เท่านั้น ข้อเสนอให้ปฏิรูประบบควบคุมสารเคมีเกษตรของ คปร.และภาคประชาสังคมที่ต้องการความกล้าหาญจากภาครัฐในการนำไปปฏิบัติยังนับเป็น ‘หมุดหมาย’ สำคัญของรัฐในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การกำหนดนโยบายจากการให้น้ำหนักแต่กับภาคเศรษฐกิจมาเป็นประโยชน์สาธารณะและเสียงของประชาชนด้วย การทบทวนนโยบายบนฐานคิดเรื่องผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงเท่านั้น จะทำให้ไม่ปฏิเสธหลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และรูปธรรมความสูญเสียระดับปัจเจกและพื้นที่ของประเทศไทยที่ได้รับจากสารพิษร้ายแรงเหล่านี้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

มากกว่านั้นยังไม่ตกกับดักหลุมพรางบรรดาบรรษัทสารเคมีเกษตรต่างๆ ที่ใช้เกษตรกรที่ผลิตด้วยระบบเกษตรเคมีเป็นตัวประกันว่าจะขาดแคลนสารเคมีที่ใช้เพาะปลูก เพราะเอาเข้าจริงมีที่ดีกว่านั้นมาก
ทั้งนี้ การปฏิรูประบบควบคุมสารเคมีเกษตรนอกจากจะสร้างความชอบธรรม (legitimate) จากสังคมวงกว้างได้เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเป็นการปกป้องประโยชน์สาธารณะมากกว่าเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนแล้ว ทั้งสังคมไทยในภาพรวมยังได้อานิสงส์หลากหลายตามมาด้วย ไม่เว้นแม้แต่ตอนอุทกภัยที่แต่เดิมน้ำหลากจะพัดพาสารพิษร้ายแรงเหล่านี้มาตามสายน้ำจากการไหลผ่านพื้นที่เกษตกรรม และระบบนิเวศที่ทั้งแผ่นดินและผืนน้ำเต็มไปด้วยสารเคมีเหล่านี้ นอกเหนือไปจากพืชผลเกษตรที่ต้องเก็บเกี่ยวอย่างรวดเร็วหลังฉีดยาไม่นานเพราะน้ำกำลังท่วมถึง ซึ่งสารพิษเหล่านี้ก็จะกระจายกว้างขวางตามสายน้ำหลากต่อไป!

โดยนัยนี้ การปฏิรูประบบสารเคมีที่คำนึงถึงสุขภาวะประชาชนและสังคมยังเป็นต้นทุนสำคัญของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายขยายบทบาทให้ธุรกิจการเกษตรและอาหารซึ่งเป็นแหล่งรายได้และการจ้างงานในประเทศมาเป็นเวลานานให้ก้าวข้ามไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอาหารคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่มีฐานะและรสนิยมเฉพาะตัวได้ด้วย เพราะไม่มีผู้บริโภคที่ใดทั้งในประเทศและนอกประเทศที่ต้องการบริโภคผืชผักปนเปื้อนสารพิษร้ายแรงเหล่านี้ ที่สำคัญไม่มีเกษตรกรคนใดปรารถนาสัมผัสใกล้ชิดกับสารเคมีอันตรายร้ายแรงเหล่านี้ในขณะที่มีทางเลือกที่ดีกว่า (alternative) ที่เขายังไม่รู้จัก

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องกล้าหาญปฏิรูประบบสารเคมีที่อย่างน้อยสุดก็ต้องแบนสารเคมีทั้ง 4 ชนิดนี้โดยใช้ฐานข้อมูลของ คปร.และภาคประชาสังคมเป็นยุทธศาสตร์และกรอบคิดหลักเพื่อกรุยทางไปสู่การเป็นครัวโลกได้อย่างมีความพร้อมท่ามกลางสถานการณ์ที่ฐานรากครัวเรือนเกษตรกรไทยเข้มแข็งเพราะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก ลดต้นทุนการผลิต วางแผนและพัฒนาระบบการผลิตทุกขั้นตอนได้โดยมีความปลอดภัย ไม่ตายระหว่างทาง ทั้งในส่วนของเกษตรกรที่ใช้สารเคมี และประชาชนที่บริโภคพืชผักปนเปื้อนสารเคมีเหล่านี้!
กำลังโหลดความคิดเห็น